ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
๓. ปโตทสูตร
ว่าด้วยปฏักของสารถี
[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภท อะไรบ้าง คือ ๑. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้พอเห็นเงาปฏัก๑- ก็หวาดหวั่น สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจัก สนองเขาอย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่าง นี้แล ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๒. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขา อย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก @เชิงอรรถ : @ หมายถึงไม้ที่ฝังเหล็กแหลมข้างปลาย ใช้แทงสัตว์พาหนะ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน @พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๕๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๗๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. เกสิวรรค ๓. ปโตทสูตร

๓. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แม้จะถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนก็ยังไม่หวาดหวั่น ไม่ สำนึก แต่เมื่อถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขา อย่างไร’ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีประเภทที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔. ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้เห็นเงาปฏักก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แม้จะถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขนก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แม้จะถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังก็ไม่หวาดหวั่น ไม่สำนึก แต่เมื่อ ถูกแทงด้วยปฏักถึงกระดูกจึงหวาดหวั่น สำนึกว่า ‘วันนี้ สารถี ผู้ฝึกม้าจักให้เราทำการอะไรหนอ เราจะสนองเขาอย่างไร’ ม้า อาชาไนยพันธุ์ดีบางตัวในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล ม้าอาชาไนย พันธุ์ดีประเภทที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ๔ ประเภทนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีปรากฏอยู่ในโลก บุรุษอาชาไนย ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ ตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะฟังข่าวนั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศ กายและใจ ทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่ว ถึงด้วยปัญญา เรากล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือน ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีเห็นเงาปฏักก็หวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ประเภทที่ ๑ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๒. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้าน หรือตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ แต่เขาเห็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๗๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. เกสิวรรค ๓. ปโตทสูตร

สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเองเลยทีเดียว เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะเห็นเหตุการณ์นั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็น แจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรากล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่า เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดีที่ถูกแทงด้วยปฏักจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญประเภทที่ ๒ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓. บุรุษอาชาไนยบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ ตำบลชื่อโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ ไม่ได้เห็นสตรี หรือบุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเอง แต่ญาติหรือสาโลหิต๑- ของเขาประสบทุกข์หรือตาย เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะเหตุการณ์ นั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้ง ปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรา กล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ที่ถูกแทงด้วยปฏักถึงผิวหนังจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ประเภทที่ ๓ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔. บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ไม่ได้ฟังข่าวว่า ‘ในหมู่บ้านหรือ ตำบลโน้น สตรีหรือบุรุษประสบทุกข์หรือตาย’ ไม่ได้เห็นสตรีหรือ บุรุษประสบทุกข์หรือตายด้วยตัวเอง ทั้งญาติหรือสาโลหิตของเขา ก็ไม่ได้ประสบทุกข์หรือตาย แต่ตัวเขาเองประสบเวทนาทั้งหลาย อันมีในร่างกายเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต เขาสลดใจ สำนึกตัวเพราะประสบทุกข์นั้น จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยแยบคาย อุทิศกายและใจ ทำให้แจ้ง @เชิงอรรถ : @ สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เป็นต้น หรือญาติ @ฝ่ายมารดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๗๖/๒๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๗๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๒. เกสิวรรค ๔.นาคสูตร

ปรมัตถสัจจะด้วยนามกาย และเห็นแจ้งทั่วถึงด้วยปัญญา เรา กล่าวเปรียบบุรุษอาชาไนยผู้เจริญนี้ว่าเหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ที่ถูกแทงด้วยปฏักจนถึงกระดูกจึงหวาดหวั่น สำนึก บุรุษอาชาไนย ผู้เจริญ บางคนในโลกนี้ เป็นอย่างนี้แล บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ประเภทที่ ๔ นี้มีปรากฏอยู่ในโลก ภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปโตทสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๗๒-๑๗๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=112              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=3127&Z=3192                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=113              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=113&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8561              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=113&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8561                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i111-e.php#sutta3 https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i111-e2.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.113.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.113.wood.html https://suttacentral.net/an4.113/en/sujato https://suttacentral.net/an4.113/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :