ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา๑-
ว่าด้วยอุปัชฌายวัตร
เรื่องภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย
[๖๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยังไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือน พร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต๒- เข้าไปบนของบริโภคบ้าง @เชิงอรรถ : @ วิ.จู. ๗/๓๗๕-๓๗๖/๑๗๔-๑๘๐ @ บาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต (อุตฺติฏฺฐปตฺตนฺติ ปิณฺฑาย จรณกปตฺตํ -วิ.อ. ๓/๖๔-๖๕/๓๒), พวกมนุษย์ @สำคัญบาตรนั้นว่าเป็นเดน (วิ.อ. ๓/๖๔-๖๕/๓๒), ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๔/๒๘๑, วิมติ.ฏีกา ๒/๖๔/๑๓๐-๑๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่ม ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสาย ศากยบุตร ทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลาย กำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของ บริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ใน สถานที่เลี้ยงพราหมณ์ฉะนั้นเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นกล่าวตำหนิอ ประณาม โพนทะนา บรรดา ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึง ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มี มารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของ ลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดัง แม้ในโรงฉันบ้าง จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษ เหล่านั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต เข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังแม้ในโรงฉันบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่ เลื่อมใสให้ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวก ก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ทรงอนุญาตอุปัชฌาย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้ว ได้ตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยประการต่างๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตาม กับเรื่องนั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า [๖๕] ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิท สนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริก๑- จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติ กลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
วิธีถืออุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงถืออุปัชฌาย์อย่างนี้ สัทธิวิหาริกพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด @เชิงอรรถ : @ สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วยกัน เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด @ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็น อุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด” อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า “จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกถือแล้ว อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย และวาจา อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกยังมิได้ถือ
อุปัชฌายวัตร
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติโดยชอบในอุปัชฌาย์ วิธีประพฤติ โดยชอบในอุปัชฌาย์นั้นมีดังนี้ สัทธิวิหาริกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันข้าวต้มเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด๑- ล้างแล้วเก็บงำไว้ เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ถ้าอุปัชฌาย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ ถึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓ ๒- คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา สมณะของอุปัชฌาย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่ @เชิงอรรถ : @ ไม่ให้ครูดพื้น (วิ.อ. ๓/๖๖/๓๖) @ มณฑล ๓ คือ ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) ต้องห่มปิดหลุมคอและทำชายจีวรทั้ง ๒ ข้างให้เสมอกัน @ถ้าเป็นอ้นตรวาสก ต้องนุ่งปิดสะดือ และปิดเข่าทั้ง ๒ ข้าง (ดู วิ.มหา.(แปล) ๒/๕๗๖-๕๗๗/๖๕๐-๖๕๑ @และ วิ.อ. ๒/๕๗๖-๕๗๗/๔๔๗-๔๔๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

เมื่ออุปัชฌาย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อุปัชฌาย์กล่าวถ้อยคำ ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย เมื่ออุปัชฌาย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌาย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่ง ทิ้งไว้ที่แดด พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ เรือนไฟเดินตามหลังอุปัชฌาย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวายจุรณและดิน ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

พึงทำบริกรรม๑- แก่อุปัชฌาย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ พึงทำบริกรรม๒- แก่อุปัชฌาย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัว ให้แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอุปัชฌาย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน มาถวายอุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม อุปัชฌาย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร เตียง ตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ บานประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออกมาวาง ณ ที่สมควร ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง พึงเช็ด ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน @เชิงอรรถ : @ ทำบริกรรมในเรือนไฟ หมายถึงการถวายขี้เถ้า ดินเหนียว และน้ำร้อนเป็นต้น (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘) @ ทำบริกรรมในน้ำ หมายถึงการขัดถูร่างกาย (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความรำคาญ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความเห็นผิด สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์ต้องอาบัติหนัก๑- ควรแก่ปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌาย์” @เชิงอรรถ : @ อาบัติหนัก ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม” ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต๑- สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์” ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน๒- สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์” ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม๓- คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม๔- แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการ ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือ พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึง ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย” @เชิงอรรถ : @ มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึงนับ @ราตรี ๖ ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดก่อน จึงจะขอ @มานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต ๖ ราตรี (กงฺขา.อ. ๑๗๘) @ อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ ๖ ราตรีแล้ว ขออัพภาน @จากสงฆ์ ๒๐ รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่ @ร่วมกับภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. ๑๗๘-๑๗๙) @ ทำกรรม หมายถึงลงโทษ @ ตัชชนียกรรม คือ การขู่, การปราม (วิ.ม. ๕/๔๐๗-๔๐๘/๒๐๔-๒๐๕) @นิยสกรรม คือ การถอดยศ, การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. ๕/๔๑๒/๒๐๗, ๔๒๓/๒๑๒) @ปัพพาชนียกรรม คือ การไล่ออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. ๕/๔๑๓/๒๐๘) @ปฏิสารณียกรรม คือ การให้ระลึกความผิด (วิ.ม. ๕/๔๑๔/๒๐๘) @อุกเขปนียกรรม คือ การกันออกจากหมู่, การยกออกจากหมู่ (วิ.ม. ๕/๔๑๕/๒๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวาย ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์” ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการ ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์” ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการ ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์” ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวน ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะ ย้อมจีวร พึงย้อม พลิกกลับไปกลับมาดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตร ของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่ พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้ ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึง สั่งภิกษุบางรูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึง พาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึง สั่งภิกษุบางรูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย สัทธิวิหาริกไม่บอกลาอุปัชฌาย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป ต่างถิ่น๑- ถ้าอุปัชฌาย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอุปัชฌาย์นั้น จะหาย
อุปัชฌายวัตตกถา จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายถึงไปอยู่ที่อื่น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๓/๒๙๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๘๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๗๙-๘๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=19              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=1514&Z=1678                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=77              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=77&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=698              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=77&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=698                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic25 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:25.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.24.8



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :