ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] วิภังคปกรณ์
๖. ฉักกนิทเทส
[๘๐๕] บรรดาญาณวัตถุหมวดละ ๖ นั้น ปัญญาในอภิญญา ๖ เป็นไฉน ปัญญาในอภิญญา ๖ คือ ๑. อิทธิวิธญาณ (ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้) ๒. โสตธาตุวิสุทธิญาณ (ความรู้ที่ทำให้มีหูทิพย์) ๓. ปรจิตตญาณ (ความรู้ที่ทำให้รู้ใจผู้อื่น) ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้) ๕. จุตูปปาตญาณ (ความรู้การจุติและเกิด) ๖. อาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป) เหล่านี้ชื่อว่าปัญญาในอภิญญา ๖ ๒- ญาณวัตถุหมวดละ ๖ มีด้วยประการฉะนี้ (๑)
๗. สัตตกนิทเทส
[๘๐๖] ในญาณวัตถุหมวดละ ๗ นั้น ญาณวัตถุ ๗๗ เป็นไฉน ความรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ก็รู้ว่าชรามรณะ ไม่มี @เชิงอรรถ : @ จิตที่มีสิ่งกระตุ้นเตือน (อภิ.สงฺ.อ. ๑๔๖/๒๐๖) @ อภิญญา ๖ นั้น ห้าข้อแรกเป็นโลกิยะ ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตระ (อภิ.วิ.อ. ๘๐๕/๔๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๑๗}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๘. อัฏฐกนิทเทส

แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ก็รู้ว่าชรามรณะไม่มี แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เมื่อชาติไม่ มี ก็รู้ว่าชรามรณะไม่มี ความรู้ว่า แม้ธัมมฐิติญาณของบุคคลนั้นก็มีความสิ้นไปเป็น ธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็น ธรรมดา ความรู้ว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะผัสสะเป็น ปัจจัย เวทนาจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ความรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มี ก็รู้ว่าสังขารไม่มี แม้ในอดีตกาล ความรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ความรู้ว่า เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารก็ไม่มี แม้ในอนาคตกาล ความรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ความรู้ว่า เมื่ออวิชชาไม่มี ก็รู้ว่าสังขารไม่มี ความรู้ว่า แม้ธัมมฐิติญาณของบุคคลนั้นก็มีความ สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา เหล่านี้ชื่อว่าญาณวัตถุ ๗๗ ๑- ญาณวัตถุหมวดละ ๗ มีด้วยประการฉะนี้ (๑)
๘. อัฏฐกนิทเทส
[๘๐๗] บรรดาญาณวัตถุหมวดละ ๘ นั้น ปัญญาในมรรค ๔ ผล ๔ เป็นไฉน ปัญญาในมรรค ๔ ผล ๔ คือ @เชิงอรรถ : @ สํ.นิ. ๑๖/๓๔/๕๘, อภิ.วิ.อ. ๘๐๖/๔๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๑๘}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

๑. ปัญญาในโสดาปัตติมรรค ๒. ปัญญาในโสดาปัตติผล ๓. ปัญญาในสกทาคามิมรรค ๔. ปัญญาในสกทาคามิผล ๕. ปัญญาในอนาคามิมรรค ๖. ปัญญาในอนาคามิผล ๗. ปัญญาในอรหัตตมรรค ๘. ปัญญาในอรหัตตผล เหล่านี้ชื่อว่าปัญญาในมรรค ๔ ผล ๔ ญาณวัตถุหมวดละ ๘ มีด้วยประการฉะนี้ (๑)
๙. นวกนิทเทส
[๘๐๘] บรรดาญาณวัตถุหมวดละ ๙ นั้น ปัญญาในอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เป็นไฉน ปัญญาในอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ คือ ๑. ปัญญาในปฐมฌานสมาบัติ ๒. ปัญญาในทุติยฌานสมาบัติ ๓. ปัญญาในตติยฌานสมาบัติ ๔. ปัญญาในจตุตถฌานสมาบัติ ๕. ปัญญาในอากาสานัญจายตนสมาบัติ ๖. ปัญญาในวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ๗. ปัญญาในอากิญจัญญายตนสมาบัติ ๘. ปัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ๙. ปัจจเวกขณญาณของโยคาวจรบุคคลผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เหล่านี้ชื่อว่าปัญญาในอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ญาณวัตถุหมวดละ ๙ มีด้วยประการฉะนี้ (๑)
๑๐. ทสกนิทเทส
๑. ฐานาฐานญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ)๑-
[๘๐๙] บรรดาญาณวัตถุหมวดละ ๑๐ นั้น พระตถาคตทรงทราบธรรมที่ เป็นฐานะโดยความเป็นฐานะและธรรมที่ไม่เป็นฐานะโดยความไม่เป็นฐานะ ตามความเป็นจริง เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ คำว่า “ฐานะ” หมายถึงสิ่งที่เป็นไปได้ คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น “อฐานะ” หมายถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ @คือทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีเป็นต้น (อภิ.วิ.อ. ๘๐๙/๔๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๑๙}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคค- ทิฏฐิ๑- จะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยความเป็นสภาวะที่เที่ยง นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่ โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดย ความเป็นสภาวะที่เที่ยง นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ จะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยความเป็นสภาวะที่เป็นสุข นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่ จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยความเป็น สภาวะที่เป็นสุข นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ จะพึงยึดถือธรรมอะไรๆ โดยความเป็นสภาวะที่เป็นตัวตน นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส ที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือธรรมอะไรๆ โดยความเป็น สภาวะที่เป็นตัวตน นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ จะพึงฆ่ามารดา นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชน จะพึงฆ่ามารดา นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ จะพึงฆ่าบิดา ฯลฯ ฆ่าพระอรหันต์ ฯลฯ มีจิตคิดประทุษร้ายทำพระโลหิตของ พระตถาคตให้ห้อขึ้น ฯลฯ ทำสงฆ์ให้แตกกัน ฯลฯ นับถือศาสดาอื่น ฯลฯ บังเกิดในภพที่ ๘ ๑- นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ ปุถุชนจะพึงบังเกิดในภพที่ ๘ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระ องค์จะพึงอุบัติขึ้นพร้อมๆ กันในโลกธาตุอันเดียวกัน นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะ มีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพึงอุบัติขึ้นพระองค์ เดียวในโลกธาตุเดียว นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ @เชิงอรรถ : @ หมายถึงพระอริยสาวกผู้โสดาบัน (อภิ.วิ.อ. ๘๐๙/๔๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๐}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ องค์จะพึงอุบัติขึ้น พร้อมๆ กันในโลกธาตุอันเดียวกัน นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรง ทราบว่า ข้อที่พระเจ้าจักรพรรดิจะพึงอุบัติขึ้นพระองค์เดียวในโลกธาตุเดียว นี้แล เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่สตรีจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้า นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุรุษจะ พึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่สตรีจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นี้ไม่ ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุรุษจะพึงเป็นพระเจ้า จักรพรรดิ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่สตรีจะพึงเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นมาร เป็นพรหม นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุรุษจะพึง เกิดเป็นพระอินทร์ เป็นมาร เป็นพรหม นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นี้แลเป็นฐานะที่มี ได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่วจีทุจริต ฯลฯ มโนทุจริตจะพึงเกิด ผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ ทรงทราบว่า ข้อที่วจีทุจริต ฯลฯ มโนทุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อ ที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๑}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่วจีสุจริต ฯลฯ มโนสุจริตจะพึงเกิดผล ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่วจีสุจริต ฯลฯ มโนสุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยกาย- ทุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายทุจริตนั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มี ความพรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพราะกายทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริต ฯลฯ บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะวจีทุจริตและมโนทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่ โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริต ฯลฯ บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพราะวจีทุจริตและมโนทุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้แล เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพราะกายสุจริตนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่ บุคคลผู้มีความ พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะกายสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้แลเป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยวจีสุจริต ฯลฯ บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เพราะวจีสุจริตและมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้ไม่ใช่ ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะมีได้ พระองค์ทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อม ด้วยวจีสุจริต ฯลฯ บุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะ พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะวจีสุจริตและมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นี้แล เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๒}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า สภาวธรรมใดๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น สภาวธรรมนั้นๆ เป็นฐานะ สภาวธรรมใดๆ ไม่เป็น เหตุไม่เป็นปัจจัยให้สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น สภาวธรรมนั้นๆ ไม่เป็นฐานะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในสภาวธรรม ที่เป็นฐานะและสภาวธรรมที่ไม่เป็นฐานะเหล่านั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบ สภาวธรรมที่เป็นฐานะโดยความเป็นฐานะ และสภาวธรรมที่ไม่เป็นฐานะโดยความ ไม่เป็นฐานะตามความเป็นจริง (๑)
๒. กัมมวิปากญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม)
[๘๑๐] พระตถาคตทรงทราบผลของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันตามความเป็นจริง โดยฐานะ โดยเหตุ เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอันคติ- สมบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอันอุปธิสมบัติห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอันกาลสมบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอันปโยคสมบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอาศัยคติวิบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่ เป็นบาปบางอย่างอาศัยอุปธิวิบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอาศัย กาลวิบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่างอาศัยปโยควิบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบุญบางอย่างอันคติวิบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรม สมาทานที่เป็นบุญบางอย่างอันอุปธิวิบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็น บุญบางอย่างอันกาลวิบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบุญบางอย่าง อันปโยควิบัติห้ามไว้จึงไม่ให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบุญบางอย่างอาศัยคติสมบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่ เป็นบุญบางอย่างอาศัยอุปธิสมบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบุญบางอย่างอาศัย กาลสมบัติจึงให้ผลก็มี กรรมสมาทานที่เป็นบุญบางอย่างอาศัยปโยคสมบัติจึงให้ผลก็มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๓}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมา- ทิฏฐิในกรรมสมาทานนั้น นี้ชื่อพระตถาคตทรงทราบวิบากของกรรมสมาทานที่เป็น อดีต อนาคต และปัจจุบันตามความเป็นจริงโดยฐานะ โดยเหตุ (๒)
๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ทางที่จะนำไปสู่ภูมิทั้งปวง)
[๘๑๑] พระตถาคตทรงทราบทางไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ ให้ไปสู่นรก ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ ให้ไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ให้ ไปสู่วิสัยแห่งเปรต ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ให้ไปสู่มนุษยโลก ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ให้ไปสู่เทวโลก ทรงทราบว่า ทางนี้ ปฏิปทานี้ให้ไปสู่นิพพาน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในทางไปสู่ภูมิทั้งปวงนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบทางไปสู่ภูมิทั้งปวง ตามความเป็นจริง (๓)
๔. นานาธาตุญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้สัตว์ที่มีธาตุแตกต่างกัน)
[๘๑๒] พระตถาคตทรงทราบโลกที่เป็นอเนกธาตุและนานาธาตุตาม ความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบความเป็นต่างๆ กันแห่งขันธ์ ทรงทราบความ เป็น ต่างๆ กันแห่งอายตนะ ทรงทราบความเป็นต่างๆ กันแห่งธาตุ ทรงทราบ ความเป็นต่างๆ กันแห่งโลกที่เป็นอเนกธาตุและที่เป็นนานาธาตุ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมา- ทิฏฐิในโลกที่เป็นอเนกธาตุและที่เป็นนานาธาตุนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบโลก ที่เป็นอเนกธาตุและที่เป็นนานาธาตุตามความเป็นจริง๑- (๔) @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ.อ. ๘๑๒/๔๙๑-๔๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๔}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

๕. นานาธิมุตติกญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้สัตว์ที่มีอัธยาศัยแตกต่างกัน)
[๘๑๓] พระตถาคตทรงทราบความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็มี สัตว์ทั้ง หลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็มี เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามย่อมคบหาสมาคมเข้าไป หาบ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตก็คบหา สมาคมเข้าหาบ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต แม้แต่ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามได้คบหาสมาคมเข้าหา บ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีอัธยาศัยทรามมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็ ได้คบหาสมาคมเข้าหาบ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตมาแล้ว แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม ก็จักคบหาสมาคมเข้าหา บ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็จักคบหา สมาคมเข้าหาบ่อยๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่างๆ กันนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรง ทราบความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่างๆ กันตามความเป็นจริง (๕)
๖. อินทริยปโรปริยัตติญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้สัตว์ที่มีอินทรีย์แก่กล้า และไม่แก่กล้า)
[๘๑๔] (๖) พระตถาคตทรงทราบความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่ง อินทรีย์ของสัตว์เหล่าอื่นของบุคคลเหล่าอื่นตามความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบอาสยะ อนุสัย จริต อธิมุตติ๑- ของสัตว์ทั้งหลาย ทรงทราบสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีคือกิเลสน้อย มีธุลีคือกิเลสมาก มีอินทรีย์แก่กล้า มี @เชิงอรรถ : @ อาสยะ ได้แก่ ทิฏฐิและยถาภูตญาณอันเป็นที่อาศัยอยู่ของเหล่าสัตว์ @อนุสัย ได้แก่ กิเลสที่นอนเนื่องซึ่งยังละไม่ได้ @จริต ได้แก่ กุศลและอกุศลที่กายกรรมเป็นต้นปรุงแต่ง @อธิมุตติ ได้แก่ อัธยาศัยของเหล่าสัตว์ (อภิ.วิ.อ. ๘๑๔/๔๙๓-๔๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๕}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

อินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว แนะนำให้เข้าใจได้ง่าย แนะนำให้เข้าใจได้ยาก ควรบรรลุธรรมและไม่ควรบรรลุธรรม [๘๑๕] อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน ความเห็นว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะเป็น อย่างหนึ่ง สรีระก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็น คนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็ใช่ หลังจากตายแล้วตถาคต เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิดัง กล่าวมานี้ หรือสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เข้าไปอาศัยที่สุดทั้ง ๒ นี้ ได้อนุโลมิกขันติ๑- ใน สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยของกันและกันและอาศัยกันและกันเกิดขึ้นก็มี ญาณ รู้ตามความเป็นจริง๒- นี้ชื่อว่าอาสยะของสัตว์ทั้งหลาย [๘๑๖] อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน อนุสัย ๗ คือ ๑. กามราคานุสัย (อนุสัยคือกามราคะ) ๒. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือปฏิฆะ) ๓. มานานุสัย (อนุสัยคือมานะ) ๔. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือทิฏฐิ) ๕. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือวิจิกิจฉา) ๖. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือภวราคะ) ๗. อวิชชานุสัย (อนุสัยคืออวิชชา) ราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูปสาตรูป๓- ในโลก ปฏิฆานุสัย ของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอัปปิยรูปอสาตรูปในโลก อวิชชาตกไปใน สภาวธรรมทั้ง ๒ นี้ ด้วยอาการอย่างนี้ มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา พึงเห็นว่าตั้ง อยู่ในฐานะแห่งเดียวกันกับอวิชชานั้น นี้ชื่อว่าอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ อนุโลมขันติ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ (อภิ.วิ.อ. ๘๑๕/๔๙๔) @ ญาณรู้ตามความเป็นจริง ได้แก่ มรรคญาณ (อภิ.วิ.อ. ๘๑๕/๔๙๔) @ สภาวะที่น่ารัก น่าชื่นใจ มุ่งเอาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา (อภิ.วิ.อ. ๘๑๖/๔๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๖}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

[๘๑๗] จริตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี) อปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว) อาเนญชาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง) ที่ เป็นกามาวจรภูมิ หรือที่เป็นรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ นี้ชื่อว่าจริตของสัตว์ ทั้งหลาย [๘๑๘] อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็มี สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็มี เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามย่อมคบหาสมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตก็ย่อมคบหาสมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็ได้คบหาสมาคมเข้าไปหา เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็ได้คบหา สมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตมาแล้ว แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็จักคบหาสมาคมเข้าไปหา เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็จักคบหาสมาคม เข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต นี้ชื่อว่าอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย [๘๑๙] สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก เหล่านั้นเป็นไฉน กิเลสวัตถุ ๑๐ คือ ๑. โลภะ (ความอยากได้) ๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) ๓. โมหะ (ความหลง) ๔. มานะ (ความถือตัว) ๕. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ๖. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ๗. ถีนะ (ความท้อแท้) ๘. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๙. อหิริกะ (ความไม่ละอาย) ๑๐. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว) กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านี้อันสัตว์เหล่าใดส้องเสพ เจริญ ทำให้มากเพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๗}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

[๘๒๐] สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุน้อย เหล่านั้นเป็นไฉน กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านี้สัตว์เหล่าใดไม่ส้องเสพ ไม่เจริญ ไม่ทำให้มาก ไม่ เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่ามีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุน้อย [๘๒๑] สัตว์ทั้งหลายที่มีอินทรีย์อ่อน เหล่านั้นเป็นไฉน อินทรีย์ ๕ ๑- คือ ๑. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา) ๒. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ) ๓. สตินทรีย์ (อินทรีย์คือสติ) ๔. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ) ๕. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา) อินทรีย์ ๕ เหล่านี้อันสัตว์เหล่าใดไม่ส้องเสพ ไม่เจริญ ไม่ทำให้มาก ไม่ ทำให้เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้มีอินทรีย์อ่อน [๘๒๒] สัตว์ทั้งหลายที่มีอินทรีย์แก่กล้า เหล่านั้นเป็นไฉน อินทรีย์ ๕ เหล่านี้อันสัตว์เหล่าใดส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้มีอินทรีย์แก่กล้า [๘๒๓] สัตว์ทั้งหลายผู้มีอาการชั่ว เหล่านั้นเป็นไฉน สัตว์เหล่านั้นใดมีอาสวะชั่ว มีอนุสัยชั่ว มีจริตชั่ว มีอัธยาศัยชั่ว มีธุลีคือ กิเลสในปัญญาจักษุมาก มีอินทรีย์อ่อน สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้มีอาการชั่ว [๘๒๔] สัตว์ทั้งหลายผู้มีอาการดี เหล่านั้นเป็นไฉน สัตว์เหล่านั้นใดที่มีอาสยะดี มีจริตดี มีอัธยาศัยดี มีธุลีคือกิเลสในปัญญา จักษุน้อย มีอินทรีย์แก่กล้า สัตว์เหล่านั้นนี้ชื่อว่าผู้มีอาการดี [๘๒๕] สัตว์ทั้งหลายผู้ที่แนะนำให้เข้าใจได้ยาก เหล่านั้นเป็นไฉน ก็สัตว์เหล่าใดมีอาการชั่ว สัตว์เหล่านั้นแลชื่อว่าผู้แนะนำให้เข้าใจได้ยาก ส่วนสัตว์เหล่าใดมีอาการดี สัตว์เหล่านั้นแลชื่อว่าผู้แนะนำให้เข้าใจได้ง่าย [๘๒๖] สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ควรบรรลุธรรม เหล่านั้นเป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน เช่นศรัทธาเป็นใหญ่ในการครอบงำความไม่มีศรัทธาเป็นต้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๘}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

สัตว์เหล่านั้นใดประกอบด้วยเครื่องกางกั้นคือกรรม ประกอบด้วยเครื่องกางกั้น คือกิเลส ประกอบด้วยเครื่องกางกั้นคือวิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มี ปัญญาทราม ไม่ควรที่จะหยั่งลงสู่มรรคคือสัมมัตตนิยาม๑- ในสภาวธรรมที่เป็นกุศล ทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้ไม่ควรบรรลุธรรม [๘๒๗] สัตว์ทั้งหลายผู้ควรบรรลุธรรม เหล่านั้นเป็นไฉน สัตว์เหล่านั้นใดไม่ประกอบด้วยเครื่องกางกั้นคือกรรม ไม่ประกอบด้วยเครื่อง กางกั้นคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยเครื่องกางกั้นคือวิบาก มีศรัทธา มีฉันทะ มี ปัญญา ควรที่จะหยั่งลงสู่มรรคคือสัมมัตตนิยามในสภาวธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้ควรบรรลุธรรม ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายนั้น นี้ชื่อว่า พระตถาคตทรงทราบความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของสัตว์เหล่าอื่นของบุคคล เหล่าอื่นตามความเป็นจริง (๖)
๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ผ่องแผ้วและการออกจากฌานเป็นต้นตามเป็นจริง)
[๘๒๘] พระตถาคตทรงทรงทราบความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่ง ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ และความออกจากฌานเป็นต้นนั้นตามความ เป็นจริง เป็นไฉน โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌาน ๔ จำพวกชื่อว่าฌายี คือ โยคาวจรบุคคลผู้เจริญ ฌานบางคนสำคัญฌานที่ตนได้แล้วนั่นแหละผิดจากว่ายังไม่ได้ก็มี โยคาวจรบุคคลผู้ เจริญฌานบางคนสำคัญฌานที่ตนยังไม่ได้นั่นแหละผิดไปว่าได้แล้วก็มี โยคาวจร- บุคคลผู้เจริญฌานบางคนสำคัญฌานที่ตนได้แล้วนั่นแหละว่าได้แล้วก็มี โยคาวจร- บุคคลผู้เจริญฌานบางคนสำคัญฌานที่ตนยังไม่ได้นั่นแหละว่ายังไม่ได้ก็มี เหล่านี้ชื่อ ว่าโยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌาน ๔ จำพวก @เชิงอรรถ : @ มรรค คือข้อกำหนดถึงความเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ๑๐ ประการ ๘ ข้อข้างต้นตรงกับมรรค ๘ เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ @สัมมาญาณ (รู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (พ้นชอบ) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อเสขธรรม (ธรรมของพระอเสขะ) @(ที.ป. ๑๑/๓๔๘/๒๔๐, ๓๖๐/๒๘๒, อภิ.วิ.อ. ๘๒๖/๔๙๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๒๙}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานอีก ๔ จำพวก คือ โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌาน บางคนเข้าฌานได้ช้าแต่ออกได้เร็วก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานบางคนเข้าฌาน เร็วแต่ออกช้าก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานบางคนเข้าฌานได้ช้าและออกช้าก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานบางคนเข้าฌานได้เร็วและออกได้เร็วก็มี เหล่านี้ชื่อว่า โยคาวจรบุคคล ๔ จำพวก โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานอีก ๔ จำพวก คือ โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌาน บางคนเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดสมาธิในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการกำหนดสมาบัติ ในสมาธิก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานบางคนเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดสมาบัติ ในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการกำหนดสมาธิในสมาธิก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌาน บางคนเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดสมาธิในสมาธิและฉลาดในการกำหนดสมาบัติใน สมาธิก็มี โยคาวจรบุคคลผู้เจริญฌานบางคนเป็นผู้ไม่ฉลาดในการกำหนดสมาธิใน สมาธิ ไม่ฉลาดในการกำหนดสมาบัติในสมาธิก็มี เหล่านี้ชื่อว่าโยคาวจรบุคคลผู้ เจริญฌาน ๔ จำพวก คำว่า ฌาน ได้แก่ ฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน คำว่า วิโมกข์ ได้แก่ วิโมกข์ ๘ คือ โยคาวจรบุคคลผู้ได้รูปฌานโดยทำ บริกรรมในรูปภายในตนย่อมเห็นรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๑ โยคาวจรบุคคลผู้ได้อรูปฌานโดยทำบริกรรมในรูปภายในตนย่อมเห็นรูปทั้งหลาย ในภายนอกตน นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๒ โยคาวจรบุคคลเป็นผู้น้อมจิตไปว่า งามแท้ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๓ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา และเพราะไม่ได้มนสิการซึ่งนานัตตสัญญา โยคาวจรบุคคลจึงบรรลุอากาสานัญจา- ยตนฌาน โดยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุดดังนี้อยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๔ เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจรบุคคลจึง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้อยู่ นี้ชื่อว่า วิโมกข์ข้อที่ ๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๓๐}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจรบุคคลจึง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยบริกรรมว่าอะไรๆ ก็ไม่มี ดังนี้อยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ ข้อที่ ๖ เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจรบุคคลจึง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๗ เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจร- บุคคลจึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ ๘ คำว่า สมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๓ คือ ๑. สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร) ๒. อวิตักกวิจารปัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) ๓. อวิตักกอวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร) คำว่า สมาบัติ ได้แก่ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ คือ ๑. ปฐมฌานสมาบัติ ๒. ทุติยฌานสมาบัติ ๓. ตติยฌานสมาบัติ ๔. จตุตถฌานสมาบัติ ๕. อากาสานัญจายตนสมาบัติ ๖. วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ๗. อากิญจัญญายตนสมาบัติ ๘. เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ๙. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ๑- บทว่า ความเศร้าหมอง ได้แก่ สภาวธรรมที่เป็นฝ่ายเสื่อม บทว่า ความผ่องแผ้ว ได้แก่ สภาวธรรมที่เป็นฝ่ายคุณวิเศษ บทว่า ความออก ได้แก่ แม้ความผ่องแผ้ว ก็ชื่อว่าความออก แม้ความ ออกจากสมาธินั้นๆ ก็ชื่อว่าความออก @เชิงอรรถ : @ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หมายถึงสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนามี ๒ คือ อสัญญสมาบัติ และนิโรธ- @สมาบัติ ที่เป็นอสัญญสมาบัติมีแก่ปุถุชน ที่เป็นนิโรธสมาบัติ มีเฉพาะแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์ @ผู้ชำนาญในสมาบัติ ๘ ข้างต้นแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าได้ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๗๓๕/๒๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๓๑}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมา- ทิฏฐิในความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว ความออกจากฌาน นี้ชื่อว่าพระตถาคต ทรงทราบความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ และความออกจากฌานเป็นต้นนั้นตามความเป็นจริง (๗)
๘. ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้)
[๘๒๙] พระตถาคตทรงทราบการระลึกชาติในหนหลังตามความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงระลึกชาติในหนหลังได้หลายๆ ชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายสังวัฏฏกัปบ้าง หลายวิวัฏฏกัปบ้าง หลายสังวัฏฏวิวัฏฏกัปบ้างว่า เราอยู่ในภพโน้น เป็นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีวรรณะอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุอย่างนี้ เรานั้นจุติจากชาตินั้นแล้วจึงไปเกิด ในภพโน้น เราอยู่ในภพนั้น เป็นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีวรรณะอย่างนี้ มี อาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุอย่างนี้ เรานั้นจุติจากชาติ นั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้ พระตถาคตทรงระลึกชาติในหนหลังได้หลายๆ ชาติพร้อม ทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในการระลึกชาตินั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบการระลึกชาติหนหลังตามความ เป็นจริง (๘)
๙. จุตูปปาตญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามธรรม)
[๘๓๐] พระตถาคตทรงทราบความจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตาม ความเป็นจริง เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๓๒}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๖. ญาณวิภังค์]

๑๐. ทสกนิทเทส

พระตถาคตในโลกนี้ทรงมีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของสามัญมนุษย์ ทรง เห็นสัตว์ผู้กำลังจุติ อุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณเลว ไปสุคติ ไปทุคติ ย่อมทรงทราบเหล่าสัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ประกอบด้วยกาย- ทุจริต ประกอบด้วยวจีทุจริต ประกอบด้วยมโนทุจริต กล่าวใส่ร้ายพระอริยะ เป็น มิจฉาทิฏฐิ สมาทานมิจฉาทิฏฐิกรรม สัตว์เหล่านั้นหลังจากตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือสัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต ประกอบด้วย วจีสุจริต ประกอบด้วยมโนสุจริต ไม่กล่าวใส่ร้ายพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ สมาทาน สัมมาทิฏฐิกรรม สัตว์เหล่านั้นหลังจากตายแล้วจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ พระ ตถาคตทรงมีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงสามัญมนุษย์ ทรงเห็นเหล่าสัตว์ผู้กำลังจุติ อุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณเลว ไปสุคติ ไปทุคติ ทรงทราบเหล่า สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในการจุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบการ จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริง (๙)
๑๐. อาสวักขยญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ)
[๘๓๑] พระตถาคตทรงทราบความสิ้นอาสวะตามความเป็นจริง เป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ทรงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง เข้าถึงอยู่ในทิฏฐิธรรม ด้วยอาการอย่างนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิในความสิ้นอาสวะนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบความสิ้นอาสวะตาม ความเป็นจริง (๑๐)
ญาณวิภังค์ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๕๓๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๕๑๗-๕๓๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=35&siri=64              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=11353&Z=11721                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=835              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=35&item=835&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10653              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=35&item=835&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10653                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu35              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/vb16/en/thittila#pts-s805



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :