ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

๑๙. สัฏฐินิบาต
๑. โสณกชาดก (๕๒๙)
ว่าด้วยพระราชาพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
(พระเจ้าอรินทมะตรัสว่า) [๑] โสณกะสหายเล่นฝุ่นของเรา ใครได้สดับข่าวแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งร้อย ใครได้พบเห็นแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งพัน (พระศาสดาได้ตรัสหนึ่งคาถาครึ่งว่า) [๒] ลำดับนั้น เด็กน้อยไว้ผม ๕ แหยม ได้กราบทูลว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงประทานทรัพย์หนึ่งร้อย แก่ข้าพระองค์ผู้สดับข่าวแล้วมากราบทูล และขอทรงประทานทรัพย์หนึ่งพัน แก่ข้าพระองค์ผู้ได้พบเห็นโสณกะ ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงโสณกะพระสหายเล่นฝุ่นแก่พระองค์ (พระราชาสดับดังนั้นแล้วตรัสถามว่า) [๓] เขาอยู่ในชนบท แคว้น และนิคมไหน พ่อได้พบโสณกะ ณ ที่ไหน พ่อจงตอบเนื้อความที่เราถามนั้นเถิด (เด็กน้อยกราบทูลว่า) [๔] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ในแคว้นของพระองค์นั่นเอง ณ ภาคพื้นแห่งพระอุทยานของพระองค์นั่นแหละ มีต้นรังใหญ่หลายต้น ซึ่งมีลำต้นตรง มีสีเขียวชะอุ่ม น่ารื่นรมย์ใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๕] ยืนต้นประสานอาศัยกันและกัน เสมอเหมือนกลุ่มเมฆ น่ารื่นรมย์ เมื่อชาวโลกมีความยึดมั่น ถูกแผดเผาอยู่ โสณกะไม่มีความยึดมั่น เป็นผู้ดับแล้ว เพ่งฌานอยู่ ณ โคนต้นรังเหล่านั้น [๖] ลำดับนั้นแล พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า ตรัสสั่งให้ปรับหนทางให้เรียบเสมอแล้ว ได้เสด็จไปจนถึงที่อยู่ของโสณกปัจเจกพุทธะ [๗] ครั้นเสด็จถึงภูมิภาคพระอุทยาน จึงเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นโสณกปัจเจกพุทธะ ผู้นั่งสงบเย็น ในเมื่อชาวโลกเร่าร้อนอยู่ (พระราชาตรัสว่า) [๘] ภิกษุนี้เป็นคนเข็ญใจหนอ มีศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ [๙] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าสดับพระดำรัสนี้แล้ว จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร บุคคลผู้สัมผัสธรรมด้วยกายไม่จัดว่าเป็นคนเข็ญใจ [๑๐] บุคคลใดในโลกนี้รังเกียจธรรม ประพฤติตามอธรรม บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เป็นคนชั่ว มีบาปติดตามไปในภายหน้า (พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๑๑] โยมมีชื่อว่าอรินทมะ มหาชนรู้จักโยมว่าพระเจ้ากาสี พระคุณเจ้าโสณกะ พระคุณเจ้าผู้เจริญ มาถึงสถานที่นี้ จำวัดสบายหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า) [๑๒] ความเจริญข้อที่ ๑ ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม [๑๓] ความเจริญข้อที่ ๒ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ และกิเลสไรๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน [๑๔] ความเจริญข้อที่ ๓ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น และกิเลสไรๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน [๑๕] ความเจริญข้อที่ ๔ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น [๑๖] ความเจริญข้อที่ ๕ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้ ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้ [๑๗] ความเจริญข้อที่ ๖ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น [๑๘] ความเจริญข้อที่ ๗ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๑๙] ความเจริญข้อที่ ๘ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน คือ จะหลีกไปยังทิศใดๆ ก็ไปยังทิศนั้นๆ ได้อย่างไม่ต้องห่วงใย (พระราชาตรัสว่า) [๒๐] พระคุณเจ้าโสณกะผู้เห็นภัย พระคุณเจ้าสรรเสริญความเจริญของภิกษุเหล่านั้นมากมาย แต่โยมยังติดอยู่ในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไรได้เล่า [๒๑] กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ โยมก็พึงพอใจ ถึงแม้กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ โยมก็พึงพอใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรหนอโยมจึงจะได้กามทั้ง ๒ ในโลก (พระปัจเจกพุทธเจ้ากราบทูลว่า) [๒๒] คนทั้งหลายผู้ติดอยู่ในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย กระทำบาปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ [๒๓] ส่วนคนเหล่าใดละกามทั้งหลาย เป็นผู้ออกแล้วจากกาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บรรลุถึงความเป็นสมาธิอันแน่วแน่ คนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ [๒๔] ขอถวายพระพร พระเจ้าอรินทมะ อาตมภาพจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ โปรดสดับข้ออุปมานั้น บัณฑิตบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ [๒๕] กาตัวหนึ่งมีปัญญาน้อยเพราะไม่มีความคิด เห็นซากศพถูกแม่น้ำคงคาพัดลอยไปในห้วงน้ำใหญ่ จึงคิดว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๒๖] “ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย ได้เป็นผู้มีใจยินดีไม่เสื่อมคลายในซากศพนั้นเท่านั้น ตลอดคืนตลอดวัน [๒๗] เมื่อกาจิกกินเนื้อช้าง ดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาอยู่ เมื่อเห็นต้นไม้ใหญ่ๆ ในป่า ก็ไม่โผบินขึ้นไป [๒๘] ก็แม่น้ำคงคาได้ไหลพัดพาเอากาตัวประมาท ยินดีในซากศพตัวนั้นไปยังสมุทร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้ [๒๙] ก็กาตัวนั้นสิ้นอาหารแล้วจึงตกลงไปในน้ำ จะบินไปข้างหลังก็ไม่ได้ ข้างหน้าก็ไม่ได้ ด้านเหนือก็ไม่ได้ ด้านใต้ก็ไม่ได้ [๓๐] มันบินไปไม่ถึงเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้ และมันก็ตกลงไปในสมุทรนั้นเองโดยอาการหมดกำลัง [๓๑] อนึ่ง ฝูงปลา จระเข้ มังกร ปลาร้ายชื่อสุสุ ที่อยู่ในสมุทรก็พากันข่มเหงฮุบกินกานั้น ซึ่งกำลังดิ้นรนจนขนปีกขาด [๓๒] ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ก็ดี คนเหล่าอื่นที่ยังบริโภคกามก็ดี ถ้าจักยังกำหนัดไม่คายกามเสียก็ฉันนั้นเหมือนกัน ชนเหล่านั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้ว่า มีปัญญาเพียงดังกา [๓๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร นี้เป็นอุปมาที่แสดงเนื้อความอย่างชัดเจน ซึ่งอาตมภาพกล่าวถวายแด่มหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงกระทำหรือไม่ก็ตาม มหาบพิตรก็จักปรากฏตามเหตุนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวสรุปว่า) [๓๔] บุคคลผู้มีความเอ็นดู พึงกล่าวเพียงคำเดียวหรือสองคำเท่านั้น ไม่กล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้นเหมือนทาสในสำนักของนาย (พระบรมศาสดาตรัสว่า) [๓๕] พระโสณกปัจเจกพุทธะผู้มีความรู้อันนับมิได้ ครั้นกล่าวคำนี้แล้วจึงเหาะขึ้นไปในอากาศ พร่ำสอนบรมกษัตริย์แล้วเหาะไปในอากาศ (พระราชาตรัสว่า) [๓๖] บุคคลผู้ได้รับการศึกษา ถึงพร้อมด้วยความเฉียบแหลม ที่จะครอบครองราชสมบัติเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนหนอ เราจักมอบราชสมบัติให้ เราไม่มีความต้องการราชสมบัติ [๓๗] เราจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอเราอย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย (พวกอำมาตย์ได้ฟังแล้ว จึงกราบทูลว่า) [๓๘] พระราชบุตรองค์น้อยของพระองค์ทรงพระนามว่า ทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมีอยู่ ขอพระองค์ทรงอภิเษกพระราชบุตรพระองค์นั้นในราชสมบัติเถิด ท้าวเธอจักเป็นพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย (พระราชาตรัสว่า) [๓๙] จงรีบนำทีฆาวุกุมารผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเถิด เราจักอภิเษกในราชสมบัติ เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

(พระบรมศาสดาตรัสว่า) [๔๐] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้เชิญเสด็จทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้ตรัสกับพระโอรสพระองค์เดียว ผู้เป็นที่โปรดปรานพระองค์นั้นว่า [๔๑] มีบ้านอยู่หกหมื่นหมู่บ้านสมบูรณ์ทุกอย่าง ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหมู่บ้านเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า [๔๒] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย [๔๓] มีช้างอยู่หกหมื่นเชือก เป็นช้างพลาย ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีสัปคับทองคำ ปกคลุมด้วยเครื่องปกคลุมทองคำ [๔๔] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นประจำ ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลช้างเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า [๔๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย [๔๖] มีม้าอยู่หกหมื่นตัวประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง คือ ม้าสินธพซึ่งเป็นม้าพาหนะที่มีฝีเท้าเร็ว ชาติอาชาไนย [๔๗] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลม้าเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๔๘] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย [๔๙] มีรถอยู่หกหมื่นคัน เป็นรถมีหนังเสือเหลืองหุ้มก็มี มีหนังเสือโคร่งหุ้มก็มี ยกธงขึ้นปักแล้ว ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง [๕๐] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลรถเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า [๕๑] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย [๕๒] มีแม่โคนมอยู่หกหมื่นตัว เป็นแม่โคสีแดง พร้อมทั้งโคผู้ตัวประเสริฐ ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลโคเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า [๕๓] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย [๕๔] มีหญิงอยู่หนึ่งหมื่นหกพันนาง ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตร สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณี ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหญิงเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๕๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย (พระราชกุมารกราบทูลว่า) [๕๖] เสด็จพ่อ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กอยู่ หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระมารดาสวรรคตแล้ว เสด็จพ่อ หม่อมฉันเว้นจากเสด็จพ่อแล้ว ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ [๕๗] ลูกช้างย่อมติดตามไปข้างหลังช้างป่า ที่เที่ยวไปในซอกเขาที่เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด [๕๘] หม่อมฉันก็จะพาเอาบุตรติดตามเสด็จพ่อไปข้างหลังฉันนั้น จักเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของเสด็จพ่อ จักไม่เป็นลูกที่เลี้ยงยากของเสด็จพ่อ (พระราชาตรัสตอบว่า) [๕๙] อันตรายพึงยึดเรือที่แล่นไปในสมุทร ของพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ไว้ในสมุทรนั้น พ่อค้าพึงพินาศฉันใด [๖๐] ลูกกาลีคนนี้พึงเป็นคนกระทำอันตรายแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน พวกท่านจงส่งกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาท อันเจริญไปด้วยความยินดีเถิด [๖๑] ณ ปราสาทนั้น เหล่าหญิงสาว ผู้มีมือประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ จักยังกุมารนั้นให้รื่นรมย์ในปราสาทนั้น เหมือนนางอัปสรให้ท้าวสักกะรื่นรมย์ และกุมารนั้นก็จักรื่นรมย์ด้วยหญิงสาวทั้งหลายเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๑. โสณกชาดก (๕๒๙)

[๖๒] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ส่งเสด็จพระกุมาร จนถึงปราสาทอันเจริญไปด้วยความยินดี เหล่าหญิงสาวเห็นทีฆาวุกุมารผู้ผดุงรัฐให้เจริญนั้นแล้ว จึงได้กราบทูลถามว่า [๖๓] พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ พระองค์เป็นใครหรือเป็นพระราชบุตรของใคร หม่อมฉันทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร (พระราชกุมารตรัสตอบว่า) [๖๔] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสีพระนามว่าทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญ พวกเธอจงเลี้ยงดูบำเรอเรา ขอพวกเธอจงมีความเจริญเถิด เราจะเป็นภัสดาของพวกเธอ [๖๕] เหล่าหญิงสาวได้กราบทูลถามทีฆาวุกุมาร ผู้ผดุงรัฐให้เจริญพระองค์นั้น ณ ที่นั้นว่า พระราชาเสด็จถึงไหนแล้ว พระราชาจากที่นี้ไป ณ ที่ไหน [๖๖] พระราชาเสด็จล่วงเลยเปือกตมแล้วดำรงอยู่บนบก ทรงดำเนินสู่ทางใหญ่อันปราศจากหนามไม่รกชัฏ [๖๗] ส่วนเราดำเนินไปยังหนทางของคนผู้ไปสู่ทุคติ มีทั้งหนามและรกชัฏซึ่งเป็นหนทางไปสู่ทุคติ (เหล่าหญิงสาวกราบทูลว่า) [๖๘] ข้าแต่พระราชา พระองค์นั้นเสด็จมาดีแล้ว เหมือนราชสีห์คืนสู่ถ้ำ ณ ซอกเขา ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงอนุศาสน์พร่ำสอน และทรงเป็นใหญ่แห่งหม่อมฉันทั้งปวงเถิด
โสณกชาดกที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๕-๔๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=28&siri=4              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=452&Z=594                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=66              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=66&items=24              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1637              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=66&items=24              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1637                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja529/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :