ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

๑๔. ติงสนิบาต
๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี
พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรี(ได้เปล่งอุทานด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๓๖๘] นักเลงเจ้าชู้คนหนึ่งได้ยืนขวางกั้นพระสุภาภิกษุณี ซึ่งกำลังเดินไปสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจที่น่ารื่นรมย์ พระสุภาภิกษุณีได้พูดกับชายนักเลงเจ้าชู้นั้นว่า [๓๖๙] ฉันประพฤติผิดอะไรต่อท่านหรือ จึงมายืนขวางกั้นฉันไว้ ท่านผู้อาวุโส ชายไม่ควรถูกต้องหญิงนักบวชเลย [๓๗๐] เพราะเหตุไร ท่านจึงยืนขวางกั้นดิฉันผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน มีส่วนบริสุทธิ์ด้วยสิกขาที่พระสุคตทรงแสดงไว้ ในศาสนาที่ควรเคารพแห่งพระศาสดาของดิฉัน [๓๗๑] เพราะเหตุไร ท่าน จึงมีจิตขุ่นมัว มีจิตมีกิเลสดุจธุลี มายืนขวางกั้นฉันผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุยั่วยวน มีจิตหลุดพ้นในเบญจขันธ์ทั้งปวง (นักเลงเจ้าชู้กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า) [๓๗๒] แม่นางยังสาว ทั้งสวยไม่ทรามเลย บรรพชาจักทำประโยชน์อะไรให้แม่นางได้ โปรดทิ้งผ้ากาสายะเสีย มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่งเถิด [๓๗๓] และหมู่ไม้ถูกลมพัดเอาละอองเกสรดอกไม้ฟุ้งขึ้น ก็โชยกลิ่นหอมตลบไปทั่ว ฤดูนี้ เป็นต้นฤดูฝนน่าสบาย มาสิ เรามารื่นรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

[๓๗๔] อนึ่ง ต้นไม้ทั้งหลายมีดอกบานแล้ว ต้องลมไหวระริก ดุจจะมีเสียงครวญอยู่ แม่นางจักมีความยินดีอะไร ถ้าแม่นางจักเข้าป่าเพียงผู้เดียว [๓๗๕] ป่าใหญ่มีหมู่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ คลาคล่ำไปด้วยช้างพลายตกมัน และช้างพัง ไม่มีผู้คน น่าสะพรึงกลัว แม่นางไม่มีเพื่อน ยังปรารถนาจะเข้าไปหรือ [๓๗๖] แม่นางงามไม่มีใครเปรียบ แม่นางท่องเที่ยวไป เหมือนตุ๊กตาที่นายช่างผู้ชาญฉลาดทำแล้วด้วยทองคำสีสุก งดงามด้วยผ้าสวยเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี ดังเทพอัปสรเที่ยวไปในสวนจิตรลดาเชียวละ [๓๗๗] ถ้าเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในกลางป่า ฉันจะยอมอยู่ในอำนาจของแม่นาง แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี เพราะคนที่น่ารักกว่าแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย [๓๗๘] ถ้าแม่นางเชื่อฉัน ก็จะมีความสุข มาสิ มาครองเรือนกัน แม่นางจะได้อยู่บนปราสาทที่ปราศจากลมพัด หญิงทั้งหลายจะคอยรับใช้แม่นาง [๓๗๙] แม่นาง จงนุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี จงตกแต่งร่างกาย สวมมาลัย ลูบไล้ประเทืองผิว ฉันจะทำเครื่องประดับต่างๆ มากชนิด ที่เป็นทองคำแก้วมณีและมุกดาให้แม่นาง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

[๓๘๐] แม่นางขึ้นที่นอนใหญ่ใหม่เอี่ยม มีค่ามาก สวยงามปูด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาวและผ้าสำลี คลุมด้วยผ้าที่ซักสะอาดแล้ว ตกแต่งด้วยแก่นจันทน์มีกลิ่นหอม [๓๘๑] ดอกอุบลโผล่พ้นน้ำ ไม่มีมนุษย์ชมแล้วฉันใด แม่นางเป็นสาวพรหมจารีก็ฉันนั้น เมื่อส่วนเรือนร่างของแม่นางยังไม่มีใครเชยชมเลย แม่นางก็จักถึงความชราร่วงโรยไปเสียเปล่าๆ (พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีถามว่า) [๓๘๒] ในร่างกายที่จะต้องแตกสลายเป็นธรรมดา ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพ รังแต่จะรกป่าช้านี้ มีอะไรที่ท่านเข้าใจว่าเป็นสาระ เพราะเห็นสิ่งใด จึงเกิดติดใจ ขอท่านโปรดบอกสิ่งนั้นมาเถิด (นักเลงเจ้าชู้ตอบว่า) [๓๘๓] เพราะเห็นดวงตาของแม่นาง เสมือนดวงตาลูกเนื้อทราย และเสมือนดวงตากินรีที่เที่ยวอยู่ตามไหล่เขา ความใคร่ความยินดีของฉันยิ่งกำเริบ [๓๘๔] เพราะเห็นดวงตาของแม่นางอุปมาดังปลายดอกอุบล ดวงหน้าของแม่นางไร้ไฝฝ้าเรืองรองดังดวงหน้ารูปทองคำ ความใคร่ความปรารถนาของฉันก็ยิ่งกำเริบ [๓๘๕] แม่นางผู้มีดวงตาบริสุทธิ์มีขนตายาว แม้ฉันจะไปไกลแสนไกล ก็จะยังคงระลึกถึงดวงตาทั้งคู่ของแม่นางเท่านั้น แม่นางผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มดังกินรี เพราะว่าสิ่งอะไรอื่นที่น่ารักกว่าดวงตาของแม่นางสำหรับฉันไม่มีเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

(พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวตอบว่า) [๓๘๖] ท่านปรารถนาดิฉันผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า นับว่าปรารถนาจะเดินทางผิด แสวงหาดวงจันทร์เอาเป็นของเล่น ต้องการจะกระโดดขึ้นภูเขาสิเนรุ [๓๘๗] เพราะว่า ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก บัดนี้ ดิฉันไม่มีความกำหนัดเลย ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค [๓๘๘] ความกำหนัดนั้นดิฉันยกออกแล้ว เหมือนลมหอบเอาเชื้อเพลิงออกจากหลุมถ่านเพลิง ถูกทำให้พินาศไปแต่ยอด เหมือนยกภาชนะที่ตกลงในยาพิษออกไป ความกำหนัดนั้น ดิฉันไม่รู้ดอกว่าเป็นเช่นไร เพราะมันถูกดิฉันกำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งรากด้วยอริยมรรค [๓๘๙] หญิงใดไม่พิจารณาเบญจขันธ์ หรือไม่เข้าเฝ้าพระศาสดา เชิญท่านประเล้าประโลมหญิงเช่นนั้นเถิด ท่านนั้นจะต้องเดือดร้อน เพราะอาศัยสุภาภิกษุณีผู้รู้ตามความเป็นจริงนี้ [๓๙๐] เพราะสติของดิฉันมั่นคง ไม่ว่าในการด่า การไหว้ สุขและทุกข์ เพราะรู้ว่าสังขารที่ปัจจัยปรุงแต่งเป็นของไม่งาม ใจดิฉันจึงไม่ติดอยู่ในภพ ๓ ทั้งสิ้นเลย [๓๙๑] ดิฉันนั้นเป็นสาวิกาของพระสุคต ดำเนินไปด้วยยานคืออริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ถอนกิเลสดุจลูกศรเสียแล้ว ไม่มีอาสวะ ยินดีอยู่แต่ในเรือนว่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

[๓๙๒] รูปภาพที่ทำด้วยไม้หรือใบลานที่เขาบรรจงเขียนไว้สวยงาม อันเขาผูกไว้ด้วยด้ายและตรึงไว้ด้วยตะปู ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ต่างๆ ดิฉันเห็นมาแล้ว [๓๙๓] เมื่อรูปนั้นถูกรื้อออก ปลดด้ายและตะปูออก ก็บกพร่อง กระจัดกระจาย แยกออกเป็นชิ้นๆ ไม่พึงได้สภาพที่ชื่อว่ารูป บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในรูปนั้นทำไม [๓๙๔] ร่างกายของดิฉันนี้ ก็เปรียบด้วยรูปภาพนั้น เว้นจากธรรม๑- เหล่านั้นเสีย ก็เป็นไปไม่ได้ ร่างกายเว้นจากธรรม๑- ทั้งหลายเสีย ก็เป็นไปไม่ได้ บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในร่างกายนั้นทำไม [๓๙๕] เหมือนบุคคลได้เห็นภาพจิตรกรรม ที่จิตรกรระบายด้วยหรดาล ทำไว้ที่ฝาผนัง ในจิตรกรรมนั้น ท่านก็ยังเห็นวิปริต ความสำคัญว่ามนุษย์ของท่านก็ไร้ประโยชน์ [๓๙๖] คนบอด ท่านยังจะเข้าไปยึดอัตภาพที่ว่างเปล่า เหมือนภาพลวงตาที่ปรากฏต่อหน้า เหมือนต้นไม้ทองในความฝัน เหมือนรูปของมายากลที่นักเล่นกล แสดงท่ามกลางฝูงชนว่าเป็นของจริง [๓๙๗] ฟองเป็นดังฟองน้ำที่อยู่กลางดวงตานั้น มีน้ำตา มีมูลตา เกิดที่ดวงตานั้น และส่วนของดวงตาต่างๆ ก็มารวมกัน เหมือนก้อนครั่งที่อยู่ตามโพรงไม้ @เชิงอรรถ : @ เว้นจากธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้น และเว้นจากอวัยวะมีจักษุเป็นต้น ร่างกายเว้นจากธาตุและอวัยวะนี้ย่อม @เป็นไปไม้ได้ (ขุ.เถรี.อ. ๓๙๔/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๔. ติงสนิบาต]

๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

[๓๙๘] พระสุภาเถรีมีดวงตางามและมีใจไม่ข้องไม่ติดในดวงตานั้น ก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา ส่งมอบให้ชายเจ้าชู้ผู้นั้นทันที พร้อมกับกล่าวว่า เชิญนำดวงตานั้นไปเถิด เพราะเรามอบให้ท่านแล้ว [๓๙๙] ทันใดนั้นเอง ความกำหนัดในดวงตานั้น ของนักเลงเจ้าชู้นั้นก็หายไป และเขาขอขมาพระเถรีนั้นด้วยคำว่า ข้าแต่แม่นางผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ขอความสวัสดีพึงมีแก่แม่นางเถิด ความประพฤติอนาจารเช่นนี้จักไม่มีต่อไปอีกละ (พระสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีกล่าวว่า) [๔๐๐] ท่านกระทบกระทั่งคนเช่นดิฉันนี้ ก็เหมือนกอดกองไฟที่ลุกโชน เหมือนจับงูมีพิษร้าย ท่านขอโทษดิฉัน พึงมีความสวัสดีได้บ้าง [๔๐๑] ภิกษุณีนั้นพ้นจากนักเลงเจ้าชู้นั้นแล้ว ได้ไปยังสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ชมบุญลักษณะอันประเสริฐ จักษุก็กลับเป็นปกติเหมือนอย่างเดิม
ติงสนิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๑๖-๖๒๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=472              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=9927&Z=10028                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=472              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=472&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=6632              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=472&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=6632                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/ati/tipitaka/kn/thig/thig.14.01.than.html https://suttacentral.net/thig14.1/en/sujato https://suttacentral.net/thig14.1/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :