บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖ [๔๔๐] ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลง ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้ เสียเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลาย แล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกร- ปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็น สิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราใน อัตภาพนี้เถิด ฯ พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะ เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความ ไม่เกิดอีก ฯจบปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖ [๔๔๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาสาณเจดีย์ในมคธชนบท ได้ตรัสปารายนสูตรนี้ อันพราหมณ์มาณพ ๑๖ คน ผู้เป็น บริวารของพราหมณ์พาวรี ทูลอาราธนาแล้ว ได้ตรัสพยากรณ์ ปัญหา แม้หากว่าการกบุคคลรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแห่ง ปัญหาหนึ่งๆ แล้วพึงปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมไซร้ การกบุคคลนั้น ก็พึงถึงฝั่งโน้นแห่งชราและมรณะได้แน่แท้ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การถึงฝั่งโน้น เพราะเหตุนั้น คำว่าปรายนะ จึงเป็นชื่อแห่งธรรมปริยายนี้ ฯ [๔๔๒] พราหมณ์มาณพผู้อาราธนาทูลถามปัญหา ๑๖ คนนั้น คือ อชิตมาณพ ๑ ติสสเมตเตยยมาณพ ๑ ปุณณกมาณพ ๑ เมตตคูมาณพ ๑ โธตกมาณพ ๑ อุปสีวมาณพ ๑ นันทมาณพ ๑ เหมกมาณพ ๑ โตเทยยมาณพ ๑ กัปปมาณพ ๑ ชตุกัณณี- มาณพผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธมาณพ ๑ อุทยมาณพ ๑ โปสาลพราหมณ์มาณพ ๑ โมฆราชมาณพผู้มีปัญญา ๑ ปิงคิยมาณพผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คนนี้ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงมี จรณะอันสมบูรณ์ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คน ได้เข้าไปเฝ้า ทูลถามปัญหาอันละเอียด กะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีได้ตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พราหมณ์มาณพ เหล่านั้นทูลถามแล้วตามจริงแท้ ทรงให้พราหมณ์มาณพ ทั้งหลายยินดีแล้ว ด้วยการตรัสพยากรณ์ปัญหาทุกๆ ปัญหา พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คนเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ผู้มีจักษุให้ยินดีแล้ว ได้ประพฤติ พรหมจรรย์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาอัน ประเสริฐ เนื้อความแห่งปัญหาหนึ่งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรง- แสดงแล้วด้วยประการใด ผู้ใดพึงปฏิบัติตามด้วยประการนั้น ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ผู้นั้นเจริญมรรคอันอุดมอยู่ ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ธรรมปริยายนั้นเป็นทางเพื่อไป สู่ฝั่งโน้น เพราะฉะนั้น ธรรมปริยายนั้นจึงชื่อว่า ปรายนะ ฯ [๔๔๓] ปิงคิยมาณพกล่าวคาถาว่า อาตมาจักขับตามภาษิตเครื่องไปยังฝั่งโน้น (อาตมาขอกล่าว ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นแล้วด้วยพระญาณ) พระ- พุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ปราศจากมลทิน มีพระปัญญากว้างขวาง ไม่มีความใคร่ ทรงดับกิเลสได้แล้ว จะพึงตรัสมุสาเพราะ เหตุอะไร เอาเถิด อาตมาจักแสดงวาจาที่ควรเปล่งอันประกอบ ด้วยคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงละความหลงอันเป็นมลทิน ได้แล้ว ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้เด็ดขาด ดูกร ท่านพราหมณาจารย์ พระพุทธเจ้าทรงบรรเทาความมืด มี พระจักษุรอบคอบ ทรงถึงที่สุดของโลก ทรงล่วงภพได้ ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ได้ทั้งปวง มีพระนามตาม ความเป็นจริงว่า พุทโธอันอาตมาเข้าเฝ้าแล้ว นกพึงละป่าเล็ก แล้วมาอยู่อาศัยป่าใหญ่อันมีผลไม้มาก ฉันใด อาตมา มาละ คณาจารย์ผู้มีความเห็นน้อยแล้ว ได้ประสบพระพุทธเจ้าผู้มี ความเห็นประเสริฐ เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ แม้ฉันนั้น ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เหล่าใด ได้พยากรณ์ ลัทธิของตนแก่อาตมาในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้ว อย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำพยากรณ์ของอาจารย์เหล่านั้น ทั้งหมด ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้น เป็น เครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น (อาตมาไม่พอใจในคำ พยากรณ์นั้น) พระโคดมพระองค์เดียวทรงบรรเทาความมืด สงบระงับ มีพระรัศมีโชติช่วง มีพระปัญญาเป็นเครื่อง ปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทรงแสดงธรรม อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา ฯ พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์กล่าวคาถาถามพระปิงคิยะว่า ท่านปิงคิยะ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่ท่าน เพราะเหตุไร หนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระ- ปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาลแม้ครู่หนึ่งเล่า ฯ พระปิงคิยะกล่าวคาถาตอบพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ว่า ท่านพราหมณ์ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา อาตมา มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็น เครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาล แม้ครู่หนึ่ง ท่านพราหมณ์ อาตมาไม่ประมาททั้งกลางคืน กลางวัน เห็นอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ ฉะนั้น อาตมานมัสการอยู่ซึ่งพระ- พุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นตลอดราตรี อาตมามาสำคัญความ ไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ด้วยความไม่ ประมาทนั้น ศรัทธา ปีติ มานะ และสติของอาตมา ย่อมน้อมไปในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้โคดม พระ- พุทธเจ้าผู้โคดมผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ประทับอยู่ยังทิศาภาค ใดๆ อาตมานั้นเป็นผู้นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ นั่นแล ร่างกายของอาตมาผู้แก่แล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง ท่านพราหมณ์ อาตมาไปสู่พระพุทธเจ้าด้วยการไปแห่งความ ดำริเป็นนิตย์ เพราะว่าใจของอาตมาประกอบแล้วด้วยพระ- พุทธเจ้านั้น อาตมานอนอยู่บนเปือกตม คือกาม ดิ้นรนอยู่ (เพราะตัณหา) ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้งนั้นอาตมา ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ฯ (ในเวลาจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีแล้ว ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง ทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองไปแล้ว พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่ พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็น พระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรี ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองแล้ว เมื่อจะ ตรัสเรียกแต่พระปิงคิยะองค์เดียว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า) ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว (ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ) ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ พระปิงคิยะเมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตนจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง เพราะได้ฟังพระวาจาของ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมี ปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง ทรง- ทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต พระองค์เป็น ศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่เหล่าชนผู้มีความ สงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำ ไปได้ เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้ ข้าพระองค์ ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว (ในนิพพาน) ด้วย ประการนี้แล ฯจบปารายนวรรคที่ ๕ ----------------------------------------------------- รวมพระสูตรที่มีในสุตตนิบาตนี้ คือ [๔๔๔] ๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนีสูตร วรรคที่ ๑ นี้มีเนื้อความ ดีมาก รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคผู้มี- พระจักษุหามลทินมิได้ ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต ทั้งหลายได้สดับกันมาว่า อุรควรรค ฯ ๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร ๔. มังคลสูตร ๕. สุจิโลมสูตร ๖. ธรรมจริยสูตร ๗. พราหมณธรรม- มิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กึสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธรรมิกสูตร วรรคที่ ๒ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ในวรรคที่ ๒ นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๒ นั้นว่า จุฬกวรรค ฯ ๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาษิตสูตร ๔. สุนทริกสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร วรรคที่ ๓ นี้ รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ ดีแล้วในวรรคที่ ๓ บัณฑิตได้สดับกันมามีชื่อว่า มหาวรรค ฯ ๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สาริปุตตสูตร วรรคที่ ๔ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้วในวรรคที่ ๔ บัณฑิต- ทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๔ นั้นว่า อัฏฐกวรรค ฯ พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐในคณะ ประทับอยู่ ณ ปาสาณก- เจดีย์อันประเสริฐ อันบุคคลตกแต่งไว้ดีแล้ว ในมคธชนบท เป็นรัมณียสถาน เป็นประเทศอันสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย แห่งบุคคลผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้ว อนึ่ง ได้ยินว่า พระผู้มี พระภาคอันพราหมณ์ ๑๖ คน ทูลถามปัญหาแล้ว ได้ทรง ประกาศประทานธรรมกะชนทั้งสองพวกผู้มาประชุมกันเต็มที่ ณ ปาสาณกเจดีย์ ในบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการ ถามโสฬสปัญหา พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะ ผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงธรรมอันประกาศอรรถบริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ เป็นที่เกิดความเกษมอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันวิจิตร ด้วยธรรมเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะ และ อรรถ มีความเปรียบเทียบซึ่งหมายรู้กันแล้วด้วยอักขระอัน มั่นคง เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันไม่มี มลทินเพราะมลทินคือราคะ มลทินคือโทสะ มลทินคือโมหะ เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่งความ แจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตรอัน ประเสริฐ อันไม่มีมลทินเพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือ ทุจริต เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่ง ความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ กิเลสเป็นเครื่องผูก กิเลสเป็นเครื่องประกอบ นิวรณ์ และมลทินทั้ง ๓ ของ โลกนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประเสริฐหามลทินมิได้ เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้า หมองทุกอย่าง เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความ หวั่นไหว ไม่มีความโศก เป็นธรรมอันละเอียด ประณีตและ เห็นได้ยาก ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ อันหักราน ราคะและโทสะให้สงบ เป็นเครื่องตัดกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕ ความยินดีในพื้นฐาน คือ ตัณหา เป็นเครื่องต้านทานและเป็น เครื่องพ้น ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ลึกซึ้งเห็น ได้ยากและละเอียดอ่อน มีอรรถอันละเอียดบัณฑิตควรรู้แจ้ง เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรง แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ดุจดอกไม้เครื่องประดับอันยั่งยืน ๙ ชนิด อันจำแนกอินทรีย์ ฌานและวิโมกข์ มีมรรคมีองค์ ๘ เป็นยานอย่างประเสริฐ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรง แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ เปรียบด้วยห้วงน้ำวิจิตรด้วยรตนะ เสมอด้วยดอกไม้ มีเดช อันเปรียบด้วยพระอาทิตย์ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม ให้สุข เย็นสงบ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อต้านมัจจุ เป็นเหตุ ให้เห็นนิพพานอันดับกิเลสสนิทดีแล้วของโลกนั้น ฯจบสุตตนิบาต ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๑๔๐๕-๑๑๖๑๓ หน้าที่ ๔๙๒-๕๐๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=11405&Z=11613&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=25&A=11405&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=298 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=440 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=25&A=11392 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=10200 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=25&A=11392 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=10200 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i424-e.php#sutta17 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.5.16.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.5.16.irel.html https://suttacentral.net/snp5.17/en/mills https://suttacentral.net/snp5.17/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.17/en/sujato https://suttacentral.net/snp5.18/en/mills https://suttacentral.net/snp5.18/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.18/en/sujato https://suttacentral.net/snp5.19/en/mills https://suttacentral.net/snp5.19/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.19/en/sujato
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]