ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๕. พาลวรรค
หมวดว่าด้วยคนพาล๑-
๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
เรื่องชายคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และชายคนหนึ่ง ดังนี้) [๖๐] ราตรีหนึ่ง ยาวนานสำหรับคนผู้ตื่นอยู่ ระยะทางโยชน์หนึ่ง ยาวไกลสำหรับคนผู้เมื่อยล้า สังสารวัฏ๒- ยาวนานสำหรับคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม @เชิงอรรถ : @ คนพาล ในที่นี้หมายถึงคนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระ @สัทธรรมมีโพธิปักขิยธรรม และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๐, @ขุ.ธ.ฏีกา ๘๑) @ สังสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ

๒. มหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกรุงราชคฤห์ ดังนี้) [๖๑] หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้ ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง เพราะจะหาความเป็นเพื่อน๑- ในคนพาลไม่ได้เลย
๓. อานันทเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอานันทเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริบุตรของอานันทเศรษฐี ดังนี้) [๖๒] คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า “เรามีบุตร เรามีทรัพย์” แท้จริง ตัวตนก็ไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน
๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
เรื่องโจรผู้ทำลายปม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โจรผู้ทำลายปมและชนทั้งหลาย ดังนี้) [๖๓] คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้ @เชิงอรรถ : @ ความเป็นเพื่อน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ได้จากความเป็นเพื่อนคือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐ @ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนา มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๙-๑๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ

๕. อุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๖๔] คนพาล แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น
๖. ปาเฐยยกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๖๕] วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่ ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น
๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
เรื่องนายสุปปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๖๖] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ทำตนให้เป็นดุจข้าศึก เที่ยวทำบาปกรรมที่ให้ผลเผ็ดร้อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ

๘. กัสสกวัตถุ
เรื่องชาวนา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ดังนี้) [๖๗] บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง ร้องไห้น้ำตานองหน้า เสวยผลกรรมอยู่ กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมไม่ดี
๙. สุมนมาลาการวัตถุ
เรื่องช่างดอกไม้ชื่อสุมนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๖๘] บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง อิ่มเอิบ ดีใจ เสวยผลกรรมอยู่ กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมดี
๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๖๙] ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลย่อมสำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง๑- แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์ @เชิงอรรถ : @ สำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง หมายถึงสำคัญว่าบาปอกุศลที่ตนทำอยู่ ปรากฏน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ @เหมือนน้ำผึ้ง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ

๑๑. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้) [๗๐] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๑-
๑๒. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๗๑] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้ บาปกรรมนั้นจะค่อยๆ เผาผลาญคนพาล เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น
๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๗๒] ความรู้๒- เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ @เชิงอรรถ : @ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน @จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๓) @ ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ

๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้) [๗๓] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี๑- ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย [๗๔] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า “ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก” ความริษยา๒- และความถือตัว๓- จึงเกิดพอกพูนขึ้น @เชิงอรรถ : @ ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม @ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๖) @ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๗) @ ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ ๙ อย่าง (๑) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๒) เป็นผู้เลิศกว่าเขา @ถือตัวว่าเสมอเขา (๓) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๔) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา @(๕) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๖) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๗) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา @ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๘) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๙) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา @(ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๗) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๑/๙๖-๙๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑. ราธเถรวัตถุ

๑๕ วนวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๗๕] ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ได้ลาภเป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า รู้ชัดข้อปฏิบัติทั้งสองนี้แล้ว ไม่พึงยินดีสักการะ๑- แต่พึงเพิ่มพูนวิเวก๒- (ให้ต่อเนื่อง)
พาลวรรคที่ ๕ จบ
๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดว่าด้วยบัณฑิต
๑. ราธเถรวัตถุ
เรื่องพระราธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๗๖] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ (และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย๓- @เชิงอรรถ : @ สักการะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๙) @ วิเวก หมายถึงความสงัด มี ๓ คือ (๑) กายวิเวก ความสงัดกาย (๒) จิตตวิเวก ความสงัดใจ (๓) อุปธิวิเวก @ความสงัดอุปธิ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๙-๑๙๐) @ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๓/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๔๕-๕๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=14              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=434&Z=478                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=15              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=15&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=20&A=2059              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=15&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=20&A=2059                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i015-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i015-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.05.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.05.budd.html https://suttacentral.net/dhp60-75/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp60-75/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp60-75/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :