ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๗. อภยเถราปทาน

๗. อภยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอภยเถระ
(พระอภยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๙๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงความสำเร็จในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๑๙๖] พระตถาคตทรงทำบุคคลบางพวกให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์ บางพวกให้ตั้งอยู่ในศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่อุดม [๑๙๗] พระองค์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงประทานสามัญญผล๑- ที่อุดมแก่บุคคลบางคน ทรงมอบสมาบัติ ๘ และวิชชา ๓ แก่บุคคลบางคน [๑๙๘] พระองค์ผู้ประเสริฐกว่านรชน ทรงประกอบคนบางคนไว้ในอภิญญา ๖ พระองค์ผู้เป็นนาถะทรงประทาน ปฏิสัมภิทา ๔ แก่บุคคลบางคน [๑๙๙] พระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกนรชน ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ได้ แม้ในสถานที่นับโยชน์ไม่ถ้วน ก็รีบเสด็จไปแนะนำ [๒๐๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพราหมณ์ในกรุงหงสวดี เรียนจบพระเวททั้งหมด เข้าใจไวยากรณ์ @เชิงอรรถ : @ สามัญญผล ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๑/๒๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๗. อภยเถราปทาน

[๒๐๑] ฉลาดในนิรุตติ๑- แกล้วกล้าในคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์ เข้าใจตัวบท รู้แจ่มแจ้งในคัมภีร์เกฏุภะ๒- ฉลาดในฉันท์และกาพย์กลอน [๒๐๒] เมื่อเที่ยวเดินพักผ่อน ได้ไปถึงพระวิหารหังสาราม ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศประเสริฐที่สุด มีมหาชนห้อมล้อม [๒๐๓] ข้าพเจ้ามีความคิดเป็นข้าศึก เข้าไปใกล้พระองค์ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม ได้ฟังพระดำรัสซึ่งปราศจากมลทินของพระองค์ [๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่เห็นพระดำรัสที่กระทบ ที่กล่าวซ้ำๆ กัน ที่ผิดไวยากรณ์ หรือที่ไร้ประโยชน์ของพระมุนีพระองค์นั้นเลย เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบวช [๒๐๕] โดยเวลาไม่นานนัก ข้าพเจ้าก็เป็นผู้แกล้วกล้าในธรรมทุกอย่าง ได้รับยกย่องให้เป็นคณบดี ในพระพุทธพจน์ที่ละเอียดอ่อน [๒๐๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ประพันธ์คาถา ๔ คาถา ซึ่งมีพยัญชนะสละสลวยชมเชยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ แล้วแสดงทุกๆ วันว่า [๒๐๗] พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากความยินดี มีความเพียรมาก ทรงอยู่ในสังสารวัฏที่มีภัย ไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เพราะทรงประกอบด้วยพระกรุณา(ในหมู่สัตว์) ฉะนั้น พระมุนีจึงชื่อว่าทรงประกอบด้วยพระกรุณา @เชิงอรรถ : @ ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒ และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London @Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222 @ ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒ และดู Dawson, John. A classieal Dictionary of Hindu Mythology (London @Lroutledge and kegan Paul, 1957) P. 222 {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๗. อภยเถราปทาน

[๒๐๘] บุคคลผู้ใด ถึงเป็นปุถุชนก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ประกอบด้วยสติ มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้นั้นจึงเป็นอจินไตย [๒๐๙] กิเลสที่มีกำลังอ่อน ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา ถูกเผาด้วยไฟคือญาณแล้วไม่สิ้นไป ข้อนั้นไม่เคยมีเลย [๒๑๐] ผู้ใดเป็นที่เคารพของสัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งเป็นครูในโลก และเป็นอาจารย์ของชาวโลก โลกย่อมอนุวัตรตามผู้นั้น [๒๑๑] ข้าพเจ้าขอสดุดีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคาถามีอาทิดังนี้แสดงธรรมตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ [๒๑๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้ากล่าวสดุดีพระพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี [๒๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ครองราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่อันเป็นทิพย์ในเทวโลก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก [๒๑๔] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ภพ คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์ คติอื่นข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี [๒๑๕] ข้าพเจ้าเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์ ข้าพเจ้าไม่รู้จักตระกูลต่ำเลย นี้เป็นผลแห่งการกล่าวสดุดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๗. อภยเถราปทาน

[๒๑๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้ามีนามว่าอภัย เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์ [๒๑๗] ข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของปาปมิตร ถูกนิครนถ์นาฏบุตรให้ลุ่มหลง ส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๒๑๘] ข้าพเจ้าทูลถามปัญหาที่ละเอียดสุขุม ได้ฟังพยากรณ์ที่ประเสริฐ จึงบวช ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๒๑๙] ข้าพเจ้าได้รับยกย่องทุกเมื่อ เพราะการสดุดีพระชินเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้มีร่างกายและปากมีกลิ่นหอม แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข [๒๒๐] เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาแจ่มใส มีปัญญาว่องไว มีปัญญามาก และมีปฏิภาณที่วิจิตร [๒๒๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส กล่าวสดุดีพระสยัมภูพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ไปบังเกิด ในอบายภูมิตั้งหลายแสนกัป [๒๒๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๘. โลมสติยเถราปทาน

[๒๒๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอภยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อภยเถราปทานที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๑๗-๓๒๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=137              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=3825&Z=3879                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=137              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=137&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=7056              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=137&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=7056                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap549/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :