ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 11 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 12 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 13 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค
นิโครธมิคชาดก ว่าด้วยการเลือกคบ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นิโคฺรธเมว เสเวยฺย ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุณีนั้นได้เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ในนครราชคฤห์ มีกุศลมูลหนาแน่น มีสังขารอันยํ่ายีแล้ว เป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ (สัตว์ผู้มีภพสุดท้าย) อุปนิสัยแห่งพระอรหัตโพลงอยู่ในหทัยของนาง เหมือนประทีปโพลงอยู่ภายในหม้อ ฉะนั้น.
               ครั้งนั้น จำเดิมแต่กาลที่รู้จักตนแล้ว ธิดาของเศรษฐีนั้นไม่ยินดีในเรือน มีความประสงค์จะบวช จึงกล่าวกะบิดามารดาว่า ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่ จิตใจของข้าพเจ้าไม่ยินดีในฆราวาส ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา อันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ท่านทั้งหลายจงให้ข้าพเจ้าบวชเถิด. บิดามารดากล่าวว่า แม่ เจ้าพูดอะไร ตระกูลนี้มีทรัพย์สมบัติมาก และเจ้าก็เป็นธิดาคนเดียวของเราทั้งหลาย เจ้าไม่ควรจะบวช. นางแม้จะอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ได้การบรรพชาจากสำนักของบิดามารดา. จึงคิดว่า ช่างเถอะ เราไปตระกูลสามียังสามีให้โปรดปรานแล้วจักบวช.
               นางเจริญวัยแล้วไปยังตระกูลสามี เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ครองเหย้าเรือน. ลำดับนั้น เพราะอาศัยการอยู่ร่วม นางก็ตั้งครรภ์. นางไม่รู้ว่าตั้งครรภ์. ครั้งนั้น เขาโฆษณางานนักขัตฤกษ์ในพระนคร ชาวพระนครทั้งสิ้น พากันเล่นงานนักขัตฤกษ์. พระนครได้มีการประดับตกแต่ง เหมือนดังเทพนคร ก็เมื่อการเล่นนักขัตฤกษ์ แม้จะใหญ่ยิ่งเพียงนั้น เป็นไปอยู่. นางก็ไม่ลูบไล้ร่างกายของตน ไม่ประดับประดา เที่ยวไปด้วยเพศตามปรกติ นั่นเอง.
               ลำดับนั้น สามีกล่าวกะนางว่า นางผู้เจริญ นครทั้งสิ้นอาศัยนักขัตฤกษ์ แต่เธอไม่ปฏิบัติร่างกาย ไม่ทำการตกแต่ง เพราะเหตุไร.
               นางจึงกล่าวว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ร่างกายเต็มด้วยซากศพ ๓๒ ประการทีเดียว ประโยชน์อะไรด้วยร่างกายนี้ที่ประดับแล้ว เพราะกายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต ไม่ใช่สำเร็จด้วยทองด้วยแก้วมณี ด้วยจันทน์เหลือง ไม่ใช่เกิดจากห้องแห่งดอกบุณฑริก ดอกโกมุท และดอกอุบลเขียว แต่เต็มไปด้วยคูถ ไม่สะอาด ไม่ใช่เต็มด้วยอมฤตโอสถ
               โดยที่แท้ เกิดในซากศพ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด มีการขัดสีและการนวดฟั้นเป็นนิตย์ และมีการแตกทำลายและการกระจัดกระจายไป เป็นธรรมดา
               รกป่าช้า อันตัณหายึดจับ เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความรํ่าไร เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง เป็นที่รับเครื่องกรรมกรณ์ ของเสียภายในไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายตระกูล จะไปยังป่าช้า มีความตายเป็นที่สุด แม้จะเปลี่ยนแปลงไปในคลองจักษุของชาวโลกทั้งปวง
               กายประกอบด้วยกระดูกและเอ็น ฉาบทาด้วยหนังและเนื้อ เป็นกายที่ถูกผิวหนังปกปิดไว้ ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เต็มด้วยลำใส้ใหญ่ เต็มด้วยท้อง ด้วยตับ หัวไส้ เนื้อหัวใจ ปอด ไต ม้าม นํ้ามูก นํ้าลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี และมันเหลว
                เมื่อเป็นเช่นนั้น ของไม่สะอาดย่อมไหลออกจากช่องทั้ง ๙ ของกายนั้นทุกเมื่อ คือ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากหู และนํ้ามูกไหลออกจากจมูก บางคราวออกทางปาก ดีและเสมหะย่อมไหลออกจากกายเป็นหยดเหงื่อ
               เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีรษะของกายนั้นเป็นโพรงเต็มด้วยมันสมอง คนพาลถูกอวิชชาห่อหุ้ม จึงสำคัญโดยความเป็นของงดงาม กายมีโทษอนันต์ เปรียบเสมอด้วยต้นไม้พิษเป็นที่อยู่ของสรรพโรค ล้วนเป็นกองทุกข์ ถ้ากลับเอาภายในของกายนี้ออกข้างนอก ก็จะต้องถือท่อนไม้ คอยไล่กาและสุนัขเป็นแน่.
               กายไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เป็นดังซากศพ เปรียบเหมือนส้วม ผู้มีจักษุติเตียน แต่คนเขลาเพลิดเพลิน อันหนังสดปกปิดไว้ มีทวาร ๙ มีแผลใหญ่ ของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ไหลออกรอบด้าน
               ก็ในกาลใด กายนั้นนอนตายขึ้นพองมีสีเขียวคลํ้า ถูกทอดทิ้งไว้ในสุสาน ในกาลนั้น ญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงอาลัย สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกย่อมเคี้ยวกินกายนั้น และนกตะกรุม หนอน กา แร้ง และสัตว์ทั้งปวงอื่นๆ ย่อมเคี้ยวกิน
               ก็ภิกษุผู้มีญาณในศาสนานี้นั่นแล ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว ย่อมรู้แจ้งกายนั้น ย่อมเห็นตามเป็นจริงแลว่า ร่างกายนี้ฉันใด ร่างกายนั่นก็ฉันนั้น ร่างกายนั่นฉันใด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น ข้าพเจ้าคายความเพลิดเพลินใน กายทั้งภายในและภายนอกเสียแล้ว.

               ข้าแต่พระลูกเจ้า ข้าพเจ้าจักประดับประดาร่างกายนี้ทำอะไร การกระทำความประดับกายนี้ ย่อมเป็นเหมือนกระทำจิตรกรรมภายนอกหม้อ ซึ่งเต็มด้วยคูถ.
               เศรษฐีบุตรได้ฟังคำของนางดังนั้น จึงกล่าวว่า นางผู้เจริญ เธอเห็นโทษทั้งหลายอย่างนี้แห่งร่างกายนี้ เพราะเหตุไร จึงไม่บวช.
               นางกล่าวว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ข้าพเจ้าเมื่อได้บวช จะบวชวันนี้แหละ.
               เศรษฐีบุตรกล่าวว่า ดีแล้ว ฉันจักให้เธอบวช. แล้วบำเพ็ญมหาทาน กระทำมหาสักการะ แล้วนำไปสำนักของภิกษุณีด้วยบริวารใหญ่ เมื่อจะให้นางบวช ได้ให้บวชในสำนักของภิกษุณี ผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต. นางได้บรรพชาแล้ว มีความดำริเต็มบริบูรณ์ ดีใจแล้ว.
               ครั้งนั้น เมื่อครรภ์ของนางแก่แล้ว ภิกษุณีทั้งหลายเห็นความที่อินทรีย์ทั้งหลายแปรเป็นอื่นไป ความที่หลังมือและเท้าบวม และความที่พื้นท้องใหญ่ จึงถามนางว่า แม่เจ้า เธอปรากฏเหมือนมีครรภ์ นี่อะไรกัน?
               ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า แม่เจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่า เหตุชื่อนี้ แต่ศีลของข้าพเจ้ายังบริบูรณ์อยู่.
               ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำนางภิกษุณีนั้นไปยังสำนักของพระเทวทัต ถามพระเทวทัตว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กุลธิดานี้ยังสามีให้โปรดปรานได้โดยยาก จึงได้บรรพชา. ก็บัดนี้ ครรภ์ของนางปรากฏ ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่า กุลธิดานี้ได้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ หรือในเวลาบวชแล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำอย่างไร.
               เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะขันติ เมตตา และความเอ็นดูไม่มี พระเทวทัตจึงคิดอย่างนี้ว่า ความครหานินทาจักเกิดแก่เราว่า ภิกษุณีผู้อยู่ในฝ่ายของพระเทวทัตมีครรภ์. แต่พระเทวทัตกลับเพิกเฉยเสีย เราให้ภิกษุณีนี้สึก จึงจะควร. พระเทวทัตนั้นไม่พิจารณา แล่นออกไปเหมือนกลิ้งก้อนหิน กล่าวว่า พวกท่านจงให้ภิกษุณีนั้นสึก. ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำของพระเทวทัตแล้ว ลุกขึ้นไหว้ แล้วไปยังสำนัก.
               ลำดับนั้น ภิกษุณีสาวนั้นกล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายว่า แม่เจ้าทั้งหลาย พระเทวทัตเถระไม่ใช่พระพุทธเจ้า การบรรพชาของเราในสำนักของพระเทวทัตนั้น ก็หามิได้ ก็บรรพชาของเราในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลเลิศในโลก. อนึ่ง บรรพชานั้น เราได้โดยยาก ท่านทั้งหลายอย่าทำให้การบรรพชานั้น อันตรธานหายไปเสียเลย มาเถิดท่านทั้งหลาย จงพาเราไปยังพระเชตวัน ในสำนักของพระศาสดา ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาภิกษุณีสาวนั้นไปจากกรุงราชคฤห์ สิ้นหนทาง ๔๕ โยชน์ ถึงพระเชตวันมหาวิหาร โดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาทรงพระดำริว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์ ในเวลาเป็นคฤหัสถ์โดยแท้ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น พวกเดียรถีย์จักได้โอกาสว่า พระสมณโคดมพาภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้ว เที่ยวไปอยู่ เพราะฉะนั้น เพื่อจะตัดถ้อยคำนี้ ควรจะวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ในท่ามกลางบริษัท ซึ่งมีพระราชา. ในวันรุ่งขึ้น จึงให้ทูลเชิญพระเจ้าโกศล และเชิญมหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา และตระกูลใหญ่ๆ อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ในเวลาเย็น เมื่อบริษัททั้ง ๔ ประชุมกันแล้ว จึงตรัสเรียกพระอุบาลีเถระมาว่า เธอจงไปชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ ในท่ามกลางบริษัท ๔.
               พระเถระทูลรับพระดำรัสแล้ว จึงไปยังท่ามกลางบริษัท นั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้เพื่อตน แล้วให้เรียกนางวิสาขาอุบาสิกามาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ให้รับอธิกรณ์นี้ว่า ดูก่อนวิสาขา ท่านจงไป จงรู้โดยถ่องแท้ว่า ภิกษุณีสาวนี้บวชในเดือนโน้น วันโน้น แล้วจงรู้ว่า เธอได้มีครรภ์นี้ก่อน หรือหลังบวช.
               มหาอุบาสิการับคำแล้ว จึงให้วงม่าน ตรวจดูที่สุดมือ เท้า สะดือและท้องของภิกษุณีสาวภายในม่าน นับเดือนและวัน รู้ว่า นางได้ตั้งครรภ์ในภาวะเป็นคฤหัสถ์โดยถ่องแท้ จึงไปยังสำนักของพระเถระแล้วบอกเนื้อความนั้น. พระเถระได้กระทำภิกษุณีนั้นให้เป็นผู้บริสุทธิ์ในท่ามกลางบริษัท ๔. ภิกษุณีนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วไหว้ภิกษุสงฆ์ และถวายบังคมพระศาสดา แล้วไปยังสำนักนั่นแล พร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีนั้นอาศัยครรภ์แก่แล้ว ได้คลอดบุตรมีอานุภาพมาก ผู้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ.
               ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปโดยใกล้ๆ สำนักของภิกษุณี ได้ทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลาย. อำมาตย์ทั้งหลายรู้เหตุนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ภิกษุณีสาวนั้นคลอดบุตรแล้ว นั่นเสียงของบุตรภิกษุณีสาวนั้นนั่นเอง. พระราชาตรัสว่า แน่ะพนาย ชื่อว่า การปรนนิบัติทารก เป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุณีทั้งหลาย พวกเราจักปรนนิบัติทารกนั้น. พระราชาทรงให้มอบทารกนั้นแก่หญิงฟ้อนทั้งหลาย ให้เติบโตโดยการบริหารดูแลอย่างกุมาร. ก็ในวันตั้งชื่อกุมารนั้น ได้ตั้งชื่อว่ากัสสป
               ครั้งนั้น คนทั้งหลายรู้กันว่า กุมารกัสสป เพราะเจริญเติบโต ด้วยการบริหารอย่างกุมาร ในเวลามีอายุได้ ๗ ขวบ กุมารกัสสปนั้นบวชในสำนักของพระศาสดา พอมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็ได้อุปสมบท เมื่อกาลเวลาล่วงไป ได้เป็นผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร ในบรรดาพระธรรมกถึกทั้งหลาย.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตั้งพระกุมารกัสสปนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุมารกัสสปนี้เป็นเลิศแห่งสาวกทั้งหลายของเรา ผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร
               ภายหลัง พระกุมารกัสสปนั้นบรรลุพระอรหัต ในเพราะวัมมิกสูตร. แม้ภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปนั้น เห็นแจ้งแล้วบรรลุพระอรหัต. พระกุมารกัสสปเถระปรากฏในพระพุทธศาสนา ประดุจพระจันทร์เพ็ญในท่ามกลางท้องฟ้า ฉะนั้น.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระตถาคตเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายรับพระโอวาทแล้ว ให้ภาคกลางวันหมดไป ในที่เป็นที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันของตนๆ ในเวลาเย็น ประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งพรรณนาพระพุทธคุณว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำคนทั้งสอง คือพระกุมารกัสสปเถระและพระเถรี ให้พินาศ เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะความไม่มีขันติและเมตตาเป็นต้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นปัจจัยแก่ท่านทั้งสองนั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชา และเพราะทรงถึงพร้อมด้วยพระขันติ พระเมตตา และความเอ็นดู.
               พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภา ด้วยพุทธลีลา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องพระคุณของพระองค์เท่านั้น แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นปัจจัยและเป็นที่พึ่งแก่ชนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อต้องการให้เรื่องนั้นแจ่มแจ้ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในกำเนิดมฤคชาติ. พระโพธิสัตว์ เมื่อออกจากท้องของมารดา ได้มีสีเหมือนดังสีทอง นัยน์ตาทั้งสองของเนื้อนั้นได้เป็นเช่นกับลูกแก้วมณีกลม เขาทั้งคู่มีวรรณะดังเงิน หน้ามีวรรณะดังกองผ้ากัมพลแดง ปลายเท้าหน้าและเท้าหลัง เหมือนทำบริกรรมด้วยรสนํ้าครั่ง ขนหางได้เป็นเหมือนขนจามรี ก็ร่างกายของเนื้อนั้นใหญ่มีขนาดเท่าลูกม้า เนื้อนั้นมีบริวาร ๕๐๐. โดยชื่อ มีชื่อว่า นิโครธมิคราช สำเร็จการอยู่ในป่า. ก็ในที่ไม่ไกลแห่งพระยาเนื้อนิโครธนั้น มีเนื้อแม้อื่นซึ่งมีเนื้อ ๕๐๐ เป็นบริวาร มีชื่อว่า สาขะ อาศัยอยู่ แม้เนื้อสาขะก็มีวรรณะดุจสีทอง.
               สมัยนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงขวนขวายในการฆ่าเนื้อ เว้นเนื้อไม่เสวย ทรงกระทำพวกมนุษย์ให้ขาดการงาน ยังชาวนิคมและชนบททั้งปวงให้ประชุมกัน แล้วเสด็จไปฆ่าเนื้อทุกวัน. พวกมนุษย์คิดกันว่า พระราชานี้ทรงทำพวกเราให้ขาดการงาน ถ้ากระไร พวกเราวางเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดนํ้าดื่มไว้ให้พร้อม ต้อนเนื้อเป็นอันมากให้เข้าไปยังพระราชอุทยาน แล้วปิดประตูมอบถวายพระราชา
               มนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดจึงปลูกผักที่เป็นเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดนํ้าดื่มไว้ให้พร้อม แล้วประกอบประตู ถือบ่วง มือถืออาวุธนานาชนิด มีค้อนเป็นต้น เข้าป่าแสวงหาเนื้อ คิดว่า พวกเราจักจับเนื้อทั้งหลายที่อยู่ตรงกลาง จึงล้อมที่ประมาณ ๑ โยชน์ เมื่อร่นเข้ามาได้ล้อมที่เป็นที่อยู่ของเนื้อนิโครธและเนื้อสาขะไว้ตรงกลาง ครั้นเห็นหมู่เนื้อนั้นจึงเอาไม้ค้อนตีต้นไม้ พุ่มไม้เป็นต้น และตีพื้นดิน ไล่หมู่เนื้อออกจากที่รกชัฏ พากันเงื้ออาวุธทั้งหลายมีดาบ หอกและธนูเป็นต้น บันลือเสียงดัง ต้อนหมู่เนื้อนั้นให้เข้าพระราชอุทยาน แล้วปิดประตู พากันเข้าไปเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระองค์เสด็จไปทรงฆ่าเนื้อเป็นประจำ ทรงทำการงานของข้าพระองค์ทั้งหลายให้เสียหาย พวกข้าพระองค์ต้อนเนื้อทั้งหลายมาจากป่า เต็มพระราชอุทยานของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จะได้เสวยเนื้อของมฤคเหล่านั้น แล้วทูลลาพระราชาพากันหลีกไป.
               พระราชาได้ทรงสดับคำของมนุษย์เหล่านั้นแล้ว เสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเนื้อทั้งหลาย ทรงเห็นเนื้อสีทอง ๒ ตัว จึงได้พระราชทานอภัยแก่เนื้อทั้งสองนั้น ก็ตั้งแต่นั้นมา บางคราวเสด็จไปเอง ทรงฆ่าเนื้อตัวหนึ่งแล้วนำมา บางคราว พ่อครัวของพระองค์ไปฆ่า แล้วนำมา.
               เนื้อทั้งหลายพอเห็นธนูเท่านั้น ถูกความกลัวแต่ความตายคุกคาม พากันหนีไป ได้รับการประหาร ๒-๓ ครั้ง ลำบากไปบ้าง ป่วยไปบ้าง ถึงความตายบ้าง หมู่เนื้อจึงบอกประพฤติเหตุนั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ให้เรียกเนื้อสาขะมาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนสหาย เนื้อเป็นอันมากพากันฉิบหาย เมื่อเนื้อมีอันจะต้องตายโดยส่วนเดียว ตั้งแต่นี้ไป ผู้จะฆ่าจงอย่าเอาลูกศรยิงเนื้อ วาระของเนื้อทั้งหลายจงมีในที่แห่งค้อนของผู้พิพากษา วาระจงถึงแก่บริษัทของเราวันหนึ่ง จงถึงแก่บริษัทของท่านวันหนึ่ง เนื้อตัวที่ถึงวาระจงไปนอนพาดหัวที่ไม้ค้อนของผู้พิพากษา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น เนื้อทั้งหลายจักไม่กลัว เนื้อสาขะรับคำแล้ว.
               ตั้งแต่นั้นมา เนื้อที่ถึงวาระ จะไปนอนพาดคอที่ไม้ค้อนพิพากษา พ่อครัวมาจับเอาเนื้อตัวที่นอนอยู่ ณ ที่นั้น นั่นแหละไป.
               อยู่มาวันหนึ่ง วาระถึงแก่แม่เนื้อผู้มีครรภ์ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทของเนื้อสาขะ แม่เนื้อนั้นเข้าไปหาเนื้อสาขะ แล้วกล่าวว่า เจ้านาย ข้าพเจ้ามีครรภ์ คลอดลูกแล้ว พวกเราทั้งสองจะไปตามวาระ ท่านจงให้ข้ามวาระของข้าพเจ้าไปก่อน. เนื้อสาขะกล่าวว่า เราไม่อาจทำวาระของเจ้าให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่นๆ เจ้าเท่านั้นจักรู้ว่า เจ้ามีบุตร เจ้าจงไปเถอะ. แม่เนื้อนั้น เมื่อไม่ได้ความช่วยเหลือจากสำนักของเนื้อสาขะ จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์บอกเนื้อความนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้ฟังคำของแม่เนื้อนั้น จึงคิดว่า ก็พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เห็นทุกข์ของคนอื่น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิตของตน ประโยชน์ของผู้อื่นจากประโยชน์ตนนั่นแล เป็นสิ่งที่หนักกว่าสำหรับพระโพธิสัตว์เหล่านั้น.
               เหล่านก ปศุสัตว์ มฤคในป่าทั้งหมดย่อมเป็นอยู่ด้วยตนเอง นักปราชญ์ทั้งหลายผู้สงบ ยินดีแล้วในประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ย่อมยังผู้อื่นให้เป็นอยู่ ก็นักปราชญ์เหล่านั้นสละทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เรานั้นเป็นผู้สามารถจักยังเหล่าสัตว์เป็นอันมาก พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย ก็ความไม่มีบุญ เพราะกายอันไร้สาระนี้ เราจักได้ลาภของท่านอันยั่งยืนด้วยตนเองแน่.
               ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า เจ้าจงไปเถอะ เราจักให้วาระของเจ้าข้ามไป ครั้นกล่าวแล้ว ตนเองก็ไปนอนกระทำศีรษะไว้ที่ไม้ค้อนพิพากษา พ่อครัวเห็นดังนั้น จึงคิดว่า พระยาเนื้อผู้ได้รับพระราชทานอภัย นอนอยู่ที่ไม้ค้อนพิพากษา เหตุอะไรหนอ จึงรีบไปกราบทูลแด่พระราชา
               พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถในทันใดนั้นเอง เสด็จไปด้วยบริวารใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า พระยาเนื้อผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่านไว้แล้วมิใช่หรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้
               พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช แม่เนื้อผู้มีครรภ์มากล่าวว่า ขอท่านจงยังวาระของฉันให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น ก็ข้าพระบาทไม่อาจโยนมรณทุกข์ของเนื้อตัวหนึ่งไปเหนือเนื้อตัวอื่นได้ ข้าพระบาทนั้นจึงให้ชีวิตของตนแก่แม่เนื้อนั้น ถือเอาความตายอันเป็นของแม่เนื้อนั้นแล้ว จึงนอนอยู่ ณ ที่นี้ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ทรงระแวงเหตุอะไรๆ อย่างอื่นเลย
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนสุวรรณมิคราชผู้เป็นนาย แม้ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เราก็ไม่เคยเห็นคนผู้เพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดูเช่นกับท่าน ด้วยเหตุนั้น เราจึงเลื่อมใสท่าน ลุกขึ้นเถิดเราให้อภัยแก่ท่าน และแก่แม่เนื้อนั้น.
               พระยาเนื้อกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้จอมคน เมื่อข้าพระบาททั้งสองได้อภัยแล้ว เนื้อที่เหลือนอกนั้น จักกระทำอย่างไร.
               พระราชาตรัสว่า นาย เราให้อภัยแม้แก่เนื้อที่เหลือด้วย
               พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น เนื้อทั้งหลายในพระราชอุทยานเท่านั้น จักได้อภัย เนื้อที่เหลือจักทรงกระทำอย่างไร
               พระราชาตรัสว่า นาย เราให้อภัยแก่เนื้อ แม้เหล่านั้น
               พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เบื้องต้น เนื้อทั้งหลายได้รับอภัย สัตว์ ๔ เท้าที่เหลือจักกระทำอย่างไร
               พระราชาตรัสว่า นาย เราให้อภัยแก่สัตว์ ๔ เท้า แม้เหล่านั้น
               พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์ ๔ เท้าได้รับพระราชทานอภัยก่อน หมู่นกจักกระทำอย่างไร
               พระราชาตรัสว่า นาย แม้หมู่นกเหล่านั้นเราก็ให้อภัย
               พระยาเนื้อกราบทูลว่า เบื้องต้น หมู่นกจักได้รับพระราชทานอภัย พวกปลาที่อยู่ในนํ้า จักกระทำอย่างไร
               พระราชาตรัสว่า นาย แม้หมู่ปลาเหล่านั้น เราก็ให้อภัย
               พระมหาสัตว์ทูลขออภัยแก่สรรพสัตว์กะพระราชาอย่างนี้แล้ว ได้ลุกขึ้นยืน ให้พระราชาดำรงอยู่ในศีล ๕ แล้วแสดงธรรมแก่พระราชา ด้วยลีลาของพระพุทธเจ้า ว่า
               ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงประพฤติธรรมในพระชนกชนนี ในพระโอรสพระธิดา ในพราหมณ์คฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท เมื่อทรงประพฤติธรรม ประพฤติสมํ่าเสมออยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้แล้วอยู่ในอุทยาน ๒-๓ วัน ให้โอวาทแก่พระราชาแล้ว อันหมู่เนื้อแวดล้อมเข้าป่าแล้ว
               แม่เนื้อนม แม้นั้นตกลูกออกมาเช่นกับช่อดอกไม้ ลูกเนื้อนั้น เมื่อเล่นได้ จะไปยังสำนักของเนื้อสาขะ. ลำดับนั้น มารดาเห็นลูกเนื้อนั้นกำลังจะไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั้น จึงกล่าวว่า ลูกเอ๋ย ตั้งแต่นี้ไปเจ้าอย่าไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั่น เจ้าพึงไปยังสำนักของเนื้อนิโครธเท่านั้น
               เมื่อจะโอวาท จึงกล่าวคาถาว่า
               เจ้าหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในสำนักของพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะ จะประเสริฐอะไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิโคฺรธเมว เสเวยฺย ความว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าหรือคนอื่นก็ตาม ผู้ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ควรเสพหรือควรคบหา แต่พระยาเนื้อ ชื่อว่านิโครธ นั้น.
               บทว่า น สาขํ อุปสํวเส ความว่า แต่เนื้อชื่อว่าสาขะไม่ควรเข้าไปอยู่ร่วม คือไม่ควรเข้าไปใกล้แล้วอยู่ร่วม ได้แก่ไม่ควรอาศัยเนื้อสาขะนั้นเลี้ยงชีวิต.
               บทว่า นิโคฺรธสฺมึ มตํ เสยฺโย ความว่า แม้การตายอยู่แทบเท้าของพระยาเนื้อ ชื่อว่านิโครธ ประเสริฐกว่า คือยอดเยี่ยมสูงสุด.
               บทว่า ยญฺเจ สาขสฺมิ ชีวิตํ ความว่า ก็ความเป็นอยู่ในสำนักของเนื้อ ชื่อว่าสาขะนั้น ไม่ประเสริฐ คือไม่ยอดเยี่ยมไม่สูงสุดเลย.
               ก็จำเดิมแต่นั้น พวกเนื้อที่ได้อภัย พากันกินข้าวกล้าของพวกมนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจตีหรือไล่เนื้อทั้งหลาย ด้วยคิดว่า เนื้อเหล่านี้ได้รับพระราชทานอภัย จึงพากันประชุมที่พระลานหลวง กราบทูลความนั้นแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า เรามีความเลื่อมใสให้พรแก่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ เราถึงจะละราชสมบัติ ก็จะไม่ทำลายปฏิญญานั้น ท่านทั้งหลายจงไปเถิด ใครๆ ย่อมไม่ได้เพื่อจะประหารเนื้อทั้งหลายในแว่นแคว้นของเรา
               พระยาเนื้อนิโครธได้สดับเหตุการณ์นั้น จึงให้หมู่เนื้อประชุมกัน โอวาทเนื้อทั้งหลายว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายอย่าได้กินข้าวกล้าของคนอื่น ดังนี้แล้ว บอกแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ตั้งแต่นี้ไป มนุษย์ทั้งหลายผู้กระทำข้าวกล้า จงอย่าทำรั้วเพื่อจะรักษาข้าวกล้า แต่จงผูกสัญญาด้วยใบไม้ปักนาไว้ ได้ยินว่า จำเดิมแต่นั้น จึงเกิดสัญญาในการผูกใบไม้ขึ้นในนาทั้งหลาย จำเดิมแต่นั้น ชื่อว่าเนื้อผู้ล่วงละเมิดสัญญา ในการผูกใบไม้ ย่อมไม่มี. ได้ยินว่า ข้อนี้เป็นโอวาทที่พวกเนื้อเหล่านั้นได้จากพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์โอวาทหมู่เนื้ออย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ตลอดชั่วอายุ. พร้อมกับเนื้อทั้งหลายได้ไปตามยถากรรมแล้ว. ฝ่ายพระราชาทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงกระทำบุญทั้งหลาย ได้เสด็จไปตามยถากรรมแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งอาศัยของพระเถรีและพระกุมารกัสสป ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นที่พึ่งอาศัยแล้วเหมือนกัน
               ก็ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงหมุนกลับเทศนา ว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ ตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่ออนุสนธิกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               เนื้อชื่อสาขะในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
               แม้บริษัทของเนื้อสาขะนั้น ก็ได้เป็น บริษัทของพระเทวทัต นั่นแหละ
               แม่เนื้อนมในครั้งนั้น ได้เป็น พระเถรี
               ลูกเนื้อในครั้งนั้น ได้เป็น พระกุมารกัสสป
               พระราชาได้เป็น พระอานนท์
               ส่วนพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ได้เป็น เราเอง แล.

               จบอรรถกถานิโครธมิคชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก สีลวรรค นิโครธมิคชาดก ว่าด้วยการเลือกคบ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 11 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 12 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 13 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=78&Z=84
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=4598
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=4598
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :