ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

๔. เนมิราชชาดก๑- (๕๔๑)
ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๒๑] น่าอัศจรรย์หนอ การที่พระเจ้าเนมิผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์ด้วยกุศล ทรงเกิดขึ้นในคราวที่บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดขึ้นในโลก [๔๒๒] พระเจ้าเนมิผู้ทรงทรมานอริราชศัตรู ของชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวงได้บริจาคแล้ว เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก [๔๒๓] ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตร ทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิแล้ว ปรากฏพระองค์ ทรงกำจัดความมืดด้วยพระรัศมีแล้ว [๔๒๔] พระเจ้าเนมิจอมมนุษย์ทรงมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสถามท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้บำเพ็ญทานในภพก่อนกันแน่ [๔๒๕] รัศมีเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็น หรือไม่เคยได้ยินมาเลย แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร @เชิงอรรถ : @ เนมิราชชาดก เป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองมิถิลา ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง @ของพระราชามฆเทพ ทรงปรารภการกระทำการแย้มสรวลให้ปรากฏ ตรัสเรื่องเนมิราชชาดกนี้ เริ่มต้น @ด้วยคำว่า น่าอัศจรรย์หนอ...ในโลก ดังนี้ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๒๖] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด [๔๒๗] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า [๔๒๘] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่ จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๒๙] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง [๔๓๐] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่ายๆ ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไรๆ บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาค มหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า) [๔๓๑] ๑. พระเจ้าทุทีปะ ๒. พระเจ้าสาคระ ๓. พระเจ้าเสละ ๔. พระเจ้ามุจลินท์ ๕. พระเจ้าภคีรสะ ๖. พระเจ้าอุสินนะ ๗. พระเจ้าอัตถกะ ๘. พระเจ้าปุถุทธนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๓๒] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้ ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า) [๔๓๓] ฤๅษีทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ ๑. ยานหนฤๅษี ๒. โสมยาคฤๅษี ๓. มโนชวฤๅษี [๔๓๔] ๔. สมุททฤๅษี ๕. มาฆฤๅษี ๖. ภรตฤๅษี ๗. กาลปุรักขิตฤๅษี กับฤๅษีอีก ๔ ตน คือ ๑. อังคีรสฤๅษี ๒. กัสสปฤๅษี ๓. กีสวัจฉฤๅษี ๔. อกัตติฤๅษี ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน (ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า) [๔๓๕] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ [๔๓๖] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๓๗] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้ ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ [๔๓๘] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ [๔๓๙] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้ เพราะประพฤติธรรมสูงสุด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๔๐] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์ (ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า) [๔๔๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้ ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม [๔๔๒] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้ ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง [๔๔๓] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่ ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(มหาชนร่าเริงยินดี จึงกล่าวว่า) [๔๔๔] ความขนพองสยองเกล้าที่ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๔๕] มาตลีเทพบุตรผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า [๔๔๖] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งนี้เถิด เทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ประสงค์จะเฝ้าพระองค์ เพราะเทพเหล่านั้นกำลังระลึกถึง นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อยู่ ณ สุธรรมสภา [๔๔๗] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา ผู้ทรงธรรม ด่วนรีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์ บ่ายพระพักตร์ขึ้นสู่รถพระที่นั่ง [๔๔๘] มาตลีเทพบุตรได้ทูลถามพระเจ้าเนมิผู้เสด็จขึ้นรถทิพย์แล้วว่า ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ข้าพระองค์จะนำพระองค์ไปทางไหน คือ ทางที่คนทำบาปหรือทำบุญไว้ (ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นว่า) [๔๔๙] มาตลีเทพสารถี ขอให้ท่านจงนำเราไปทั้ง ๒ ทางนั่นแหละ คือ ทางที่คนทำบาปและทางที่คนทำบุญไว้ (ต่อจากนั้น มาตลีเทพสารถีทูลถามว่า) [๔๕๐] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระองค์ไปทางไหนก่อน คือ ทางที่คนทำบาปหรือทางที่คนทำบุญไว้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระเจ้าเนมิตรัสว่า) [๔๕๑] เราจะดูนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมเป็นบาป สถานที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมหยาบช้า และคติของเหล่านรชนผู้ทุศีลก่อน (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๕๒] มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว จึงแสดงแม่น้ำที่ชื่อเวตตรณี๑- ที่ข้ามได้ยาก ประกอบด้วยน้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน เปรียบด้วยเปลวเพลิง [๔๕๓] พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสัตว์ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่ข้ามได้ยาก จึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า มาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรหนอ จึงตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี [๔๕๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๕๕] ชนเหล่าใดในมนุษยโลก ผู้มีกำลัง มีกรรมอันเป็นบาป ย่อมเบียดเบียน ด่าว่าผู้อื่นซึ่งมีกำลังน้อย ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้วย่อมตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี @เชิงอรรถ : @ แม่น้ำชื่อเวตตรณี เป็นแม่น้ำที่ตั้งขึ้นตามฤดูซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ เหล่านายนิรยบาลในนรกนั้นถืออาวุธ @มีดาบ หอก หอกซัด ฉมวก และพลองเป็นต้นที่ลุกเป็นไฟ เข้าประหาร ทิ่มแทง ทุบตีสัตว์นรกทั้งหลาย @(ขุ.ชา.อ. ๙/๔๕๒/๑๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๕๖] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกาปากเหล็กที่น่ากลัว รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นฝูงสัตว์รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน [๔๕๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มีธรรมลามก บริภาษ เบียดเบียน ด่าว่าสมณะและพราหมณ์ ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน (พระเจ้าเนมิทรงเห็นสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัว ตรัสถามมาตลี- เทพสารถีว่า) [๔๕๙] สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโชน เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กที่ลุกโชน นายนิรยบาลทั้งหลายโบยตีด้วยกระบองเหล็กอันร้อน ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ที่ถูกโบยตีด้วยกระบองเหล็ก เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่ [๔๖๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๖๑] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกเป็นผู้มีธรรมอันชั่วช้า เบียดเบียน ด่าว่าชายหญิงผู้ไม่มีธรรมอันชั่วช้า ชนเหล่านั้นผู้มีธรรมอันชั่วช้า มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่ (พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามว่า) [๔๖๒] สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งตกหลุมถ่านเพลิง ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย ร้องครวญครางอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงตกหลุมถ่านเพลิงอยู่ [๔๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๖๔] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งอ้างพยานโกงลบหนี้ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ชนเหล่านั้นครั้นทำทรัพย์ของหมู่ชนให้สิ้นไปแล้ว มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้วตกอยู่ในหลุมถ่านเพลิง (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า) [๔๖๕] โลหกุมภีใหญ่มีไฟลุกโพลงโชติช่วงปรากฏอยู่ ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นโลหกุมภีนั้น ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๖๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๖๗] ชนเหล่าใดสุดแสนจะชั่ว เบียดเบียน อาฆาตสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า) [๔๖๘] นายนิรยบาลย่อมตัดคอหรือผูกคอสัตว์นรก ฉุดลากโยนลงไปในน้ำร้อน ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่ [๔๖๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๗๐] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกสุดแสนจะชั่ว จับนกมาฆ่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชนเหล่านั้นครั้นฆ่านกแล้ว มีกรรมหยาบช้าทำบาปแล้ว จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่ (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า) [๔๗๑] แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีฝั่งไม่ลึก มีท่าน้ำงดงาม ไหลอยู่เสมอ สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผาแล้วจะดื่มน้ำ น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วก็กลายเป็นแกลบไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๗๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วจึงกลายเป็นแกลบไป [๔๗๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๗๔] สัตว์นรกเหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์ เอาข้าวลีบปนข้าวเปลือกล้วนๆ ขายให้แก่ผู้ซื้อ น้ำที่สัตว์นรกผู้ถูกความร้อนแผดเผากระหายเหล่านั้นดื่มแล้ว ก็กลายเป็นแกลบไป (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า) [๔๗๕] นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก และโตมร แทงสีข้างทั้ง ๒ ของเหล่าสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่ [๔๗๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๗๗] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกมีการงานไม่ดี ลักทรัพย์ของผู้อื่น คือ ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต ชนเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๔๗๘] เพราะเหตุไร สัตว์นรกเหล่านี้จึงถูกนายนิรยบาลล่ามคอไว้ สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งถูกนายนิรยบาลหั่นแล้วสับนอนอยู่ ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกสับนอนอยู่ [๔๗๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๘๐] สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ครั้นฆ่าปศุสัตว์ คือ กระบือ แพะ และแกะแล้วจึงวางบนเขียงเพื่อขายเลี้ยงชีพ สัตว์นรกเหล่านั้นทำบาปแล้วจึงต้องถูกสับเป็นชิ้นๆ กองอยู่ (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๔๘๑] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป สัตว์นรกถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินอุจจาระและปัสสาวะนั้น ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องมากินอุจจาระและปัสสาวะ [๔๘๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๘๓] สัตว์นรกเหล่านี้บางพวกมักก่อเหตุ เกรี้ยวกราด รังแกมิตรสหาย ตั้งมั่นในการเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร ทำบาปแล้ว จึงกินปัสสาวะและอุจจาระ (พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า) [๔๘๔] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยเลือดและหนอง ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป สัตว์นรกทั้งหลายถูกความร้อนแผดเผา เกิดความกระหาย จึงดื่มเลือดและหนอง ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงกินเลือดและหนอง [๔๘๕] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๘๖] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดา หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้) ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงกินเลือดและหนอง (เมื่อมาตลีเทพสารถีแสดงเรื่องนั้นแล้ว พระเจ้าเนมิจึงตรัสถามว่า) [๔๘๗] ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่นายนิรยบาลเกี่ยวด้วยเบ็ด และจงดูหนังที่นายนิรยบาลถลกด้วยขอเหล็ก สัตว์นรกเหล่านี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกโยนขึ้นบนบก ร้องไห้น้ำลายไหล เพราะเหตุไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงกลืนกินเบ็ดนอนอยู่ [๔๘๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๙๐] สัตว์นรกบางพวกเคยเป็นมนุษย์ มีตำแหน่งหน้าที่ให้ลดราคาซื้อลงจากราคาขาย ทำการโกงด้วยตาชั่งโกง เพราะโลภในทรัพย์ ปกปิดการโกงไว้เหมือนคนเมื่อจะฆ่าปลาเอาเหยื่อปกปิดเบ็ดไว้ [๔๙๑] บุคคลผู้ทำการโกงถูกกรรมของตนหุ้มห่อไว้ ไม่มีการป้องกันได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงต้องกลืนกินเบ็ดนอนอยู่ (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๔๙๒] นางสัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายแตกเยิ้ม น่าเกลียด เปรอะเปื้อน เกรอะกรังไปด้วยเลือดและหนอง เหมือนพวกโคหัวขาดในที่ฆ่า ยกแขนทั้ง ๒ ข้างขึ้นร้องคร่ำครวญอยู่ นางสัตว์นรกนั้นถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้ [๔๙๓] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของนางสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน นางสัตว์นรกเหล่านี้ ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๙๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๙๕] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้ มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่น ในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้ (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๔๙๖] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้ จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก [๔๙๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๔๙๘] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๔๙๙] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก (พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า) [๕๐๐] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้ มีการประกอบเหตุการณ์ต่างๆ กัน มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้ เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่ [๕๐๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๐๒] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว๑- หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่ @เชิงอรรถ : @ ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ ๑๐ คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชา @ไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ- @พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๐๒/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสแล้ว จึงแสดงนรกมากมายในทิศทั้ง ๔ ว่า) [๕๐๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่ ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า และคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด (เทพมาตลีสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงเทพธิดา จึงกราบทูลพยากรณ์แด่ พระองค์ว่า) [๕๐๔] วิมาน ๕ ยอดนี้ย่อมปรากฏนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างมีดอกไม้เป็นต้น นั่งอยู่ในท่ามกลางที่ไสยาสน์ แสดงเทพฤทธิ์ได้ต่างๆ สถิตอยู่ในวิมานนี้ (พระเจ้าเนมิตรัสว่า) [๕๐๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในวิมานนี้ เราขอถามท่าน นางเทพธิดานี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๐๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๐๗] บางทีพระองค์จะทรงเคยได้ยินว่า ในมนุษยโลกมีนางทาสีเรือนทาสของพราหมณ์ชื่อว่า พีรณี คราวหนึ่งนางทราบว่า แขกมาถึงแล้วตามกาล ก็ชื่นชม ยินดีเหมือนมารดาชื่นชมบุตรของตน นางมีการสำรวมและการบริจาค บันเทิงอยู่ในวิมาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมที่โสณทินนเทพบุตรทำแล้ว จึงทูลตอบแด่พระองค์ว่า) [๕๐๘] วิมานทั้ง ๗ หลังถูกนิรมิตขึ้น เรืองรองผ่องใส มีเทพบุตรตนหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์มาก ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง มีหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ ในวิมานทั้ง ๗ หลัง ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับนั้น (พระเจ้าเนมิตรัสว่า) [๕๐๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๑๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๑๑] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดีชื่อโสณทินนะ เป็นทานบดีให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศแก่บรรพชิต [๕๑๒] เขาได้อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้น ด้วยความเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่ง ผ้าห่ม อาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตเลื่อมใส [๕๑๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ [๕๑๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเหล่าเทพอัปสร จึงทูลตอบว่า) [๕๑๕] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดประกอบไปด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ อย่าง ส่องแสงสว่างไสวอยู่ (พระเจ้าเนมิตรัสว่า) [๕๑๖] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปแห่งวิมานนี้ เราขอถามท่าน นางเทพอัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๑๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๑๘] นางเทพอัปสรเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เคยเป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในการให้ทาน มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล เป็นผู้สำรวมและทำการบริจาคทาน จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์ (พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นว่า) [๕๑๙] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ประกอบด้วยภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วนๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๕๒๐] เสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ [๕๒๑] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง ที่น่ารื่นรมย์ใจอย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย [๕๒๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๒๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๒๔] เทพบุตรบางพวกเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เคยเป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้สร้างสวนดอกไม้ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ [๕๒๕] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย๑- ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส [๕๒๖] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ [๕๒๗] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ ทั้งมีความสำรวมและบริจาคทาน เทพบุตรเหล่านั้นจึงมาบันเทิงอยู่ในสวรรค์ @เชิงอรรถ : @ คำว่า ปัจจัย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ยาเพื่อคนไข้) (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๒๕/๒๐๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระเจ้าเนมิทรงมีพระทัยยินดี จึงตรัสถามกุศลกรรมของเทพบุตรนั้นว่า) [๕๒๘] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด [๕๒๙] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยไม้ดอกนานาชนิด ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น [๕๓๐] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๓๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๓๒] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดีเป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ [๕๓๓] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส [๕๓๔] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ [๕๓๕] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้นว่า) [๕๓๖] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรนารีผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด [๕๓๗] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น [๕๓๘] มีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หว้า ไม้มะพลับ และไม้มะหาดเป็นจำนวนมาก มีผลตลอดฤดูกาล [๕๓๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๔๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๔๑] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ [๕๔๒] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส [๕๔๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๕๔๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๕๔๕] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ ประกอบด้วยภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ที่จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วนๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่ [๕๔๖] มีเสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ [๕๔๗] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง ที่น่ารื่นรมย์อย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย [๕๔๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๔๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๕๐] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงพาราณสี ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ [๕๕๑] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๕๕๒] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ [๕๕๓] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน (พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๕๕๔] วิมานทองที่นิรมิตขึ้นนี้ รุ่งเรืองสุกใส เหมือนดวงอาทิตย์ดวงใหญ่โผล่ขึ้นมาเป็นสีแดง [๕๕๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๕๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๕๗] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ [๕๕๘] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส [๕๕๙] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์ [๕๖๐] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสมบัติของเทพบุตรที่อยู่ในวิมานนั้น จึงตรัสว่า) [๕๖๑] วิมานทองเป็นอันมากนี้ที่ได้นิรมิตไว้ ลอยอยู่ในอากาศ รุ่งเรืองสุกใสเหมือนสายฟ้า ส่องแสงเรืองๆ อยู่ในระหว่างก้อนเมฆทึบ เหล่าเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง มีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน อยู่ในวิมานเหล่านั้นโดยรอบ [๕๖๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน [๕๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๖๔] เทพบุตรเหล่านี้เคยเป็นสาวกในศาสนา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อศรัทธาตั้งมั่นแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระสัทธรรมดีแล้ว ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดา ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตร สถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด (มาตลีเทพสารถีเมื่อจะทำอุตสาหะเพื่อจะให้พระเจ้าเนมิเสด็จไปสำนักของ ท้าวสักกเทวราช จึงทูลว่า) [๕๖๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่ ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว และทรงทราบสถานที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพเจ้าผู้มีกรรมดีแล้ว ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ เชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นแล้วตรัส ถามมาตลีเทพสารถีให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า) [๕๖๖] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร ครั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร [๕๖๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบ (มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามอย่างนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า) [๕๖๘] ภูเขาหลวงทั้ง ๗ เทือก คือ ภูเขาสุทัศนะ ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธร ภูเขายุคันธร ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ [๕๖๙] ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปตามลำดับ อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นเถิด (พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นพระอินทร์นั้นแล้ว จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า) [๕๗๐] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว [๕๗๑] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นประตูนี้ เราขอถามท่าน ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไรหนอ น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ที่ไกลทีเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๕๗๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๗๓] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ [๕๗๔] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์ (พระศาสดาตรัสว่า) [๕๗๕] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว (พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถาม มาตลีเทพสารถีว่า) [๕๗๖] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ เปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล [๕๗๗] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้ เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

[๕๗๘] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้ ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า [๕๗๙] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี [๕๘๐] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน [๕๘๑] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๕๘๒] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด [๕๘๓] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์ ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า [๕๘๔] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๔. เนมิราชชาดก (๕๔๑)

ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า (พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะ ทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า) [๕๘๕] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน [๕๘๖] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้ บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก [๕๘๗] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์ ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง (พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า) [๕๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพ ผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา (พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัส พระคาถาสุดท้ายว่า) [๕๘๙] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว จึงทรงเข้าถึงความสำรวม
เนมิราชชาดกที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๔๖-๒๗๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=16              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=3442&Z=3860                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=525              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=525&items=75              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=3284              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=525&items=75              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=3284                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja541/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :