ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

๙. วิธุรชาดก๑- (๕๔๖)
ว่าด้วยวิธุรบัณฑิตบำเพ็ญปัญญาบารมี
โทหฬกัณฑ์
ตอนว่าด้วยความแพ้ท้อง
(พญานาคตรัสถามนางนาควิมลามเหสีว่า) [๑๓๔๖] “เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย เมื่อก่อน ผิวพรรณของเธอมิได้เป็นเช่นนี้เลย น้องวิมลา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร” (นางนาควิมลาทูลตอบว่า) [๑๓๔๗] “พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชื่อว่าความแพ้ท้อง เป็นธรรมดาของมารดาทั้งหลายในหมู่มนุษย์ พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค หม่อมฉันปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งดวงหทัย ของวิธุรบัณฑิตที่นำมาได้โดยชอบธรรม พระเจ้าข้า” (พญานาคตรัสว่า) [๑๓๔๘] “เธอแพ้ท้องปรารถนาหทัยของวิธุรบัณฑิต ก็จะเหมือนกับปรารถนาดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ หรือปรารถนาลม เพราะว่าวิธุรบัณฑิตยากที่บุคคลจะพบได้ ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้” @เชิงอรรถ : @ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการบำเพ็ญปัญญาบารมี ตรัสวิธุรชาดกนี้ ซึ่งมีคำ @เริ่มต้นว่า เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

(นางนาคอิรันทดีผู้ธิดากราบทูลว่า) [๑๓๔๙] “ข้าแต่พระบิดา เหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงซบเซาอยู่ พระพักตร์ของพระองค์เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นอิสราธิบดี เป็นที่เกรงขามของศัตรู เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงทุกข์พระทัย ขออย่าทรงเศร้าโศกเลย พระเจ้าข้า” (พญานาควรุณตรัสว่า) [๑๓๕๐] “อิรันทดีลูกรัก มารดาของเจ้าปรารถนาซึ่งดวงหทัย ของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิตยากที่ใครจะพบได้ ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้ [๑๓๕๑] เจ้าจงเที่ยวไปแสวงหาสามี ผู้ซึ่งจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้” นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว มีจิตชุ่มด้วยกิเลสออกไปเที่ยวตลอดคืน (นางนาคอิรันทดีกล่าวว่า) [๑๓๕๒] “คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์พวกไหน คนไหนเป็นบัณฑิตสามารถจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้ เขาจักเป็นสามีของเราตลอดกาล” (เสนาบดียักษ์กล่าวว่า) [๑๓๕๓] “นางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ ขอเธอจงเบาใจเถิด เราจักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอ เพราะปัญญาของเราสามารถจะนำเนื้อดวงหทัย ของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ ขอจงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

[๑๓๕๔] นางอิรันทดีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่ เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า “มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักของพระบิดาของฉัน พระบิดาของฉันนี่แหละจักตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ท่าน” [๑๓๕๕] นางอิรันทดีประดับตกแต่งนุ่งผ้าเรียบร้อยแล้ว ทัดทรงดอกไม้ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปยังสำนักของพระบิดา (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๓๕๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค ขอพระองค์ได้โปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทดี ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระองค์ ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทดีเถิด [๑๓๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น คือ ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑๐๐ ตัว รถที่เทียมด้วยม้าอัสดร ๑๐๐ คัน เกวียนบรรทุกของเต็มด้วยรัตนะต่างๆ ๑๐๐ เล่ม ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์เถิด” (พญานาคตรัสว่า) [๑๓๕๘] “ขอท่านจงรออยู่จนกว่าเราจะได้ปรึกษาหารือ กับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทเสียก่อน (เพราะ)กรรมที่กระทำลงไปโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันนั้น ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๓๕๙] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ ปรึกษากับพระชายา ตรัสคำนี้ว่า [๑๓๖๐] “ปุณณกยักษ์นี้นั้นมาขอลูกอิรันทดีกับเรา เราจะให้ลูกอิรันทดีผู้เป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น เพราะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นจำนวนมากหรือ” (นางนาควิมลามเหสีกราบทูลว่า) [๑๓๖๑] “ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ แต่ถ้าปุณณกยักษ์จะพึงได้หทัยของบัณฑิต นำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม เขาจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น หม่อมฉันไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งกว่านี้ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๓๖๒] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์ ตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาแล้วตรัสดังนี้ว่า [๑๓๖๓] “ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ ถ้าท่านได้หทัยของบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น เราไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านี้” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๓๖๔] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในโลกนี้ คนบางคนย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต คนอีกพวกหนึ่งกลับเรียกคนนั้นนั่นแหละว่าเป็นพาล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่ ขอพระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงเรียกใครเล่าว่า เป็นบัณฑิต” (พญานาควรุณตรัสว่า) [๑๓๖๕] “บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรม แก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว ขอท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา ครั้นท่านได้มาโดยชอบธรรมแล้ว นางอิรันทดีจงเป็นผู้บำเรอเท้า (ภรรยา) ของท่านเถิด (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๓๖๖] ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชนี้แล้ว ก็ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน ผู้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละว่า “เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มาที่นี้นั่นแหละให้ได้ [๑๓๖๗] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง มีกีบหุ้มแล้วด้วยแก้วมณีแดง มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง” (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า) [๑๓๖๘] “ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว [๑๓๖๙] ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดด้วยกามราคะ กำลังปรารถนานางอิรันทดีนาคกัญญา ไปกราบทูลท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศเป็นใหญ่แห่งภูตว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

[๑๓๗๐] ภพนาคนั้นเขาเรียกว่า โภควดีนครบ้าง วาสนานครบ้าง หิรัญวดีนครบ้าง เป็นเมืองนิรมิตล้วนแต่ทองคำ สำเร็จแก่พญานาคผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง [๑๓๗๑] ป้อมและเชิงเทินสร้างมีรูปทรงเหมือนคออูฐ ทำด้วยแก้วแดงและแก้วลาย ในนาคพิภพนั้น มีปราสาททำด้วยศิลา มุงด้วยกระเบื้องทองคำ [๑๓๗๒] ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชบา และไม้ย่านทราย [๑๓๗๓] ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กระเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้ มีกิ่งโน้มเข้าหากัน ยังมณเฑียรของนาคราชให้งามยิ่งนัก [๑๓๗๔] ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผลัมสำเร็จแล้วด้วยแก้วอินทนิล ผลิดอกล้วนแต่ทองเป็นนิตย์จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก ผู้ผุดเกิด [๑๓๗๕] พญานาคนั้นมีมเหสีกำลังสาวรุ่นทรงพระนามว่าวิมลา มีพระรูปโฉมสง่างามดังแท่งทองคำ สูงโปร่งสะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ ทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับงดงามน่าชมยิ่งนัก [๑๓๗๖] มีพระฉวีวรรณแดงประดุจน้ำครั่ง เปรียบเสมือนดอกกรรณิการ์ที่แย้มบานน้อมลง เหมือนดังนางอัปสรที่เที่ยวไปในภพชั้นดาวดึงส์ หรือเหมือนสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

[๑๓๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์ ทรงปรารถนาซึ่งดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาทั้ง ๒ พระองค์นั้น เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้น จะพระราชทานพระนางอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์ [๑๓๗๘] ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศ เป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์แล้ว ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนในที่นั้นนั่นแหละว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มา ณ ที่นี้เถิด [๑๓๗๙] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง มีกีบหุ้มแล้วแก้วมณีแดง มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง [๑๓๘๐] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว [๑๓๘๑] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์นัก เป็นนครของพระเจ้าอังคะที่พวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้ มีภักษาหาร ข้าว และน้ำมากมาย ดังภพของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ [๑๓๘๒] เป็นนครที่อึกทึกกึกก้องไปด้วยฝูงนกยูงและนกกระเรียน อื้ออึงไปด้วยฝูงนกต่างๆ ชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนก มีนกต่างๆ ส่งเสียงร่ำร้องอยู่อึงมี่ มีเนินสวยงาม ดารดาษไปด้วยดอกไม้เหมือนภูเขาหิมพานต์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

[๑๓๘๓] ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นเวปุลลบรรพตซึ่งเป็นภูเขาศิลาล้วน เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่ จึงได้เห็นแก้วมณีนั้นในท่ามกลางยอดเขา [๑๓๘๔] ครั้นได้เห็นแก้วมณีอันมีรัศมีผุดผ่อง เป็นแก้วมณีที่ประเสริฐสุด สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจมุ่งหมาย รุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่กับหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก สว่างไสวอยู่ดังสายฟ้าในอากาศ [๑๓๘๕] จึงได้ถือแก้วไพฑูรย์ชื่อว่า มโนหรจินดา อันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม ขึ้นขี่หลังม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว [๑๓๘๖] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปถึงกรุงอินทปัตถ์ ลงมาแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ ไม่เกรงกลัวพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น กล่าวท้าทายด้วยสะกาว่า [๑๓๘๗] บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ จะทรงชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้ หรือข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ เมื่อชนะจะชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐอันยอดเยี่ยม กับพระราชาพระองค์ไหน อีกประการหนึ่ง พระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์ ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์

(พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามว่า) [๑๓๘๘] “ชาติภูมิของท่านอยู่แคว้นไหน ถ้อยคำของท่านนี้ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย ท่านมิได้เกรงกลัวเราทั้งมวลด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา” (ปุณณกยักษ์ทูลตอบว่า) [๑๓๘๙] “ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพ กัจจายนโคตรชื่ออนูนะ ญาติๆ และพวกพ้องของข้าพระองค์อยู่ในแคว้นอังคะ ต่างก็พากันเรียกข้าพระองค์อย่างนี้ ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงเมืองนี้ ด้วยต้องการที่จะเล่นการพนันสะกา” (พระราชาทั้งหลายตรัสว่า) [๑๓๙๐] “พระราชาทรงชำนาญการเล่นสะกา เมื่อทรงชนะจะพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ แก้วของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเป็นคนเข็ญใจจะมาพนันกับพระราชาเหล่านั้น ผู้มีทรัพย์มากมายได้อย่างไร” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๓๙๑] “แก้วมณีของข้าพระองค์นี้ ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา นักเลงสะกาชนะข้าพระองค์แล้วพึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรู ของข้าพระองค์ทั้ง ๒ นี้ไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า) [๑๓๙๒] “มาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้ ส่วนม้าอาชาไนยตัวเดียวจักทำอะไรได้ แก้วมณีของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก ม้าอาชาไนยที่มีกำลังรวดเร็วดังลม ของพระราชามีมิใช่น้อยเลย”
โทหฬกัณฑ์จบ
มณิกัณฑ์
ตอนว่าด้วยอานุภาพแก้วมณี
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๓๙๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าประชาชน ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูแก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้เถิด มีรูปหญิงและรูปชายปรากฏเป็นหมู่ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๓๙๔] มีรูปเนื้อและรูปนกปรากฏเป็นหมู่ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้ มีพญานาคและพญาครุฑปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้ ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๓๙๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูจตุรงคินีเสนานี้ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ที่สวมเกราะอันธรรมดาได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๓๙๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดู เหล่าพลทหารที่จัดไว้เป็นกรมๆ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

[๑๓๙๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูพระนคร ที่มีป้อมพร้อมมูล มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นที่สวยงาม อันธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๓๙๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเสาระเนียด คูคลอง กลอนประตูเหล็ก ป้อมค่าย และซุ้มประตู ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๓๙๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูฝูงนกนานาชนิด เป็นจำนวนมากมายที่ปลายเสาค่าย คือ ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพาก และนกเขา ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๔๐๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร อันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกชนิดต่างๆ คือ ฝูงนกดุเหว่าดำ นกดุเหว่าที่มีปีกลายงดงาม ไก่ฟ้า และนกโพระดก เป็นจำนวนมาก ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด [๑๔๐๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร ที่ล้อมด้วยกำแพงทองคำ น่าอัศจรรย์ชวนให้ขนพองสยองเกล้า ชักธงขึ้นเป็นประจำ น่ารื่นรมย์ ลาดด้วยทรายทอง [๑๔๐๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรร้านตลาด ที่เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด เรือน สิ่งของในเรือน ถนน ซอย และถนนหลวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

[๑๔๐๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรโรงขายสุรา นักเลงสุรา พ่อครัว เรือนครัว พ่อค้า หญิงแพศยา หญิงงามเมือง ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า ช่างทอง และพวกช่างแก้วมณี ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกคนทำของหวาน คนทำของคาว พวกนักดนตรี คือ บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเปิงมาง (ฉิ่ง) กังสดาล พิณ การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าที่เขาประโคมกึกก้อง ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๘] อนึ่ง ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักกระโดด นักมวย นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม และช่างตัดผม ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๐๙] ก็ในแก้วมณีดวงนี้ มีมหรสพที่คลาคล่ำไปด้วยชายหญิง ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพื้นที่สำหรับเล่นมหรสพ บนเตียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

[๑๔๑๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักมวย ผู้กำลังชกต่อยกันอยู่ในสนามมวย ที่วงรอบเป็นสองชั้น ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๑๑] ขอทูลเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด เป็นจำนวนมากที่เชิงเขา เช่น ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว [๑๔๑๒] แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน [๑๔๑๓] ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนซึ่งธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๑๔] ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำที่มีท่าน้ำสวยงาม ลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา [๑๔๑๕] อนึ่ง ในแม่น้ำนี้ มีฝูงจระเข้ มังกร ตะโขง เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า และปลาตะเพียนแหวกว่ายไปมา [๑๔๑๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี ที่ก่อสร้างด้วยแก้วไพฑูรย์ ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้ชนิดต่างๆ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

[๑๔๑๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้ ที่ธรรมชาติเนรมิตไว้เป็นอย่างดีทั้ง ๔ ทิศ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาใหญ่ [๑๔๑๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ เป็นแก่งแห่งสาครประกอบราวไพร ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๑๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรบุพพวิเทหทวีปทางข้างหน้า อปรโคยานทวีปทางข้างหลัง อุตตรกุรุทวีปและชมพูทวีปทางด้านขวา ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ที่กำลังหมุนรอบภูเขาสิเนรุ ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศทั้ง ๔ และสิ่งมหัศจรรย์ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาสิเนรุ ภูเขาหิมพานต์ สมุทรสาคร พื้นแผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวน หินดาด และเนินหินที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยกินนร ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวนสวรรค์ คือ ปารุสกวัน จิตรลดาวัน มิสกวัน นันทวัน และเวชยันตปราสาท ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์

[๑๔๒๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสภาชื่อสุธรรมา ต้นปาริฉัตรที่มีดอกบานสะพรั่ง และพญาช้างเอราวัณ ซึ่งมีอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา ผู้เลอโฉมยิ่งนัก ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ ผู้กำลังเที่ยวไปอยู่ในนันทวันนั้น ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา ผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร ซึ่งกำลังอภิรมย์เหล่าเทพบุตรอยู่ในนันทวันนั้น ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรปราสาท เกินกว่า ๑,๐๐๐ หลัง ซึ่งมีพื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีเรืองรอง ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้ [๑๔๒๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี ที่มีน้ำใสสะอาด ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม และดอกอุบลในสวรรค์นี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์

[๑๔๓๐] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายขาว ๑๐ ลาย สวยงามน่ารื่นรมย์ใจ ลายสีเหลืองอ่อน ๒๑ ลาย และลายเหลืองขมิ้น ๑๔ ลาย ปรากฏอยู่ [๑๔๓๑] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายสีทอง ๒๐ ลาย ลายสีเงิน ๒๐ ลาย ปรากฏอยู่ ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ ลาย ปรากฏอยู่ [๑๔๓๒] ในแก้วมณีดวงนี้ มีลายสีดำ ๑๖ ลาย ลายสีดอกชบา ๒๕ ลาย แซมด้วยลายดอกหงอนไก่ อันงามตระการตาด้วยดอกอุบลเขียวปรากฏอยู่ [๑๔๓๓] ข้าแต่มหาราชผู้สูงส่งกว่าชาวประชา ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้ ซึ่งมีรัศมีเรืองรองผ่องใส สมบูรณ์ทุกๆ ส่วนอย่างนี้ อันเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะพนัน”
มณีกัณฑ์ จบ
อักขกัณฑ์
ตอนว่าด้วยการเล่นสะกา
(ต่อจากนั้น ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลต่อไปว่า) [๑๔๓๔] “ข้าแต่พระราชา การงานในโรงเล่นการพนัน (สะกา) สำเร็จลงแล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไป สถานที่จะทรงเล่นการพนันเถิด แก้วมณีเช่นนี้สำหรับพระองค์ไม่มี เราทั้ง ๒ เมื่อเล่นก็จะพึงชนะกันโดยธรรม ขอจงอย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม ถ้าพระองค์แพ้แล้ว ขออย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์

[๑๔๓๕] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาละผู้มีพระกิตติศัพท์โด่งดัง ข้าแต่พระเจ้ามัจฉะ พระเจ้ามัททะ พร้อมด้วยชาวเกกกชนบททั้งหลาย ขอพระราชาเหล่านี้จงทรงทอดพระเนตรการต่อสู้ ของข้าพระองค์ทั้งหลายโดยการไม่ฉ้อโกง มิใช่ไม่ทรงทำใครให้เป็นพยานในที่ประชุมเลย” (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า) [๑๔๓๖] “พระราชาของชาวแคว้นกุรุและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น ต่างก็มัวเมาในการเล่นการพนันพากันเข้าไปสู่โรงเล่นการพนัน พระราชาทรงเลือกอยู่จึงได้รับความปราชัย ส่วนปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ [๑๔๓๗] พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น เมื่อลูกสะกามีพร้อมแล้วก็ได้เล่นการพนันในโรงเล่นการพนันนั้น ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าและประเสริฐกว่าชน ในท่ามกลางพระราชาและพยานทั้งหลาย เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในสนามการพนันนั้น” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๓๘] “ข้าแต่มหาราช บรรดาเราทั้ง ๒ ที่ยังพยายามเล่นอยู่ ความชนะและความแพ้ย่อมตกแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน พระองค์ทรงเสื่อมจากทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ทรงแพ้แล้ว ขอพระองค์จงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์โดยเร็วเถิด” (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๓๙] ท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี และรัตนะที่ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา ท่านจงรับไปเถิด เชิญขนไปตามปรารถนาเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์

(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๔๐] “ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี รัตนะแม้อื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์ บัณฑิตชื่อว่าวิธุระเป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงเหล่านั้น ข้าพระองค์ได้ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด” (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๔๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นเหมือนตัวของเรา เป็นสรณะ เป็นคติ เป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้น และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเรา ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนี้เท่ากับชีวิตของเรา คือตัวเราเอง” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๔๒] “การโต้แย้งกันของข้าพระองค์กับพระองค์จะพึงเป็นไปนาน พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตนั้นดูดีกว่า วิธุรบัณฑิตนี้แหละจะไขข้อข้องใจนี้แก่เราทั้งหลายได้ วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นก็จักเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้ง ๒” (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๔๓] “มาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว และไม่ได้พูดคำรุนแรงแก่เรา พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตกันดูเถิด เราทั้ง ๒ คนจงยินดีคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๔๔] “เทวดาทั้งหลายรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุชื่อว่าวิธุระ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาสหรือเป็นพระญาติของพระราชา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์

(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๔๔๕] “ทาสมี ๔ จำพวก คือ (๑) ทาสในเรือนเบี้ย (๒) ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ (๓) ทาสที่ยอมตนเข้าเป็นข้าเฝ้า (๔) ทาสเชลย๑- [๑๔๔๖] ในหมู่คนมีทาส ๔ จำพวกเหล่านี้ แม้ข้าพระองค์ก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญหรือความเสื่อมจะมีแก่พระราชาก็ตาม ข้าพระองค์ไปสู่ที่อื่นก็ยังคงเป็นทาสของสมมติเทพอยู่นั่นเอง มาณพ พระราชาก็จะพึงพระราชทานตัวข้าพเจ้าแก่ท่านโดยธรรม” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๔๗] “ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะครั้งที่ ๒ ของข้าพระองค์ในวันนี้ เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ถูกข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ วิธุรบัณฑิตได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว พระราชาไม่ทรงอนุญาตให้วิธุรบัณฑิตนี้แก่ข้าพระองค์” (พระราชาตรัสว่า) [๑๔๔๘] “กัจจานะ หากวิธุรบัณฑิตได้ชี้แจงปัญหาแก่พวกเราอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เรามิได้เป็นญาติเลย ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”
อักขกัณฑ์ จบ
@เชิงอรรถ : @ ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึงทาสผู้เกิดในครรภ์ของนางทาสหรือนางทาสี ทาสที่ยอมตนเป็นข้าเฝ้า @หมายถึงพวกคนที่เกิดในตระกูลผู้รับใช้ ยอมตนเข้าไปเป็นทาสเขา ทาสเชลย หมายถึงพวกคนที่พลัดที่ @อยู่ของตน เพราะราชภัย โจรภัย หรือตกเป็นเชลย ยอมไปอยู่ในแผ่นดินอื่น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๔๕/๒๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ฆราวาสปัญหา

ฆราวาสปัญหา
ปัญหาในการอยู่ครองเรือน
(พระราชาตรัสว่า) [๑๔๔๙] “ท่านวิธุระ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน จะพึงมีความประพฤติที่ปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีการสงเคราะห์ได้อย่างไร [๑๔๕๐] จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร และอย่างไรคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์ คนจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร [๑๔๕๑] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญาเห็นอรรถธรรม กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลคำนี้ กับพระราชาพระองค์นั้นในธรรมสภานั้นว่า [๑๔๕๒] “ผู้อยู่ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณ์๑- เป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารอันมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรส้องเสพกล่าวถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก เพราะว่าคำอันให้ติดอยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทางเจริญแห่งปัญญา [๑๔๕๓] ผู้อยู่ครองเรือนควรเป็นคนมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเห็นประจักษ์ มีความประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สงบเสงี่ยม พูดคำไพเราะจับใจ สุภาพอ่อนโยน [๑๔๕๔] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำกิจการงาน บำรุงสมณะและพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ @เชิงอรรถ : @ หญิงสาธารณ์ หมายถึงภรรยาของคนอื่น ผู้ครองเรือนไม่พึงประทุษร้าย (เป็นชู้) ในภรรยาของคนอื่น @(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๕๒/๒๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์

[๑๔๕๕] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงสุตะ หมั่นสอบถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยความเคารพ [๑๔๕๖] คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน ควรมีความประพฤติปลอดภัยอย่างนี้ ควรสงเคราะห์ได้อย่างนี้ [๑๔๕๗] ไม่ควรเบียดเบียนกันและกันอย่างนี้ และคนควรปฏิบัติอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยประการฉะนี้”
ฆราวาสปัญหา จบ
ลักขณกัณฑ์
ตอนว่าด้วยลักษณะของบัณฑิต
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๔๕๘] “มาเถิดท่าน ประเดี๋ยวเราจักไปกัน พระราชาผู้เป็นใหญ่ ได้ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น นี้เป็นธรรมเก่า (วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๔๕๙] “มาณพ ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระราชทานให้ท่านแล้ว แต่พวกเราขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนของตนสัก ๓ วัน และขอให้ท่านยับยั้งรออยู่ตลอดเวลา ที่ข้าพเจ้าจะได้สั่งสอนบุตรทั้งหลายก่อน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์

(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๔๖๐] “คำที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้น จงเป็นไปตามที่ท่านกล่าวอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านจงทำหน้าที่ในเรือนเถิด จงสั่งสอนบุตรและภรรยาเสียแต่ในวันนี้ โดยวิธีที่บุตรและภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขใจ เมื่อท่านจากไปแล้ว (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๔๖๑] ปุณณกยักษ์ผู้มีโภคทรัพย์จำนวนมากกล่าวว่า ตกลง แล้วได้หลีกไปพร้อมกับวิธุรบัณฑิต เป็นอารยชนผู้มีมรรยาทประเสริฐสุด ได้เข้าไปสู่ภายในเมืองของวิธุรบัณฑิต ที่เต็มไปด้วยช้างและม้าอาชาไนย [๑๔๖๒] ปราสาทของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ หลัง คือ (๑) โกญจนปราสาท (๒) มยูรปราสาท (๓) ปิยเกตปราสาท ในปราสาท ๓ หลังนั้น พระโพธิสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์ เข้าไปยังปราสาทซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง มีภักษาเพียงพอ มีข้าวน้ำมากมาย ดังวิมานของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ [๑๔๖๓] ในปราสาทหลังนั้น มีนารีทั้งหลายประดับอย่างงดงาม ฟ้อนรำขับร้องเพลงอย่างไพเราะจับใจ เหมือนนางเทพอัปสรในเทวโลกกล่อมปุณณกยักษ์อยู่ [๑๔๖๔] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้รับรองปุณณกยักษ์ ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้ว คิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาในกาลนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์

[๑๔๖๕] ได้กล่าวกับภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์และน้ำหอม ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทว่า นางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาสีน้ำตาล มานี่เถิด จงเรียกบุตรทั้งหลายมาฟังคำสั่งสอน [๑๔๖๖] นางอโนชาได้ฟังคำของสามีแล้ว ได้กล่าวกับลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีนัยน์ตางามว่า “เจ้าผู้มีผิวพรรณดังดอกบัวเขียว เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายเหล่านั้นมาเถิด” [๑๔๖๗] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้จุมพิตบุตรเหล่านั้น ผู้มาแล้วที่กระหม่อม เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ครั้นเรียกมาแล้วได้สั่งสอนว่า พระราชาในกรุงอินทปัตถ์นี้ได้พระราชทานพ่อให้แก่มาณพ [๑๔๖๘] ตั้งแต่วันนี้ไป พ่อจะมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ต่อจากนั้นไป พ่อก็จะต้องเป็นอยู่ในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา พ่อกลับมาเพื่อจะสั่งสอนลูกๆ ว่า พ่อยังมิได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกๆ แล้วจะพึงไปได้อย่างไร [๑๔๖๙] ถ้าพระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้มีโภคทรัพย์ที่น่าใคร่เป็นจำนวนมาก ทรงประสานชนผู้เป็นมิตร พึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อน พวกเธอรู้เหตุการณ์เก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของพวกเธอได้พร่ำสอนอะไรไว้ในก่อนบ้าง [๑๔๗๐] ก็ถ้าพระราชาจะพึงตรัสว่า พวกเธอเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราในราชตระกูลนี้ คนอื่นใครเล่าจะเป็นคนมีชาติตระกูลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงประนมมือกราบทูลพระราชานั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนี้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

เพราะนั่นมิใช่ธรรมของพวกข้าพระองค์ ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ จะพึงมีอาสนะเสมอกับพระองค์ได้อย่างไร เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวมีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอกับเสือได้อย่างไร พระเจ้าข้า
ลักขณกัณฑ์ จบ
ราชวสตีธรรม
ว่าด้วยธรรมสำหรับผู้อยู่ในราชสำนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๔๗๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริในใจที่ไม่หดหู่ ได้กล่าวกับบุตร ธิดา อำมาตย์ ญาติ และเพื่อนสนิทดังนี้ว่า [๑๔๗๒] “ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงพากันมา นั่งฟังราชวสตีธรรม๑- ที่เป็นเหตุให้บุคคล ผู้เข้าไปสู่ราชตระกูลแล้วได้ยศ [๑๔๗๓] เพราะบุคคลผู้เข้าไปสู่ราชตระกูล มีคุณความดียังไม่ปรากฏ ย่อมไม่ได้ยศ ผู้เป็นราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหนๆ [๑๔๗๔] เมื่อใด พระราชาทรงทราบปัญญา และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น พระองค์ก็ทรงวางพระทัย และไม่ทรงปกปิดความลับของพระองค์ @เชิงอรรถ : @ ราชวสตีธรรม หมายถึงธรรมของผู้รับราชการ, ผู้ปฏิบัติราชการ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๗๒/๒๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๔๗๕] ราชเสวกที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ ก็ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น พึงเป็นผู้สม่ำเสมอเหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดีฉะนั้น ราชเสวกผู้เห็นปานนี้นั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๗๖] ราชเสวกเมื่อกระทำราชกิจทุกอย่าง เหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดี พึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๗๗] ราชเสวกนี้ผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย ที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๗๘] ราชเสวกต้องเป็นผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย ทำราชกิจทุกอย่างไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๗๙] ทางใดที่เขาทำประดับตกแต่งไว้เรียบร้อยดี เพื่อเสด็จพระราชดำเนินของพระราชา พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ราชเสวกก็ไม่ควรเดินตามทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๘๐] ราชเสวกไม่พึงบริโภคกามทัดเทียมกับพระราชา ไม่ว่าในกาลไหนๆ พึงดำเนินการตามหลังในทุกๆ อย่าง๑- ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ @เชิงอรรถ : @ พึงดำเนินการตามหลังในทุกๆ อย่าง หมายถึงข้าราชสำนักพึงดำเนินการ (บริโภค) ในกามคุณทุก @อย่างมีรูปเป็นต้นตามหลังพระราชา (ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้า) อย่างเดียว โดยความ คือใช้แต่ของที่ @ด้อยกว่าเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๘๐/๒๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๔๘๑] ราชเสวกไม่พึงใช้สอยเสื้อผ้า ประดับประดาดอกไม้ เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยาหรือการพูดจาทัดเทียมกับพระราชา แต่ควรทำอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๘๒] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับอำมาตย์ พระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ อำมาตย์ต้องเป็นคนฉลาด ไม่พึงทำการทอดสนิทในพระชายาทั้งหลายของพระราชา [๑๔๘๓] ราชเสวกไม่พึงเป็นคนฟุ้งซ่าน ตลบตะแลง พึงมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๘๔] ราชเสวกไม่พึงเล่นหัว เจรจาปราศรัย ในที่ลับกับพระชายาทั้งหลายของพระราชานั้น ไม่พึงเบียดบังทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๘๕] ราชเสวกไม่พึงหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๘๖] ราชเสวกไม่พึงนั่งร่วมพระภัทรบิฐ พระบัลลังก์ เก้าอี้พระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง และรถพระที่นั่ง ด้วยการทนงตัวว่าเป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๔๘๗] ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ไม่ควรเฝ้าห่างนัก ใกล้นัก ควรยืนเฝ้าในที่เฉพาะพระพักตร์ พอให้ทอดพระเนตรเห็นได้ถนัด [๑๔๘๘] ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชาเป็นคู่หูกับเรา พระราชาทั้งหลายทรงพิโรธได้เร็วไว เหมือนนัยน์ตาถูกผงกระทบ [๑๔๘๙] ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์เป็นบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำที่ให้ทรงพิโรธ กับพระราชาผู้ประทับอยู่ในราชบริษัท [๑๔๙๐] ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย ควรเป็นผู้สำรวม เหมือนอยู่ใกล้ไฟ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๙๑] พระราชาจะทรงยกย่องพระโอรส หรือเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ด้วยบ้าน นิคม แคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรจะนิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษในเวลานั้น [๑๔๙๒] พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานคนเหล่านั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๔๙๓] ราชเสวกผู้เป็นปราชญ์พึงโอนอ่อนเหมือนคันธนู และพึงโอนเอนไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๙๔] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู เป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา๑- รู้จักประมาณในการบริโภค มีปัญญารักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๙๕] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความสิ้นเดช คนที่สิ้นปัญญาย่อมเข้าถึงโรคไอ โรคมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง [๑๔๙๖] ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งไปทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลา ควรพูดพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ [๑๔๙๗] ราชเสวกเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๙๘] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาและบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจาละมุนละไม ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๔๙๙] ราชเสวกเป็นผู้ได้รับแนะนำดี มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ แน่นอน อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดและขยัน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ @เชิงอรรถ : @ ไม่มีลิ้นเหมือนปลา หมายถึงข้าราชการควรมีกิริยาเหมือนไม่มีลิ้น โดยพูดให้น้อย (ทำงานให้มาก) @เหมือนปลาพูดไม่ได้ เพราะไม่มีลิ้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๙๔/๒๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๕๐๐] ราชเสวกเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญเป็นผู้สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๐๑] ราชเสวกพึงเว้นไกลซึ่งทูตผู้ที่พระราชาฝ่ายปรปักษ์ ส่งมาเพื่อความลับ พึงดูแลแต่เฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น ไม่พึงอยู่ในสำนักของพระราชาฝ่ายอื่น [๑๕๐๒] ราชเสวกพึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยความเคารพ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๐๓] ราชเสวกเมื่อคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยความเคารพ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๐๔] ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๐๕] ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา [๑๕๐๖] ราชเสวกไม่พึงทำทานที่เคยพระราชทานมา ในสมณะและพราหมณ์ให้เสื่อมไป อนึ่ง เห็นพวกวณิพกที่มาในเวลาพระราชทาน ไม่ควรห้ามอะไรเลย [๑๕๐๗] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้พร้อมมูล ฉลาดในวิธีจัดการราชกิจ เป็นผู้รู้จักกาลสมัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม

[๑๕๐๘] ราชเสวกเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนจะพึงทำ จัดการงานได้สำเร็จเรียบร้อยดี ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๐๙] อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี ปศุสัตว์ และนาอยู่เสมอๆ พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้วให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับดูคนข้างเคียงในเรือนแล้ว จึงให้หุงต้มข้าวแต่พอประมาณเท่านั้น [๑๕๑๐] ไม่พึงตั้งบุตรหรือพี่น้อง ผู้ไม่ตั้งมั่นในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนตายแล้ว แต่เมื่อคนเหล่านั้นมาหานั่งอยู่แล้ว ก็ควรให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร [๑๕๑๑] พึงตั้งทาส กรรมกร คนใช้ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียรให้เป็นใหญ่ [๑๕๑๒] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภ และคล้อยไปตามพระราชา ประพฤติประโยชน์แก่พระราชานั้นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๑๓] ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระอัธยาศัยของพระราชา และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระราชา ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระประสงค์ของพระราชา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล

[๑๕๑๔] ในเวลาผลัดเปลี่ยนพระภูษาทรงและในเวลาสรงสนาน ราชเสวกควรก้มศีรษะลงชำระพระบาท แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธ ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ [๑๕๑๕] บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตนพึงทำอัญชลีแม้หม้อน้ำ และทำประทักษิณแม้นกแอ่นลมได้ ไฉนเล่า เขาจะไม่พึงนอบน้อมพระราชาผู้เป็นปราชญ์สูงสุด ผู้พระราชทานสมบัติที่น่าใคร่ทุกอย่างให้ [๑๕๑๖] พระราชาผู้ซึ่งทรงพระราชทานที่นอน ผ้านุ่งห่ม ยาน เรือนที่อยู่อาศัย ทรงยังโภคะให้ตกไปทั่วถึง เหมือนเมฆยังน้ำฝนให้ตกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั่วไปฉะนั้น [๑๕๑๗] แน่ะเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวสตีธรรม เมื่อคนประพฤติตาม ย่อมทำให้พระราชาโปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย
ราชวสตีธรรม จบ
อนันตรเปยยาล
ว่าด้วยเนื้อความที่ย่อไว้ในระหว่าง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๕๑๘] วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว มีหมู่ญาติเพื่อนที่สนิทแวดล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชา [๑๕๑๙] ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า และทำประทักษิณพระองค์แล้ว ประนมมือกราบบังคมทูลดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล

[๑๕๒๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามประสงค์ จึงนำข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์จักกราบทูลประโยชน์ของญาติทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดสดับประโยชน์นั้น [๑๕๒๑] ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์ และทรัพย์อย่างอื่นๆ ที่มีอยู่ในเรือน โดยประการที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมในภายหลัง ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว [๑๕๒๒] ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้ ก็เหมือนคนพลาดล้มลงบนแผ่นดิน แล้วกลับยืนขึ้นได้บนแผ่นดินเหมือนกัน ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนั้น” (พระราชาตรัสว่า) [๑๕๒๓] “ท่านไม่อาจจะไปได้ นั่นแหละเป็นความพอใจของเรา เราจะสั่งให้ฆ่าเชือดเฉือน(มาณพนั้น)ออกเป็นท่อนๆ แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านจงอยู่ที่นี้แหละ การทำได้ดังนี้ เราชอบใจ ท่านบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงส่งกว้างขวางดุจแผ่นดิน ท่านอย่าไปเลย” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๕๒๔] “ขอพระองค์อย่าทรงตั้งพระทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและธรรมเถิด กรรมอันเป็นอกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึงนรกในภายหลัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล

[๑๕๒๕] นี่ไม่ใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ธรรมดาว่านายผู้เป็นใหญ่ของทาส จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าก็ได้ ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และขอกราบบังคมทูลลาไป” [๑๕๒๖] พระมหาสัตว์นั้นมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างนองด้วยน้ำตา กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว สวมกอดบุตรคนโตแล้วเข้าไปสู่เรือนหลวง [๑๕๒๗] บุตรทั้งหลายและภรรยาในบ้านของวิธุรบัณฑิต ต่างก็นอนร้องไห้คร่ำครวญไปมาอยู่ เหมือนป่าไม้รังถูกพายุพัดล้มระเนระนาด [๑๕๒๘] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต [๑๕๒๙] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต [๑๕๓๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต [๑๕๓๑] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต [๑๕๓๒] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล

[๑๕๓๓] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป” [๑๕๓๔] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป” [๑๕๓๕] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป” [๑๕๓๖] พระมหาสัตว์ทำกิจทั้งหลายในเรือน สั่งสอนคนของตน คือ มิตร อำมาตย์ คนใช้ บุตร ธิดา ภรรยา และพวกพ้อง [๑๕๓๗] จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์ และการใช้หนี้ แล้วจึงได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า [๑๕๓๘] “ท่านกัจจานะ ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว กิจทั้งหลายที่ควรทำในเรือนของข้าพเจ้าก็ได้ทำแล้ว อนึ่ง บุตร ธิดา และภรรยา ข้าพเจ้าก็ได้สั่งสอนแล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้ายอมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน” (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๕๓๙] “ท่านมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง ก็ถ้าท่านได้สั่งสอนบุตร ธิดา ภรรยา และคนอาศัยแล้ว ขอเชิญท่านรีบไป ณ บัดนี้เถิด เพราะทางข้างหน้ายังอยู่อีกไกลนัก [๑๕๔๐] ท่านอย่าได้กลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนยเถิด นี้เป็นการเห็นชีวโลกครั้งสุดท้ายของท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล

(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๔๑] “ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม เพราะข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา และใจ ที่จะเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ [๑๕๔๒] พญาม้านั้นนำวิธุรบัณฑิตเหาะไป ในอากาศกลางหาวไม่กระทบกิ่งไม้และภูเขาเลย เหาะไปถึงภูเขากาฬาคีรีอย่างรวดเร็ว [๑๕๔๓] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป [๑๕๔๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป [๑๕๔๕] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน” พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์

กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า “บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน” [๑๕๔๖] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า “บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน” [๑๕๔๗] ถ้าบัณฑิตนั้นจักไม่มาภายใน ๗ วัน ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟทั้งหมด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยชีวิต (พระราชาตรัสว่า) [๑๕๔๘] “วิธุรบัณฑิตเป็นคนฉลาดหลักแหลม สามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ได้แจ้งชัด มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา คงจะปลดเปลื้องตนได้ฉับพลัน ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนได้แล้วจักรีบกลับมา”
อนันตรเปยยาล จบ
สาธุนรธรรมกัณฑ์
ตอนว่าด้วยธรรมของคนดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๕๔๙] ปุณณกยักษ์นั้นไปยืนคิดอยู่บนยอดภูเขากาฬาคีรีนั้นว่า เจตนาย่อมเป็นของสูงๆ ต่ำๆ ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ไม่มีแก่เรา เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้แล้วจักนำแต่หัวใจของเขาไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์

[๑๕๕๐] ปุณณกยักษ์มีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา ไปสู่เชิงเขา พักพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์ เอาศีรษะหย่อนลงแล้วขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดขวาง [๑๕๕๑] วิธุรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวชันที่น่ากลัว น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียว ก็ไม่สะดุ้งกลัว ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า [๑๕๕๒] “ท่านมีรูปร่างดังผู้ประเสริฐแต่หาเป็นคนประเสริฐไม่ คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม ทำกรรมหยาบช้า ไม่มีประโยชน์อย่างยิ่ง กุศลแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีในใจของท่าน [๑๕๕๓] ท่านปรารถนาจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหว ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนของอมนุษย์ ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาได้อย่างไร” (ปุณณกยักษ์ตอบว่า) [๑๕๕๔] “ถ้าท่านทราบมาแล้วว่าข้าพเจ้าชื่อปุณณกะ และเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวรพญานาคใหญ่นามว่าวรุณ ผู้ครอบครองนาคพิภพ มีรูปงามสะอาด ถึงพร้อมด้วยผิวพรรณแห่งสรีระและกำลัง [๑๕๕๕] ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญา ชื่ออิรันทดี ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น ท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดี ผู้มีเอวงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์

(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๕๖] “ยักษ์ ท่านอย่าได้ลุ่มหลงนักเลย สัตวโลกเป็นจำนวนมากพินาศไปเพราะความถือผิด เพราะเหตุไร ท่านจึงทำความรักใคร่ ในนางอิรันทดีผู้มีเอวงามน่ารัก ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า เชิญเถิด ข้าพเจ้าขอฟังเรื่องทั้งหมด” (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๕๕๗] “ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพญาวรุณนาคราช ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสา นำญาติของนางอิรันทดีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า ถูกกามครอบงำด้วยดี ฉะนั้น พญาวรุณนาคราช พ่อตาจึงได้ตรัสกับข้าพเจ้า ผู้กำลังทูลขอนางอิรันทดีนาคกัญญานั้นว่า [๑๕๕๘] เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเราผู้มีร่างกายงดงาม มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง มีตัวลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ถ้าท่านจะพึงให้ดวงหทัยของบัณฑิต นำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น [๑๕๕๙] ท่านมหาอำมาตย์ ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหลง ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้ อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไรๆ เลย เพราะหทัยของท่านที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม ท้าววรุณนาคราชและนางวิมลา จะประทานนางอิรันทดีนาคกัญญาให้แก่ข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์

[๑๕๖๐] เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามฆ่าท่าน ข้าพเจ้าจะได้ประโยชน์ด้วยการตายของท่านอย่างนี้ จึงผลักท่านให้ตกลงในเหวนี้ ฆ่าแล้วจะนำเอาดวงหทัยนั้นไป” (วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๖๑] “จงวางข้าพเจ้าลงโดยเร็วเถิด ถ้าท่านมีความจำเป็นที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้” [๑๕๖๒] ปุณณกยักษ์นั้นรีบวางวิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุลงบนยอดเขา เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม ได้ความเบาใจนั่งอยู่ จึงถามว่า [๑๕๖๓] ข้าพเจ้าได้ยกท่านขึ้นมาจากเหวแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของท่านอยู่ ท่านจงทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าในวันนี้เถิด” (วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๖๔] “ท่านได้ยกข้าพเจ้าขึ้นมาจากเหวแล้ว ถ้าท่านยังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้ [๑๕๖๕] มาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว จงอย่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม อย่าได้ประทุษร้ายในมิตรทั้งหลายในกาลไหนๆ อย่าตกอยู่ในอำนาจของเหล่าอสตรี๑-” @เชิงอรรถ : @ อสตรี หมายถึงหญิงผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม (เมถุนธรรม) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๕๖๕/๒๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์

(ปุณณกยักษ์ถามว่า) [๑๕๖๖] “บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินไปตามทางที่เดินไปแล้วอย่างไร ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไร จึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไรชื่อว่าอสตรี ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้เถิด” (วิธุรบัณฑิตตอบว่า) [๑๕๖๗] “ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่เคยอยู่ร่วมกัน ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ บุรุษพึงทำประโยชน์แก่ผู้นั้นเท่านั้น บัณฑิตกล่าวว่าบุรุษนั้นเดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว [๑๕๖๘] บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว พึงได้ทั้งข้าวและน้ำ ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร [๑๕๖๙] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม [๑๕๗๐] หากบุรุษพึงให้แผ่นดินนี้ที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ แก่หญิงผู้ที่สามียกย่องเป็นอย่างดี หญิงนั้นได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นบุรุษนั้นก็ได้ บุคคลไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของอสตรี [๑๕๗๑] บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างนี้ ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของอสตรีอย่างนี้ และชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรอย่างนี้ ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ละเลิกอธรรมเถิด”
สาธุนรธรรมกัณฑ์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖) กาฬาคิริกัณฑ์

กาฬาคิริกัณฑ์
ตอนว่าด้วยภูเขาสีดำ
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๕๗๒] “ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในเรือนของท่าน ๓ วัน ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านเป็นมิตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปลดปล่อยท่าน ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามต้องการเถิด [๑๕๗๓] ความต้องการของตระกูลนาคจะเสื่อมไปก็ตามเถิด เหตุที่จะได้นางนาคกัญญา ข้าพเจ้ายกเลิกแล้ว ท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนเองแท้ๆ ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้” (วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๗๔] “ปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไป ในสำนักของพ่อตาของท่านเถิด จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณอธิบดีของนาค และวิมานของท้าวเธอที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น” (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๕๗๕] “คนผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู สิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คน ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงปรารถนาจะไปยังบ้านของศัตรูเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๕๗๖] “แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัดถึงสิ่งที่ผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู แต่ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วในที่ไหนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจความตายที่จะมาถึงตน” (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๕๗๗] ท่านบัณฑิต เชิญเถิด ท่านจงมากับข้าพเจ้าไปดูพิภพ ของพญานาค ซึ่งมีอานุภาพมาก หาที่เปรียบมิได้ เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา [๑๕๗๘] เหมือนนิกีฬิตราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสสุวรรณฉะนั้น นาคพิภพนั้นเป็นที่เที่ยวเล่นเป็นหมู่ๆ ของนางนาคกัญญาตลอดวันและคืนเป็นนิตย์ มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ [๑๕๗๙] ประกอบด้วยข้าวและน้ำ เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับอย่างสวยงาม งดงามไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ [๑๕๘๐] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปนั่งบนอาสนะข้างหลัง ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามเข้าสู่ภพของพญานาค [๑๕๘๑] วิธุรบัณฑิตถึงที่อยู่ของพญานาคซึ่งมีอานุภาพมาก หาที่เปรียบมิได้แล้ว ได้อยู่ข้างหลังของปุณณกยักษ์ พญานาคได้ทอดพระเนตรเห็นลูกเขยของตนก่อความสามัคคี ตนเองก็รีบตรัสทักทายปราศรัยก่อนเลยทีเดียวว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๕๘๒] ท่านได้ไปยังโลกมนุษย์ เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต กลับมาถึงนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ หรือว่าท่านได้พาเอาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย” (ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า) [๑๕๘๓] “ท่านผู้นี้แหละคือวิธุรบัณฑิต ที่พระองค์ทรงปรารถนามาแล้ว ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม เชิญพระองค์ทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์ การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นเหตุนำสุขมาให้โดยแท้”
กาฬาคิริกัณฑ์ จบ
(พญานาคตรัสถามว่า) [๑๕๘๔] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๕๘๕] “ข้าแต่พญานาค ข้าพระองค์ไม่กลัว และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารไหว้ตน [๑๕๘๖] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พญานาคตรัสว่า) [๑๕๘๗] “บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน [๑๕๘๘] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๕๘๙] “ข้าแต่นาคราช วิมานของพระองค์นี้ เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์ วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ [๑๕๙๐] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล พระองค์ทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์ ข้าแต่พญานาค ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด” (พญานาคตรัสว่า) [๑๕๙๑] “วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้ จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ เรามิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของเราเอง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า) [๑๕๙๒] “ข้าแต่นาคราช อะไรเป็นวัตร อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้ เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ทรงประพฤติไว้ดีแล้ว” (พญานาคตรัสว่า) [๑๕๙๓] “เราและภรรยาทั้ง ๒ เมื่อครั้งยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำ เราได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว [๑๕๙๔] เราทั้ง ๒ ได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ [๑๕๙๕] ทานที่ได้ถวายโดยความเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้ เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่เราประพฤติดีแล้ว” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๕๙๖] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้ พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พญานาคตรัสว่า) [๑๕๙๗] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่เราจะถวายข้าวและน้ำเลย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่เรา โดยที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๕๙๘] “ข้าแต่พญานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติและข้าเฝ้าของพระองค์ ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด [๑๕๙๙] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้” (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๖๐๐] ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๐๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้ เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น คุณวิเศษของเหล่าบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พญานาคตรัสถามว่า) [๑๖๐๒] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร” (วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า) [๑๖๐๓] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์ ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม” (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๖๐๔] “ในกาลนั้น พญานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิต ของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว ทรงชื่นชมโสมนัสมีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม ได้เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา” ตรัสว่า [๑๖๐๕] “น้องวิมลา เพราะเหตุใด น้องจึงผอมเหลือง เพราะเหตุใด น้องจึงไม่ชอบเสวยพระกระยาหาร ก็เกียรติคุณเช่นนั้นของเราไม่มี ท่านผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง [๑๖๐๖] นี้คือผู้ที่น้องต้องการหัวใจ ผู้ทำความสว่างไสวมาถึงแล้ว เชิญน้องตั้งใจฟังถ้อยคำของท่าน การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า) [๑๖๐๗] “นางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้นไหว้และตรัสกับวิธุรบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐที่สุดแห่งชาวกุรุรัฐว่า [๑๖๐๘] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๐๙] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์ไม่กลัว และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน [๑๖๑๐] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ฆ่าตน กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ” (นางนาควิมลาตรัสว่า) [๑๖๑๑] บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน [๑๖๑๒] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน หรือผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่จะฆ่าตน กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า) [๑๖๑๓] “ข้าแต่นางนาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้ เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์ วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ [๑๖๑๔] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล พระองค์งทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์ ข้าแต่นางนาคกัญญา ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด” (นางนาควิมลาตอบว่า) [๑๖๑๕] “วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้ จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ ฉันมิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย วิมานนี้ฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของฉันเอง (วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า) [๑๖๑๖] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตร อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้ เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ได้ประพฤติไว้ดีแล้ว” (นางนาควิมลาตอบว่า) [๑๖๑๗] “ฉันและพระสวามีของฉันทั้ง ๒ เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำ ฉันได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๖๑๘] ฉันและพระสวามีได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ [๑๖๑๙] ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของฉัน และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของฉันนี้ เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่ฉันประพฤติดีแล้ว” (วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า) [๑๖๒๐] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้ พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด (นางนาควิมลากล่าวว่า) [๑๖๒๑] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่ฉันจะถวายข้าวและน้ำเลย ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ฉัน โดยที่ฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๒๒] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ และข้าเฝ้าของพระองค์ ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๖๒๓] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้” (นางนาควิมลาตรัสว่า) [๑๖๒๔] “ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๒๕] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้ เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ” (นางนาควิมลาตรัสถามว่า) [๑๖๒๖] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๒๗] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์ ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า) [๑๖๒๘] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น [๑๖๒๙] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น [๑๖๓๐] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ และนางนาคกัญญาทั้ง ๒ พระองค์นั้นพอพระทัย ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า [๑๖๓๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย ข้าพระองค์เป็นส่วย๑- ขอพระองค์จงทรงทำกิจ ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง” (พญานาคตรัสว่า) [๑๖๓๒] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้ และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด” (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๖๓๓] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า @เชิงอรรถ : @ ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ @(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๖๓๔] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า พร้อมเพรียงกับภรรยา ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว” (วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า) [๑๖๓๕] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด (พระศาสดาตรัสต่อไปว่า) [๑๖๓๖] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว นำไปยังกรุงอินทปัตถ์ [๑๖๓๗] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์ ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์๑- เสียอีก (ปุณณกยักษ์กล่าวว่า) [๑๖๓๘] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่ และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน” @เชิงอรรถ : @ เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล @ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ @รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๓๖๗/๓๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๑๖๓๙] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว [๑๖๔๐] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง ๒ ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า [๑๖๔๑] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร” (วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า) [๑๖๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์ เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร [๑๖๔๓] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๖๔๔] ปุณณกยักษ์นั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารัก ก็ปุณณกยักษ์นั้นแลเป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา ส่วนข้าพระองค์ได้รับอนุญาตพญานาคมา และได้แก้วมณีมาด้วย” (พระราชาตรัสว่า) [๑๖๔๕] “มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูราชมณเฑียรของเรา มีปัญญาเป็นลำต้น มีศีลเป็นกิ่ง ต้นไม้นั้นผลิผลต้องตามอรรถและธรรม มีผลเป็นปัญจโครส๑- ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค [๑๖๔๖] เมื่อมหาชนกำลังทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี มีบุรุษคนหนึ่งไล่ทหารให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้นั้นไปด้วย ต้นไม้ของเรานั้นกลับคืนมาตั้งอยู่ตามเดิม วิธุรบัณฑิตนี้ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่นั้น กลับคืนมาสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด [๑๖๔๗] ขอเชิญอำมาตย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความปลื้มใจด้วยยศ ที่ได้เพราะอาศัยเราทุกๆ ท่านทีเดียว จงแสดงความปลื้มใจของตนให้ปรากฏในวันนี้เถิด ท่านกระทำบรรณาการให้มากแล้ว จงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด @เชิงอรรถ : @ ปัญจโครส หมายถึงผลที่ได้จากนมโค ๕ ประการ (นมสด, นมส้ม, เนยใส, เนยข้น, เปรียง) @(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๖๔๕/๓๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๙. วิธุรชาดก (๕๔๖)

[๑๖๔๘] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และขังไว้ ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา ขอชนทั้งหลายจงปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องผูกให้หมดเถิด วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากการจองจำแล้วฉันใด ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากเครื่องผูกฉันนั้นเหมือนกัน [๑๖๔๙] ขอพวกชาวนาชาวไร่จงหยุดพักคราดไถไว้ เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้เถิด ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายจงมาบริโภคข้าวที่เจือด้วยเนื้อ พวกนักเลงสุราและพวกที่ชอบดื่มสุราจงดื่มจากถ้วยที่เต็มเปี่ยม [๑๖๕๐] พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่ จงเล้าโลมชายผู้มีความต้องการเป็นนิตย์ อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดแจงการรักษาในแคว้นให้เข้มแข็ง อย่าได้เบียดเบียนกันและกัน ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพยำเกรงแก่ต้นไม้นี้เถิด” (เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว) [๑๖๕๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์ ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต [๑๖๕๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต [๑๖๕๓] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ต่างพากันนำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต [๑๖๕๔] ชนเป็นจำนวนมากเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาถึงแล้ว ต่างก็เลื่อมใส ครั้นวิธุรบัณฑิตมาถึงโดยลำดับแล้ว ต่างโบกผ้าไปมาด้วยประการฉะนี้แล
วิธุรชาดกที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๙๑-๔๔๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=5626&Z=6510                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=893              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=893&items=152              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=4104              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=893&items=152              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=4104                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja546/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :