ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
นิพพานัสส อทุกขมิสสภาวปัญหา ที่ ๔
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา เอกนฺตสุขํ นิพฺพานํ อันว่าพระนิพพานนั้น เป็นเอกันตบรมสุขแท้ หรือ หรือว่าจะเจือไปด้วยทุกข์บ้างพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมาภาร อันว่า นิพพานนั้นเป็นเอกกันตบรมสุข จะได้จานเจือด้วยความทุกข์หามิได้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา พระผู้เป็นเจ้าว่านั้นโยมไม่เชื่อ โยมเห็นว่าพระนิพพานเจือไปด้วยทุกข์เป็น แท้ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า ธรรมดาพระโยคาวจรเจ้าแสวงหาพระนิพพาน นั้น ลำบากกายทรมานกายด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ คือจะเดินก็ภาวนา จะยืนก็ภาวนา จะนั่ง ก็ภาวนา จะนอนก็ภาวนา จะบริโภคอาหารก็ต้องปัจจเวกขณ์ทุกคำอาหาร ต้องนั่งทรมาน จะ นอน ก็ไม่เต็มตา ต้องรักษาจิตสำรวมอินทรีย์มิได้ส่งจิตไปตามอายตนะ ละญาติละมิตรละหมู่ละ คณะ ถือสัลเลขสันโดษอยู่ไพรสณฑ์อันสงัดแต่ผู้เดียว ดูนี่ลำบากเป็นล้นเหลือ เหตุดังนี้ โยมจึง ่ว่าพระนิพพานนั้นเจือไปด้วยทุกข์ ที่เขาไม่แสวงพระนิพพานเขาก็เห็นสุขสบาย เหมือนหนึ่ง หญิงชายทั้งหลายนี้ เขาไม่สำรวมอินทรีย์ เขายินดีในอายตนะคือเบญจกามคุณ ๕ ประการ คือ มาถือสุภนิมิตในรูป ยินดีในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัสถูกต้อง ที่ว่ายินดีในเสียงนั้นเป็นต้น หญิงรูปชายอันฟ้องรำ ก็สำคัญเป็นสุภนิมิตว่างามนั้นประการ ๑ ที่ว่ายินดีในเสียงนั้น คือยินดี ในเสียงดุริยางค์ดนตรี และเสียงขับร้องอันจะให้เกิดราคะนั้นประการ ๑ ที่ว่ายินดีในกลิ่นนั้น คือ กลิ่นเกสรดอกไม้ทั้งลูกไม้ใบไม้แก่นไม้เปลือกไม้ยางไม้อันหอม ให้เกิดราคะบำรุงราคะนั้นประการ ๑ ที่ว่ายินดีในรสนั้น พหุวิวิธสุภรสาย นิมิตฺเต คือยินดีในขานทียะโภชนียะอันมีรสดีมีอย่าง ต่างๆ ประการ ๑ ที่ว่ายินดีในสัมผัสถูกต้องนั้น คือยินดีที่จะให้กายถูกต้องซึ่งสิ่งอันนุ่มอันอ่อน คือฟูกหมอนอันอ่อน เป็นที่จะบริโภคนั้นประการ ๑ เรียกว่า เบญจกามคุณ ๕ มี รูปายตนะ เป็นอาทิ มีกายายตนะเป็นปริโยสาน ถ้าจะว่าด้วยอายตนะ ๖ ก็นับเอารูปายตนะเป็นต้น มนายตนะเป็นที่สุด และมนายตนะนั้นคิดไปใจในใจตามวิสัยจิตคิดไปนั้น คนทั้งหลายเขาสบาย เป็นสุขสำราญดังนี้ แต่พระโยคาวจรผู้แสวงหาพระนิพพานนั้น ลำบากนักลำบากหนา ฆ่าเสีย ซึ่งความเจริญ ๖ ประการ คือไม่ยินดีในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในสัมผัส และจิตไม่กำหนัดใน สุขุมรูปซึ่งบัญญัติตามใจของตน เมื่อกระทำฉะนี้จะมิร้อนรนเจตสิกนั้น เพราะทรมานอินทรีย์ ๒ ประการ คือกายจิตไม่ยินดีก็สมด้วยคำมาคัณฑิยปริพพาชกยกข้อความติเตียนลหลู่สมเด็จ พระบรมครูผู้ประเสริฐว่า พระสมณโคดมนี้ฆ่าเสียซึ่งความเจริญ ไม่ยินดี อหํ พฺรูมิ เหตุดังนี้ นะผู้เป็นเจ้า โยมจึงกล่าวว่า พระโยคาวจรผู้แสวงหาพระนิพพานนี้มีแต่ทุกข์ปราศจากสุขที่แท้ จะว่าไม่มีทุกข์อย่างไร              พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เอกนฺต- สุขํ นิพฺพานํ พระนิพพานนี้เป็นเอกันตสุข มิได้เจือไปด้วยทุกข์โดยแท้ แต่เมื่อแรกยังแสวงหา นั้นแหละเป็นทุกข์จริง ครั้นว่าได้แล้วประกอบด้วยสุขเกษมโดยแท้ ดังอาตมาจะถามบพิตร พระราชสมภาร ธรรมดาว่าราชสมบัติแห่งบรมกษัตริย์ทั้งหลายนี้ เป็นสุขอยู่หรือว่าเจือด้วย ทุกข์เล่า              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ปรีชา ธรรมดาว่าราชสมบัติแห่งบรมกษัตริย์ทั้งหลายมีแต่สุขเกษมสบาย              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อาตมาเห็นว่า ราชสมบัติเจือไปด้วยทุกข์              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็น เจ้าผู้ปรีชาญาณ อันว่าราชสมบัติบวรราชศฤงคารนี้มีแต่สุข เหตุไรพระผู้เป็นเจ้าจึงว่า ราช- สมบัติเจือไปด้วยทุกข์เล่า พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อันว่าราชสมบัติประกอบไปด้วยทุกข์นั้น เมื่อข้าศึกมารบพุ่งฆ่าตีฝูงประชาในขอบขัณฑสีมา อัน เป็นปัจจันตประเทศคามนิคม พระมหากษัตริย์ทรงพระปรารมภ์เป็นทุกข์ กลัวว่านิคมประเทศ ขอบเขตของพระองค์นั้นจะย่อยยับ จะต้องทรงเอาเป็นธุระปราบปรามข้าศึกนั้นประการหนึ่ง เมื่อข้าศึกตีบุกรุกเข้ามาล้อมพระนาคไว้ บรมกษัตริย์ประกอบไปด้วยทุกข์ที่สุดแล้ว ต้อง กะเกณฑ์ซึ่งโยธากล้าหาญออกไปรบ บางทีก็อัปราชัย บางทีก็มีชัย ได้ความลำบากไม่มีสุข เหตุฉะนี้จึงว่า ราชสมบัติเจือไปด้วยทุกข์แสนทรมาน สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ธรรมดาว่าราชสมบัติจะมีแต่ทุกข์เมื่อข้าศึกมา ต้องแสวงหาอุบายให้ โยธาตีให้แตกไป ครั้นได้ซึ่งสมบัติหาข้าศึกไม่แล้ว ก็ผ่องแผ้วมีสุข อญฺญํ ทุกฺขํ ที่ทุกข์เดิมนั้นก็ เป็นอื่นคลายหายไป              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า ยถา ความเปรียบนี้ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเมื่อแรก แสวงหาพระนิพพานนี้ กายญฺจ จิตฺตญฺจ ยังกายและจิตให้ทรมาน คือว่าจะยืนจะเที่ยวจะนั่งจะ นอนจะบริโภคนั้นก็มีสติพิจารณาผูกจิตอยู่ในกิจปฏิบัติ ที่ทรงพระบัญญัติไว้นั้น จิตและกายจึง ทุรนทุรายไม่สบายด้วยทุกข์ทรมาน ครั้นได้พระนิพพานแล้วผ่องแผ้วจากทุกข์มีแต่สุขซึ่งทุกข์เดิม นั้น อญฺญํ อญฺญํ ก็เป็นอื่นคืนคลายหายไป เอวเมว มีอุปไมยเหมือนกษัตริย์อันได้สมบัติ กำจัดข้าศึกเสียแล้ว ก็ปราศจากทุกข์มีแต่ความสุขนั้น มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระ ราชสมภาร จงทรงพระสวนาการเหตุอุปมาให้ยิ่งกว่านี้ ถ้ามิฉะนั้นเหมือนว่าศิษย์ที่เรียนวิชากับ อาจารย์ ได้วิชาศิลปศาสตร์แล้วมีสุขอยู่หรือ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต เออกระนั้น ซิพระผู้เป็นเจ้า มีสุขอยู่              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เมื่อแรกศิษย์จะแสวงหาวิชาการนั้น มีสุขอยู่หรือประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิภนฺเต ศิษย์แรกเรียน วิชาหาความสุขมิได้ นะพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า เป็นเหตุประการใด เมื่อแรกเรียนนั้นศิษย์จึงไม่มีความสุข เล่า              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา เหตุว่าศิษย์ทั้งหลายต้องไหว้ต้องกราบ ต้มน้ำให้อาบให้ฉัน และปฏิบัติ กระทำเคารพอาจารย์ การเบ็ดเสร็จทั้งปวงนั้นต้องหาไม้สีฟันขันน้ำตั้งไว้ และนวดฟั้นคั้นเท้า ทุกประการ ยามจะบริโภคอาหาร ย่อมรับประทานแต่ที่ระคนดูลำบาก อดๆ อยากๆ ต้อง ลำบากกายสังวัธยายวิชาเรียนเพียรไป ครั้นได้สมบัติวิชาแล้วก็เป็นสุข จะเจือไปด้วยทุกข์หา มิได้เลย เป็นดังนี้นะพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ความ เปรียบประการนี้ ยถา มีครุวนาฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้า เมื่อแรกแสวงพระนิพพานนี้ ลำ บากเจือไปด้วยทุกข์ครั้งได้พระนิพพานแล้วก็แผ้วทุกข์มีแต่สุขมีอุปไมยเหมือนศิษย์เรียนวิชากระนั้น ลำบากแต่เดิม ครั้นได้เรียนวิชาศิลปศาสตร์สำเร็จแล้ว แผ้วทุกข์มีแต่ความสุขฉันนั้น บพิตรจงทราบในพระบวรราชสันดานในกาลบัดนี้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นธรณีก็สิ้นสงสัย สาธุการว่า สาธุ ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสน พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ควรแล้ว สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะรับคำจำไว้ ณ กาลบัดนี้
นิพพานัสส อทุกขมิสสภาวปัญหา คำรบ ๔ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๔๔๙ - ๔๕๒. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=178              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_178

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]