ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

๓. สุภูติวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระสุภูติเป็นต้น
๑. สุภูติเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภูติเถระ
(พระสุภูติเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่านิสภะ เขาสร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า [๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิลมีนามว่าโกสิยะ มีตบะแก่กล้า ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อยู่ที่ภูเขานิสภะ [๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามิได้เก็บผลไม้ เหง้า และใบไม้ มากิน ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าอาศัยใบไม้เป็นต้นที่หล่นเองเท่านั้นเลี้ยงชีวิต [๔] ข้าพเจ้าแม้ถึงจะสละชีวิตก็ไม่ทำอาชีวะให้กำเริบ ย่อมทำจิตของตนให้ยินดี งดเว้นการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย๑- [๕] เมื่อใดจิตของข้าพเจ้าเกิดความกำหนัด เมื่อนั้นข้าพเจ้าย่อมพิจารณาด้วยตนเอง ข้าพเจ้ามีใจเด็ดเดี่ยวข่มจิตนั้นเสียว่า [๖] เจ้ากำหนัดในอารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด ขัดเคืองในอารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง และหลงในอารมณ์ที่ชวนให้หลง เพราะฉะนั้น เจ้าจงออกจากป่าไปเสียเถิด [๗] ที่อยู่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน มีตบะ เจ้าอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกจากป่าไปเสียเถิด @เชิงอรรถ : @ การแสวงหาที่ไม่สมควร หมายถึงการแสวงหาที่ไม่สมควรมีเวชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น @(ขุ.อป.อ. ๒/๔/๔๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

[๘] เจ้าจักเป็นผู้ครองเรือนได้บุตรในกาลใด ในกาลนั้นเจ้าอย่าให้ล้มเหลวแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นเลย จงออกจากป่าไปเสียเถิด [๙] ฟืนเผาศพ ใช้ทำกิจอะไรในที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ ไม้นั้นเขาไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ในบ้านหรือเป็นไม้ในป่า และไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ตามปกติ ฉันใด [๑๐] เจ้าก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนฟืนเผาศพ ไม่ใช่คฤหัสถ์ ทั้งไม่ใช่สมณะ วันนี้ เจ้าพ้นจากภาวะทั้ง ๒ จงออกจากป่าไปเสียเถิด [๑๑] ข้อนี้พึงมีแก่เจ้าหรือหนอ ใครจะรู้ข้อนี้ของเจ้า ใครจะนำธุระของเจ้าไปโดยเร็ว เพราะเจ้ามากไปด้วยความเกียจคร้าน [๑๒] วิญญูชนจักรังเกียจเจ้า เหมือนชาวเมืองรังเกียจของไม่สะอาดฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายจักฉุดเจ้ามาตักเตือนทุกเมื่อ [๑๓] วิญญูชนจักประจานเจ้าว่า ล่วงละเมิดศาสนา ก็เจ้าเมื่อไม่ได้การอยู่ร่วม จักเป็นอยู่อย่างไร [๑๔] ช้างมีกำลัง เข้าไปหาช้างกุญชรซึ่งตกมัน ๓ แห่ง เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ เสื่อมกำลังในเวลามีอายุ ๖๐ ปีแล้ว ขับออกจากโขลง [๑๕] มันถูกขับออกจากโขลงแล้ว หาความสุขสำราญไม่ได้ เป็นสัตว์มีทุกข์ เศร้าใจ ซบเซา สั่นเทาอยู่ ฉันใด [๑๖] ชฎิลทั้งหลายจักขับเจ้าผู้มีปัญญาทรามออก เจ้าถูกชฎิลเหล่านั้นขับออกแล้ว จักหาความสุขสำราญไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

[๑๗] เจ้าถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแล้ว ทั้งกลางวันและกลางคืน จักถูกความเร่าร้อนแผดเผา เหมือนช้างถูกขับออกจากโขลง ฉะนั้น [๑๘] ทองเก๊ ย่อมใช้ไม่ได้ในที่ไหนๆ ฉันใด เจ้าเสื่อมแล้วจากศีลก็จักใช้ในที่ไหนๆ ไม่ได้ ฉันนั้น [๑๙] แม้เจ้าอยู่ครองเรือน จักเป็นอยู่ได้อย่างไร ทรัพย์ทั้งที่เป็นของมารดาและบิดาของเจ้าที่เก็บไว้ก็ไม่มี [๒๐] เจ้าจักต้องทำการงานของตน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ จักเป็นอยู่ในเรือนอย่างนี้ เป็นการดีแก่เจ้าที่จะไม่ชอบมัน [๒๑] ข้าพเจ้าห้ามใจที่หมักหมมด้วยสังกิเลสอย่างนี้ในที่นั้น ได้กล่าวธรรมกถาต่างๆ ห้ามจิตจากความชั่ว [๒๒] เมื่อข้าพเจ้าเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ ข้าพเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ล่วงเลยมา ๓๐,๐๐๐ ปี [๒๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในความไม่ประมาท ผู้แสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า [๒๔] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังสีทองชมพูนุท๑- ประมาณมิได้ ไม่มีใครเปรียบได้ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ [๒๕] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอด้วยพระญาณ เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง เหมือนสายฟ้าในกลีบเมฆ @เชิงอรรถ : @ ทองชมพูนุท หมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๔/๑๙๑) ที่เรียกว่า ชมพูนุท เพราะเป็นทอง @ที่เกิดขึ้นในแควของแม่น้ำมหาชมพู (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๖๔/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

[๒๖] ครั้งนั้น พระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังพญาราชสีห์ผู้ไม่กลัว ดุจพญาช้างคึกคะนอง เหมือนพญาเสือโคร่งผู้ไม่ครั่นคร้าม ฉะนั้น [๒๗] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังแท่งทองสีสุก เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียน มีพระรัศมีโชติช่วงดังแก้วมณี เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ [๒๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมี เหมือนภูเขาไกรลาสที่บริสุทธิ์ เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ เหมือนดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ [๒๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ เสด็จจงกรมอยู่ในท้องฟ้า จึงคิดอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์ [๓๐] นรชนเช่นนี้เราไม่เคยได้ฟังหรือได้เห็นในแผ่นดิน เออ บทมนต์ก็มีอยู่ ผู้นี้จักเป็นพระศาสดา [๓๑] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วได้ทำจิตของตนให้เลื่อมใส รวบรวมดอกไม้และของหอมต่างๆ ไว้ในครั้งนั้น [๓๒] ข้าพเจ้าได้ปูลาดอาสนะดอกไม้ ซึ่งวิจิตรดีเป็นที่รื่นรมย์ใจแล้ว ได้กล่าวคำนี้กับพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสารถีผู้ฝึกนรชนว่า [๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร อาสนะนี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว ขอพระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้เถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

[๓๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เป็นดุจพญาไกรสร ผู้ไม่ครั่นคร้าม ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้อันประเสริฐนั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน [๓๕] ข้าพเจ้าได้ยืนนมัสการพระองค์อยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วัน พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก เสด็จออกจากสมาธิแล้ว เมื่อจะทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า [๓๖] บรรดาภาวนาทั้งหลาย เธอจงเจริญพุทธานุสสติที่ยอดเยี่ยม ครั้นเจริญพุทธานุสสตินี้แล้ว จักทำใจให้บริบูรณ์ได้ [๓๗] เธอจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ [๓๘] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ [๓๙] เธอเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก ความพร่องในโภคะของท่านจะไม่มี นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ [๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๔๑] เธอจักสละทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ รวมทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมากแล้ว บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๔๒] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว เป็นสาวกมีนามว่าสุภูติ ของพระศาสดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๑. สุภูติเถราปทาน

[๔๓] พระศาสดาพระนามว่าโคดม ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว จักทรงแต่งตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง คือในพระทักขิไณยบุคคลผู้มีคุณ และในความเป็นผู้มีธรรมเครื่องอยู่ซึ่งไม่มีข้าศึก [๔๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ได้เสด็จเหาะขึ้นไปยังนภากาศดุจพญาหงส์ในท้องฟ้า ฉะนั้น [๔๕] ข้าพเจ้าซึ่งพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงพร่ำสอนแล้ว นอบน้อมพระตถาคตแล้วมีจิตเบิกบาน เจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมทุกเมื่อ [๔๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๔๗] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ [๔๘] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติอย่างดีนับไม่ถ้วน นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ [๔๙] ข้าพเจ้าเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จะได้โภคสมบัติเป็นอันมาก ความบกพร่องในโภคะของข้าพเจ้าไม่มีเลย นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ [๕๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๒. อุปวาณเถราปทาน

จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ [๕๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุภูติเถราปทานที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๑๒๓-๑๒๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=1500&Z=1590                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=23&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=799              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=23&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=799                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap23/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :