ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๑๘. ปุสสพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระปุสสพุทธเจ้า
[๑] ในมัณฑกัปนั้นแล ได้มีพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมพระนามว่าปุสสะ ไม่มีบุคคลเปรียบ ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก [๒] แม้พระองค์ก็ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง ทรงสางความรกชัฏเป็นอันมาก๑- แล้ว ทรงยังน้ำอมฤต๒- ให้ตก ช่วยมนุษย์ พร้อมทั้งเทวดาได้ดื่มจนสำราญ [๓] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ ทรงประกาศพระธรรมจักรในนักขัตตมงคล เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ @เชิงอรรถ : @ ความรกชัฏเป็นอันมาก ได้แก่ ตัณหา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๓๓๕) @ น้ำอมฤต ได้แก่ ธรรมกถา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๓๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๘. ปุสสพุทธวงศ์

[๔] เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๙,๐๐๐,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๒ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘,๐๐๐,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๕] พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าปุสสะ ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ๓ ครั้ง [๖] พระขีณาสพประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๑ พระขีณาสพประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ [๗] พระขีณาสพประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ รูป ล้วนแต่หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ตัดที่ต่อคือกิเลสได้แล้ว มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ [๘] สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์มีนามว่าวิชิตะ สละราชสมบัติเป็นอันมาก แล้วออกผนวชในสำนักของพระองค์ [๙] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ พระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก ทรงพยากรณ์เราว่า ‘ในกัปที่ ๙๒ จากกัปนี้ไป ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’ พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๐] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๘. ปุสสพุทธวงศ์

จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๘. ปุสสพุทธวงศ์

สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๑] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๒] เราได้เล่าเรียนพระสูตรและพระวินัย อันเป็นนวังคสัตถุศาสน์ทั้งปวงแล้ว ช่วยประกาศศาสนาของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง [๑๓] เราเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในคำสั่งสอนนั้น เจริญพรหมวิหารภาวนา ถึงความสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก [๑๔] กรุงชื่อว่ากาสิกะ กษัตริย์พระนามว่าชัยเสนเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าสิริมาเป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๕] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือครุฬปราสาท หังสปราสาท และสุวรรณดาราปราสาท [๑๖] มีนางสนมกำนัล ๒๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่ากีสาโคตมี พระราชโอรสพระนามว่าอนูปมะ [๑๗] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือช้างออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วันเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๘. ปุสสพุทธวงศ์

[๑๘] พระมหาวีระพระนามว่าปุสสะ ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก สูงสุดกว่านรชน ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน [๑๙] พระสุรักขิตเถระและพระธรรมเสนเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าสภิยะเป็นพระอุปัฏฐากของพระปุสสพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๐] พระจาลาเถรีและพระอุปจาลาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่าต้นมะขามป้อม [๒๑] ธนัญชัยอุบาสกและวิสาขอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก ปทุมาอุบาสิกาและสิรินาคาอุบาสิกา เป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๒] พระมุนีพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก ทรงงดงามดังดวงอาทิตย์ และเหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ [๒๓] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๙๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๔] แม้พระศาสดาผู้มีพระยศอันไม่มีใครๆ เสมอเหมือนพระองค์นั้น ตรัสสอนเวไนยสัตว์เป็นจำนวนมาก ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก พระองค์ผู้เป็นไปกับสาวกเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว [๒๕] พระชินศาสดาผู้ประเสริฐพระนามว่าปุสสะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสนาราม พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
ปุสสพุทธวงศ์ที่ ๑๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๘๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๘๐-๖๘๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=210              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=33&A=8144&Z=8189                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=199              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=199&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=7405              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=199&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=7405                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :