ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

๒. มหาสุญญตสูตร
ว่าด้วยสุญญตา สูตรใหญ่
[๑๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเที่ยวบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยัง วิหารของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน สมัยนั้น ในวิหาร ของเจ้ากาฬเขมกศากยะ มีเสนาสนะที่เขาจัดไว้เป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคทอด พระเนตรเห็นเสนาสนะที่เขาจัดไว้เป็นอันมากแล้ว มีพระดำริอย่างนี้ว่า “ในวิหาร ของเจ้ากาฬเขมกศากยะ เขาจัดเสนาสนะไว้เป็นอันมาก ในที่นี้มีภิกษุอยู่จำนวน มากหรือหนอ” [๑๘๖] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์กับภิกษุจำนวนมากกำลังตัดเย็บจีวรอยู่ใน วิหารของเจ้าฆฏายศากยะ ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายศากยะ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แล้วได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ในวิหารของเจ้ากาฬเขมก ศากยะ เขาจัดเสนาสนะไว้เป็นอันมาก ที่นั่นมีภิกษุอยู่จำนวนมากหรือ” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวิหารของเจ้ากาฬ เขมกศากยะนั่น มีภิกษุอยู่จำนวนมาก สมัยที่เป็นจีวรกาลของข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็กำลังดำเนินไปอยู่ พระพุทธเจ้าข้า” “อานนท์ ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่ ในคณะ ไม่งามเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

เป็นไปไม่ได้๑- ที่ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ คณะ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่ในคณะ จักเป็นผู้ได้เนกขัมมสุข๒- ปวิเวกสุข๓- อุปสมสุข๔- สัมโพธิสุข๕- ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก เป็นไปได้๖- ที่ภิกษุผู้หลีกออกจากคณะ อยู่ตามลำพังผู้เดียว พึงหวังเนกขัมมสุข ปวิเวกสุข อุปสมสุข สัมโพธิสุข จักเป็นผู้ได้สุขนั้น ตามปรารถนาได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้พอใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่ ในคณะ จักบรรลุเจโตวิมุตติ๗- ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย๘- อันน่ายินดี หรือโลกุตตรมรรค ซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามสมัย๙- อันไม่กำเริบได้ เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้หลีกออกจากคณะ อยู่ตามลำพังผู้เดียว พึงหวังบรรลุ เจโตวิมุตติ ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย อันน่ายินดี หรือโลกุตตรมรรค ซึ่งมิได้เกิดขึ้น ตามสมัย อันไม่กำเริบ๑๐- @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๓ (ปัญจัตตยสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้ @ เนกขัมมสุข หมายถึงความสุขของผู้ออกจากกามได้แล้ว (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ ปวิเวกสุข หมายถึงความสุขที่สงัดจากกาม (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ อุปสมสุข หมายถึงความสุขอันสงบเพราะเป็นไปเพื่อการเข้าไปสงบกิเลสมีราคะเป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ สัมโพธิสุข หมายถึงความสุขจากการตรัสรู้ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้มรรค (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๘ (สุนักขัตตสูตร) หน้า ๖๓ ในเล่มนี้ @ เจโตวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นแห่งจิตฝ่ายรูปาวจรและฝ่ายอรูปาวจร (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ เกิดขึ้นตามสมัย ในที่นี้หมายถึงรูปฌานสมาบัติ ๔ และอรูปฌานสมาบัติ ๔ นี้ เป็นความหลุดพ้นจาก @กิเลสที่เกิดขึ้นตามสมัย (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @ มิได้เกิดขึ้นตามสมัย ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค ๔ และสามัญญผล ๔ นี้เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสที่ @มิได้เกิดขึ้นตามสมัย(ม.อุ.อ. ๓/๑๘๖/๑๑๔) @๑๐ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๐/๔๕๑-๔๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

อานนท์ เราไม่พิจารณาเห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ไม่เกิดโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เพราะรูปตามที่บุคคลกำหนัด ยินดีกันแล้วแปรผันและเป็นอย่างอื่นเลย [๑๘๗] อานนท์ ก็วิหารธรรมนี้แลที่ตถาคตตรัสรู้แล้วในที่นั้นคือ ตถาคต เข้าสุญญตา๑- ในภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เข้ามา หาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้น ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก๒- โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ เป็นผู้สิ้นสุด จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้ทำการเจรจาที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการชักชวนเท่านั้น ในบริษัทนั้นโดยแท้ อานนท์ เพราะเหตุนั้น ถ้าภิกษุ แม้หวังว่า ‘เราพึงเข้าสุญญตาใน ภายในอยู่’ ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตให้มั่น [๑๘๘] ภิกษุตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตให้มั่น เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ... บรรลุทุติยฌาน ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน ... ภิกษุตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตให้มั่น เป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายใน เมื่อเธอใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตจึงไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในสุญญตาในภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุ ย่อมรู้ชัดสุญญตานั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตจึง ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในสุญญตาในภายใน’ @เชิงอรรถ : @ สุญญตา ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๗/๑๑๕) @ น้อมไปในวิเวก ในที่นี้หมายถึงน้อมไปในนิพพาน (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๗/๑๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายในนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายนอก ฯลฯ ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายในและในภายนอก ฯลฯ ภิกษุนั้นใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ๑- จิตจึงไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุ ย่อมรู้ชัดอาเนญชสมาบัตินั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึง ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น และไม่น้อมไปในอาเนญชสมาบัติ’ ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๒- ในอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิต ให้มั่นในสมาธินิมิตในเบื้องต้นนั้นแล ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายใน เมื่อเธอใส่ ใจสุญญตาในภายใน จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในสุญญตาในภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดสุญญตานั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจสุญญตา ในภายใน จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในสุญญตาในภายใน’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในสุญญตาในภายในนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายนอก ฯลฯ ภิกษุนั้นใส่ใจสุญญตาในภายในและในภายนอก ฯลฯ ภิกษุนั้นใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอาเนญช สมาบัตินั้นที่มีอยู่อย่างนี้ว่า ‘เมื่อเราใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตจึงแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการอย่างนี้ [๑๘๙] อานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรม๓- อย่างนี้ จิตย่อมน้อมไป เพื่อการเดินจงกรม ภิกษุนั้นจึงเดินจงกรมด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา และโทมนัส จักครอบงำเราผู้เดินจงกรมอยู่อย่างนี้ไม่ได้’ @เชิงอรรถ : @ อาเนญชสมาบัติ ในที่นี้หมายถึงอรูปสมาบัติ (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๘/๑๑๖) @ มีสัมปชัญญะ ในที่นี้หมายถึงมีความรู้ตัวว่ากัมมัฏฐานของตนยังไม่สำเร็จ (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๘/๑๑๖) @ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๙/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๑- ในการเดินจงกรมนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการยืน ภิกษุนั้นจึง ยืนด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้ยืนอยู่ แล้วอย่างนี้ไม่ได้’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการยืนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการนั่ง ภิกษุนั้นจึง นั่งด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้นั่งอยู่แล้ว อย่างนี้ไม่ได้’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการนั่งนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการนอน ภิกษุนั้น จึงนอนด้วยหวังว่า ‘บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส จักครอบงำเราผู้นอน อยู่อย่างนี้ไม่ได้’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการนอนนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการพูด เธอใส่ใจว่า ‘เราจักไม่พูดเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและ ความเสื่อม๒- ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ มีสัมปชัญญะ ในที่นี้หมายถึงมีความรู้ตัวว่า กัมมัฏฐานของตนสำเร็จแล้ว (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๘/๑๑๖) @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๑๗/๗, ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๙/๑๕๑-๑๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นใส่ใจว่า ‘เราจักพูดเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องความมักน้อย เรื่อง ความสันโดษ เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลีกัน เรื่องการปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ‘๑- ซึ่งเป็น เรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต๒- เป็นไปเพื่อความ เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการพูดนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการตรึก ภิกษุนั้น ใส่ใจว่า ‘เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานนี้ คือ กามวิตก(ความตรึกในกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึกในพยาบาท) วิหิงสาวิตก(ความตรึกในการเบียดเบียน) ซึ่งเป็นวิตกเลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นใส่ใจว่า ‘เราจักตรึกในวิตกเห็นปานนี้ คือ เนกขัมมวิตก(ความตรึก ที่จะออกจากกาม) อพยาบาทวิตก(ความตรึกในการไม่พยาบาท) อวิหิงสาวิตก (ความตรึกในการไม่เบียดเบียน) ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในการตรึกนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นความรู้ขั้นสุดท้าย แยกอธิบายได้ว่า วิมุตติ หมายถึงอรหัตตผล ญาณทัสสนะ @หมายถึงปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่เกิดขึ้นถัดจากการบรรลุมรรคผลด้วยมัคคญาณและผลญาณเพื่อ @พิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละได้แล้วและเหลืออยู่รวมทั้งพิจารณานิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘) @ เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต หมายถึงเป็นที่สบายและเป็นอุปการะแก่การชักนำจิตเข้าสู่สมถะ @และวิปัสสนา (องฺ.นวก.อ. ๓/๑/๒๘๕) ในที่นี้บาลีเป็น “เจโตวิจารณสปฺปายา” แต่ในฉบับภาษา @อังกฤษเป็น “เจโตวิวรณสปฺปายา” และฉบับฉัฏฐสังคีติ เป็น “เจโตวินีวรณสปฺปายา”, และสัปปายะที่ @ควรเสพ ๗ ประการ คือ (๑) อาวาส (๒) โคจร (๓) การพูดคุย (๔) บุคคล (๕) โภชนะ (๖) ฤดู @(๗) อิริยาบถ (ม.อุ.อ. ๓/๑๘๙/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

[๑๙๐] อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ... ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้ ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในเพราะกามคุณ ๕ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่แก่เราหรือ’ หากภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในกามคุณ ๕ นี้ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มี อยู่แก่เรา’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดข้อที่จิตฟุ้งขึ้นนั้น อย่างนี้ว่า ‘ฉันทราคะ๑- ในกามคุณ ๕ นี้ เรายังละไม่ได้’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ๒- ในฉันทราคะในกามคุณ ๕ นี้ ที่ยังละ ไม่ได้นั้น ด้วยอาการอย่างนี้ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นในเพราะกามคุณ ๕ นี้ซึ่งเกิดขึ้นในกามคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มี แก่เราเลย’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ข้อที่จิตฟุ้งขึ้นนั้น อย่างนี้ว่า ‘ฉันทราคะ ในกามคุณ ๕ นี้ เราละได้แล้ว’ @เชิงอรรถ : @ ฉันทราคะ ในที่นี้หมายถึงความกำหนัดที่ไม่รุนแรง(ฉันทะ) และความกำหนัดที่รุนแรง(ราคะ) @(วิ.อ. ๓/๓๒๙/๕๗๒, ขุ.ม.อ. ๘/๑๐๕) @ สัมปชัญญะ ในที่นี้หมายถึงรู้ชัด โดยรู้ว่า กัมมัฏฐานของเราสำเร็จพร้อมคือภิกษุพิจารณาอยู่ว่า @ฉันทราคะในกามคุณ ๕ เราละได้แล้วหรือยังละไม่ได้ดังนี้ เมื่อรู้ว่ายังละไม่ได้ ต้องประคองความเพียร @จึงจะเพิกถอนฉันทราคะได้ด้วยอนาคามิมรรค ต่อจากนั้นก็พิจารณาผลสมาบัติในลำดับแห่งมรรค @ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาอยู่จึงรู้ว่า ละได้แล้ว (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๐/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในฉันทราคะในกามคุณ ๕ นี้ ที่ละได้แล้วนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ [๑๙๑] อานนท์ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เป็นธรรมที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็น ทั้งความเกิดและความดับว่า ‘อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความ ดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา ฯลฯ อย่างนี้สัญญา ฯลฯ อย่างนี้สังขาร ฯลฯ อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่ง วิญญาณ’๑- ภิกษุนั้นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสมิมานะ๒- ในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัด อัสมิมานะที่ละได้แล้วนั้น อย่างนี้ว่า ‘อัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เราละได้ แล้ว’ ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ที่ละได้ แล้วนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ธรรมเหล่านี้๓- เนื่องมาจากกุศลโดยส่วนเดียว ไกลจากข้าศึก เป็นโลกุตตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้ อานนท์ เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ สาวกพิจารณาเห็นอำนาจ ประโยชน์อะไร จึงควรติดตามศาสดาอย่างใกล้ชิด” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๔/๒๕๑ @ ละอัสมิมานะ ในที่นี้หมายถึงละมานะว่า เรามีในรูป ละฉันทะว่า เรามีในรูป ละอนุสัย (ความเคยชิน) @ว่า เรามีในรูป (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๑/๑๑๘) @ ธรรมเหล่านี้ ในที่นี้หมายถึงสมถะ วิปัสสนา มรรค และผล (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๑/๑๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค เป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบาย เนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาค แล้วจักทรงจำไว้” [๑๙๒] “อานนท์ สาวกไม่ควรติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตะ เคยยะ และ เวยยากรณะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันเธอทั้งหลายสดับ ทรงจำ คล่องปาก เพ่งพินิจ ด้วยจิต รู้แจ้งแทงตลอดดีแล้ว สิ้นกาลช้านาน แต่สาวกก็ควรติดตามศาสดา อย่างใกล้ชิด เพื่อฟังเรื่องเห็นปานนี้ คือ เรื่องความมักน้อย เรื่องความสันโดษ เรื่องความสงัด เรื่องความไม่คลุกคลีกัน เรื่องการปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลา กิเลสอย่างยิ่ง เป็นสัปปายะแก่ความเป็นไปแห่งจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดย ส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และ เพื่อนิพพาน อานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของอาจารย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของศิษย์จึงมีได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์จึงมีได้ [๑๙๓] อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างไร คือ ศาสดา๑- บางคนในโลกนี้ พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อศาสดานั้นหลีกออก อยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้น @เชิงอรรถ : @ ศาสดา ในที่นี้หมายถึงเจ้าลัทธินอกพุทธศาสนา (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๓/๑๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียนกลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ศาสดานี้เราเรียกว่าอาจารย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของอาจารย์ บาปอกุศลธรรม อันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าศาสดานั้น อานนท์ อุปัทวะของอาจารย์ เป็นอย่างนี้ [๑๙๔] อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างไร คือ สาวกของศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามศาสดานั้น จึงพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมยินดีความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะเวียน กลับมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก สาวกนี้เราเรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของ ศิษย์ บาปอกุศลธรรมอันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าสาวกนั้น อานนท์ อุปัทวะของศิษย์ เป็นอย่างนี้ [๑๙๕] อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร คือ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้ มีพระภาค ตถาคตนั้นย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์ และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ยินดี ความหมกมุ่น ไม่ถึงความอยากได้ ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนความสงัดตามตถาคตผู้ศาสดา พระองค์นั้น ย่อมพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๒. มหาสุญญตสูตร

ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกอยู่อย่างนั้น พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ย่อมพากันเข้าไปหา เมื่อพราหมณ์ และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมยินดี ความหมกมุ่น ถึงความอยากได้ จะกลับเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก สาวกนี้ เราเรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ บาปอกศุลธรรมอันเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป ก็ได้ฆ่าสาวกนั้น อานนท์ อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นอย่างนี้ อานนท์ บรรดาอุปัทวะทั้ง ๓ ประการนั้น อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้ มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัทวะของอาจารย์และอุปัทวะของศิษย์ เป็น ไปเพื่อความตกต่ำ [๑๙๖] อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงประพฤติต่อเราด้วยวัตรของ มิตรเถิด อย่าประพฤติต่อเราด้วยวัตรของศัตรูเลย ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของศัตรู ไม่ประพฤติด้วย วัตรของมิตร เป็นอย่างไร คือ ศาสดาในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์ อาศัยความ เอ็นดู จึงแสดงธรรมสอนสาวกทั้งหลายว่า ‘เรื่องนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ เพื่อความสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกของศาสดานั้นกลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน๑- สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของศัตรู ไม่ประพฤติด้วยวัตร ของมิตร เป็นอย่างนี้ สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของมิตร ไม่ประพฤติด้วยวัตร ของศัตรู เป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๕๑๓/๒๒๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๓. อัจฉริยพภูตธัมมสูตร

คือ ศาสดาในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์ อาศัยความ เอ็นดู จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อ ความสุขแก่เธอทั้งหลาย’ สาวกของศาสดานั้นก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่ หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน สาวกทั้งหลายย่อมประพฤติต่อศาสดาด้วยวัตรของมิตร ไม่ประพฤติด้วยวัตร ของศัตรู เป็นอย่างนี้ อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเรียกร้องเราเพื่อเป็นมิตรเถิด อย่า เรียกร้องเราเพื่อเป็นศัตรูเลย ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุข แก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองเธอทั้งหลาย เหมือนช่างหม้อประคับ ประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบอยู่ เราจักกล่าวข่มแล้วข่มอีก จักกล่าวยกย่องแล้ว ยกย่องอีก บุคคลใดมีแก่นสาร๑- บุคคลนั้นจักดำรงอยู่” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาสุญญตสูตรที่ ๒ จบ
๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
ว่าด้วยอัจฉริยัพภูตธรรมของพระพุทธองค์
[๑๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันในหอฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้น ในระหว่างการประชุมว่า @เชิงอรรถ : @ แก่นสาร หมายถึงมรรคและผล แต่ในที่นี้แม้โลกิยคุณก็ประสงค์ว่า “แก่นสาร” (ม.อุ.อ. ๓/๑๙๖/๑๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๓๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๒๒-๒๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=22              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4846&Z=5089                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=343              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=343&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2841              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=343&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2841                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i343-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.122.than.html https://suttacentral.net/mn122/en/sujato http://www.bps.lk/olib/wh/wh087_Nyanamoli_The-Greater-Discourse-On-Voidness.html



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :