บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา- มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ- สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์ให้ รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ (๑) การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นคู่ ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ @เชิงอรรถ : @๑ บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๗-๗๒๙/๓๓๒-๓๓๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๓๐] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ [๗๓๑] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้ [๗๓๒] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ [๗๓๓] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑- @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ ๑๐๓ หน้า ๔๘๑-๔๘๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
(๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม ควรตอบเขาว่า มี หากเขาถาม ต่อไปอีกว่า มีอย่างไร ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปธิ๑- เป็นปัจจัย นี้เป็น คู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๓๔] ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม ควรตอบเขาว่า มี หากเขาถาม ต่อไปอีกว่า มีอย่างไร ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั้นเองดับลงโดยการ คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า @เชิงอรรถ : @๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๓/๓๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๓๕] อวิชชานั่นแลเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น๑- อยู่บ่อยๆ [๗๓๖] อวิชชาคือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้ เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก (๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม ควรตอบเขาว่า มี หากเขาถาม ต่อไปอีกว่า มีอย่างไร ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะสังขาร๒- เป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะสังขารทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๓๗] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะสังขารทั้งหลายดับลง ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป [๗๓๘] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะความสงบสังขารทั้งปวง สัญญาทั้งหลายจึงดับลง @เชิงอรรถ : @๑ สภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นสัตว์อื่นที่เหลือ @จากความเป็นมนุษย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๕/๓๓๘) @๒ สังขาร ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๖/๓๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ความสิ้นทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะรู้ความสิ้นทุกข์นี้โดยถ่องแท้แล้ว [๗๓๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ เป็นผู้จบเวท รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่เกิดอีก (๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย๑- นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๔๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เพราะวิญญาณดับลง ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป [๗๔๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว เพราะวิญญาณระงับลง (๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย๒- นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะ นั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ @เชิงอรรถ : @๑ วิญญาณเป็นปัจจัย หมายถึงอภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๙/๓๓๙) @๒ ผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๑/๓๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๔๒] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์ [๗๔๓] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ (๗) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย๑- นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะ เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๔๔] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก [๗๔๕] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด @เชิงอรรถ : @๑ เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๔/๓๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป (๘) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด เพราะตัณหาเป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหานั้น เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๔๖] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น [๗๔๗] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑- (๙) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะ อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็น คู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๙, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔ @และดูอิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๔๘] ภพมีได้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์เกิดมาแล้วต้องประสบทุกข์ ต้องตาย นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ [๗๔๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ รู้แจ้งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด เพราะอุปาทานสิ้นไป จึงไม่เข้าถึงภพใหม่อีก (๑๐) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม เกิดเพราะอารัมภะ๑- เป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะ อารัมภะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็น คู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๕๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย เพราะอารัมภะทั้งหลายดับลง ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป [๗๕๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย สละคืนอารัมภะได้ทั้งหมด น้อมจิตไปในนิพพานที่ปราศจากอารัมภะ @เชิงอรรถ : @๑ อารัมภะ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่สัมปยุตด้วยกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๙/๓๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๗๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๕๒] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ (๑๑) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย๑- นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๕๓] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย เพราะอาหารทั้งหลายดับลง ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป [๗๕๔] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด [๗๕๕] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค๒- โดยชอบ พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔ @เชิงอรรถ : @๑ อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ ๔ จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ @(๑) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ ๑๑ อย่าง เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) @(๒) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร @(๓) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ ๓ อย่าง เบื้องต่ำ เสพมโนสัญเจตนาหาร @อันเกิดแต่สัญญา (๔) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร @อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๑/๓๔๐) @๒ ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท ย่อมไม่เข้าถึงการนับ๑- อีกต่อไป เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป (๑๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม เกิดเพราะอิญชิตะ๒- (ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้ อีกต่อไป นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๕๖] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย เพราะดับอิญชิตะ ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป [๗๕๗] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้ ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่ (๑๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ ตัณหาทิฏฐิ และมานะ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ผู้ที่พ้นจาก อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน นี้เป็นคู่ที่ ๒ @เชิงอรรถ : @๑ ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า เทพ หรือ มนุษย์ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑) @๒ อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๕๘] ผู้พ้นจากอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาเป็นต้น ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่นไปได้ [๗๕๙] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นภัยใหญ่ พ้นจากตัณหาเป็นต้นนั้นได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่ (๑๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การ พิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๖๐] สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เข้าถึงรูปภพและที่ดำรงอยู่ในอรูปภพ เมื่อยังไม่รู้ชัดถึงความดับกิเลส ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก [๗๖๑] ส่วนผู้ที่กำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมชนะมัจจุราชได้ (๑๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นามรูปที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นามรูป นี้เป็นของจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา อันชอบว่า นามรูปนี้ไม่เป็นของจริง นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้ไม่มีอยู่จริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพาน นี้มีอยู่จริง นี้เป็นคู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๖๒] ท่านมีความเข้าใจผิดในนามรูปที่มิใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา จงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ซึ่งพากันยึดมั่นในนามรูป โดยเข้าใจว่า นามรูปนี้เป็นของจริง [๗๖๓] ความจริง นามรูปนั้นย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่น จากอาการที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่เสมอ นามรูปของผู้เข้าใจเช่นนั้น หาเป็นจริงตามนั้นไม่ เพราะนามรูปนั้นปรากฏชั่วครู่ก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา [๗๖๔] นิพพานมีความไม่เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา ซึ่งพระอริยะทั้งหลายรู้แจ้งตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ปรินิพพานแล้ว เพราะรู้แจ้งอริยสัจ (๑๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ ด้วยวิธีอื่นมีบ้างไหม ควรตอบเขาว่า มี หากเขาถาม ต่อไปอีกว่า มีอย่างไร ก็ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า อิฏฐารมณ์ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า อิฏฐารมณ์นี้เป็นความสุข ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า อิฏฐารมณ์ นี้เป็นความทุกข์ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นว่า นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
มนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้เป็นความทุกข์ ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพานนี้เป็นความสุข นี้เป็น คู่ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๗๖๕] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด [๗๖๖] รูปเป็นต้นเหล่านั้นแลเป็นสิ่งที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลกสมมติว่า เป็นสุข ถ้ารูปเป็นต้นเหล่านั้นดับในที่ใด ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์ [๗๖๗] ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่า เป็นสุข การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้ ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง [๗๖๘] บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข อริยบุคคลทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์ บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์ อริยบุคคลทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๖๙] เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์คือกิเลสหุ้มห่อไว้ (เหมือน) ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ฉะนั้น [๗๗๐] แต่นิพพานย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างปรากฏแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ ฉะนั้น ชนทั้งหลายผู้แสวงหาทาง ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้ง(นิพพาน)ที่อยู่ใกล้ [๗๗๑] บุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ แล่นไปตามกระแส (ตัณหา)ในภพ ถูกบ่วงมารคล้องไว้ จะไม่รู้ธรรมนี้ได้ง่าย [๗๗๒] เว้นอริยบุคคลทั้งหลายแล้ว ใครเล่าควรจะตรัสรู้บท๑- ที่อริยบุคคลทั้งหลายตรัสรู้ชอบแล้ว ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน๒- พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้อยู่ จิตของ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ จบ @เชิงอรรถ : @๑ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๖/๕๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๒/๓๔๓) @๒ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๓๖/๑๗๑-๑๗๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]
รวมพระสูตรในวรรค
รวมหัวข้อธรรมประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ ๑. สัจจะ ๒. อุปธิ ๓. อวิชชา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา ๙. อุปาทาน ๑๐. อารัมภะ ๑๑. อาหาร ๑๒. อิญชิตะ ๑๓. ผันทิตะ ๑๔. รูป ๑๕. นิพพานสัจจะ ๑๖. ทุกข์มหาวรรคที่ ๓ จบ รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาสิตสูตร ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๖๘๖}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๗๒-๖๘๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=265 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=9696&Z=9951 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=390 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=390&items=18 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=7544 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=390&items=18 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=7544 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php#sutta12 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.12.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.12.irel.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.12.olen.html https://suttacentral.net/snp3.12/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]