ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๕. ชีวกสูตร
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายฆ่าสัตว์ เจาะจงถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมก็ทรงทราบการนั้น แต่ก็ยังเสวยเนื้อที่ เขาฆ่าเจาะจงพระองค์ ที่เขาอาศัยพระองค์ทำ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายฆ่าสัตว์เจาะจง ถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมก็ทรงทราบการนั้น แต่ก็ยังเสวยเนื้อที่เขาฆ่า เจาะจงพระองค์ ที่เขาอาศัยพระองค์ทำ’ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่าง สมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมา จะเป็น เหตุให้ถูกตำหนิได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๕. ชีวกสูตร

เนื้อที่ควรฉันและไม่ควรฉัน
[๕๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลาย ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมก็ทรงทราบการนั้น แต่ก็ยัง เสวยเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงพระองค์ ที่เขาอาศัยพระองค์ทำ’ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าพูด ตรงตามที่เรากล่าวไว้ แต่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ที่ไม่มีอยู่ เรากล่าวเนื้อที่ภิกษุไม่ควรฉันไว้ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. เนื้อที่ตนเห็น๑- ๒. เนื้อที่ตนได้ยิน ๓. เนื้อที่ตนสงสัย เรากล่าวเนื้อที่ภิกษุไม่ควรฉันไว้ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล เรากล่าวเนื้อที่ภิกษุควรฉันไว้ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. เนื้อที่ตนไม่เห็น ๒. เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ๓. เนื้อที่ตนไม่สงสัย ชีวก เรากล่าวเนื้อที่ภิกษุควรฉันไว้ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
การแผ่เมตตา
[๕๓] ชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ด้วยประการ อย่างนี้ คหบดีหรือบุตรคหบดีเข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น @เชิงอรรถ : @ เนื้อที่ตนเห็นหมายถึงเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาที่ภิกษุเห็นทายกฆ่า(นำมาปรุงอาหาร) ถวายหมู่ภิกษุ เนื้อที่ @ตนได้ยิน และเนื้อที่ตนสงสัยก็มีนัยเดียวกัน (ม.ม.อ. ๒/๕๒/๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๕. ชีวกสูตร

เมื่อภิกษุต้องการจึงรับนิมนต์ เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ในเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของคหบดีหรือบุตรคหบดี นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต เธอไม่คิดอย่างนี้ว่า ‘ดีจริง คหบดีหรือบุตรคหบดีนี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีต’ ทั้งไม่คิด อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ คหบดีหรือบุตรคหบดีจึงจะอังคาสเราด้วยบิณฑบาต อันประณีตเช่นนี้ตลอดไป’ เธอไม่กำหนัด ไม่ยินดี ไม่รีบฉันบิณฑบาตนั้น มีปกติ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออกจากทุกข์ ฉันอยู่ ชีวก เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง หรือเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “ในคราวนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษเลย ใช่หรือไม่” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาแล้วว่า ‘พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา’ คำกล่าวที่เพียงได้ยินมานี้ข้าพระองค์เห็นว่าพระผู้มี พระภาคทรงเป็นพยานได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา” “ชีวก บุคคลจะพึงมีความพยาบาทเพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ชีวก หากเธอกล่าวหมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะนี้ เราเห็นด้วย” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าวหมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะ นี้แล พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๕. ชีวกสูตร

การแผ่กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
[๕๔] “ชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่ เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ด้วยประการอย่างนี้ คหบดีหรือบุตรคหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุต้องการจึงรับนิมนต์ เมื่อล่วงราตรี นั้นไป ในเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของคหบดีหรือ บุตรคหบดี นั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว คหบดีหรือบุตรคหบดีอังคาสเธอด้วย บิณฑบาตอันประณีต เธอไม่คิดอย่างนี้ว่า ‘ดีจริง คหบดีหรือบุตรคหบดีนี้พึงอังคาส เราด้วยบิณฑบาตอันประณีต’ ทั้งไม่คิดอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ คหบดีหรือบุตร คหบดีจึงจะอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีต เช่นนี้ตลอดไป’ เธอไม่กำหนัด ไม่ยินดี ไม่รีบฉันบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออกจากทุกข์ ฉันอยู่ ชีวก เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียน ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “ในคราวนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษเลย ใช่หรือไม่” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาแล้วว่า ‘พรหมมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา’ คำกล่าวที่เพียงได้ยินมานี้ข้าพระองค์เห็นว่าพระผู้มี พระภาคทรงเป็นพยานได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวก บุคคลจะพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่ง เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคต ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๕. ชีวกสูตร

ชีวก หากเธอกล่าวหมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะนี้ เราเห็นด้วย” หมอชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าว หมายถึงการละราคะ โทสะ โมหะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวก เหตุให้ประสพ๑- สิ่งที่ไม่เป็นบุญ ๕ ประการ ของบุคคลผู้ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายตถาคตหรือสาวกของตถาคต คือ ๑. การที่เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงไปนำสัตว์ชนิดโน้นมา’ นี้เป็น เหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๑ ๒. การที่สัตว์นั้นได้รับทุกข์โทมนัสขณะถูกผูกคอนำมา นี้เป็นเหตุให้ ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๒ ๓. การที่เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านจงไปฆ่าสัตว์ชนิดนี้’ นี้เป็นเหตุ ให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๓ ๔. การที่สัตว์นั้นได้รับทุกข์โทมนัสขณะถูกฆ่า นี้เป็นเหตุให้ประสพสิ่งที่ ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๔ ๕. การที่เขาทำให้ตถาคตหรือสาวกของตถาคตยินดีด้วยเนื้อที่ไม่สมควร๒- นี้เป็นเหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมากประการที่ ๕ ชีวก เหตุให้ประสพสิ่งที่ไม่เป็นบุญเป็นอันมาก ๕ ประการนี้แล ของบุคคล ผู้ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายตถาคตหรือสาวกของตถาคต” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจึงกราบทูลว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายฉันเฉพาะภัตตาหาร @เชิงอรรถ : @ ประสพ (ปสวติ) หมายถึงได้รับผลตอบ (ปฏิลภติ) (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๑/๑๔๘) @ เนื้อที่ไม่สมควร ดูข้อ ๕๒ หน้า ๔๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑. คหปติวรรค]

๖. อุปาลิวาทสูตร

ที่สมควร ภิกษุทั้งหลายฉันเฉพาะอาหารที่ไม่มีโทษ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิต ของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มี พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
ชีวกสูตรที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๘-๕๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=5              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=950&Z=1043                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=56              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=56&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=844              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=56&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=844                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i056-e1.php# https://suttacentral.net/mn55/en/sujato https://suttacentral.net/mn55/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :