ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๔. กสิภารทวาชสูตร๒-
ว่าด้วยภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นชาวนา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร๓- ใกล้หมู่บ้าน พราหมณ์ ชื่อเอกนาฬา แคว้นมคธ สมัยนั้น ในฤดูหว่านข้าว กสิภารทวาช- พราหมณ์ได้ประกอบไถจำนวน ๕๐๐ เล่ม เตรียมไถนา @เชิงอรรถ : @ ไม่สะอาด หมายถึงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด (ขุ.สุ.อ. ๑/๗๕/๑๓๑) @ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๗/๒๘๓ @ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร นี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดเชิงภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ @(ขุ.สุ.อ. ๑/๔/๑๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๔. กสิภารทวาชสูตร

ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ กำลังเลี้ยงอาหารกันอยู่ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสถานที่เลี้ยงอาหารของเขาแล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนบิณฑบาตอยู่ จึงกราบทูล ดังนี้ว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค ท่านพระสมณะ แม้ท่านก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภค” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและ หว่านแล้ว จึงบริโภค” กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ ผาล ประตัก หรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย ถึงกระนั้น ท่านพระโคดม ยังพูดอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค” ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๗๖] ท่านปฏิญญาว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นสัมภาระแห่งการไถของท่านเลย ท่านผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอจงบอก ข้าพเจ้าจะรู้สัมภาระแห่งการไถของท่านได้อย่างไร [๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตัก [๗๘] เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจาได้แล้ว สำรวมในการบริโภคอาหาร เราดายหญ้า (คือวาจาสับปลับ) ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราช่วยทำงานให้สำเร็จ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๔. กสิภารทวาชสูตร

[๗๙] ความเพียรของเราช่วยนำธุระไป ให้ถึงความเกษมจากโยคะ นำไปไม่ถอยหลัง นำไปถึงที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก [๘๐] เราไถนาอย่างนี้ นาที่เราไถนั้นมีผลเป็นอมตะ๑- บุคคลครั้นไถนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสใส่ถาดสำริดใบใหญ่แล้วน้อมถวาย พระผู้มีพระภาค พร้อมกับกราบทูลว่า “ขอท่านพระโคดมจงบริโภคข้าวปายาสเถิด เพราะท่านผู้เจริญทรงเป็นชาวนา ทรงไถนาอันมีผลเป็นอมตะ” [๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) เราไม่บริโภคโภชนะ ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม พราหมณ์ ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่รับโภชนะที่ได้มาเพราะการขับกล่อม พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่ [๘๒] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ เพราะว่าการบำรุงนั้น เป็นเขตบุญของผู้แสวงบุญ กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้า จะนำข้าวปายาสนี้ไปถวายใครเล่า” @เชิงอรรถ : @ ผลเป็นอมตะ คือ มีนิพพานเป็นอานิสงส์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๘๐/๑๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]

๔. กสิภารทวาชสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เราไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่บริโภค ข้าวปายาสนั้นแล้ว จะให้ย่อยได้ตามปกติ นอกเสียจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต เท่านั้น พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำข้าวปายาสนี้ไปเททิ้งบนพื้นดินที่ปราศจาก ต้นไม้ใบหญ้า หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีสัตว์อาศัยอยู่เถิด” ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงนำข้าวปายาสนั้นไปเททิ้งลงในน้ำที่ไม่มี สัตว์อาศัยอยู่ พอข้าวปายาสนั้นถูกเทจมลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ๆ ปรากฏ ควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน เหมือนก้อนเหล็กที่ถูกเผาไฟให้ร้อนอยู่ตลอดวันแล้ว ถูกนำไปหย่อนลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ๆ ปรากฏควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน ฉะนั้น เมื่อเห็นดังนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงสลดใจ เกิดอาการขนพองสยองเกล้า ตรงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มี พระภาค พร้อมกับกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค หลังจาก อุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านพระภารทวาชะจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง อยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป จึงเป็นอันว่า ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย
กสิภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๒๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๑๗-๕๒๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=231              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7102&Z=7176                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=297              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=297&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=3224              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=297&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=3224                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta4 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.04.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.04.piya.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.04.olen.html https://suttacentral.net/snp1.4/en/mills https://suttacentral.net/snp1.4/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :