ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัป ”             ผลการค้นหาพบ  60  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 60
กัป, กัลป์ กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม)
       ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น;
       กำหนดอายุของโลก;
       กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 60
กัปปมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 60
กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 60
กัปปิยะ สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย
       คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้
       เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ
       แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ
       สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 60
กัปปิยการก ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 60
กัปปิยกุฎี เรือนเก็บของที่เป็นกัปปิยะ;
       ดู กัปปิยภูมิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 60
กัปปิยบริขาร เครื่องใช้สอยที่สมควรแก่สมณะ, ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 60
กัปปิยภัณฑ์ ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ, สิ่งของที่สมควรแก่สมณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 60
กัปปิยภูมิ ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ
       ๑. อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า “กปฺปิยภูมึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”
       ๒. โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม
       ๓. คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ
       ๔. สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 60
กัปปิละ ชื่อพราหมณ์นายบ้านของหมู่บ้านพราหมณ์หมู่หนึ่ง ในแขวงกรุงราชคฤห์ เป็นบิดาของปิปผลิมาณพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 60
โฆสัปปมาณิกา คนพวกที่ถือเสียงเป็นประมาณ, คนที่นิยมเสียง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพราะเสียง ชอบฟังเสียงไพเราะ เช่น เสียงสวดสรภัญญะ เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง เสียงประโคม เป็นต้น;
       อีกนัยหนึ่งว่า ผู้ถือชื่อเสียงกิตติศัพท์ หรือความโด่งดังเป็นประมาณ เห็นใครมีชื่อเสียงก็ตื่นไปตาม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 60
ทำกัปปะ ทำเครื่องหมายด้วยของ ๓ อย่าง คือ คราม ตม และดำคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งในเอกเทศ คือส่วนหนึ่งแห่งจีวร
       เรียกสามัญว่า พินทุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 60
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”,
       พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม)
       ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 60
ธัมมัปปมาณิกา ถือธรรมเป็นประมาณ, ผู้เลื่อมใสเพราะพอใจในเนื้อหาธรรมและการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น ชอบฟังธรรม ชอบเห็นภิกษุรักษามารยาทเรียบร้อยสำรวมอินทรีย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 60
ปรัปวาท [ปะ-รับ-ปะ-วาด] คำกล่าวของคนพวกอื่นหรือลัทธิอื่น, คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น, หลักการของฝ่ายอื่น, ลัทธิภายนอก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 60
ปริกัป
       1. ความตรึก, ความดำริ, ความคำนึง, ความกำหนดในใจ
       2. การกำหนดด้วยเงื่อนไข, ข้อแม้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 60
ปัปผาสะ ปอด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 60
พินทุ จุด, วงกลมเล็กๆ ในที่นี้หมายถึง พินทุกัปปะ

พินทุกัปปะ การทำพินทุ, การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด ที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย;
       เขียนพินทุกัป ก็ได้, คำบาลีเดิมเป็นกัปปพินทุ, เรียกกันง่ายๆ ว่า พินทุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 60
มหากัปปินะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ
       ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้ว บังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท
       ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนางทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรี ไปอยู่ในสำนักภิกษุณี
       ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์
       พระบรมศาสดายกย่องท่านว่า ท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 60
มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด ได้แก่ ดำริแส่ไปในกาม ดำริพยาบาท ดำริเบียดเบียนเขา
       (ข้อ ๒ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 60
รูปัปปมาณิกา ผู้ถือรูปเป็นประมาณ คือ พอใจในรูป ชอบรูปร่างสวยสง่างาม ผิวพรรณหมดจดผ่องใส เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 60
ลูขัปปมาณิกา ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ ชอบผู้ที่ประพฤติปอน ครองผ้าเก่า อยู่เรียบๆ ง่ายๆ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 60
วัปปะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 60
วัปปมงคล พิธีแรกนาขวัญ คือพิธีเริ่มไถนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 60
วิกัป, วิกัปป์ ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น
       วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า
       “อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ”
        แปลว่า “ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 60
วิกัปปิตจีวร จีวรที่วิกัปป์ไว้, จีวรที่ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 60
สดับปกรณ์ “เจ็ดคัมภีร์” หมายถึง คัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ ในพระอภิธรรมปิฎก
       เขียนเต็มว่า สัตตัปปกรณ์ (ดู ในคำว่า ไตรปิฎก)
       แต่ในภาษาไทยคำนี้ความหมายกร่อนลงมา เป็นคำสำหรับใช้ในพิธีกรรม เรียกกิริยาที่พระภิกษุกล่าวคำพิจารณาสังขารเมื่อจะชักผ้าบังสุกุลในพิธีศพเจ้านายว่า สดับปกรณ์ ตรงกับที่เรียกในพิธีศพทั่วๆ ไปว่า บังสุกุล (ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่มีความหมายกร่อนเช่นเดียวกัน);
       ใช้เป็นคำนาม หมายถึง พิธีสวดมาติกาบังสุกุลในงานศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะศพเจ้านาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 60
สัปดาห์ ๗ วัน, ระยะ ๗ วัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 60
สัปบุรุษ ดู สัปปุรุษ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 60
สัปปาณกวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องสัตว์มีชีวิตเป็นต้น,
       เป็นวรรคที่ ๗ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์แห่งพระวินัยปิฎก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 60
สัปปายะ สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิ
       ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ
           อาวาส (ที่อยู่)
           โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร)
           ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ)
           บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง)
           โภชนะ (อาหาร)
           อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ)
           อิริยาบถ;
       ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 60
สัปปิ เนยใส; ดู เบญจโครส

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 60
สัปปิโสณฑิกา ชื่อเงื้อมเขาแห่งหนึ่งอยู่ที่สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์
       ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 60
สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี,
       ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่าง คือ
           ๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
           ๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล
           ๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน
           ๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ
           ๕. กาลัญญุตา รู้จักกาล
           ๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน
           ๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล;
       อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่างคือ
           ๑. ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ
           ๒. ภักดีสัตบุรษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗)
           ๓. คิดอย่างสัตบุรุษ
           ๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ
           ๕. พูดอย่างสัตบุรุษ
           ๖. ทำอย่างสัตบุรุษ
               (๓, ๔, ๕, ๖ คือ คิด ปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่น)
           ๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น)
           ๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อแก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 60
สัปปุริสบัญญัติ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้,
       บัญญัติของคนดี มี ๓ คือ
           ๑. ทาน ปันสละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
           ๒. ปัพพัชชา ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน
           ๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน บำรุงมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 60
สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ, คบคนดี, ได้คนดีเป็นที่พึ่งอาศัย
       (ข้อ ๒ ในจักร ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 60
สัปปุริสูปสังเสวะ คบสัตบุรุษ, คบคนดี, คบท่านที่ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ
       (ข้อ ๑ ในวุฑฒิ ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 60
สัปปุรุษ เป็นคำเลือนปะปนระหว่าง สัปปุริส ที่เขียนอย่างบาลี กับ สัตบุรุษ ที่เขียนอย่างสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกัน
       (ดู สัตบุรุษ)
       แต่ในภาษาไทยเป็นคำอยู่ข้างโบราณ ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง
       บางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่า สัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 60
สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ, พูดเหลวไหล, พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่ถูกกาลถูกเวลา
       (ข้อ ๗ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 60
สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, เว้นจากพูดเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์, พูดคำจริง มีเหตุผล มีประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
       (ข้อ ๗ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 60
สัมมัปปธาน ความเพียรชอบ;
       ดู ปธาน, โพธิปักขิยธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 60
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ
       ๑. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริจะออกจากกามหรือปลอดจากโลภะ
       ๒. อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในอันไม่พยาบาท
       ๓. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียน
       (ข้อ ๒ ในมรรค)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 60
อกัปปิยะ ไม่ควร, ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย
       คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน,
       สิ่งที่ตรงข้ามกับ กัปปิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 60
อกัปปิยวัตถุ สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือ ภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 60
อัปปณิหิตวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา
       คือ พิจารณาเห็นนามรูปเป็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาเสียได้
       (ข้อ ๓ ในวิโมกข์ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 60
อัปปณิหิตสมาธิ การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ
       (ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 60
อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ ฝึกสมาธิถึงขั้นเป็นอัปปนา เป็นขั้นบรรลุปฐมฌาน
       (ข้อ ๓ ในภาวนา ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 60
อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่, จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน
       (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๒, ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 60
อัปปมัญญา ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ
       หมายถึง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่แผ่ทั่วไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวาง สม่ำเสมอกัน ไม่จำกัดขอบเขต มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่กล่าวแล้วนั้น;
       ดู พรหมวิหาร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 60
อัปปมัตตกวิสัชชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายของเล็กน้อย
       เช่น เข็มเย็บผ้า มีดตัดเล็บ ประคด เภสัชทั้งห้า เป็นต้น ให้แก่ภิกษุทั้งหลาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 60
อัปปมาทะ ความไม่ประมาท, ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ, ความไม่เผลอ, ความไม่เลินเล่อเผลอสติ, ความไม่ปล่อยปละละเลย, ความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหาย และไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดีงามและความเจริญ, ความมีสติรอบคอบ
       ความไม่ประมาท พึงกระทำในที่ ๔ สถาน คือ
           ๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
           ๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
           ๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
           ๔. ในการละความเห็นผิด ประกอบความเห็นที่ถูก;
       อีกหมวดหนึ่งว่า
           ๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
           ๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
           ๓. ระวังใจไม่ให้หลง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
           ๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมา ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 60
อัปปมาทคารวตา ดู คารวะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 60
อัปปมาทธรรม ธรรมคือความไม่ประมาท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 60
อัปยศ ปราศจากยศ, เสียชื่อเสียง, เสื่อมเสีย, น่าขายหน้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 60
อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย หรือมักน้อย
       (ข้อ ๑ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 60
อัปปิยารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนา เช่น รูปที่ไม่สวยไม่งามเป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 60
อากัปกิริยา การแต่งตัวดี และมีท่าทางเรียบร้อยงดงาม;
       กิริยาท่าทาง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 60
อายุกัป, อายุกัปป์ การกำหนดแห่งอายุ, กำหนดอายุ, ช่วงเวลาแต่เกิดถึงตายตามปกติ หรือที่ควรจะเป็น ของสัตว์ประเภทนั้นๆ ในยุคสมัยนั้นๆ;
       ดู กัป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 60
อิทัปปัจจยตา “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”,
       ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย,
       กฎที่ว่า
           “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;
           เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ”,
       เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 60
โอตตัปปะ ความกลัวบาป, ความเกรงกลัวต่อทุจริต, ความเกรงกลัวความชั่ว เหมือนกลัวอสรพิษ ไม่อยากเข้าใกล้ พยายามหลีกให้ห่างไกล
       (ข้อ ๒ ในธรรมคุ้มครองโลก ๒, ข้อ ๔ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๓ ในสัทธรรม ๗)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ัป
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D1%BB


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]