พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


: ค้นหาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ :


458 ปริพพาชกกับพระพุทธเจ้า

ปัญหา พวกปริพพาชกก็อ้างว่า เขาก็สอนเรื่องนิวรณ์ ๕ และ โพชฌงค์ ๗ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า อะไรเป็นข้อแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับพวกปริพพาชก ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเดียรถีย์.... ผู้มีวาทะอย่างนี้เธอทั้งหลายควรถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็ปริยาย (วิธีอธิบาย) ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วจะกลายเป็น ๑๐ อย่าง หรือที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้ว จะกลายเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ? พวกปริพพาชก ถูกเธอทั้งหลายถามแล้วอย่างนี้จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง เพราะเหตุไร? เพราะนั่นเป็นปัญหาในเรื่อง มิใช่วิสัยของพวกปริพพาชก
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิธีอธิบายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วจะกลายเป็น ๑๐ อย่าง คืออย่างไร?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้กามฉันทะที่เป็นภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะที่เป็นภายนอกก็เป็นนิวรณ์ แม้โดยปริยายนี้ กามฉันทนิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง แม้พยาบาทภายใน แม้พยาบาทภายนอก ก็เป็นนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ก็เป็น ๒ อย่าง แม้ถีนะ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์นั้นก็เป็น ๒ อย่าง แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์....อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง วิจิกิจฉาในธรรมที่เป็นภายในก็เป็นนิวรณ์ แม้วิจิกิจฉาในธรรมภายนอกก็เป็นนิวรณ์.... วิจิกิจฉานิวรณ์ก็เป็น ๒ อย่าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วกลายเป็น ๑๐ อย่าง
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วกลายเป็น ๑๔ คือ อย่างไร?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สติในธรรมภายใน...แม้สติในธรรมภายนอก ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์... ดังนี้สติสติสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ แม้ธรรมทั้งหลายในภายใน... แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอก ที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญาก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์...ธัมมวิจนสัมโพชฌงค์....วิริยโพชฌงค์... ก็เป็น ๒ อย่าง... แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ .... ปีติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง... แม้ความสงบกาย... แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ก็เป็น ๒ อย่าง .... แม้สมาธิที่มีวิตกเป็น ๒ อย่าง แม้อุเบกขาในธรรมภายใน.... แม้อุเบกขาในธรรมภายนอกเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์...อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง...
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือวิธีอธิบายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วกลายเป็น ๑๔ อย่าง”

ปริยายสูตร มหา. สํ. (๕๕๑-๕๖๗)
ตบ. ๑๙ : ๑๕๒-๑๕๕ ตท. ๑๙ : ๑๕๓-๑๕๕
ตอ. K.S. ๕ : ๙๒-๙๔

<หน้าก่อน<<< สารบัญ >>>หน้าถัดไป>

:: อธิบายอักษรย่อแหล่งอ้างอิง ::
:: ค้นหาความหมายของศัพท์ จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ::


: ถ้าหน้านี้มีการพิมพ์ผิดขอความกรุณาส่งข้อความถึง webmaster :