บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ
๘. สิงคาลกสูตร ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ [๒๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกะ คหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า(ทิศ ตะวันออก) ทิศเบื้องขวา(ทิศใต้) ทิศเบื้องหลัง(ทิศตะวันตก) ทิศเบื้องซ้าย(ทิศเหนือ) ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน [๒๔๓] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวรเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ คหบดีบุตร ผู้ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศ เบื้องล่าง ทิศเบื้องบนแล้ว ได้ตรัสถามสิงคาลกะ คหบดีบุตรดังนี้ว่า คหบดีบุตร เธอลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิซเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุไร สิงคาลกะ คหบดีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์ ก่อนจะตาย ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า นี่แน่ะลูก เจ้าพึงไหว้ทิศทั้งหลาย ข้าพระองค์ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศ เบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๑๙๙}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
กรรมกิเลส ๔
ทิศ ๖ [๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คหบดีบุตร ในอริยวินัย(ธรรมเนียมแบบ แผนของพระอริยะ) เขาไม่ไหว้ทิศ ๖ กันอย่างนี้ สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในอริยวินัย เขาไหว้ ทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ ตามวิธีการไหว้ทิศ ๖ ในอริยวินัยเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส(กรรมเครื่อง เศร้าหมอง) ๔ ประการได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ และไม่ข้องแวะ อบายมุข(ทางเสื่อม) ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจาก บาปกรรม ๑๔ ประการนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปิดป้องทิศ๑- ๖ ปฏิบัติเพื่อครองโลก ทั้งสอง ทำให้เกิดความยินดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิด ในสุคติโลกสวรรค์กรรมกิเลส ๔ [๒๔๕] กรรมกิเลส ๔ ประการที่อริยสาวกละได้แล้ว อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมกิเลสคือปาณาติบาต ๒. กรรมกิเลสคืออทินนาทาน ๓. กรรมกิเลสคือกาเมสุมิจฉาจาร ๔. กรรมกิเลสคือมุสาวาท กรรมกิเลส ๔ ประการนี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว @เชิงอรรถ : @๑ ปิดป้องทิศ ในที่นี้หมายถึงปกปิดช่องว่างระหว่างตนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าทิศ ๖ @(ที.ปา.ฏีกา ๒๔๔/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๐}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
เหตุ ๔ ประการ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น และการพูดเท็จ เรียกว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญเหตุ ๔ ประการ [๒๔๖] อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ปุถุชน ๑. ย่อมถึงฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ทำบาปกรรม ๒. ย่อมถึงโทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง) ทำบาปกรรม ๓. ย่อมถึงโมหาคติ (ลำเอียงเพราะเขลา) ทำบาปกรรม ๔. ย่อมถึงภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) ทำบาปกรรม ส่วนอริยสาวก ๑. ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ๒. ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ๓. ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ๔. ย่อมไม่ถึงภยาคติ อริยสาวกย่อมไม่ทำบาปกรรม โดยเหตุ ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๑}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งสุราเมรัย ๖ ประการ
เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น บุคคลใดไม่ละเมิดความชอบธรรม เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมเจริญ เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น๑-อบายมุข ๖ ประการ [๒๔๗] อริยสาวกไม่ข้องแวะอบายมุข ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อะไรบ้าง คือ ๑. การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง ความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย ๒. การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน เป็น อบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย ๓. การเที่ยวดูมหรสพ เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย ๔. การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็น อบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย ๕. การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย ๖. การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลายโทษแห่งสุราเมรัย ๖ ประการ [๒๔๘] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอัน เป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. เสียทรัพย์ทันตาเห็น ๒. ก่อการทะเลาะวิวาท @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๗-๑๙/๒๙-๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๒}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง ๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย ๖. เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง ความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้แลโทษแห่งการเที่ยวกลางคืน ๖ ประการ [๒๔๙] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลา กลางคืนมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตน ๒. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๓. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๔. เป็นที่สงสัย๑- ของคนอื่นด้วยเหตุต่างๆ ๕. มักถูกใส่ร้ายด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ๖. ทำให้เกิดความลำบากมากหลายอย่าง คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน มีโทษ ๖ ประการนี้แลโทษแห่งการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ [๒๕๐] คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. มีการรำที่ไหน (ไปที่นั่น) ๒. มีการขับร้องที่ไหน (ไปที่นั่น) ๓. มีการประโคมที่ไหน (ไปที่นั่น) @เชิงอรรถ : @๑ เป็นที่สงสัยในที่นี้หมายถึงถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทำกรรมชั่วทั้งที่ไม่มีส่วนในกรรมชั่วนั้น (ที.ปา.อ. ๒๔๙/๑๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๓}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการ
๔. มีเสภาที่ไหน (ไปที่นั่น) ๕. มีการบรรเลงที่ไหน (ไปที่นั่น) ๖. มีเถิดเทิงที่ไหน (ไปที่นั่น) คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้แลโทษแห่งการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ๖ ประการ [๒๕๑] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๒. ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๓. เสียทรัพย์ทันตาเห็น ๔. ถ้อยคำที่เป็นพยานในศาล ก็เชื่อถือไม่ได้ ๕. ถูกมิตรอำมาตย์๑- ดูหมิ่น ๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายผู้นี้เป็นนักเลง การพนันไม่สามารถจะเลี้ยงดูภรรยาได้ คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้แลโทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการ [๒๕๒] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. เขามีนักเลงการพนันเป็นมิตรสหาย ๒. เขามีนักเลงเจ้าชู้เป็นมิตรสหาย ๓. เขามีนักเลงเหล้าเป็นมิตรสหาย @เชิงอรรถ : @๑ มิตรอำมาตย์ แยกอธิบายได้ดังนี้ มิตร ในที่นี้หมายถึงคนที่สามารถใช้สอยสิ่งของในบ้านเรือนของกัน @และกันได้ อำมาตย์ ในที่นี้หมายถึงเพื่อนร่วมงาน (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๔}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ
๔. เขามีคนหลอกลวงเป็นมิตรสหาย ๕. เขามีคนโกงเป็นมิตรสหาย ๖. เขามีโจรเป็นมิตรสหาย คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้แลโทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ [๒๕๓] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ ๑. มักอ้างว่า หนาวเกินไป แล้วไม่ทำการงาน ๒. มักอ้างว่า ร้อนเกินไป แล้วไม่ทำการงาน ๓. มักอ้างว่า เวลาเย็นเกินไป แล้วไม่ทำการงาน ๔. มักอ้างว่า เวลายังเช้าเกินไป แล้วไม่ทำการงาน ๕. มักอ้างว่า หิวเกินไป แล้วไม่ทำการงาน ๖. มักอ้างว่า กระหายเกินไป แล้วไม่ทำการงาน เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความเสื่อมสิ้นไป คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้แล พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนดีแต่พูดก็มี เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ผู้ใดเป็นเพื่อนได้ ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๕}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ
เหตุ ๖ ประการนี้ คือ (๑) การนอนตื่นสาย (๒) การเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น (๓) การผูกเวร (๔) ความเป็นผู้ก่อแต่เรื่องเสียหาย (๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว มีมารยาทและความประพฤติชั่ว ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ จากโลกนี้และจากโลกหน้า เหตุ ๖ ประการนี้ คือ (๑) นักเลงการพนันและนักเลงหญิง (๒) นักเลงสุรา (๓) ฟ้อนรำขับร้อง (๔) นอนหลับในกลางวัน เที่ยวกลางคืน (๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ ผู้ใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา ล่วงละเมิดหญิงผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น คบแต่คนเลว และไม่คบหาคนเจริญ ผู้นั้นย่อมเสื่อมดุจดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น ผู้ใดดื่มสุรา ไร้ทรัพย์ ไม่ทำงานเลี้ยงชีพ เป็นคนขี้เมาหัวทิ่มบ่อ ผู้นั้นจักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ จักทำความมัวหมองให้แก่ตนทันที {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๖}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
มิตรเทียม
คนชอบนอนหลับในกลางวัน ไม่ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาประจำ ไม่สามารถครองเรือนได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย หนุ่มสาวที่ละทิ้งการงาน โดยอ้างว่า เวลานี้หนาวเกินไป เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป เป็นต้น ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุขมิตรเทียม [๒๕๔] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น มิตรเทียม คือ ๑. คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว พึงทราบว่า ไม่ใช่ มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม ๒. คนดีแต่พูด พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม ๓. คนพูดประจบ พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม ๔. คนที่เป็นเพื่อนชักนำในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น มิตรเทียม [๒๕๕] คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) เป็นผู้ถือเอาประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว (๒) เสียน้อย ปรารถนาจะได้มาก (๓) เมื่อตัวเองมีภัยจึงทำกิจของเพื่อน (๔) คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๗}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
มิตรเทียม
คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อ่านฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่ มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๕๖] คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่เป็นอดีตไปแล้ว ๒. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ ๔. เมื่อมีกิจเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็แสดงความขัดข้อง คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดย เหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๕๗] คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น มิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑. เพื่อนทำชั่ว ก็คล้อยตาม ๒. เพื่อนทำดี ก็คล้อยตาม ๓. สรรเสริญต่อหน้า ๔. นินทาลับหลัง คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๕๘] คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่ มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๘}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
มิตรมีใจดี
๒. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอยในเวลา กลางคืน ๓. เป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่ง ความประมาท คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น มิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๕๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึง ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า บุคคลที่ไม่ใช่มิตรแท้ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) มิตรที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นอย่างเดียว (๒) มิตรดีแต่พูด (๓) มิตรพูดประจบ (๔) มิตรชักนำในทางเสื่อม บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นทางมีภัยเฉพาะหน้าเสียฉะนั้นมิตรมีใจดี [๒๖๐] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี(มิตรแท้) คือ ๑. มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี ๓. มิตรแนะนำประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี ๔. มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๐๙}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
มิตรมีใจดี
[๒๖๑] คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดย เหตุ ๔ ประการ คือ ๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. เมื่อมีกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ก็ช่วยโภคทรัพย์ให้ ๒ เท่าของทรัพย์ที่ ต้องการในกิจนั้น คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๖๒] คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑. บอกความลับแก่เพื่อน ๒. ปิดความลับของเพื่อน ๓. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย ๔. แม้ชีวิตก็อาจจะสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนได้ คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๖๓] คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ ๑. ห้ามมิให้ทำความชั่ว ๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๔. บอกทางสวรรค์ให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๐}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
มิตรมีใจดี
คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๖๔] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดย เหตุ ๔ ประการ คือ ๑. ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน ๒. พอใจความเจริญของเพื่อน ๓. ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน ๔. สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล [๒๖๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) มิตรมีอุปการะ (๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (๓) มิตรแนะนำประโยชน์ (๔) มิตรมีความรักใคร่ บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว พึงเข้าไปคบหาโดยความจริงใจ เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถ ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๑}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน คือส่วนหนึ่งใช้สอย ๒ ส่วนใช้ประกอบการงาน ส่วนที่ ๔ เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย จึงผูกมิตรไว้ได้ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์ ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖ [๒๖๖] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ เป็นอย่างไร คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน [๒๖๗] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๒. จักทำกิจของท่าน ๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล ๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม อนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๒}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาภรรยา(สามี) ที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการ นี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหน้านั้นเป็นอันชื่อว่า กุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๖๘] คหบดีบุตร ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ลุกขึ้นยืนรับ ๒. เข้าไปคอยรับใช้ ๓. เชื่อฟัง ๔. ดูแลปรนนิบัติ ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม อนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. แนะนำให้เป็นคนดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี ๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องขวานั้นเป็นอันชื่อว่าศิษย์ได้ ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๓}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
[๒๖๙] คหบดีบุตร สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ให้เกียรติยกย่อง ๒. ไม่ดูหมิ่น ๓. ไม่ประพฤตินอกใจ ๔. มอบความเป็นใหญ่ให้ ๕. ให้เครื่องแต่งตัว ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์ สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จัดการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๓. ไม่ประพฤตินอกใจ ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็นอันชื่อว่าสามีได้ ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๗๐] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. การให้ (การแบ่งปันสิ่งของให้) ๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก ๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ ๔. วางตนสม่ำเสมอ ๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๔}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
มิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม อนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว ๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตร ได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๗๑] คหบดีบุตร นายพึงบำรุงทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ให้อาหารและค่าจ้าง ๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย ๔. ให้อาหารมีรสแปลก ๕. ให้หยุดงานตามโอกาส ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม อนุเคราะห์นายด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อนนาย ๒. เลิกงานเข้านอนทีหลังนาย ๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำงานให้ดีขึ้น ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๕}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการ นี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันชื่อว่า นายได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๗๒] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน โดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา ๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา ๔. เปิดประตูต้อนรับ ๕. ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ๖. บอกทางสวรรค์ให้ คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยหน้าที่ ๖ ประการนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้ [๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๖}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ๑- พึงไหว้ทิศเหล่านี้ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ๒- มีความประพฤติเจียมตน ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ คนขยัน ไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน๓- มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ คนชอบสงเคราะห์ ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก๔- ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ @เชิงอรรถ : @๑ ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้ @(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐) @๒ มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง @(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐) @๓ ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐) @๔ รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๗}
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก) อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้ และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ) ในธรรมนั้นๆ ตามสมควร สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้ มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ [๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบ ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบ เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระ องค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตสิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๒๑๘}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๙๙-๒๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=11&siri=8 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=3923&Z=4206 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=172 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=11&item=172&items=35 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=3307 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=11&item=172&items=35 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=3307 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/11i172-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.31.0.ksw0.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.31.0.nara.html https://suttacentral.net/dn31/en/sujato https://suttacentral.net/dn31/en/kelly-sawyer-yareham
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]