ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๑๐. ปาราปริยเถรคาถา

๑๐. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายรจนาคาถานี้ว่า) [๙๒๐] พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว ชอบสงัด นั่งเจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่ ในฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า [๙๒๑] เมื่อพระโลกนาถซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายได้เป็นอย่างหนึ่ง บัดนี้ เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ย่อมปรากฏเป็นอีกอย่างหนึ่ง [๙๒๒] ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ได้นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑลเพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวความ ร้อนและลม ปกปิดอวัยวะที่จะให้เกิดความละอายเท่านั้น [๙๒๓] ได้ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ไม่ติด ไม่พัวพัน [๙๒๔] ไม่ได้ขวนขวายจนเกินไปในยาแก้ไข้ ซึ่งเป็นบริขารเครื่องรักษาชีวิต เหมือนขวนขวายในความสิ้นอาสวะ [๙๒๕] พอกพูนวิเวก มุ่งแต่วิเวก อยู่ในป่า โคนต้นไม้ ซอกเขา และถ้ำ [๙๒๖] อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ไม่ปากร้าย ไฝ่คิดแต่ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นสำคัญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๑๐. ปาราปริยเถรคาถา

[๙๒๗] เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อนเหล่านั้น มีความประพฤติทางกายและทางวาจา การบริโภคปัจจัยการส้องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม น่าเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันที่ไหลออกจากภาชนะไม่ขาดสาย [๙๒๘] บัดนี้ ท่านเหล่านั้น สิ้นอาสวะหมดแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบด้วยประโยชน์มาก เป็นพระเถระ นิพพานแล้ว เดี๋ยวนี้ท่านเช่นนั้นยังเหลืออยู่จำนวนน้อย [๙๒๙] เพราะกุศลธรรมและปัญญาสิ้นไป คำสอนของพระชินเจ้าซึ่งประกอบด้วยสภาวะอันประเสริฐ ทุกอย่างก็เลือนหายไป [๙๓๐] เวลาที่บาปธรรมและกิเลสกำลังเฟื่องฟู ส่วนเหล่าภิกษุที่มุ่งมั่นเพื่อความสงบสงัด ชื่อว่าเป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ [๙๓๑] กิเลสเหล่านั้นเฟื่องฟูอยู่ ก็ย่อมครอบงำชนผู้โง่เขลาเป็นจำนวนมาก เหมือนจะเยาะเย้ยเล่นกับเหล่าชนผู้โง่เขลา ดุจปีศาจเข้าสิงผู้คนทำให้บ้า แล้วเล่นกับพวกเขาที่บ้าแล้ว [๙๓๒] คนที่ยังโง่เขลาเหล่านั้น ถูกกิเลสครอบงำ จึงพล่านไปในวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ตามส่วนแห่งอารมณ์นั้นๆ เหมือนพล่านไปหาสิ่งที่ตนใคร่ ที่เขาเชิญชวนไว้ ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๑๐. ปาราปริยเถรคาถา

[๙๓๓] ละพระสัทธรรมแล้ว ทะเลาะกันเอง ยึดถือเอาความเห็นของตน สำคัญว่า นี้เท่านั้น ประเสริฐ [๙๓๔] นรชนทั้งหลาย ละทิ้งทรัพย์สมบัติ และบุตรภรรยาออกบวชแล้ว ย่อมพากันทำกรรมที่บรรพชิตไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่งภิกษาทัพพีเดียว [๙๓๕] พวกเธอฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว เมื่อนอนก็นอนหงาย ตื่นแล้ว กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงตำหนิติเตียน [๙๓๖] ภายในไม่สงบ สนใจศึกษาแต่ศิลปะ ที่ชาวบ้านทั่วไปศึกษากัน ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ ย่อมล่วงเลยพวกเธอไปเสีย [๙๓๗] ภิกษุทั้งหลายที่มุ่งหวังจะได้มากๆ จึงน้อมสิ่งของเข้าไปให้พวกคฤหัสถ์ คือ ดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุณเจิมบ้าง น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง [๙๓๘] ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตที่สมบูรณ์ด้วยกับบ้าง ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง [๙๓๙] ย่อมปฏิบัติตนในการประกอบยา เพื่อพวกคฤหัสถ์เหมือนหมอ ทำกิจน้อยใหญ่เหมือนคฤหัสถ์ ตกแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา วางตัวเป็นใหญ่เหมือนกษัตริย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๑๐. ปาราปริยเถรคาถา

[๙๔๐] ใช้อุบายมากอย่าง คือ ทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็นพยานเท็จ ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ บริโภคอามิส [๙๔๑] มุ่งแต่จะเป็นอยู่ จึงแล่นไปตาม(บาปธรรม) ในการพูดเลียบเคียง อ้อมค้อมใช้โวหารเล็กน้อย ใช้อุบาย รวบรวมทรัพย์ให้ได้มากๆ [๙๔๒] ย่อมให้ผู้คนบำรุงบำเรอตน เพราะงานตนเป็นเหตุ แต่มิใช่เพราะธรรมเป็นเหตุ แสดงธรรมตามที่ต่างๆ เพราะเห็นแก่ลาภเป็นเหตุ แต่มิใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์(สูงสุด)เป็นเหตุ [๙๔๓] ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภที่เกิดในสงฆ์ เหินห่างจากพระอริยสงฆ์ เลี้ยงชีพด้วยอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอายเลย [๙๔๔] จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวก ซึ่งไม่ประพฤติตามสมณธรรม เป็นเพียงคนหัวโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ปรารถนาแต่การยกย่องสรรเสริญฝ่ายเดียว ยังติดลาภสักการะ [๙๔๕] เมื่อธรรมที่เป็นเครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ การบรรลุฌานและวิปัสสนาที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือการคอยตามรักษาฌานและวิปัสสนาที่บรรลุแล้ว มิใช่ทำได้ง่ายๆ เหมือนอย่างเมื่อพระศาสดา ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

[๙๔๖] มุนี พึงตั้งสติให้มั่น เที่ยวไปในหมู่บ้าน เหมือนคนไม่สวมรองเท้า เที่ยวไปในที่มีหนาม [๙๔๗] พระโยคีเมื่อระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภในกาลก่อนแล้ว ระลึกถึงข้อสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นอยู่ แม้จะถึงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต ก็พึงบรรลุอมตบทให้ได้ (พระสังคีติกาจารย์ หวังจะประกาศการปรินิพพานของพระเถระ จึงได้กล่าว ภาษิตสุดท้ายนี้ว่า) [๙๔๘] พระปาราปริยเถระ ผู้เป็นสมณะ อบรมอินทรีย์แล้ว เป็นพราหมณ์ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ สิ้นภพใหม่ ครั้นกล่าววิธีปฏิบัตินี้แล้ว ก็ได้ปรินิพพานในสาลวัน
วีสตินิบาต จบ
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระอธิมุตตเถระ ๒. พระปาราปริยเถระ ๓. พระเตลกานิเถระ ๔. พระรัฏฐปาลเถระ ๕. พระมาลุงกยบุตรเถระ ๖. พระเสลเถระ ๗. พระภัททิยกาฬิโคธบุตรเถระ ๘. พระองคุลิมาลเถระ ๙. พระอนุรุทธเถระ ๑๐. พระปาราปริยเถระ๑- ในวีสตินิบาตนี้ มีพระเถระที่ท่านระบุไว้ ๑๐ รูปถ้วน และมี ๒๔๕ คาถา ฉะนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๙๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๙๑-๔๙๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=394              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=7899&Z=7979                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=394              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=394&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=8850              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=394&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=8850                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thag16.10/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :