ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
ว่าด้วยหัตถิปาลกุมาร
(หัตถิปาลกุมารเห็นฤๅษีเหล่านั้นแล้วดีใจเลื่อมใส ได้กล่าว ๓ คาถาว่า) [๓๓๗] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็นพราหมณ์ ผู้มีเพศดังเทพ มีชฎาใหญ่ ทรงไว้ซึ่งหาบคอน มีขี้ฟันเขรอะ มีศีรษะหมักหมมด้วยธุลี [๓๓๘] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็น ฤๅษีผู้ยินดีในธรรมคุณ นุ่งผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด มีผ้าคากรองปิดร่างกาย [๓๓๙] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่าต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของมีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)

(ต่อมาพระราชบิดาเมื่อทรงพร่ำสอนพระกุมารตามอัธยาศัย จึงตรัสคาถาว่า) [๓๔๐] หัตถิบาลลูกรัก เจ้าจงเล่าเรียนวิทยาแสวงหาทรัพย์ ปลูกฝังบุตรธิดาให้ดำรงอยู่ในเหย้าเรือน แล้วจงเสวยคันธารมณ์ รสารมณ์ และวัตถุกาม๑- ทั้งปวงเถิด เป็นนักบวชได้ในเวลาแก่ เป็นการดี พระอริยะสรรเสริญผู้บวชนั้นว่าเป็นมุนี (หัตถิปาลกุมารได้กล่าวคาถาว่า) [๓๔๑] เวทวิทยาเป็นของไม่จริง ลาภคือทรัพย์มีสภาพเป็นอันเดียวก็หาไม่ ชนทั้งหลายห้ามความชราได้เพราะลาภคือบุตรก็หาไม่ สัตบุรุษกล่าวยกย่องการปล่อยวางคันธารมณ์และรสารมณ์ ผลสำเร็จย่อมมีได้ เพราะการกระทำของตน (พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสคาถาว่า) [๓๔๒] คำของเจ้านั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง ผลสำเร็จย่อมมีได้เพราะการกระทำของตน แต่มารดาบิดาของเจ้าเหล่านี้แก่เฒ่าแล้ว พึงเห็นเจ้ามีอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรค (หัตถิปาลกุมารสดับดังนั้นแล้วจึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า) [๓๔๓] ขอเดชะพระมหาราช ผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน ความเป็นเพื่อนกับความตาย ความเป็นมิตรไมตรีกับความแก่ พึงมีแก่ผู้ใด และแม้ผู้ใดพึงรู้ในกาลบางคราวว่า เราจักไม่ตาย มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรค @เชิงอรรถ : @ คันธารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่กลิ่น รสารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่รส วัตถุกาม วัตถุที่น่าใคร่ น่าปรารถนา @น่าอยากได้ โดยความได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)

[๓๔๔] ถ้าคนยกเรือลงน้ำพายไป นำคนข้ามฟากไปยังฝั่งได้แม้ฉันใด พยาธิและชราก็ฉันนั้น ย่อมนำสัตว์ไปสู่อำนาจ ของมัจจุราชผู้ทำที่สุดแน่นอน (อัสสปาลกุมารเมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชบิดา จึงตรัส ๒ คาถาว่า) [๓๔๕] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม เป็นเครื่องนำใจเหล่าสัตว์ไปได้ ข้ามได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งพญามัจจุราช สัตว์ทั้งหลายผู้จมอยู่ในเปือกตมและหล่มคือกามนั้น เป็นผู้มีอัตภาพเลวทรามย่อมข้ามถึงฝั่งคือพระนิพพานหาได้ไม่ [๓๔๖] เมื่อก่อน อัตภาพนี้ได้กระทำกรรมอันหยาบช้าไว้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับวิบากกรรมนั้นแล้ว ความพ้นจากวิบากกรรมนี้ไม่มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะปิดกั้นปกปักรักษาอัตภาพนั้นไว้ ขออัตภาพนี้อย่าได้กระทำกรรมหยาบช้าอีกเลย (โคปาลกุมารทรงปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า) [๓๔๗] ขอเดชะพระมหาราช นายโคบาลเมื่อไม่เห็นโคที่หายไปในป่า ย่อมตามหาฉันใด ขอเดชะพระเจ้าเอสุการีมหาราช ประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้าก็หายไปแล้วฉันนั้น ไฉนเล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นจะไม่พึงแสวงหา (และท่านได้ฟังพระดำรัสขอร้องของพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาอีกว่า) [๓๔๘] คนกล่าวผัดเพี้ยนว่า พรุ่งนี้ก็เสื่อม ว่า มะรืนนี้ก็ยิ่งเสื่อม ธีรชนคนใดเล่าจะพึงรู้ว่า อนาคตนั้นไม่มี แล้วบรรเทาความพอใจที่เกิดขึ้นได้ (อชปาลกุมารกราบทูลปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัส ๒ คาถาว่า) [๓๔๙] ข้าพระพุทธเจ้าเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง ท่องเที่ยวไปเหมือนคนเมา มีดวงตาเหมือนดอกการะเกด พญามัจจุราชได้คร่าชีวิตนางในปฐมวัยซึ่งยังมิได้บริโภคโภคะไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)

[๓๕๐] สามชายหนุ่มมีชาติกำเนิดที่ดี มีใบหน้างดงาม ทรวดทรงน่าทัศนา มีหนวดประปรายเหมือนเกษรดอกโกสุม ยังตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราช ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าจักรีบละกามคุณและเคหสถานบวช ขอทรงพระกรุณาโปรดอนุญาต ให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระเจ้าข้า (ปุโรหิตเมื่อจะปรึกษากับนางพราหมณี จึงกล่าวคาถาว่า) [๓๕๑] ต้นไม้ได้โวหารว่าต้นไม้ เพราะมีกิ่งทั้งหลาย แต่ต้นไม้ที่ขาดกิ่ง ชาวโลกเรียกว่าตอไม้ แม่วาเสฏฐีผู้เจริญ บัดนี้เราขาดบุตร ถึงเวลาที่จะเที่ยวภิกขาจาร (นางพราหมณีเมื่อจะนำตัวอย่างที่เป็นอดีตมา กล่าวอุทานคาถาว่า) [๓๕๒] นกกระเรียนทั้งหลายบินไปในอากาศได้ฉันใด หงส์ทั้งหลายทำลายข่ายคือใยที่แมงมุมชักขึงไว้ ในปลายฤดูฝนบินไปได้ฉันนั้น ลูกและผัวของเราก็พากันไปหมด ไฉนเรารู้อยู่จะไม่พึงไปตาม (พระอัครมเหสีเมื่อจะให้พระราชาทรงทราบเรื่องกามด้วยอุปมา จึงตรัส ๒ คาถาว่า) [๓๕๓] นกเหล่านี้กินเนื้อแล้วสำรอกแล้วด้วย ย่อมบินหลีกไปได้ ส่วนนกเหล่าใดกินเนื้อแล้วไม่สำรอก นกเหล่านั้นก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน [๓๕๔] ขอเดชะพระมหาราช พราหมณ์ได้สำรอกกามทั้งหลายทิ้งแล้ว พระองค์นั้นกลับจะบริโภคกามนั้นอีก คนบริโภคสิ่งที่เขาคายทิ้งแล้วเป็นคนที่บัณฑิตไม่สรรเสริญเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)

(พระราชาเกิดความสลดพระทัยเมื่อจะทรงชมเชยพระเทวี จึงตรัสคาถาว่า) [๓๕๕] บุรุษผู้มีกำลังฉุดบุรุษผู้มีกำลังทราม ที่จมอยู่ในเปือกตมและหล่มเลนขึ้นได้ฉันใด แม่ธิดาแห่งปัญจาลนครผู้เจริญ แม้พระนางก็ฉันนั้น พยุงพี่ให้ข้ามขึ้นจากเปือกตมคือกามได้ด้วยคาถาสุภาษิต (พระศาสดาเมื่อจะประกาศว่าพระราชาทรงผนวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า) [๓๕๖] พระเจ้าเอสุการีมหาราช ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้วละแคว้นทรงผนวชแล้ว เหมือนพญาช้างตัดเครื่องผูกได้ขาด (ชาวเมืองประชุมกันไปกราบทูลพระราชเทวี จึงกล่าวคาถาว่า) [๓๕๗] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว แม้พระนางก็จงทรงเป็นพระราชาของพวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าถวายความคุ้มครองแล้ว ขอพระนางทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรมเหมือนพระราชาเถิด (พระราชเทวีทรงสดับคำกราบทูลของมหาชนแล้ว จึงตรัสคาถาที่เหลือว่า) [๓๕๘] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว ถึงเราก็จักละกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ยินดี ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก [๓๕๙] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว ถึงเราก็จักละกามทั้งหลายที่มีอยู่โดยทั่วไป ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก [๓๖๐] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป ถึงเราก็จักละกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ยินดีท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)

[๓๖๑] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป ถึงเราก็จักละกามทั้งหลายที่มีอยู่โดยทั่วไป ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก [๓๖๒] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป ถึงเราก็จักเป็นผู้เยือกเย็น ล่วงเครื่องข้องทั้งปวง ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก
หัตถิปาลชาดกที่ ๑๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๒๘-๕๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=27&siri=509              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=8987&Z=9066                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2245              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2245&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=2856              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2245&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=2856                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja509/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :