ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๘. โลมสติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโลมสติยเถระ
(พระโลมสติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๒๕] ในภัทรกัป๑- นี้ พระชินเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๒๒๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าและสหายชื่อจันทนะ บรรพชาในศาสนาแล้ว ได้บำเพ็ญกิจในศาสนาจนตลอดชีวิต [๒๒๗] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต @เชิงอรรถ : @ กัปมี ๔ คือ (๑) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นองค์เดียว ชื่อว่าสารกัป (๒) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๒ @หรือ ๓ องค์ ชื่อว่าวรกัป (๓) กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ องค์ ชื่อว่ามัณฑกัป (๔) กัปที่มีพระ @พุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ องค์ ชื่อว่าภัทรกัป ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ องค์ คือ พระกกุสันธ @พุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคดมพุทธเจ้า พระเมตเตยยพุทธเจ้า @(ขุ.อป.อ. ๒/๒๒๕/๓๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๘. โลมสติยเถราปทาน

ข่มเทพบุตรที่เหลือในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น ด้วยการฟ้อน การขับร้อง การประโคม [๒๒๘] และด้วยองค์ ๑๐ มีรูปเป็นต้นอันเป็นทิพย์ เสวยความสุขเป็นอันมากอยู่จนตลอดอายุ [๒๒๙] จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้ว จันทเทพบุตรได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนข้าพเจ้าได้เกิดเป็นโอรสของเจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ [๒๓๐] ในคราวที่พระศาสดาทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ซึ่งพระอุทายีเถระทูลเชิญเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เจ้าศากยะ [๒๓๑] ครั้งนั้น พวกเจ้าศากยะมีมานะจัด ไม่รู้คุณของพระพุทธเจ้า เป็นคนกระด้างเพราะชาติตระกูล ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๒๓๒] พระชินเจ้าทรงทราบความดำริ ของเจ้าศากยะเหล่านั้น จึงได้เสด็จจงกรมในอากาศ เหมือนเมฆฝนตกลง และเหมือนเปลวไฟที่ลุกโพลงอยู่ [๒๓๓] ทรงแสดงพระรูปที่ไม่มีที่เปรียบแล้วอันตรธานไป แม้พระองค์เดียวก็เนรมิตเป็นหลายองค์ได้ แล้วกลับเป็นองค์เดียวเหมือนเดิม [๒๓๔] พระมุนีทรงแสดงความมืดและแสงสว่าง ทรงกระทำปาฏิหาริย์มากมาย ทรงปราบพวกพระญาติจนหมดมานะ [๒๓๕] ขณะนั้นเอง มหาเมฆที่ตั้งขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ทำฝนให้ตกแล้ว ก็ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๘. โลมสติยเถราปทาน

[๒๓๖] ครั้งนั้น กษัตริย์เหล่านั้นทุกพระองค์ กำจัดความมัวเมาที่เกิดจากชาติตระกูลได้แล้ว ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ในครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสว่า [๒๓๗] ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ทรงมีสมันตจักษุ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่หม่อมฉันถวายบังคมพระบาทของพระองค์ (ครั้งที่ ๑) ในคราวที่พระองค์ประสูติแผ่นดินไหว (ครั้งที่ ๒) ในคราวที่เงาต้นหว้าไม่ละพระองค์ [๒๓๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นพุทธานุภาพนั้นแล้ว เกิดอัศจรรย์ใจ จึงได้บรรพชา เป็นผู้บูชามารดา ได้อาศัยอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์นั้นเอง [๒๓๙] ครั้งนั้น จันทเทพบุตรได้เข้ามาหาข้าพเจ้าแล้ว ถามถึงนัยทั้งโดยย่อและพิสดารแห่งภัทเทกรัตตสูตร๑- [๒๔๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถูกจันทเทพบุตรตักเตือนแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้นำของนรชน ได้ฟังภัทเทกรัตตสูตร เป็นผู้สลดใจต้องการอยู่ป่า [๒๔๑] ได้บอกลามารดาว่า จักอยู่ป่าแต่เพียงผู้เดียว เมื่อถูกมารดาห้ามปรามว่า ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน ข้าพเจ้าก็ได้ตอบว่า [๒๔๒] ข้าพเจ้าจักใช้อกบดขยี้หญ้าคา หญ้าเลา หญ้าแฝก หญ้าปล้อง และหญ้ามุงกระต่าย ให้แหลกละเอียดทั้งหมด พอกพูนวิเวก @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.อุ. (แปล) ๑๔/๒๗๒-๒๗๕/๓๑๙-๓๒๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๘. โลมสติยเถราปทาน

[๒๔๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าป่าจึงได้บรรลุอรหัตตผล นึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า เพราะระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า คือ ภัทเทกรัตโตวาทว่า [๒๔๔] บุคคลไม่ควรนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น [๒๔๕] ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง [๒๔๖] บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชมีเสนานั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย [๒๔๗] พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้ [๒๔๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๔๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๓๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๕. ภัททิยวรรค]

๙. วนวัจฉเถราปทาน

[๒๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระโลมสติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โลมสติยเถราปทานที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๒๑-๓๒๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=138              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=3880&Z=3931                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=138              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=138&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=7073              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=138&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=7073                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap550/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :