ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๔. อนุราธสูตร๑-
ว่าด้วยพระอนุราธะ
[๘๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น ท่านพระอนุราธะอยู่ที่กุฎีป่า ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอนุราธะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระอนุราธะดังนี้ว่า “ท่านอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็น บรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติในฐานะ ๔ ประการนี้ คือ ๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก ๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ หรือ” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๔๑๑/๔๗๓-๔๗๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

เมื่ออัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอนุราธะได้ตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควร บรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ ประการนี้ คือ ๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก ๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่” เมื่อท่านพระอนุราธะตอบอย่างนี้แล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าว กับท่านพระอนุราธะดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้คงจักเป็นพระใหม่บวชได้ไม่ นาน หรือเป็นพระเถระแต่โง่ ไม่ฉลาด” ทีนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกกล่าว รุกรานท่านพระอนุราธะด้วยวาทะว่าเป็นพระใหม่และวาทะว่าเป็นพระโง่ พากันลุก จากอาสนะแล้วจากไป ครั้นเมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจากไปไม่นาน ท่านพระอนุราธะได้มีความ คิดว่า “ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามปัญหากับเรายิ่งขึ้นไป เราจะ พยากรณ์แก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่าง สมเหตุสมผล ไม่มีคำกล่าวเช่นนั้นและการคล้อยตามที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
พระอนุราธะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค
ต่อมา ท่านพระอนุราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ ประทานวโรกาส ข้าพระองค์อยู่ที่กุฎีป่า ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกจำนวนมากเข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถาม ข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรง บรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติ ในฐานะ ๔ ประการนี้ คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก ๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ หรือ’ เมื่อพวกอัญเดียรดีย์ปริพาชกถามอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้ตอบดังนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ ประการนี้ คือ ๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ฯลฯ ๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ เมื่อข้าพระองค์ตอบอย่างนี้แล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับ ข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ภิกษุรูปนี้คงจักเป็นพระใหม่บวชได้ไม่นาน หรือเป็นพระเถระ แต่โง่ไม่ฉลาด’ ทีนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวรุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะ ว่าเป็นพระใหม่และด้วยวาทะว่าเป็นพระโง่ พากันลุกจากอาสนะแล้วจากไป เมื่ออัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ได้มีความคิดว่า ‘ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามปัญหากับเรายิ่งขึ้นไป เราจะพยากรณ์ แก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มี คำกล่าวเช่นนั้นและการคล้อยตามที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ท่านพระอนุราธะกราบทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ “เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” “อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นรูปว่า ‘เป็น ตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอพิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคต มีในรูป’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากรูป’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในเวทนา ฯลฯ นอกจากเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ... ในสังขาร ... นอกจากสังขาร ... ในวิญญาณ’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากวิญญาณ’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

“อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคต นี้ไม่มีรูป’ ... ไม่มีเวทนา... ไม่มีสัญญา ... ไม่มีสังขาร พิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตไม่มีวิญญาณ’ หรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อนุราธะ แท้จริง เธอจะค้นหาตถาคตโดยจริงโดยแท้ในขันธ์ ๕ ประการนี้ ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรหรือที่เธอจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็น อุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรง บัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ ประการนี้ คือ ๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก ๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ หรือ” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ อนุราธะ ทั้งในกาลก่อนและในบัดนี้ เราย่อมบัญญัติทุกข์และ ความดับทุกข์เท่านั้น”
อนุราธสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๕๓-๑๕๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=17&siri=86              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=2586&Z=2679                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=208              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=208&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7537              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=208&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7537                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta4 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.086.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.086.wlsh.html https://suttacentral.net/sn22.86/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.86/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :