บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
ฉบับหลวง ฉบับมหาจุฬาฯ บาลีอักษรไทย PaliRoman |
๑๔. มหารถวิมาน ว่าด้วยวิมานที่รถทิพย์คันใหญ่เป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่คนเลี้ยงโค (พระมหาโมคคัลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า) [๑๐๑๕] ท่านขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ งามวิจิตรอเนกประการ รุ่งเรืองเหมือนกับท้าววาสวปุรินททะ๑- ผู้เป็นจอมเทพซึ่งกำลังเสด็จไปใกล้พื้นที่อุทยานโดยลำดับ [๑๐๑๖] แคร่รถทั้งสองข้างของท่านก็ล้วนแล้วด้วยทองคำ ประกอบไม้เท้าแขนสองข้าง @เชิงอรรถ : @๑ เป็นชื่อของท้าวสักกะ ผู้เคยให้ที่พักอาศัยในกาลก่อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]
๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
ไม้คานทั้งสองสนิทดี มีลูกกรงจัดไว้ได้ระเบียบเรียบร้อย เหมือนช่างศิลป์บรรจงจัดไว้เสร็จแล้ว รถของท่านนี้รุ่งเรืองดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ [๑๐๑๗] รถคันนี้คลุมด้วยข่ายทองคำ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ มากมาย มีเสียงกึกก้องไพเราะน่าเพลิดเพลิน ทั้งมีรัศมีรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองด้วยหมู่เทวดาถือแส้จามร [๑๐๑๘] ดุมรถเหล่านี้ประดับตรงกลางระหว่างล้อรถ ประดุจเนรมิตด้วยใจ ทั้งวิจิตรด้วยลวดลายเป็นร้อย สว่างไสวดังสายฟ้าแลบ [๑๐๑๙] รถคันนี้พราวไปด้วยลวดลายวิจิตรอเนกประการ และกงล้อใหญ่มีรัศมีตั้งพัน มีเสียงดังไพเราะน่าฟัง คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว [๑๐๒๐] งอนรถร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์ วิจิตร บริสุทธิ์ งดงาม ผุดผ่องทุกเมื่อ ประกอบด้วยลายทองเนียนสนิท งามล้ำดุจลายแก้วไพฑูรย์ [๑๐๒๑] ม้าเหล่านี้ผูกร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์ สูงใหญ่ ว่องไว เปรียบเหมือนม้าใหญ่ที่เจริญเติบโต มีฤทธิ์มาก ทรงพลัง รวดเร็วมาก รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก [๑๐๒๒] ด้วยว่า ม้าทั้งหมดนี้อดทน เหยาะย่างไปด้วยเท้าทั้ง ๔ รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก มีกิริยาท่าทางนุ่มนวล ไม่ลำพอง วิ่งเรียบ ทำให้ผู้ขับขี่เบิกบานใจ เป็นยอดม้าทั้งหลาย [๑๐๒๓] บางคราวก็แกว่งขนหางไปมา บางคราวก็วิ่งเหยาะย่างเท้าไป บางคราวก็เหาะไป ทำเครื่องประดับที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยให้กวัดแกว่ง เสียงเครื่องประดับเหล่านั้นดังไพเราะน่าฟัง คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]
๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๒๔] เสียงรถ เสียงเครื่องประดับทั้งหลาย เสียงกีบเท้าม้า เสียงม้าเสียดสีกัน และเสียงเทพผู้บันเทิงดังไพเราะ คล้ายดนตรีของคนธรรพ์ในสวนจิตรลดา [๑๐๒๕] เหล่าเทพอัปสรอยู่บนรถ มีดวงตาอ่อนโยนคล้ายดวงตาลูกเนื้อทราย มีขนตาดก มีใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาอ่อนหวาน มีร่างกายคลุมด้วยข่ายแก้วไพฑูรย์ มีผิวเนียน ซึ่งคนธรรพ์และเทวดาผู้สูงศักดิ์บูชาทุกเมื่อเป็นประจำ [๑๐๒๖] เทพอัปสรเหล่านั้นมีรูปโฉมเย้ายวนน่ายินดี ทรงพัสตราภรณ์สีแดงและสีเหลือง มีดวงตากลมโต มีนัยน์ตางามน่ารักยิ่งนัก เป็นผู้ดีมีสกุล มีเรือนร่างสวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๗] เธอเหล่านั้นสวมใส่ทองต้นแขน ทรงพัสตราภรณ์งดงาม มีเอวกลมกลึง ขาเรียวงาม ถันเต่งตึง นิ้วมือเรียวกลม พักตร์ผุดผ่อง น่าชม ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๘] เทพอัปสรบางพวกมีช้องผมงาม ล้วนเป็นสาวแรกรุ่น มีมวยผมแซมสลับด้วยแก้วทับทิมและพวงดอกไม้จัดแต่งไว้เรียบร้อย มีประกายพรายพราว เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๙] บางพวกมีมาลัยแก้วประดับเทริด และทับทรวงด้วยดอกปทุมและอุบล ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์ เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]
๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๓๐] เทพอัปสรเหล่านั้นประดับพวงมาลัย และทับทรวงด้วยดอกปทุมและดอกอุบล ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์ ถึงพวกนางก็มีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๓๑] บางพวกสว่างไสวไปทั่วทั้งสิบทิศด้วยเครื่องประดับคอ มือ เท้า และศีรษะ เหมือนพระอาทิตย์ในสารทกาลกำลังอุทัย [๑๐๓๒] ดอกไม้และเครื่องประดับที่แขนทั้งสองต้องลมก็ไหวพริ้ว เปล่งเสียงกังวานไพเราะจับใจ อันวิญญูชนทุกคนควรฟัง [๑๐๓๓] ท่านผู้เป็นจอมเทพ เสียงรถ ช้าง ม้า และดนตรีทั้งหลาย ซึ่งอยู่สองข้างพื้นอุทยานทำให้ท่านบันเทิงใจ ดุจพิณทั้งหลายมีรางและคันถือที่ประกอบไว้เรียบร้อยแล้ว [๑๐๓๔] เมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้ ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่ เหล่านางอัปสรเทพกัญญา ผู้ล้วนชำนาญศิลป์ ต่างพากันร่ายรำอยู่บนดอกปทุมทั้งหลาย [๑๐๓๕] ในเวลาที่มีการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนเหล่านี้ ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เทพอัปสรพวกหนึ่งฟ้อนรำอยู่บนรถของท่านนี้ อีกพวกหนึ่งทางด้านนี้เปล่งรัศมีสว่างไสวทั้งสองด้าน [๑๐๓๖] ท่านนั้นผู้อันหมู่เทพดุริยางค์ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส อันทวยเทพทั้งหลายบูชาอยู่ บันเทิงใจอยู่ ดังพระอินทร์ผู้ทรงวชิราวุธ ในเมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้ ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]
๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน
[๑๐๓๗] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรไว้ ท่านได้รักษาอุโบสถหรือว่า ได้ชอบใจการประพฤติธรรมและการสมาทานวัตรอะไร [๑๐๓๘] การที่ท่านมีอิทธานุภาพไพบูลย์รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่เทพนี้ มิใช่ผลกรรมเล็กน้อยที่ท่านทำไว้แล้ว หรืออุโบสถที่ท่านประพฤติแล้วในชาติก่อน [๑๐๓๙] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน อาตมาถามท่านแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด [๑๐๔๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า [๑๐๔๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงชนะอินทรีย์แล้ว มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ผู้สูงสุดแห่งนระทั้งหลาย เป็นอัครบุคคล เปิดประตูอมตนิพพาน เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ซึ่งมีบุญลักษณะนับร้อย [๑๐๔๒] ครั้นได้เห็นพระองค์ผู้ข้ามโอฆะได้แล้วเช่นกับกุญชร มีพระวรกายงดงามเช่นกับทองสิงคี๑- และทองชมพูนุท๒- พลันข้าพเจ้าก็มีใจหมดจดเพราะได้เห็นพระองค์ ผู้มีธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นธงนั่นเอง [๑๐๔๓] ข้าพเจ้านั้นมีใจไม่ติดข้องในอะไร ได้มอบถวายข้าวน้ำ จีวร และของที่สะอาด ประณีต มีรสชาติ เฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ในที่อยู่ของตนซึ่งดารดาษด้วยดอกไม้ [๑๐๔๔] ได้อังคาสพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นผู้สูงสุด กว่าเหล่ามนุษย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าว น้ำ จีวร ของเคี้ยว ของฉัน และของลิ้ม จึงรื่นรมย์อยู่ในสวรรค์อันเป็นเทวบุรี @เชิงอรรถ : @๑ ทองเนื้อสุก (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙) @๒ ทองวิเศษ (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[๑๐๔๕] โดยอุบายนี้ ข้าพเจ้าได้ถวายทานที่มีลิ่มสลักออกแล้วนี้๑- อันมีความบริสุทธิ์ ๓ ประการ ละร่างมนุษย์แล้ว รื่นรมย์อยู่ในเทวบุรี เสมอเหมือนกับพระอินทร์ [๑๐๔๖] ท่านพระมุนี บุคคลผู้มุ่งหวังอายุ วรรณะ สุขะ พละ และรูปที่ประณีต มีใจไม่ติดข้องในอะไรๆ พึงถวายข้าวและน้ำซึ่งปรุงดีแล้วให้มากแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๑๐๔๗] ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า ผู้ที่ประเสริฐกว่า หรือเสมอด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี บรรดาผู้ควรบูชาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง ของเหล่าชนผู้ต้องการบุญหวังผลอันไพบูลย์มหารถวิมานที่ ๑๔ จบ มหารถวรรคที่ ๕ จบ รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน ๒. เรวตีวิมาน ๓. ฉัตตมาณวกวิมาน ๔. กักกฏกรสทายกวิมาน ๕. ทวารปาลวิมาน ๖. ปฐมกรณียวิมาน ๗. ทุติยกรณียวิมาน ๘. ปฐมสูจิวิมาน ๙. ทุติยสูจิวิมาน ๑๐. ปฐมนาควิมาน ๑๑. ทุติยนาควิมาน ๑๒. ตติยนาควิมาน ๑๓. จูฬรถวิมาน ๑๔. มหารถวิมานภาณวารที่ ๓ จบ @เชิงอรรถ : @๑ บริจาคสมบัติของตนทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๓/๓๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๓๐}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๒๕-๑๓๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=26&siri=64 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=2236&Z=2338 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=64 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=64&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=6631 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=64&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=6631 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]