ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ปุริมโกฏิปัญหา ที่ ๒
             ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการปุจฉาอรรถปัญหาสืบต่อไป เล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแก่พระนาคเสนผู้มีปรีชาญาณเป็นอันดี พระผู้เป็นเจ้าว่ากับโยมเมื่อ กี้นี้ว่า ปุริมโกฏิ น ปญฺญายติ ที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลไม่ปรากฏ และที่สุดเบื้องต้นแห่งการไม่ ปรากฏนั้น คือกาลที่เป็นอดีตล่วงไป นับถอยหลังลงไปว่าตั้งนาม ตั้งรูปนั้นแต่ครั้งนั้น ได้แก่อดีต กาลที่ล่วงไปนี้ กระนั้นหรือประการใด              พระนาคเสนถวายพระพรว่า อดีตกาลล่วงไปนี้มีที่สุดเดิมไม่ปรากฏดุจพระโองการถาม ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรมีสุนทรราชโองการถามพระนาคเสนว่า ข้าแต่ พระผู้เป็นเจ้าที่สุดเดิมโดยเหตุอื่นนี้จะไม่ปรากฏทีเดียวเจียวหรือ หรือว่าจะปรากฏบ้างประเภทใด              พระนาคเสนถวายพระพรพยากรณ์แก้ไขว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ซึ่งพระ ราชโองการตรัสถามนั้นบางทีก็ปรากฏ น ปญฺญายติ บางทีก็ไม่ปรากฏ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรทรงซักถามว่า บางทีปรากฏนั้นอย่างไร บางทีไม่ ปรากฏนั้นอย่างไร              พระนาคเสนเสนวิสัชนาแก้ไขว่า สิ่งทั้งปวงที่ไม่มีที่สุดเดิมมาแก่ก่อนเลยนั้นแลเรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ ประการหนึ่ง สิ่งทั้งปวงไม่มี กลับมีขึ้นแล้วปราศจากไป อย่างนี้เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นปรากฏ              พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาซึ่งบทที่ว่า ที่สุด เดิมไม่ปรากฏจะเหมือนด้วยสิ่งอันใด              พระนาคเสนก็สำแดงบทอุปมาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปาน ดุจต้นไม้ประกอบไปด้วยใบดอกออกผล ครั้นหล่นลงเหนือปฐพี ก็งอกขึ้นเป็นต้นลำผลิ ดอกออกผลต่อๆ กันมานั้น ที่สุดเดิมอยู่ที่ไหนนะ บพิตรพระราชสมภาร              พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า จะหาที่สุดเดิมนั้นหาไม่ได้              พระนาคเสนถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี ฝูงสัตว์ที่เกิดมานี้หาที่สุดเดิมมิได้ดุจต้นไม้นั้น ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า โยมยังสงสัยอยู่ จง อุปมาอุปไมยให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก่อน พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร กุกฺกุฏิยา อณฺฑํ อุปมาดังไข่ไก่ ธรรมดาว่าไข่ไก่เป็นตัวอยู่ในคราภ์ ใหญ่ขึ้นก็ทำลายกะเปาะเจาะ จิกออกได้ ครั้นโตใหญ่ที่ไก่ตัวเมียนั้นได้สัมผัสกันกับไก่ตัวผู้ ไก่ตัวเมียก็มีไข่ออกตัวต่อๆ ไป ที สุดเดิมอยู่ที่ไหน              พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า หาที่สุดเดิมมิได้โดยแท้              พระนาคเสนถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี ที่สุดเดิมแห่งกาลที่สัตว์เกิดมาและจะแสวงหา เดิมว่า เป็นรูปเป็นนามแต่ครั้งไรมากำหนดไม่ได้เหมือนไข่ไก่กระนั้น ขอถวายพระพร               พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่านิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก              พระนาคเสนจึงให้พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีเขียนรูปกงจักรลงไว้แล้วจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระทศพลญาณเจ้าตรัสประทานพระสัทธรรม- เทศนาว่า รูปธรรมกับนามธรรมนี้เกิดเวียนอยู่ ดุจกงเกวียนกรงรถและกงจักรหามีที่สุดเดิมไม่ หรือมหาบพิตรจะเห็นเดิมที่สุดต่อกันประการใด              พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ไม่เห็นที่สุดต่อกันว่าเดิมนั้นครั้นไหน              พระนาคเสนจึงถวายพยากรณ์แก้ไขว่า เหตุฉะนี้ พระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า จักขุ ๑ โสตะ ๑ ฆานะ ๑ ชิวหา ๑ กาย ๑ มโน ๑ ธรรม ๖ ประการนี้ให้สัตว์เวียนวนอยู่ในสงสาร มีกาลเบื้องต้นไม่ปรากฏว่านามเท่าไรมา จึงตรัสเทศนาไว้ว่าจักขุจะเห็นอาศัยมีรูป เมื่อจักขุเห็น รูปแล้วก็กระทบถึงวิญญาณให้รู้ว่าสิ่งนั้น ตกว่าจักขุอาศัยรูปจึงเกิดวิญญาณ สิ่ง ๓ ประการนี้ มีขึ้นจึงบังเกิดผัสสะพิศเพ่งดูรูปนั้น ถ้ารูปนั้นดี ก็เกิดสุขเวทนา ถ้ารูปนั้นชั่ว ก็เกิดโทมนัสส- เวทนา ถ้ารูปนั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชัง ก็บังเกิดอุเบกขาเวทนา นี่แหละเมื่อเวทนาบังเกิดเสวย อารมณ์ได้เห็นที่ต้องใจและไม่ต้องใจชิงชังอยู่นั้น ตัณหาปรารถนาก็บังเกิด ที่ต้องใจต้อง ประสงค์ก็ปรารถนาจะใคร่ได้ ที่ชิงชังไม่ต้องใจก็ปรารถนาจะฆ่าฟัน ตัวอุปทานนั้นก็บังเกิดเสวย อาศัยตัณหา อุปาทานให้ถือมั่นให้ปรารถนาจริงจัง นั่นแหละจึงกระทำบาปกรรม อาศัยตัว อุปาทานนั้นเป็นปัจจัยค้ำชูให้กระทำบาปกรรม ผลบาปกรรมนั้นก็แต่งให้เกิดมีจักขุเสวยทุกข์ ไปอีกเล่า แต่ต่อๆ เวียนไปไม่รู้ว่าสักเท่าไร ที่สุดเดิมอยู่ที่ไหนเล่า บพิตรพระราชสมภาร              พระเจ้ากรุงมิลินท์มีพระราชโองการว่า จะหาเดิมไหนเล่า ด้วยต่อๆ เวียนมานานกว่า นานในกาลนั้น              อนึ่ง จะวิสัชนาให้เข้าใจที่จักขุเห็นรูปฝ่ายบุญได้แก่สาธุสัตบุรุษที่เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นต้น จึงมาบำเพ็ญการกุศลต่างๆ กุศลที่สร้างไว้นั้นเรียกว่ากุศลกรรม ก็แต่งผลให้ เกิดเสวยสุขตั้งรูปตั้งกายเป็นจักขุต่อๆ ไป จะกำหนดที่สุดเดิมไม่ได้ เหตุฉะนี้จึงโปรดไว้ให้ ปรารถนาพระนิพพาน จะได้ไม่เกิดเสวยสุขเสวยทุกข์ต่อไป สาธุสัตบุรุษพึงเข้าใจพอเป็นสังเขป เท่านี้              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงวิสัชนาด้วยโสตะและฆานะชิวหาและกายและมโนเป็นข้อๆ ไป โสตะนั้นได้แก่หูทั้งสองข้าง จะฟังเสียงอันเป็นฝ่ายบุญฝ่ายบาปนั้นก็อาศัยเสียงอันเป็นฝ่ายบุญ ฝ่ายบาป มีหูจึงจะได้ยินเสียง เมื่อได้ยินเสียงแล้วก็กระทบกับวิญญาณให้รู้ว่าเสียง เมื่อสิ่งทั้ง ๓ บังเกิดคือ โสตะแปลว่าหู ๑ สัททะแปลว่าเสียง ๑ กับวิญญาณ ๑ สิริเป็น ๓ ประการนี้สืบต่อกัน ดังนี้ จึงจะเป็นหูได้ยินเสียงรู้ว่าเสียง ขณะนั้นจึงมีผัสสะบังเกิด เมื่อผัสสะบังเกิด มีลักษณะ กระทบอารมณ์เกิดเวทนาให้เสวยอารมณ์ เวทนาก็เป็นปัจจัยแก่ตัณหา คือปรารถนา เมื่อตัณหา บังเกิดแล้ว ตัณหาก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้อุปาทานถือมั่นบังเกิด เมื่ออุปาทานคือตัวถือมั่น บังเกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้กระทำกรรม คือกุศลกรรมและอกุศลกรรมต่างๆ กุศลกรรม อกุศลกรรมนั้น ก็ให้ผลไปเกิดเป็นรูปธรรม นามธรรม ตั้งโสตะอีกเล่า กระทำกรรมด้วยอาศัย โสตะดุจวิสัชนามานี้ รื้อก่อเกิดไปอีกเล่าก็กระทำซึ่งกรรมอีกเล่า เฝ้าแต่วงเวียนเหมือนกงเกวียน กงจักรกงรถ ปรากฏว่าเดิมอยู่ที่ไหนนะ บพิตรพระราชสมภาร              ประการหนึ่ง มีฆานะ ฆานะ แปลว่าจมูก จมูกจะดมกลิ่น ก็อาศัยแก่คันธะ คันธะนี้คือ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น เมื่อกลิ่นมีแล้วฆานะคือจมูกก็สูบดมรู้จักกลิ่นหอมกลิ่นหอมเหม็นดังนี้ กระทบ ถึงวิญญาณให้รู้จักกลิ่นนั้น สิ่ง ๓ ประการ คือฆานะจมูก ๑ คือคันธะกลิ่นหอมเหม็น ๑ คือ วิญญาณ ให้รู้จักกลิ่น ๑ สืบต่อกันพร้อม ๓ ประการนี้จึงบังเกิดผัสสะขึ้น ผัสสะมีลักษณะ กระทบเอาคันธารมณ์ เมื่อผัสสะบังเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ คืออารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว อารมณ์เป็นอุเบกขา เมื่อเวทนาบังเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เมื่อตัณหาบังเกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน เมื่ออุปทานบังเกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ กระทำซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ฝ่ายว่ากุศล อกุศลกรรม ก็แต่งผลให้ไปเสวยสุข เสวยทุกข์ ในภพเกิดเป็นฆานะเป็นอีกเล่า ต่อๆ วงเวียนดุจกงจักรกงเกวียนกงรถ จะได้มีเดิมปรากฏหามิได้ บพิตรพระราชสมภาร              ประการหนึ่ง ยังธรรมคือชิวหา ชิวหานั้นแปลว่าลิ้น ลิ้นจะรู้จักรสก็อาศัยแก่มีวิญญาณ ธรรม ๓ ประการ คือชิวหาแปลว่าลิ้นประการ ๑ คือรสแปลว่าสรรพรสทั้งปวงประการ ๑ คือ วิญญาณ รู้จักว่ารสคาวรสหวานเป็นอาทิประการ ๑ สิริเป็น ๓ ประการนี้เป็นสันตติตั้งขึ้นสืบๆ มา คือชิวหาอาศัยรสชิมรสแล้วมีวิญญาณตั้งขึ้นรู้ว่ารสนี้ ตั้งสันตติสืบสายกันแล้ว ผัสโส เวทนา ตัณหา อุปาทาน ก็บังเกิดเป็นปัจจัยอุดหนุนกัน ให้เกิดให้ลำดับกัน เมื่ออุปาทานบังเกิดแล้วก็ ให้กระทำกุศลกรรมและกระทำอกุศลกรรม ผลแห่งกุศลกรรมและอกุศลกรรมก็นำไปปฏิสนธิ ตั้งชิวหาอีก กระทำกรรมเหตุด้วยรสอันพาชิวหาอีกเล่า จะหาที่สุดเดิมว่าเป็นชิวหาตั้งขึ้นเกิด ขึ้นมาแต่กาลครั้งไรมาก็ไม่ปรากฏ ดุจกงรถกงจักรหาเดิมมิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              ประการหนึ่ง คือกายนี้อาศัยโผฏฐัพพธรรม คือสิ่งอันอ่อนและกระด้างเคล้าคลึงเหยียบ นวดเบียดสีเป็นต้น ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เมื่อกายต้องโผฏฐัพพะอาศัยกันดังนี้ ก็มีวิญญาณสันตติ สืบสาย ๓ ประการนี้ ขณะนั้นก็มีผัสโส เวทนา ตัณหา อุปาทาน เป็นปัจจัยค้ำชูอุดหนุนแก่กัน เกิดเป็นลำดับมา เมื่ออุปาทานบังเกิดแล้วก็ให้กระทำกรรม อันเป็นกายสัมผัสฝ่ายกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็แต่งผลให้ไปเสวยสุขเสวยทุกข์ในพิภพ ตั้งเป็นกายแล้วก็กระทำกรรมอาศัย กายต่อไปดังนี้เล่า สิ้นกาลช้านาน และจะกำหนดว่าตั้งเป็นกายเดิมแต่ครั้งไหนมามิได้ปรากฏ ดุจกงจักรกงรถจะได้ปรากฏว่าข้างไหนเป็นต้นนั้นหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              ยังอีกประการหนึ่ง คือมโน มโนแปลว่าน้ำใจ ก็อาศัยแก่ธรรม ธรรมนั้นได้แก่ธรรมมี บัญญัติละเอียดสุดละเอียดแสนละเอียด บังเกิดในมโนทวารดุจฝันเห็นกระนี้ก็ดี และให้ตรึก ตรองในมโนทวาร ฝ่ายอกุศลให้คือวิหิงสาวิตก อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิเห็นผิดก็ดี มีธรรม ดังนี้เป็นต้น ฝ่ายกุศลให้จำเริญพรหมวิหารคิดกระทำการกุศล เป็นต้นว่าให้ทานรักษาศีล สดับตรับ ฟังพระสัทธรรมเทศนา เกิดขึ้นมโนทวารทั้งสองประการอาศัยกันฉะนี้ จึงเกิดวิญญาณพร้อม ด้วยสันตติ ๓ ประการ สืบต่อกันดังนี้ ก็มีผัสโส เวทนา ตัณหา อุปาทานถือมั่นเป็นปัจจัย อุดหนุนกันค้ำชูกัน ให้บังเกิดเป็นลำดับ ถืออุปทาน อุปาทานก็เข้าอุดหนุนค้ำชูให้สำเร็จกิจที่ จะกระทำกุศลกรรมและอกุศลกรรมได้ ฝ่ายกุศลกรรมอกุศลกรรมทั้งปวงก็เข้ารับช่วยแต่งผลให้ ไปเสวยสุขเสวยทุกข์เกิดเป็นไปในภพใหม่อีกเล่า เกิดขึ้นแล้วรื้อกระทำกรรมอันเป็นมโนกรรม ไปใหม่เล่า เกิดอีกเล่าเฝ้าแต่เป็นเช่นนี้ไป จะกำหนดเดิมไม่ได้ว่า ตั้งแต่เกิดเป็นจิตใจแต่เมื่อไร มาไม่ปรากฏ เวียนวงอยู่ดังกงจักรกรงรถ จะได้มีเบื้องต้นปรากฏแห่งอดีตกาลเกิดแล้วก็ล่วงลับ ไปจะนับจะประมาณมิได้ ขอบพิตรมหิศราธิบดีจงทราบในวิถีมโนทวารด้วยประการฉะนี้              อนึ่ง ท่านสาธุปัจจัยทานทายกนานาได้ฟังจะกังขาสนเท่ห์ในใจว่า ตัณหาอุปทานนี้เป็น ที่จะให้เกิดในสงสาร ก็เหตุไฉนพระนาคเสนจึงว่าจะกระทำกุศลก็ดี อกุศลก็ดี อาศัยแก่ตัณหา กับอุปทานนั้น พระโยคาวจรเจ้าจำเริญสมถกรรมฐานนี้ หวังจะตัดตัณหาอุปาทานจึงกระทำ การกุศล แต่พระนาคเสนเถรเจ้ามาว่าตัณหาอุปาทานเป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทำกุศล นี้เป็นที่สงสัย จึงวิสัชนาว่าตัณหามีร้อยแปดประการ จะวิสัชนาแต่ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหานั้นได้แก่ตัณหาในกามภพ ๑๑ ชั้น คืออบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ เป็น ๕ กามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น สิริเป็น ๑ ชั้นด้วยกัน จึงจะว่าให้เห็นว่า ที่ตัณหาอุปาทาน อันเป็น ปัจจัยอุดหนุน ฝ่ายอกุศลนั้นก็ให้สัตว์ลงไปทนทุกข์ในนรกและอบายดังนี้ เรียกว่าฝ่ายบาป ฝ่ายบุญนั้น ตัณหาอุปาทานก็ค้ำชูอุดหนุนให้กระทำบุญ ก็ได้เกิดในตระกูลมนุษย์เป็นกษัตริย์ มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล และเป็นเทพบุตรเทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ ดังนี้ ชื่อว่ากามตัณหา เหตุฉะนี้พระนาคเสนจึงวิสัชนาให้ชัดว่า ตัณหากับอุปาทานนี่แหละเป็น ปัจจัยอุดหนุนมั่นคง คือที่จะทำบุญและกรรม              ประการหนึ่ง จะสำแดงด้วยภวตัณหา ภาตัณหานั้นได้แก่บุคคลจำเริญรูปฌาน ได้ไป เกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น วิภวตัณหานั้นได้แก่บุคคลจำเริญอรูปฌาน ได้ขึ้นไปเกิดในอรูปพรหม ประการหนึ่ง ถึงว่าจะได้พระโสดาปัตติผลก็ดี พระสกิทาคามิผลก็ดี พระอนาคามิผลก็ดี ยังมี ตัณหาอุปาทานเป็นปัจจัยค้ำชูให้กระทำกุศลอยู่ ได้ไปเกิดในภพเบื้องบน เหตุฉะนั้นพระนาคเสน ผู้เป็นองค์เอกอรหันต์ จึงวิสัชนาว่า ตัณหาอุปาทานนี้เป็นปัจจัยอุดหนุนให้กระทำกุศล ต่อเนื่อง ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลแล้ว จึงจะขาดจากตัณหาอุปาทานเข้าพระนิพพานไป ท่านสาธุสัตบุรุษ จงสันนิษฐานเข้าใจด้วยประการดังนี้              ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชาชาวสาคลนครได้ฟังปัญหาพยากรณ์ของพระนาคเสน แก้ไข มีน้ำพระทัยชื่นบานหรรษาตรัสว่า กลฺโสิ สธุสะพระผู้เป็นเจ้าวิสิชนานี้สมควรอยู่แล้ว
ปุริมโกฏิปัญหา คำรบ ๒ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๘๔ - ๘๘. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=30              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]