ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

๓. ยมกสูตร
ว่าด้วยพระยมกะ
[๘๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า “เรารู้ ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อม ขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” ภิกษุจำนวนมากได้ยินว่า “ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอ เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระยมกะว่า “ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ จริงหรือ” ท่านพระยมกะตอบว่า “จริง ขอรับ” “ท่านยมกะ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” ท่านพระยมกะถูกภิกษุเหล่านั้นว่ากล่าวแม้อย่างนี้ ก็ยังยึดทิฏฐิชั่วนั้นอย่าง มั่นคงกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพ หลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้ท่านพระยมกะคลายทิฏฐิชั่วนั้นได้จึงพากันลุก จากอาสนะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร พระยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ ขอโอกาส ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุยมกะถึงที่อยู่เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นแล้วเข้าไปหาท่านพระ ยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระยมกะดังนี้ว่า “ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิชั่ว เช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจาก ตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ จริงหรือ” ท่านพระยมกะตอบว่า “จริง ขอรับ ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” “ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง ขอรับ” ฯลฯ “เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง ขอรับ” “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ พระอริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นรูปว่า ‘เป็นตถาคต๑-’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านพิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านพิจารณาเห็นสัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” @เชิงอรรถ : @ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึง @พระพุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (สํ.ข.อ. ๒/๘๕/๓๓๙, ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

“ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในรูป’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากรูป’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในเวทนา’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “... ในเวทนา ฯลฯ นอกจากเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ... นอกจากสัญญา ... ในสังขารทั้งหลาย ... นอกจากสังขารทั้งหลาย ... “ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในวิญญาณ’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากวิญญาณ’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตนี้ไม่มีรูป’ ... ไม่มีเวทนา ... ไม่มีสัญญา ... ไม่มีสังขาร ... ไม่มีวิญญาณหรือ” “ไม่ใช่ ขอรับ” “ท่านยมกะ แท้จริง ท่านจะค้นหาตถาคตในขันธ์ ๕ ประการนี้ในปัจจุบัน ไม่ได้เลย ควรหรือที่ท่านจะกล่าวว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

“ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้จึงได้เกิดทิฏฐิชั่วเช่นนั้น แต่บัดนี้ เพราะฟัง ธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร ผมจึงละทิฏฐิชั่วนั้นได้แล้ว และได้บรรลุธรรม” “ท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านยมกะ ภิกษุอรหันต- ขีณาสพ หลังจากตายแล้วเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างไร” “ท่านผู้มีอายุ ถ้าพวกเขาถามอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุอรหันตขีณาสพหลังจากตาย แล้วเป็นอะไร’ ผมถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้มีอายุ ผมถูกถามอย่างนี้พึงตอบอย่างนี้” “ดีละ ดีละ ท่านยมกะ ถ้าอย่างนั้น ผมจะยกอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อเข้าใจ เนื้อความนั้นชัดเจนขึ้น เปรียบเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีการอารักขาอย่างกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งมุ่งความพินาศ ความไม่เป็นประโยชน์ และความไม่ปลอดภัย อยากจะปลิดชีวิตเขาเสีย เขาจึง มีความคิดว่า ‘คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้นี้เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการอารักขาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลิดชีวิตเขามิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรใช้อุบายปลิดชีวิตเสีย’ เขาพึงเข้าไปหาคหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมจะขอรับใช้ท่าน’ คหบดีหรือบุตรคหบดีพึงรับเขาไว้ เขารับใช้อย่างดี คือ มีปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติตนให้เป็นที่พอใจ พูดแต่คำไพเราะ คหบดีหรือบุตรคหบดี นั้นเชื่อว่าเขาเป็นมิตรสหาย และไว้ใจเขา เมื่อใด บุรุษนั้นคิดว่า ‘คหบดีหรือบุตร คหบดีนี้ไว้ใจเราแล้ว’ เมื่อนั้น เขารู้ว่าคหบดีหรือบุตรคหบดีอยู่ในที่ลับ จึงใช้ศัสตรา อันคมปลิดชีวิตเสีย ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคหบดีหรือบุตรคหบดีโน้นแล้วกล่าวว่า ‘ผมจะ ขอรับใช้ท่าน’ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่คหบดีหรือบุตรคหบดี นั้นก็ไม่รู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ แม้ในกาลใด บุรุษนั้นรับใช้อย่างดี คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

มีปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติตนให้เป็นที่พอใจ พูดแต่คำไพเราะ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นก็ไม่รู้จักบุรุษ ผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ แม้ในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่าคหบดีหรือบุตรคหบดีอยู่ในที่ลับ จึงใช้ศัสตราอันคมปลิดชีวิตเสีย แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นก็ไม่รู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ หรือ” “อย่างนั้น ขอรับ” “ท่านยมกะ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของ พระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำใน ธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ หรือพิจารณาเห็น อัตตาในวิญญาณ เขาไม่รู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดเวทนาที่ไม่ เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสัญญาที่ไม่เที่ยงตามความเป็น จริงว่า ‘สัญญาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสังขารที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ ... เวทนาที่เป็นทุกข์ ... สัญญาที่เป็นทุกข์ ... สังขารที่เป็นทุกข์ ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่เป็นทุกข์ตาม ความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นทุกข์’ ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นอนัตตา’ ... เวทนาที่ เป็นอนัตตา ... สัญญาที่เป็นอนัตตา ... สังขารที่เป็นอนัตตา ... ไม่รู้ชัด วิญญาณที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นอนัตตา’ ไม่รู้ชัดรูปที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘รูปถูกปัจจัยปรุงแต่ง’ ... เวทนาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สัญญาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สังขารที่ถูกปัจจัย ปรุงแต่ง ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณถูก ปัจจัยปรุงแต่ง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นผู้ฆ่า’ ... เวทนาที่เป็นผู้ฆ่า ... สัญญาที่เป็นผู้ฆ่า ... สังขารที่เป็นผู้ฆ่า ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่เป็นผู้ฆ่าตามความ เป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นผู้ฆ่า’ เขาเข้าไปยึดมั่นรูปว่า ‘เป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เข้าไปยึดมั่นวิญญาณว่า ‘เป็นอัตตาของเรา’ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่ ปุถุชนนั้นเข้าไปยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอด กาลนาน ท่านผู้มีอายุ ส่วนพระอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ฯลฯ ได้รับการแนะนำใน ธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่า มีรูป ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณา เห็นเวทนา ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ เขารู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ รู้ชัดเวทนาที่ไม่เที่ยง ... สัญญาที่ไม่เที่ยง ... สังขารที่ไม่เที่ยง ... รู้ชัดวิญญาณที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณไม่เที่ยง’ รู้ชัดรูปที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ รู้ชัดเวทนาที่เป็นทุกข์ ... สัญญาที่เป็นทุกข์ ... สังขารที่เป็นทุกข์ ... รู้ชัดวิญญาณที่เป็นทุกข์ตามความ เป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นทุกข์’ รู้ชัดรูปที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นอนัตตา’ รู้ชัดเวทนาที่เป็น อนัตตา ... สัญญาที่เป็นอนัตตา ... สังขารที่เป็นอนัตตา ... รู้ชัดวิญญาณที่ เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นอนัตตา’ รู้ชัดรูปที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘รูปถูกปัจจัยปรุงแต่ง’ รู้ชัด เวทนาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สัญญาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สังขารที่ถูกปัจจัย ปรุงแต่ง ... รู้ชัดวิญญาณที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณถูก ปัจจัยปรุงแต่ง’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

รู้ชัดรูปที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นผู้ฆ่า’ รู้ชัดเวทนาที่เป็นผู้ฆ่า ... สัญญาที่เป็นผู้ฆ่า ... รู้ชัดสังขารที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารเป็นผู้ฆ่า’ รู้ชัดวิญญาณที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นผู้ฆ่า’ เขาไม่เข้าไปยึดมั่นรูปว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่เข้าไปยึดมั่นวิญญาณว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่พระอริยสาวกนั้นไม่เข้าไปยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน” “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เช่นกับท่านเป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์ ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้น และเพราะได้ฟังธรรมเทศนา นี้ของท่านสารีบุตร จิตของผมจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”
ยมกสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๔๗-๑๕๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=85              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2447&Z=2585                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=198              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=198&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7477              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=198&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7477                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.085.than.html https://suttacentral.net/sn22.85/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.85/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :