ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๒. เสยยสกเถรวัตถุ

๙. ปาปวรรค
หมวดว่าด้วยบาป
๑. จูเฬกสาฏกวัตถุ
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๑๖] บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ๑- ควรห้ามจิตจากบาป๒- เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป
๒. เสยยสกเถรวัตถุ
เรื่องพระเสยยสกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเสยยสกเถระ ดังนี้) [๑๑๗] หากบุคคลทำบาปไป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้ @เชิงอรรถ : @ บุญ หมายถึงการให้ทาน การบำเพ็ญวัตร มีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๔) @ บาป หมายถึงกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือการเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต (ขุ.ธ.อ. ๕/๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ

๓. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้) [๑๑๘] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้) [๑๑๙] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี แต่เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้ [๑๒๐] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๗. มหาธนวาณิชวัตถุ

๕. อสัญญตปริกขารภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่เก็บรักษาบริขาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้) [๑๒๑] บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง๑- แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดๆ ได้ ฉันใด คนพาล เมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กทีละน้อย ก็เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น
๖. พิฬารปทกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องพิฬารปทกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีผู้อยู่เมืองสาวัตถี ดังนี้) [๑๒๒] บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดๆ ได้ ฉันใด คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อย ก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น
๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๓] บุคคลควรละเว้นบาปทั้งหลาย ดุจพ่อค้าที่มีทรัพย์มาก แต่มีพวกน้อย หลีกเลี่ยงทางที่มีภัย และดุจคนรักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ หมายถึงอย่าสำคัญว่าตนทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย คงจักไม่ให้ผล (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ

๘. กุกกุฏมิตตเนสาทวัตถุ
เรื่องนายพรานเนื้อชื่อกุกกุฏมิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๔] หากที่ฝ่ามือไม่มีแผล บุคคลก็ใช้ฝ่ามือนำยาพิษไปได้ เพราะยาพิษจะไม่ซึมเข้าไปยังฝ่ามือที่ไม่มีแผล เหมือนบาปไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉะนั้น
๙. โกกสุนขลุททกวัตถุ
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้) [๑๒๕] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้ ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑-
๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงตระกูลช่างแก้ว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๖] สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์๒- พวกที่ทำบาปกรรมย่อมไปนรก พวกที่ทำความดีย่อมไปสวรรค์ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๒/๒๖, ๑๕/๑๙๐/๒๖๙, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๒๖๕/๒๑๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๔/๒๑๖ @และดูสุตตนิบาตข้อ ๖๖๘ หน้า ๖๖๐ ในเล่มนี้ @ ครรภ์ ในที่นี้หมายถึงครรภ์มนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ

๑๑. ตโยชนวัตถุ
เรื่องคน ๓ จำพวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๗] คนทำบาป ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว จะพ้นจากบาปกรรมได้
๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
เรื่องเจ้าศากยะสุปปพุทธะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๒๘] บุคคล ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากความตาย ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากความตาย ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากความตาย เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่บุคคลยืนอยู่แล้ว จะไม่ถูกความตายครอบงำได้
ปาปวรรคที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๗-๗๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=18              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=587&Z=617                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=19              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=19&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=19&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i019-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i019-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.09.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.09.budd.html https://suttacentral.net/dhp116-128/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp116-128/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp116-128/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :