ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกทักษิณาทาน
[๓๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงถือผ้าใหม่คู่หนึ่ง เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉัน กรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศถวายพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรง อาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๘๗-๔๐๒/๓๒๔-๓๓๗, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓-๓๖/๕๐-๕๖, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓ @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๗/๒๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “โคตมี ขอพระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อพระนางถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันบูชา อาตมภาพและสงฆ์” แม้ครั้งที่ ๒ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศ ถวายพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าใหม่คู่ นี้ของหม่อมฉันเถิด” แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า “โคตมี ขอพระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อพระนางถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันบูชา อาตมภาพและสงฆ์” แม้ครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศ ถวายพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าใหม่คู่นี้ ของหม่อมฉันเถิด” แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า “โคตมี ขอพระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อพระนางถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันบูชา อาตมภาพและสงฆ์” [๓๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของพระนาง มหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงมีอุปการะมาก เป็นพระ มาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูให้พระผู้มีพระภาคเสวย น้ำนม ในเมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีอุปการะมากแก่ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค แล้ว จึงได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ทรงเป็นผู้เว้นขาดจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

การฆ่าสัตว์ ทรงเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ทรงเป็นผู้เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม ทรงเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ ทรงเป็นผู้เว้นขาดจากการ เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท๑- ทรงอาศัยพระผู้มี พระภาคแล้ว จึงทรงมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสแน่ว แน่ในพระธรรม มีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยะยินดี ทรง อาศัยพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ หมดความสงสัยใน ทุกขสมุทัย หมดความสงสัยในทุกขนิโรธ หมดความสงสัยในทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนาง มหาปชาบดีโคตมี” [๓๗๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ เพราะว่า บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระ ธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เราไม่กล่าวการกระทำนี้ คือ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม ด้วยการบริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ว่าเป็นการทำตอบแทนกันของบุคคลนี้กับ บุคคลนี้ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการ พูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาท เราไม่กล่าวการกระทำนี้ คือ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม ด้วยการบริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ว่าเป็นการทำตอบแทนกันของบุคคลนี้กับบุคคลนี้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบข้อ ๒๕๓ หน้า ๒๙๙-๓๐๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้มีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า มี ความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรม มีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระ อริยะยินดี เราไม่กล่าวการกระทำนี้ คือ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม ด้วยการบริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ว่าเป็นการทำตอบแทนกันของบุคคลนี้กับบุคคลนี้ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ หมดความสงสัยใน ทุกขสมุทัย หมดความสงสัยในทุกขนิโรธ หมดความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้ เราไม่กล่าวการกระทำนี้ คือ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การ ทำสามีจิกรรม ด้วยการบริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริขาร ว่าเป็นการทำตอบแทนกันของบุคคลนี้กับบุคคลนี้
การถวายทานเจาะจงบุคคล ๑๔ ประการ
[๓๗๙] อานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก (การถวายทานเจาะจงบุคคล)นี้ มี ๑๔ ประการ ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก ๑๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลย่อมถวายทานในพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑ ๒. บุคคลย่อมถวายทานในพระปัจเจกพุทธะ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๒ ๓. บุคคลย่อมถวายทานในพระสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓ ๔. บุคคลย่อมถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔ ๕. บุคคลย่อมถวายทานในพระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

๖. บุคคลย่อมถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖ ๗. บุคคลย่อมถวายทานในพระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๗ ๘. บุคคลย่อมถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘ ๙. บุคคลย่อมถวายทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๙ ๑๐. บุคคลย่อมถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐ ๑๑. บุคคลย่อมถวายทานในบุคคลภายนอกศาสนาผู้ปราศจากความ กำหนัดในกามทั้งหลายแล้ว นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการ ที่ ๑๑ ๑๒. บุคคลย่อมให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล๑- นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๒ ๑๓. บุคคลย่อมให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๓ ๑๔. บุคคลย่อมให้ทานในสัตว์ดิรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๔ อานนท์ ในทักษิณาปาฏิปุคคลิก ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์ ดิรัจฉานแล้ว พึงหวังทักษิณาอันมีอานิสงส์ ๑๐๐ อัตภาพ ให้ทานในปุถุชนผู้ ทุศีลแล้วพึงหวังทักษิณาอันมีอานิสงส์ ๑,๐๐๐ อัตภาพ ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล @เชิงอรรถ : @ ปุถุชนผู้มีศีล ในที่นี้หมายถึงปุถุชนผู้มีศีล โดยชื่อว่าเป็นผู้มีศีลเป็นพื้น ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา @ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เลี้ยงชีวิตด้วยกสิกรรมหรือพาณิชยกรรมโดยธรรม โดยชอบธรรม @(ม.อุ.อ. ๓/๓๗๙/๒๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

แล้วพึงหวังทักษิณาอันมีอานิสงส์ ๑๐๐,๐๐๐ อัตภาพ ถวายทานในบุคคล ภายนอกศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายแล้ว พึงหวังทักษิณาอันมี อานิสงส์แสนโกฏิอัตภาพ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลแล้ว พึงหวังทักษิณาอันมีอานิสงส์นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการ ถวายทานในพระโสดาบัน ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อ ทำให้แจ้งสกทาคามิผล ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในพระสกทาคามี ไม่ จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล ไม่ จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในพระอนาคามี ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวาย ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทาน ในพระสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทาน ในพระปัจเจกสัมพุทธะ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
การถวายทานในสงฆ์ ๗ ประการ
[๓๘๐] อานนท์ ก็ทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ ๗ ประการนี้ ทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. บุคคลย่อมถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้ เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ประการที่ ๑ ๒. เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้วบุคคลย่อมถวายทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย นี้เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ประการที่ ๒ ๓. บุคคลย่อมถวายทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ ประการที่ ๓ ๔. บุคคลย่อมถวายทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ ประการที่ ๔ ๕. บุคคลเผดียงสงฆ์ว่า ‘ขอท่านจงให้ภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ แก่ข้าพเจ้าเจาะจงจากสงฆ์’ แล้วถวายทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถวาย ในสงฆ์ประการที่ ๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

๖. บุคคลเผดียงสงฆ์ว่า ‘ขอท่านจงให้ภิกษุจำนวนเท่านี้แก่ข้าพเจ้า เจาะจงจากสงฆ์’ แล้วถวายทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ประการ ที่ ๖ ๗. บุคคลเผดียงสงฆ์ว่า ‘ขอท่านจงให้ภิกษุณีจำนวนเท่านี้แก่ข้าพเจ้า เจาะจงจากสงฆ์’ แล้วถวายทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ประการ ที่ ๗ อานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าโคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ชนทั้งหลายจักถวายทานเจาะจงพระสงฆ์ได้ในภิกษุ ผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้ในเวลานั้น เราก็ยังกล่าวทักษิณาที่ถวายในสงฆ์ว่า มีอานิสงส์ นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่า ทักษิณาที่ถวายในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย [๓๘๑] อานนท์ ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา(ของทำบุญ) ๔ ประการนี้ ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก(ผู้ให้) แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ) ๒. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ๓. ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ๔. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรม เลวทราม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้ ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๓๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร

ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร คือ ทายกในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม และปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้ ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร คือ ทายกในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม และปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้ อานนท์ ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ ประการนี้”๑- พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์อื่นอีกต่อไปว่า [๓๘๒] “ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอันโอฬาร ให้ทานในชนผู้ทุศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอันโอฬาร ให้ทานในชนผู้มีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอันโอฬาร ให้ทานในชนผู้ทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์ ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอันโอฬาร ให้ทานในชนผู้มีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๘/๑๒๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๓๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอันโอฬาร จึงให้ทานในท่านผู้ปราศจากราคะ เรากล่าวทานของผู้นั้นนั่นแลว่า “เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย” ดังนี้แล
ทักขิณาวิภังคสูตรที่ ๑๒ จบ
วิภังควรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรในวรรคนี้ คือ
๑ ภัทเทกรัตตสูตร ๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร ๖. มหากัมมวิภังคสูตร ๗. สฬายตนวิภังคสูตร ๘. อุทเทสวิภังคสูตร ๙. อรณวิภังคสูตร ๑๐. ธาตุวิภังคสูตร ๑๑. สัจจวิภังคสูตร ๑๒. ทักขิณาวิภังคสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๔๓๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๒๔-๔๓๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=42              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=9161&Z=9310                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=706              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=706&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=5710              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=706&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=5710                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i706-e.php# https://suttacentral.net/mn142/en/sujato https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Short-Pieces/Dakkhinavibhangasuttam.htm



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :