ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

๓. ปริพพาชกวรรค
หมวดว่าด้วยปริพาชก
๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อวัจฉโคตร สูตรเล็ก
[๑๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่อวัจฉโคตรอาศัยอยู่ในอารามของปริพาชกชื่อเอกบุณฑริก ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า “ยังเช้าเกินไปที่จะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาวัจฉโคตรปริพาชก จนถึงอาราม ของปริพาชกชื่อเอกบุณฑริก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาวัจฉโคตรปริพาชก ถึงอารามของ ปริพาชกชื่อเอกบุณฑริก วัจฉโคตรปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ได้กราบทูลว่า “ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้ามาเถิด ขอต้อนรับเสด็จ นานๆ พระผู้มีพระภาคจะมีเวลาเสด็จมาถึงที่นี้ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด อาสนะ นี้ปูลาดไว้แล้ว” พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว แม้วัจฉโคตรปริพาชก ก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควร๑- ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วได้กราบทูลว่า @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑ (กันทรกสูตร) หน้า ๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะ๑- อย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเรา เดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ ท่านผู้เจริญ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรม ทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ เป็นผู้กล่าวตาม พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่จริง และชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลละหรือ อนึ่ง ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้น และคำที่กล่าวต่อๆ กันมา จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดม เป็นสัพพัญญู’ มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ ยังกล่าวไม่ตรงกับคำที่เรากล่าวแล้ว และชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่เป็นจริง ไม่มีจริง”
วิชชา ๓
[๑๘๖] วัจฉโคตรปริพาชกทูลถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะอธิบายอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่ พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จและชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลละหรือ อนึ่ง ไม่มี บ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ บุคคลผู้อธิบายว่า ‘พระสมณโคดมเป็น ผู้มีวิชชา๒- ๓’ ชื่อว่าเป็นผู้พูดตรงตามที่เรากล่าวไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ @เชิงอรรถ : @ ญาณทัสสนะ หมายถึงความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียก มรรคญาณ ผลญาณ @สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๑/๒๓๔/๑๙๘) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล อนึ่ง ไม่มีเลยที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการจะรู้ เราย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑- เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ ชีวประวัติอย่างนี้ เราเพียงต้องการจะรู้เท่านั้น เราก็เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้น ต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ๒- รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล เราทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ๓- อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน วัจฉะ บุคคลผู้อธิบายว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้มีวิชชา ๓’ ชื่อว่าเป็นผู้พูดตรง ตามที่เรากล่าวไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ และชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุ สมผล อนึ่ง ไม่มีเลยที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมา จะเป็นเหตุให้ถูก ตำหนิได้”
ลัทธิเดียรถีย์ว่างจากคุณความดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม คฤหัสถ์บางคน ผู้ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์๔- ไม่ได้ หลังจากตายแล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีอยู่หรือ” @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๔ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ @ ดูเนื้อความเต็มข้อ ๑๕ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๗-๑๘ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๒ ข้อ ๒๘ (กันทรกสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้ @ สังโยชน์ของคฤหัสถ์ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ข้าทาส บริวาร และกามคุณ ๕ ประการ @อันเป็นเหตุผูกพันและรักใคร่ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๓. ปริพพาชกวรรค]

๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วัจฉะ คฤหัสถ์ที่ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ หลังจากตายแล้วย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไม่มีเลย” “คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ หลังจากตายแล้วไปเกิดใน สวรรค์มีอยู่หรือ ท่านพระโคดม” “คฤหัสถ์ผู้ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์นั้น มิใช่มีเพียง ๑๐๐ คน ๒๐๐ คน ๓๐๐ คน ๔๐๐ คน หรือ ๕๐๐ คนเท่านั้น ความจริงแล้วมีอยู่จำนวนมากทีเดียว” “อาชีวกบางคนหลังจากตายแล้ว จะทำที่สุดแห่งทุกข์๑- ได้ มีอยู่หรือ ท่าน พระโคดม” “อาชีวกบางคน หลังจากตายแล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไม่มีเลย” “อาชีวกบางคนหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์ มีอยู่หรือ ท่านพระโคดม” “จากภัทรกัปนี้ไป ๙๑ กัปที่เราระลึกได้ เราไม่รู้จักอาชีวกคนอื่นผู้ไปเกิดใน สวรรค์ นอกจากอาชีวกเพียงคนเดียวผู้เป็นกรรมวาที๒- เป็นกิริยวาที๓-” “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นอย่างนี้ ลัทธิเดียรถีย์ก็เป็นลัทธิที่ว่างเปล่าจาก คุณความดี โดยที่สุดแม้แต่คุณความดีที่จะให้ไปเกิดในสวรรค์” “อย่างนั้น วัจฉะ เมื่อเป็นอย่างนี้ ลัทธิเดียรถีย์นั้นเป็นลัทธิที่ว่างเปล่าจาก คุณความดี โดยที่สุดแม้แต่คุณความดีที่จะให้ไปเกิดในสวรรค์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว วัจฉโคตรปริพาชกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬวัจฉโคตตสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ที่สุดแห่งทุกข์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหัตตผล (ม.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๔๔) @ กรรมวาที หมายถึงลัทธิที่ถือว่า สรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว @ย่อมได้รับผลชั่ว @ กิริยวาที หมายถึงลัทธิที่ถือว่า การกระทำทุกอย่างมีผล เมื่อเหตุดีผลก็ต้องดี เมื่อเหตุชั่วผลก็ต้องชั่ว @ยอมรับผลกรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๑๕-๒๑๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4235&Z=4315                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=240              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=240&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3622              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=240&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3622                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i240-e1.php# https://suttacentral.net/mn71/en/sujato https://suttacentral.net/mn71/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :