ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

๘. มธุปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะ
[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวย พระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน แล้วจึง ประทับพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ฝ่ายทัณฑปาณิศากยะกำลังเดิน เที่ยวชมทิวทัศน์ ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จนถึง ต้นมะตูมหนุ่ม แล้วสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “พระสมณะ มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร”
ตอบปัญหาทัณฑปาณิ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงไม่โต้เถียง กับใครๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ- พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่ ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรา มีปกติกล่าวอย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้วจากไป [๒๐๐] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเข้าไปยัง นิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึง เข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้น มะตูมหนุ่ม แม้ทัณฑปาณิศากยะก็เดินเที่ยวชมทิวทัศน์เข้าไปยังป่ามหาวัน ครั้น แล้วจึงเข้าไปหาเราจนถึงต้นมะตูมหนุ่ม ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ถามเราว่า ‘พระสมณะ มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร’ เมื่อทัณฑปาณิศากยะกล่าวอย่าง นั้นแล้ว เราได้ตอบว่า ‘ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงจะไม่โต้เถียงกับใครๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่ครอบงำ พราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความคะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรามีปกติกล่าว อย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น’ เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิ- ศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้ว จากไป”
ทรงแสดงอุทเทส
[๒๐๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้ มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไรจึงจะไม่ โต้เถียงกับใครๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะ ไม่ครอบงำพราหมณ์นั้นผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา๑- ย่อม ครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ @เชิงอรรถ : @ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา แปลจากคำว่า ปปญฺจสญฺญาสงฺขา แยกอธิบายศัพท์ได้ดังนี้ คำว่า @ปปญฺจสญฺญา หมายถึงสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ คำว่า @สงฺขา หมายถึงแง่ต่างๆ ดังนั้น ปปญฺจสญฺญาสงฺขา จึงแปลว่า แง่ต่างๆ แห่งสัญญาอันประกอบด้วย @กิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า (ม.มู.อ. ๑/๒๐๑/๔๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

ไม่มีในเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็น ที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็น ที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการ กล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น” ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตเจ้าได้ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้า ไปยังที่ประทับ [๒๐๒] ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้มี ความสงสัยว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดย ย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่ บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุด แห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การ แก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุก จากพุทธอาสน์เข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้” ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นว่า “ท่านมหากัจจานะนี้ พระศาสดา ทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ” ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะจนถึงที่อยู่ ได้ สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจากไปไม่นาน พวกกระผมได้เกิดความสงสัยว่า ‘พระผู้มี พระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรง ลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่ง อุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้’ ท่านกัจจานะ พวกกระผมคิดว่า ‘ท่านมหากัจจานะนี้เป็นผู้ที่พระศาสดาทรง ยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะก็ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ’ ขอท่านมหากัจจานะ จงชี้แจงเถิด” [๒๐๓] ท่านพระมหากัจจานะจึงตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อุปมาเหมือน บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ ผ่านโคนและลำต้นของต้นไม้ ใหญ่ซึ่งมีแก่นไป เขาจะพึงเข้าใจว่าแก่นไม้ต้องแสวงหาที่กิ่งและใบไม้ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏเฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย ท่าน ทั้งหลายก็ผ่านพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไป และจะพึงเข้าใจเนื้อความนั้นว่าต้อง สอบถามกับเรา แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลา นี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่พวกท่านจะทูลถามเนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นแล้ว พระองค์ทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า “ท่านกัจจานะ เป็นความจริงที่พระผู้มีพระภาค ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็น เจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่พวกกระผมจะทูล ถามเนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงตอบอย่างใด พวกกระผมจะทรง จำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น อนึ่ง ท่านมหากัจจานะเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะก็สามารถจะ ชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดย พิสดารให้พิสดารได้ ขอท่านมหากัจจานะไม่ต้องหนักใจชี้แจงเถิด”
พระมหากัจจานะอธิบายอุทเทส
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระ มหากัจจานะจึงได้กล่าวว่า [๒๐๔] “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง ชี้แจงไว้โดยพิสดารให้พิสดารได้อย่างนี้ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ ความประจวบกันแห่ง ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น บุคคลหมายรู้อารมณ์ใดย่อมตรึกอารมณ์นั้น บุคคลตรึก อารมณ์ใดย่อมคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้น บุคคลคิดปรุงแต่งอารมณ์ใด เพราะความคิด ปรุงแต่งอารมณ์นั้นเป็นเหตุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษ ในรูป ทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งทางตาทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ ฯลฯ ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ ฯลฯ กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ ความประจวบกันแห่ง ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด บุคคลเสวยอารมณ์ ใดย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น บุคคลหมายรู้อารมณ์ใดย่อมตรึกอารมณ์นั้น บุคคล ตรึกอารมณ์ใดย่อมคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้น บุคคลคิดปรุงแต่งอารมณ์ใด เพราะความ คิดปรุงแต่งอารมณ์นั้นเป็นเหตุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษใน ธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อมีจักขุ มีรูปารมณ์ และมีจักขุวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติผัสสะ เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติเวทนา เมื่อมีการบัญญัติเวทนา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่างๆ แห่ง ปปัญจสัญญา เมื่อมีโสตะ มีสัททารมณ์ ฯลฯ เมื่อมีฆานะ มีคันธารมณ์ ฯลฯ เมื่อมีชิวหา มีรสารมณ์ ฯลฯ เมื่อมีกาย มีโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ เมื่อมีมโน มีธรรมารมณ์ และมีมโนวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติผัสสะ เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติเวทนา เมื่อมีการบัญญัติเวทนา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่างๆ แห่ง ปปัญจสัญญา เมื่อไม่มีจักขุ ไม่มีรูปารมณ์ ไม่มีจักขุวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจัก บัญญัติผัสสะ เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติเวทนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อไม่มีการ บัญญัติสัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา เมื่อไม่มีโสตะ ไม่มีสัททารมณ์ ฯลฯ เมื่อไม่มีฆานะ ไม่มีคันธารมณ์ ฯลฯ เมื่อไม่มีชิวหา ไม่มีรสารมณ์ ฯลฯ เมื่อไม่มีกาย ไม่มีโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ เมื่อไม่มีมโน ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีมโนวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจัก บัญญัติผัสสะ เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติเวทนา เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อไม่มีการบัญญัติ สัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก เป็นไปไม่ ได้เลยที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่พวกเราโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะ พึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้ว ไม่ทรงชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึง เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้อย่างนี้ เมื่อท่านปรารถนาควรพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูล ถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความ นั้นไว้อย่างนั้น” [๒๐๕] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะ เหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ เพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้เกิดความสงสัยกันว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่พวกเราโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุด แห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือ ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความ โดยพิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะควร ชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงไว้ โดยพิสดารให้พิสดารได้ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความคิดว่า ‘ท่านพระมหากัจจานะ นี้พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน พระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่าน พระมหากัจจานะจนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาท่านพระ มหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระ มหากัจจานะ ได้ชี้แจงเนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะ เหล่านี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๘. มธุปิณฑิกสูตร

ทรงสรรเสริญพระมหากัจจานะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นบัณฑิต ภิกษุ ทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นผู้มีปัญญามาก แม้ว่าเธอทั้งหลายจะถามเนื้อความนี้ กับเรา เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นอย่างนี้ เหมือนกับที่มหากัจจานะตอบ เรื่องนี้ มีเนื้อความดังนี้แล เธอทั้งหลายจงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนี้เถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ ได้ขนมหวาน เขากินในเวลาใดๆ ก็จะพึงได้รับรสหวานอร่อย ในเวลานั้นๆ แม้ฉันใด ภิกษุผู้เป็นนักคิด เป็นบัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใคร่ครวญเนื้อความ แห่งธรรมบรรยายนี้ด้วยปัญญาในเวลาใด ก็จะพึงได้ความพอใจและความเลื่อมใส แห่งใจในเวลานั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอจงทรงจำไว้ว่า ธรรมบรรยายนี้ชื่อมธุปิณฑิกบรรยาย” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มธุปิณฑิกสูตรที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๑๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๐๙-๒๑๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=18              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=3752&Z=3952                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=243              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=243&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=10149              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=243&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=10149                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i243-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i243-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.018.than.html https://suttacentral.net/mn18/en/sujato https://suttacentral.net/mn18/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :