ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
โคตมีวัตถทานปัญหา ที่ ๓@-
             ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าพระนาคเสนผู้มีปรีชาญาณ สมเด็จพระศาสดาจารย์มีพระพุทธฎีกาตรัส แก่พระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อนำคู่ผ้าสาฎกมาถวายแก่พระองค์ ว่าให้ถวายแก่พระสงฆ์เถิด จะได้ผลอันเลิศ ชื่อว่าได้บูชาแก่พระตถาคตและได้บูชาแก่สังฆรัตนะทั้ง ๒ ประการ นี่แหละ คำสมเด็จพระศาสดาจารย์ตรัสไว้ ถ้าจริงอย่างนั้นแล้ว พระสังฆรัตนะจะมิมีผลเลิศมีผลหนัก เป็นครูเป็นอาจารย์และเป็นทักขิไณยบุคคลยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าหรือประการใด และคู่ผ้าสาฎกนี้ ไซร้พระมหาปชาบดีโคตมีผู้เป็นพระเจ้าแม่น้ำได้เพาะฝ้ายและสะสางดีดประชีกรดทอเป็นผ้าสาฎก ด้วยพระหัตถ์เองแล้วและนำมาถวายแก่พระองค์ ถ้าหากว่าพระองค์ประเสริฐเลิศดีกว่า สังฆรัตนะแล้ว จะมิทรงอนุญาตให้พระมหาปชาบดีถวายแก่พระองค์หรือ นี่พระองค์คงจะทรง เห็นว่าสังฆรัตนะประเสริฐว่าพระองค์ จึงได้ตรัสแก่พระมหาปชาบดีให้ถวายแก่สงฆ์ พระผู้ เป็นเจ้าจงวิสัชนาให้แจ้งก่อน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ซึ่งสมเด็จ พระศาสดาจารย์มีพระพุทธฎีกาแก่พระมหาปชาบดีให้ถวายคู่ผ้าสาฎกแก่สงฆ์นั้น ใช่พระ องค์จะทรงเห็นว่าถวายแก่สงฆ์มีผลดีกว่าถวายพระองค์หามิได้ซึ่งมีพระพุทธฎีกาตรัสให้ถวายแก่ สงฆ์นั้นไซร้ ด้วยทรงพิจารณาเห็นประโยชน์ในอนาคตกาลว่า ถ้าพระตถาคตเสด็จนิพ- พานล่วงลับไปแล้ว มหาชนคนทั้งปวงที่เกิดมาสุดท้ายภายหลัง จะได้เคารพนบนอบแก่พระสงฆ์ พระพุทธองค์ประสงค์จะยกย่องคุณแห่งพระสงฆ์ให้ปรากฏต่อไป จึงได้ตรัสให้พระมหาปชาบดี ถวายคู่ผ้าสาฎกแก่สงฆ์ด้วยประการฉะนี้ ยถา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อาตมาจะอุปมาให้ฟัง เปรียบประดุจดังบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรคนใดที่มีคุณวิเศษสมควรจะ ยกย่อง ก็ยกย่องไว้ในที่ประชุมชน เป็นต้นว่า ในสำนักแห่งพระราชมหากษัตริย์ ณ ท่ามกลาง หมู่อำมาตย์ราชภัฏนายประตูและหมู่โยธา ด้วยประสงค์ว่าต่อไปภายหน้า คนทั้งหลายจะได้ เคารพยำเกรงบุตรของตน ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ก็เหมือนสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคทรงพิจารณา เห็นประโยชน์ในอนาคตกาล จึงได้ทรงประกาศยกย่องคุณแห่งพระสงฆ์ไว้ให้ปรากฏ เพื่อปัจฉิมา ชนตาชนในภายหลังจะได้กระทำสักกาบูชา ใช่ว่าพระสังฆรัตนะจะประเสริฐเลิศกว่าพระมหา @- ปัญหาที่ไม่ทราบว่าอยู่ในวรรคไหน ปัญหาที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และต่อไปก็ไม่ปรากฏ แต่บอกไว้ว่า ปัญหาที่ ๓ ฉบับที่แปลลงในหนังสือธรรมจักษุยกไปไว้ในพวกเมณฑกปัญหา ต่อ ทวินนัง พุทธาบัง โลกานุป ปัชชนปัญหาที่ ๘ ในฉัฏฐวรรค แต่ฉบับที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้คงไว้ตามฉบับภาษาบาลี กรุณา ด้วยเหตุเพียงเท่าที่ให้พระมหาปชาบดีถวายคู่ผ้าสาฎกนี้ก็หามิได้ ยถา มหาราช อนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อาตมาจะขอถาม เหมือนว่าบิดามารดาป้อนข้าวอาบน้ำ ประคับประคองบุตร ให้กินให้นอน ให้ผ้าผ่อนท่อนสไบแก่บุตรเป็นต้น บุตรนั้นจะเรียกว่า ประเสริฐกว่าบิดามารดาของตน เพราะเหตุบิดามารดาอุปถัมภ์บำรุงเพียงนั้น ได้หรือประการ ใด นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ประกอบด้วยญาณปรีชา บิดามารดาประคับประคองบุตรของตน มีป้อนข้าวแลอาบน้ำ เป็นต้นก็ด้วยความจำใจ เพราะเหตุว่าบุตรเกิดมาแต่อกจะละทิ้งเสียไม่ได้ แต่ว่าบุตรนั้นมิได้ชื่อ ว่าดีกว่าบิดามารดา หรือบิดามารดาเคารพต่อบุตรด้วยการเลี้ยงดูรักษามีประมาณเท่านี้ นะพระ ผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงถวายพระพรอุปไมยต่อไปเล่าว่า เอวเมว โข มหาราช ข้อความนั้น ฉันใด ก็เหมือนสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสให้พระมหาปชาบดีถวายคู่ผ้าสาฎกแก่สงฆ์ ก็ เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ให้เป็นไปในอนาคตกาล จะได้ชื่อว่าสังฆรัตนะประเสริฐกว่าสมเด็จพระ ศาสดาจารย์ด้วยตรัสฉะนี้ ก็หามิได้ ยถา มหาราช อนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อาตมาจะอุปมาให้ฟังอีก เหมือนอย่างว่ามีบุรุษคนใดคนหนึ่งนำส่วยสากอากรมาถวายแก่พระ มหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ก็พระราชทานส่วยนั้นแก่ราชบุรุษคนใดคนหนึ่ง จะเป็นพลโยธา หรือปุโรหิตก็ตามที อปินุ โข มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เมื่อพระ มหากษัตริย์เจ้าพระราชทานส่วยอากรให้เช่นนี้ จะว่าบุรุษผู้รับพระราชทานนั้น ดีเลิศประเสริฐ กว่าพระมหากษัตริย์หรือประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร              ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่ พระผู้เป็นเจ้าพระนาคเสน สมเด็จพระมหากษัตริย์พระราชทานส่วยสาอากรแก่บุรุษคนใด ก็ เพื่อจะยกย่องผู้นั้นให้ปรากฏ จะว่าประเสริฐกว่าพระมหากษัตริย์นั้นมิได้ นะพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงอุปไมยต่อไปเล่าว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ข้อความนี้ อุปมาฉันใด ก็อุปไมยเหมือนสมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสให้พระมหาปชาบดีบูชาสงฆ์ก็เหตุ จะทรงยกย่องสงฆ์ เหมือนพระมหากษัตริย์พระราชทานส่วยฉะนั้น อปิจ มหาราช อนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระศาสดาจารย์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควร บูชาอยู่แล้วโดยปกติ พระตถาคตจักบูชาสงฆ์ด้วยของอันเป็นส่วนของพระตถาคตเองดังนี้ พระองค์จึงได้ตรัสให้พระมหาปชาบดีถวายคู่ผ้าสาฎกแก่สงฆ์ อีกประการหนึ่ง ดูรานะบพิตร พระราชสมภาค สมเด็จพระบรมครูเจ้านี้ พระองค์มิได้พรรณนายกย่องพระองค์เอง ถ้าใครควร แก่บูชา พระองค์ก็ยกย่องผู้นั้น อนึ่ง ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระศาสดาผู้เป็น วิสุทธิเทพยดาหาเทพยดาอื่นเปรียบมิได้ เมื่อพระองค์จะทรงยกย่องความปฏิบัติของภิกษุผู้ สันโดษมักน้อย พระองค์ได้ทรงสรรเสริญไว้โดยธรรมทายาทปริยาย อันมีในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ว่า อสุเยว ปริโย ภิกฺขุ พระภิกขุผู้อยู่ในเบื้องหน้าแห่งพระตถาคตองค์โน้น เป็นผู้ควรบูชา และควรสรรเสริญโดยยิ่งดังนี้ ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้าแห่งเรา นั้นประเสริฐโดยแท้หาผู้เสมอมิได้ในสัตวนิกาย ควรที่จะรับทักขิณาทานแห่งชนทั้งหลาย หา ผู้เสมอมิได้ อันนี้ก็สมด้วยเทวภาษิต ซึ่งมาณวคามิกะเทพบุตรกล่าวไว้ในที่เฉพาะพระพักตร์ สมเด็จพระมหากรุณา อันยกขึ้นร้อยกรองเป็นพระคาถาไว้ใน สังยุตตนิกายว่า :-                           วิปุโล ราชคเหยฺยนํ คิริ เสฏฺโฐ ปุจฺจติ                           เสโต หิมวตา เสฏฺโฐ อาทิจฺโจ อฆคามินํ                           สมุทฺโท นทีนํ เสฏฺโฐ นกฺขตฺตานญฺจ จนฺทิมา                           สเทวกสฺส โลกสฺส พุทฺโธ อคฺโคติ วุจฺจติ              อธิบายความในคาถานี้ว่า บรรดาเขาทั้งหลายที่มีในประเทศราชคฤห์นครนั้น เขาวิบุล- พรรพตนั้นปรากฏว่าประเสริฐกว่า ถ้าจะว่าข้างฝ่ายเขาหิมพานต์ เขาชื่อว่าไกรลาสนั้น ประเสริฐกว่าเขาทั้งปวง อาทิจฺโจ ส่วนพระอาทิตย์นั้นเล่า ก็ประเสริฐกว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย บรรดามีในอากาศเวหา สมุทฺโท อันว่ามหาสมุทรอันใหญ่กว้าง ก็ประเสริฐกว่าแม่น้ำทั้งหลาย จนฺทิมา บรรดาดาวทั้งหลายที่มีในอากาศ พระจันทรเทวราชประเสริฐที่สุด พุทฺโธ อันว่าสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อคฺโค ก็ประเสริฐกว่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายในสากลโลกหาบุคคล ใดจะเปรียบเสมอมิได้ ตํ โข ปน ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ถ้อยคำของมาณวคามิกะ เทพบุตรภาษิตสรรเสริญเป็นคาถาไว้ฉะนี้คาถานี้เป็นของมาณวคามิกะเทพบุตรได้ ร้อยกรองด้วยดี เป็นคาถาสุภาษิต จะได้เป็นทุภาษิตหามิได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรง อนุมัติตาม อนึ่ง พระธรรมเสนบดีสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้ว่า ความเลื่อมใสที่ปรากฏขึ้นในใจก็เป็นส่วนหนึ่ง ความที่ ถึงสรณคมน์หรือกระทำอัญชลีนอบน้อมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าการกระทำอัญชลีนอบน้อม แก่พระพุทธเจ้า ผู้กำจัดเสียแล้วซึ่งมารคือกิเลส สามารถจะยังบุคคลนั้น ให้ข้ามพ้นจาก สังสารวัฏได้ อนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเทศนาไว้ว่า ภิกฺขเว ดูกรสงฆ์ทั้งหลาย บุคคลจำพวกหนึ่งเกิดขึ้นในโลกนี้ย่อมเกิดมาเพื่อจะให้เป็นประโยชน์ และความสุขแก่มหาชนเป็นอันมากตลอดทั้งเทวดาและมนุษย์ บุคคลจำพวกนั้น ได้แก่ สมเด็จ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้ เพราะเหตุนั้น มหาบพิตรพระราชสมภารจงเข้า พระทัยเถิดว่า สมเด็จพระพุทธเจ้านี้เลิศประเสริฐกว่าสังฆรัตนะเป็นแท้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินท์ได้ทรงฟัง ก็ทรงพระโสมนัส ตรัสรับคำของพระนาคเสน ด้วยอาการอันดี
โคตมีวัตถทานปัญหา คำรบ ๓ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๑๗๖ - ๑๗๙. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=93              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_93

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]