ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ
ว่าด้วยการลงทัณฑกรรมสามเณร
[๑๐๗] สมัยนั้น สามเณรทั้งหลายไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความ ประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสามเณรจึงได้ ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง มีความประพฤติไม่เข้ากันกับภิกษุทั้งหลายเล่า” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่ สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย ๒. พยายามเพื่อความพินาศแก่ภิกษุทั้งหลาย ๓. พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย ๔. ด่า บริภาษภิกษุทั้งหลาย ๕. ยุยงภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๖๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๔๓. ทัณฑกัมมวัตถุ

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า “จะพึงลงทัณฑกรรมอย่างไรหนอ” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรมคือการห้าม”
เรื่องวิธีลงทัณฑกรรม
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมคือห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทุกแห่ง พวกสามเณรเข้าอารามไม่ได้ จึงหลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมคือห้ามสังฆาราม ทุกแห่ง รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลงทัณฑกรรม คือ ห้ามเฉพาะที่อยู่ของตนหรือที่ที่ตนจะเข้าไป”
เรื่องห้ามฉันทางปาก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรม คือห้ามฉันอาหารทางปาก๑- มนุษย์ ทั้งหลายต้มน้ำยาคูบ้าง ทำสังฆภัตบ้าง นิมนต์พวกสามเณรว่า “จงมาดื่มยาคูเถิด ขอรับ จงมาฉันภัตตาหารเถิด ขอรับ” พวกสามเณรกล่าวว่า “พวกอาตมาทำอย่างนั้นไม่ได้ดอกโยม เพราะภิกษุ ทั้งหลายได้ลงทัณฑกรรมห้ามไว้” มนุษย์ทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงได้ลงทัณฑกรรรม ห้ามฉันอาหารทางปากเล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงลงทัณฑกรรมห้ามฉันอาหาร ทางปาก รูปใดลง ต้องอาบัติทุกกฏ”
ทัณฑกัมมวัตถุ จบ.
@เชิงอรรถ : @ ห้ามฉันอาหารทางปาก หมายถึงห้ามอย่างนี้ว่า “วันนี้ เธออย่าเคี้ยว อย่าฉัน” (วิ.อ. ๓/๑๐๗/๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๗๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๔๕. อปลาฬนวัตถุ

๔๔. อนาปุจฉาวรณวัตถุ
ว่าด้วยการกักกันสามเณรโดยไม่บอกอุปัชฌาย์
[๑๐๘] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไม่ถามพระอุปัชฌาย์ก่อน ได้กักกัน พวกสามเณรไว้ พระอุปัชฌาย์ตามหาด้วยนึกสงสัยว่า “ทำไมหนอ พวกสามเณร ของเราจึงหายไป” ภิกษุทั้งหลายได้เรียนว่า “พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กักกันไว้ ขอรับ” พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายพากัน ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไม่ถามพวกเราก่อนกักกันสามเณรทั้งหลายของพวกเราไว้เล่า” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ขออนุญาตอุปัชฌาย์ก่อน ไม่พึงทำการกักกันสามเณรไว้ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”
๔๕. อปลาฬนวัตถุ
ว่าด้วยการเกลี้ยกล่อมสามเณร
ทรงห้ามเกลี้ยกล่อมสามเณร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากันเกลี้ยกล่อมพวกสามเณรของภิกษุผู้เป็น เถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายต้องหยิบไม้ชำระฟันบ้าง ตักน้ำล้างหน้าบ้าง ด้วยตนเอง ย่อมลำบาก จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงเกลี้ยกล่อมบริษัทของภิกษุอื่น รูปใดเกลี้ยกล่อม ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๗๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๔๖. กัณฏกสามเณรวัตถุ

๔๖. กัณฏกสามเณรวัตถุ
ว่าด้วยการนาสนะ๑- สามเณรกัณฏกะ
องค์ ๑๐ สำหรับนาสนะสามเณร
สมัยนั้น สามเณรของท่านพระอุปนันทศากยบุตรชื่อกัณฏกะ ได้ประทุษร้าย ภิกษุณีชื่อกัณฏกี ภิกษุทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสามเณร จึงได้ ประพฤติไม่สมควรเช่นนี้เล่า” จึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะสามเณรผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๑๐ คือ ๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ ๓. ประพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ ๔. พูดเท็จ ๕. ดื่มน้ำเมา ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์ ๙. มีความเห็นผิด ๑๐. ประทุษร้ายภิกษุณี ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นาสนะสามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เหล่านี้” @เชิงอรรถ : @ นาสนะ มี ๓ อย่าง คือ (๑) สังวาสนาสนะ ไล่ออกจากการร่วมกิจกรรม (๒) ลิงคนาสนะ ไล่สึก @(๓) ทัณฑกรรม ลงโทษไล่ให้พ้นจากสังกัด ในที่นี้ หมายเอาลิงคนาสนะ คือไล่สึก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/๔๒๐, @วิ.อ. ๓/๑๐๘/๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๖๙-๑๗๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=41              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=3418&Z=3480                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=121              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=121&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1735              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=121&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1735                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic57 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:57.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.57



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :