บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
๓. สุวัณณสามชาดก๑- (๕๔๐) ว่าด้วยสุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี (สุวรรณสามโพธิสัตว์ไม่ทันเห็นพระราชา จึงตรัสว่า) [๒๙๖] ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเรา ผู้ประมาท๒- กำลังนำน้ำไปอยู่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์คนไหนแอบซุ่มยิงเรา (สุวรรณสามโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงว่า เนื้อที่ร่างกายของตนไม่เป็นอาหาร จึงตรัสว่า) [๒๙๗] เนื้อของเราก็ไม่ควรจะกิน หนังของเราก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ เขาจึงเข้าใจว่า เราเป็นผู้ควรยิง (สุวรรณสามโพธิสัตว์ตรัสถามชื่อพระราชานั้นว่า) [๒๙๘] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร สหาย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด ทำไมท่านจึงซุ่มยิงเรา (พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสตอบว่า) [๒๙๙] เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนทั้งหลายรู้จักเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์ เพราะความโลภ เราจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ @เชิงอรรถ : @๑ พระบรมศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเลี้ยงดูมารดารูปหนึ่ง ตรัสสุวัณณสามชาดก @ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเราผู้ประมาทกำลังนำน้ำไปอยู่ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๑๕) @๒ ประมาท หมายถึงยังมิได้คุมสติด้วยเมตตาภาวนา (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๖/๑๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๐๐] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนู ที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้ แม้ช้างที่มาถึงระยะที่ลูกศรยิงก็ไม่พึงพ้นเราไปได้ (พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสถามชื่อและโคตรของสุวรรณสามโพธิสัตว์ว่า) [๓๐๑] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ท่านจงประกาศชื่อและโคตรของบิดา และตัวของท่านเองให้ทราบด้วย (สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของนายพราน๑- พวกญาติต่างเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สาม วันนี้ ข้าพระองค์นั้นเข้าไปในปากแห่งความตาย จึงนอนอยู่อย่างนี้ [๓๐๓] ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยศรลูกใหญ่ อาบยาพิษเหมือนยิงเนื้อ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทอดพระเนตรข้าพระองค์ ผู้นอนเปื้อนเลือดของตน [๓๐๔] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรลูกศรที่ทะลุออกข้างซ้าย ข้าพระองค์บ้วนโลหิต เป็นผู้กระสับกระส่าย ขอทูลถามพระองค์ว่า ทำไมจึงซุ่มยิงข้าพระองค์ [๓๐๕] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงเข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ที่ควรยิง @เชิงอรรถ : @๑ บุตรของนายพราน หมายถึงเป็นบุตรฤๅษี (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๐๒/๑๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสแก้ตัวว่า) [๓๐๖] เนื้อปรากฏมาถึงระยะลูกศรแล้ว ท่านสาม มันเห็นท่านแล้วจึงแตกหนีไป เพราะฉะนั้น เราจึงโกรธ (สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๓๐๗] ตั้งแต่ข้าพระองค์จำความได้ ตั้งแต่ข้าพระองค์รู้จักรับผิดชอบ ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ [๓๐๘] ตั้งแต่ข้าพระองค์นุ่งเปลือกไม้อยู่ในปฐมวัย ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย แต่ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ [๓๐๙] ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดกลัวที่ภูเขาคันธมาทน์ เราทั้งหลายต่างเพลิดเพลินพากันไปสู่ภูเขาและป่า [๓๑๐] ฝูงเนื้อแม้จะเป็นเนื้อร้ายในป่า ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ฝูงเนื้อจึงจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์เล่า (พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๓๑๑] ท่านสาม เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่ เรากล่าวเท็จแก่ท่านต่างหาก เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำ จึงได้ปล่อยลูกศรนั้นไปถึงท่าน [๓๑๒] สาม ท่านมาจากไหน ใครใช้ท่านมาว่า ท่านจงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วตักน้ำมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้อดกลั้นทุกขเวทนาแสนสาหัส กราบทูลว่า) [๓๑๓] มารดาบิดาของข้าพระองค์เป็นคนตาบอด ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ นั้นอยู่ในป่าใหญ่ ข้าพระองค์จะไปตักน้ำมาให้ท่านทั้ง ๒ นั้น จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตา (สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวบ่นเพ้อรำพันถึงมารดาบิดาว่า) [๓๑๔] ท่านทั้ง ๒ นั้นมีเพียงอาหารเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๖ วัน เพราะไม่ได้น้ำ ท่านผู้ตาบอดทั้ง ๒ เห็นจักตายแน่ [๓๑๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์ เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดา เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน [๓๑๖] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์ เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบบิดา เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน [๓๑๗] มารดานั้น จะร้องไห้อย่างน่าสงสารเป็นเวลานาน จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป [๓๑๘] บิดานั้นจักเป็นทุกข์ลำบากแน่เป็นเวลานาน จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป [๓๑๙] มารดาและบิดาทั้ง ๒ จักเที่ยวบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า พ่อสามๆ ในป่าใหญ่ เพื่อต้องการปรนนิบัติเท้า และเพื่อต้องการบีบนวดมือและเท้าด้วยความพยายาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๐] ถึงความโศกนี้เป็นลูกศรที่ ๒ ทำหัวใจของข้าพระองค์ให้สะท้านหวั่นไหว ความโศกใดที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดาและบิดาทั้ง ๒ ผู้ตาบอด เพราะความโศกนั้น ข้าพระองค์เห็นจะต้องเสียชีวิตไป (พระเจ้าปิลยักษ์ทรงฟังคำเพ้อรำพันของสุวรรณสามโพธิสัตว์ ทรงสันนิษฐาน แล้ว ตรัสว่า) [๓๒๑] ท่านสามผู้เห็นกัลยาณธรรม ท่านอย่าคร่ำครวญไปนักเลย เราจะทำการงานเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่านในป่าใหญ่ [๓๒๒] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้ เราจะทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่ [๓๒๓] เราจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อและมูลผลาผลในป่า จะทำงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่ [๓๒๔] ท่านสาม มารดาและบิดาของท่านอยู่ป่าไหน เราจะเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่าน ให้เหมือนอย่างที่ท่านได้เลี้ยงดูมา (สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลบอกหนทางว่า) [๓๒๕] ขอเดชะ หนทางที่เดินไปได้คนเดียว ที่มีอยู่ทางศีรษะของข้าพระองค์นี้ พระองค์เสด็จไปจากที่นี้สิ้นระยะทางประมาณกึ่งโกสะ๑- ก็จะเสด็จถึงเรือนหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ ของมารดาและบิดาทั้ง ๒ ของข้าพระองค์ ขอพระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว จงเลี้ยงดูมารดาและบิดาของข้าพระองค์เถิด @เชิงอรรถ : @๑ โกสะ เป็นชื่อมาตราวัดระยะ ๑ โกสะ เท่ากับ ๕๐๐ ชั่วธนู อัฑฒโกสะ = ๒๕๐ ชั่วธนู (๒๕๐ วา) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๖] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐกาสีให้เจริญ ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้ตาบอด ของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วยเถิด [๓๒๗] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลี ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์กราบทูลพระองค์แล้ว ขอได้โปรดทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลา กับมารดาและบิดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๓๒๘] สุวรรณสามผู้หนุ่มแน่นเห็นแก่กัลยาณธรรม ครั้นได้กราบทูลคำนี้แล้ว ถึงกับสลบแน่นิ่งไปเพราะกำลังยาพิษ [๓๒๙] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญเป็นที่น่าสงสารอย่างมากว่า เราเข้าใจว่าจะเป็นผู้ไม่แก่และไม่ตาย เราได้เห็นสามบัณฑิตตาย วันนี้ จึงได้รู้ความแก่และความตาย แต่ก่อนหาได้รู้ไม่ ความตายจะไม่มาถึงเป็นไม่มี [๓๓๐] สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษเสียบแทงแล้ว ตอบโต้กับเราอยู่แท้ๆ ครั้นกาลล่วงเลยไปวันนี้เอง เขาพูดอะไรๆ ไม่ได้เลย [๓๓๑] เราจะต้องตกนรกเป็นแน่ ในข้อนี้เราไม่มีความสงสัย เพราะในเวลานั้น เราได้ทำบาปอันหยาบช้าไว้ตลอดราตรีนาน [๓๓๒] เมื่อเรานั้นอยู่ในบ้านเมืองกระทำกรรมชั่ว ก็จะมีคนกล่าวติเตียน แต่ในป่าหาผู้คนมิได้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๓๓] คนทั้งหลายประชุมกันในบ้าน ต่างก็เตือนกันและกันให้ระลึกถึงกรรม ส่วนในป่าที่หาคนมิได้ ใครหนอจะเตือนเราให้ระลึกถึงกรรม [๓๓๔] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป เพื่ออนุเคราะห์พระราชา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า [๓๓๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทำกรรมชั่วอย่างใหญ่หลวงแล้ว มารดาและบิดา และบุตรรวม ๓ คนผู้หาความผิดมิได้ พระองค์ทรงฆ่าแล้วด้วยลูกศรลูกเดียว [๓๓๖] เชิญเสด็จมาเถิด หม่อมฉันจะแนะนำถวายพระองค์ โดยประการที่พระองค์จะพึงมีสุคติ คือ พระองค์จงทรงเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ผู้ตาบอดในป่าโดยธรรมเถิด ดิฉันเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติ [๓๓๗] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก จึงทรงถือเอาหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศทักษิณ (ทุกูลบัณฑิตไดัยินเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักษ์ จึงถามว่า) [๓๓๘] นั่นเสียงใครเดินมา นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ [๓๓๙] เพราะพ่อสามเดินเงียบกริบ วางเท้าเรียบ นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม ท่านนิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ (พระเจ้าปิลยักษ์ประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ตรัสว่า) [๓๔๐] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของชาวกาสี คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้าปิลยักษ์ เพราะความโลภ ข้าพเจ้าจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๔๑] ทั้งข้าพเจ้าเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้ แม้ช้างที่มาถึงระยะลูกศรยิงก็ไม่พึงรอดพ้นไปได้ (ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระเจ้าปิลยักษ์ จึงทูลว่า) [๓๔๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นใหญ่ได้เสด็จมาถึงแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งมีอยู่ในที่นี้เถิด [๓๔๓] ข้าแต่มหาราช ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่าซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอพระองค์ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดีๆ เถิด [๓๔๔] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์ทรงดื่มน้ำเย็นนี้ ที่ข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาเถิด ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์ (พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสว่า) [๓๔๕] ท่านทั้ง ๒ ตาบอดไม่สามารถจะเห็นอะไรๆ ในป่าได้ ใครเล่าหนอนำผลไม้มาให้ท่านทั้ง ๒ การเก็บสะสมผลาผลที่ทำไว้อย่างเรียบร้อยนี้ ย่อมปรากฏแก่เราเหมือนการเก็บสะสมของคนตาไม่บอด (ทุกูลบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสนั้น เมื่อจะแสดงธรรม จึงกราบทูลว่า) [๓๔๖] สามหนุ่มน้อยร่างสันทัด ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรม มีผมยาวดำสนิท มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน [๓๔๗] เธอนั่นแหละนำผลไม้มา บัดนี้ ถือหม้อน้ำจากที่นี้ไปตักน้ำยังแม่น้ำ เข้าใจว่าใกล้จะกลับแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า) [๓๔๘] ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่าน ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรมที่ท่านกล่าวถึงแล้ว [๓๔๙] เขามีผมยาวดำสนิท มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน ถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว นอนอยู่ที่หาดทรายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด (นางปาริกาได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ประสงค์จะทราบเหตุ จึงถามว่า) [๓๕๐] ท่านทุกูลบัณฑิต ท่านปรึกษากับใครที่บอกว่า พ่อสามถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า พ่อสามถูกฆ่าแล้ว [๓๕๑] เพราะได้ยินว่า พ่อสามถูกฆ่า ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว เหมือนใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ถูกลมพัดไหวไปมา (ทุกูลบัณฑิตให้โอวาทนางปาริกาว่า) [๓๕๒] ปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากรุงกาสี พระองค์ทรงยิงพ่อสามด้วยลูกศร เพราะความโกรธ ที่ฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา เราทั้ง ๒ อย่าได้มุ่งร้ายต่อพระองค์เลย (นางปาริกากล่าวว่า) [๓๕๓] บุตรที่น่ารักผู้ซึ่งได้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก ไฉนจะไม่พึงทำจิตให้โกรธ ในคนผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า) [๓๕๔] บุตรที่น่ารักผู้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ไม่ควรโกรธในคนผู้มีบุตรคนเดียวนั้น (ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสปลอบโยนท่านทั้ง ๒ นั้นว่า) [๓๕๕] พระคุณท่านทั้ง ๒ อย่าคร่ำครวญให้มากนัก เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า สามกุมารถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว ข้าพเจ้าจะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่ [๓๕๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้ จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่ [๓๕๗] ข้าพเจ้าจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ และมูลผลาผลในป่า จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่ (ดาบสทั้ง ๒ กราบทูลว่า) [๓๕๘] ข้าแต่มหาราช นั่นมิใช่ธรรม ไม่สมควรในอาตมภาพทั้ง ๒ พระองค์เป็นพระราชาของอาตมภาพทั้ง ๒ อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ (พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า) [๓๕๙] ท่านผู้มีเชื้อชาติเป็นพราน ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านได้ประพฤติอ่อนน้อม ขอพระคุณท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ดาบสทั้ง ๒ นั้นประคองอัญชลี กราบทูลว่า) [๓๖๐] ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมภาพทั้ง ๒ ขอถวายบังคมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมแด่พระองค์ อาตมภาพทั้งหลายขอประคองอัญชลีแด่พระองค์จนกว่าพระองค์ ทรงพาอาตมภาพทั้งหลายไปให้ถึงสถานที่ซึ่งสามกุมารอยู่ [๓๖๑] อาตมภาพทั้ง ๒ เมื่อได้ลูบคลำเท้าทั้ง ๒ และใบหน้าอันงดงามของเขา จักทุบตีตนให้ถึงความตาย (พระเจ้าปิลยักษ์ได้ตรัสว่า) [๓๖๒] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ [๓๖๓] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน ในป่าที่เกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ [๓๖๔] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่ เปื้อนเปรอะด้วยฝุ่น ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ [๓๖๕] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่ ในป่าที่กลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย เป็นป่าสูงปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ ขอพระคุณท่านทั้ง ๒ จงอยู่ในอาศรมที่พักนี้เท่านั้นเถิด (ลำดับนั้น ดาบสทั้ง ๒ นั้นเมื่อแสดงว่าตนไม่กลัวต่อสัตว์ร้าย จึงกราบทูลว่า) [๓๖๖] ถ้าในป่านั้น จะมีเนื้อร้ายตั้งร้อย ตั้งพัน และตั้งหมื่น อาตมภาพทั้ง ๒ ไม่มีความกลัว ในสัตว์ร้ายทั้งหลายในป่าไหนๆ เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๓๖๗] ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤๅษีทั้ง ๒ ผู้ตาบอดไปในป่าใหญ่ จูงมือฤๅษีทั้ง ๒ ไปในที่ที่สามกุมารถูกฆ่าแล้ว [๓๖๘] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน [๓๖๙] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน [๓๗๐] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร [๓๗๑] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น จึงประคองแขนทั้ง ๒ ข้าง คร่ำครวญว่า ชาวเราเอ๋ย ได้ทราบว่า วันนี้ ความไม่เป็นธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้ [๓๗๒] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าประมาทนักแล้ว ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย [๓๗๓] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโง่ไปมากนักแล้ว ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย [๓๗๔] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโกรธเคืองไปมากนักแล้ว ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย [๓๗๕] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าเป็นผู้มักหลับไปมากนักแล้ว ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย [๓๗๖] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าช่างเป็นคนปราศจากน้ำใจจริง ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย [๓๗๗] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายเสียแล้ว บัดนี้ ใครเล่าจักชำระชฎาที่หม่นหมองเปื้อนฝุ่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๗๘] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว บัดนี้ ใครเล่าจักจับไม้กวาดแล้วกวาดอาศรมของเราทั้ง ๒ [๓๗๙] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว บัดนี้ ใครเล่าจักนำน้ำเย็นน้ำร้อนมาให้เราทั้ง ๒ อาบ [๓๘๐] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว บัดนี้ ใครเล่าจักให้เราทั้ง ๒ บริโภคมูลผลาผลไม้ในป่า [๓๘๑] มารดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่ เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า [๓๘๒] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติประพฤติธรรมมาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๓] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๔] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๕] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๖] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๗] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๘] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและบิดาของเขา ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๘๙] บิดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่ เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๙๐] ลูกสามนี้ได้เคยเป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๑] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๒] ลูกสามนี้มีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๓] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๔] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๕] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๖] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและมารดาของเขา ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป [๓๙๗] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป ด้วยความอนุเคราะห์สามกุมาร จึงได้กล่าวสัจวาจานี้ว่า [๓๙๘] เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน ไม่มีคนอื่น จะเป็นใครก็ตาม เป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป [๓๙๙] ต้นไม้ทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป [๔๐๐] เมื่อดาบสทั้ง ๒ กำลังบ่นพร่ำรำพันอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก สามกุมารผู้ยังเป็นหนุ่มแน่นมีรูปสง่างาม ก็ได้ลุกขึ้นทันที {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า) [๔๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าสาม ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยความสวัสดี ขอท่านทั้งหลายจงอย่าคร่ำครวญไปนักเลย จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด (ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์เห็นพระราชา จึงกราบทูลว่า) [๔๐๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้เถิด [๔๐๓] ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเลือกเสวยผลมะพลับ ผลมะซาง และผลหมากเม่า ซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อยแต่ผลที่ดีๆ เถิด [๔๐๔] น้ำใสเย็นข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาก็มีอยู่ จงโปรดเสวยจากนั้นเถิด พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์ (พระเจ้าปิลยักษ์ทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว จึงตรัสว่า) [๔๐๕] เรางุนงงไปหมด หลงไปทั่วทุกทิศ เราได้เห็นสามตายไปแล้ว ท่านสาม ทำไมหนอ ท่านจึงกลับฟื้นชีวิตคืนมาได้ (สุวรรณสามโพธิสัตว์ทูลว่า) [๔๐๖] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่ แต่มีเวทนามาก ปราศจากความรู้สึก๑- แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว @เชิงอรรถ : @๑ ปราศจากความรู้สึก หมายถึงวาระจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ (ความอยู่โดยไม่รู้สึกตัว, สลบ) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๐๖/๑๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๐๗] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่ แต่มีเวทนามาก ถึงความดับสนิท แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว (สุวรรณสามโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์ว่า) [๔๐๘] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็เยียวยารักษาบุคคลผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดานั้น [๔๐๙] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม แม้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ (พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงประคองอัญชลี ขอร้องอยู่ว่า) [๔๑๐] เรายิ่งงุนงงหนักขึ้น หลงไปทั่วทุกทิศ ท่านสาม เราขอถึงท่านว่าเป็นที่พึ่ง และท่านก็จงเป็นที่พึ่งของเรา (สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวทศพิธราชธรรมถวายว่า) [๔๑๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระมารดาและพระบิดาเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๒] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระมเหสีเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๓] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]
๓. สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๑๔] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพาหนะและพลนิกายเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๕] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๖] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๗] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์เถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๔๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหมเข้าถึงทิพยสถานได้ เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลยสุวัณณสามชาดกที่ ๓ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๕}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๒๙-๒๔๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=15 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=3201&Z=3441 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=482 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=482&items=43 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=2349 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=482&items=43 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=2349 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja540/en/cowell-rouse
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]