ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร
ว่าด้วยสุสิมปริพาชก
[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ประพฤติอ่อนน้อม ทรงได้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- ปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ประพฤติอ่อนน้อม ได้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช- บริขาร แต่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ประพฤติอ่อนน้อม ไม่ได้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร สมัยนั้น สุสิมปริพาชกพักอยู่ ณ กรุงราชคฤห์กับบริษัทปริพาชกจำนวนมาก ครั้งนั้น บริษัททั้งหลายของสุสิมปริพาชกได้กล่าวกับสุสิมปริพาชก ดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

‘มาเถิดท่านสุสิมะ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม ท่าน เรียนธรรมแล้ว พึงบอกสอนพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าเรียนธรรมนั้นแล้ว จักบอก แก่พวกคฤหัสถ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ประพฤติอ่อนน้อม จักได้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร’ สุสิมปริพาชกรับคำบริษัทของตนแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พาสุสิมปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุสิมปริพาชกนี้กล่าวว่า ‘ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนา จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้” “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้สุสิมะบวชเถิด” สุสิมปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากพากันอวดอ้างอรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ท่านสุสิมะได้ฟังมาว่า “ข่าวว่า ภิกษุจำนวนมากอวดอ้างอรหัตตผล ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

ครั้งนั้น ท่านสุสิมะเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ‘ข่าวว่า ท่านทั้งหลายอวดอ้างอรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป จริงหรือ” “จริง ท่านผู้มีอายุ” “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลาย อย่าง คือคนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ ปรากฏก็ได้หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา ทะลุกำแพง(และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือน ไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่ แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้บ้างหรือ”๑- “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และ เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์บ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโมหะ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดใน ที.สี. (แปล) ๙/๔๗๔/๒๐๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตมี จิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่าจิตไม่มี จิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัด ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัด ว่าจิตไม่หลุดพ้นบ้างหรือ”๑- “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น จุติ จากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ ท่านทั้งหลายย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติ อย่างนี้บ้างหรือ”๒- “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ประกอบกาย @เชิงอรรถ :- @๑-๒ ดูรายละเอียดใน ที.สี (แปล) ๙/๔๗๖/๒๐๘, ๔๗๗/๒๐๙, ๔๗๘/๒๑๐ ตามลำดับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

ทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่น ให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้าย พระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขา หลังจากตายแล้ว จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ท่านทั้งหลายเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลัง จุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์ อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้บ้างหรือ”๑- “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “ท่านทั้งหลายรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารุปปวิโมกข์๒- อันสงบก้าวล่วงรูปทั้งหลาย เสียได้ด้วยนามกายอยู่บ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” “บัดนี้ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็น อย่างไรกันแน่” “ท่านสุสิมะ พวกผมหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา” “ผมไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร ขอโอกาส ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวเท่าที่ผมจะเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลาย กล่าวโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารเถิด” @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดใน ที.สี. (แปล) ๙/๔๗๗/๒๐๙, ๙/๔๗๘/๒๑๐ @ อารุปปวิโมกข์ คือ การหลุดพ้นจากอรูปฌาน เพราะสงบองค์และอารมณ์แห่งฌานทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง @พระฎีกาจารย์ หมายถึงการหลุดพ้นจากความจำได้หมายรู้อรูปฌาน เพราะองค์ฌานทั้งหลายสงบระงับ @โดยภาวะที่ไกลจากธรรมเครื่องเนิ่นช้ามีนิวรณ์เป็นต้น เพราะสงบอารมณ์ที่ถึงความละเอียดอ่อนโดยปราศ @จากการจำแนกว่าเป็นรูป อีกอย่างหนึ่ง ท่านหมายถึงสงบอารมณ์ที่เป็นโลกุตตรธรรม (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓, @สํ.นิ.ฏีกา ๒/๗๐/๑๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“ท่านจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม แต่พวกผมก็หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา” ครั้งนั้น ท่านสุสิมะลุกขึ้นจากอาสนะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลคำที่ตนสนทนากับภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “สุสิมะ ธัมมฐิติญาณ๑- เกิดก่อน นิพพานญาณ๒- เกิดภายหลัง” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้าใจเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระองค์ ตรัสโดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตรัสโดย ประการที่ข้าพระองค์จะพึงเข้าใจเนื้อความแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดยย่อนี้ได้ โดยพิสดารด้วยเถิด” “สุสิมะ เธอจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม ความจริงธัมมฐิติญาณเกิดก่อน นิพพาน- ญาณเกิดภายหลัง เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ธัมมฐิติญาณ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาญาณ (คือความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่ง @ทั้งหลายตามความเป็นจริง) (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓) @ นิพพานญาณ ในที่นี้หมายถึงมรรคญาณ (คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคล) @(สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณาเห็น สิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณาเห็น สิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๔๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณาเห็น สิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “สุสิมะ เพราะเหตุนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ รูปทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปภายในหรือ ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ วิญญาณ ทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ สุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ใน เวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมีหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอเห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมีหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอเห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมีหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีหรือ ... เพราะผัสสะเป็น ปัจจัย เวทนาจึงมี ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ... เพราะสังขารเป็น ปัจจัย วิญญาณจึงมี ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ... เพราะวิญญาณเป็น ปัจจัย นามรูปจึงมี” ... เธอเห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมีหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอเห็นว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอเห็นว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ... เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“สุสิมะ เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวแสดง เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏก็ได้หรือให้หายไป ก็ได้ ทะลุฝา ทะลุกำแพง (และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือ ดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก ก็ได้บ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์บ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้นบ้างหรือ”๑- “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้บ้าง หรือ”๒- “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์ เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้ บ้างหรือ”๓- @เชิงอรรถ : @๑-๓ ดูความเต็มในข้อ ๗๐ หน้า ๑๔๔-๑๔๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารุปปวิโมกข์๑- อันสงบก้าวล่วงรูปทั้งหลาย เสียได้ ด้วยนามกายอยู่บ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “สุสิมะ บัดนี้ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ เรื่องนี้ เป็นอย่างไรกันแน่” ลำดับนั้น ท่านพระสุสิมะได้หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ตกถึงข้าพระองค์ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่พระองค์ ตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับโทษของข้าพระองค์โดยความ เป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า’ “สุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา เธอบวชขโมยธรรม ในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เปรียบเหมือนราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้ ประพฤติชั่วได้แล้ว จึงทูลแสดงแด่พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ประพฤติชั่วต่อ พระองค์ ขอจงทรงลงพระอาญาตามที่ทรงพระประสงค์แก่โจรผู้นี้เถิด’ พระราชา รับสั่งราชบุรุษผู้นั้นว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปเอาเชือกที่เหนียวมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้แน่น แล้วเอามีดโกนโกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยลั่นฆ้อง กลองนำออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ(ทิศใต้) แล้วจงตัดศีรษะทางด้านทิศทักษิณ ของตัวเมือง ราชบุรุษทั้งหลายก็เอาเชือกที่เหนียวมัดโจรผู้นั้นไพล่หลังให้แน่น แล้วเอามีดโกนโกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยลั่นฆ้องกลอง นำออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศทักษิณของตัวเมือง ฉะนั้น’ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ในข้อ ๗๐ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๗. มหาวรรค ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร

เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะ การกระทำความผิดนั้นบ้างหรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “สุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการกระทำความผิดนั้น นับแต่การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ยังมี ผลเป็นทุกข์และเผ็ดร้อนกว่าการเสวยทุกข์และโทมนัสนั้น ทั้งยังเป็นไปเพื่อวินิบาต (ปราศจากความสุข) แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วแสดงคืนตาม วิธีที่ถูกต้อง เรารับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วแสดงคืน ตามวิธีที่ถูกต้อง ผู้นั้นจะได้สำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”
สุสิมปริพพาชกสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๗ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสุตวาสูตร ๒. ทุติยอัสสุตวาสูตร ๓. ปุตตมังสสูตร ๔. อัตถิราคสูตร ๕. นครสูตร ๖. สัมมสสูตร ๗. นฬกลาปิสูตร ๘. โกสัมพิสูตร ๙. อุปยันติสูตร ๑๐. สุสิมปริพพาชกสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๕๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๔๓-๑๕๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=16&siri=66              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=3187&Z=3452                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=279              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=279&items=26              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=3148              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=279&items=26              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=3148                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i230-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.070.than.html https://suttacentral.net/sn12.70/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.70/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :