ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์แสดงเรื่องผู้มีราตรีเดียวเจริญ
[๒๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์ชี้แจงให้ภิกษุ ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และกล่าวอุทเทสและวิภังค์แห่งบุคคล ผู้มีราตรีเดียวเจริญอยู่ในหอฉัน ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑- เข้าไปยังหอฉัน แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย ใครหนอชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และ กล่าวอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญอยู่ในหอฉัน” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์ชี้แจงให้ ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และได้กล่าวอุทเทสและวิภังค์ของ บุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญอยู่ในหอฉัน พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และได้กล่าวอุทเทส และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญไว้อย่างไร” ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชี้แจงให้ ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาอย่างนี้ และได้กล่าวอุทเทสและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญว่า @เชิงอรรถ : @ ออกจากที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงออกจากผลสมาบัติ (ม.อุ.อ. ๓/๒๗๖/๑๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” [๒๗๗] บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร คือ บุคคลดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้ มีรูปอย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีเวทนา อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสัญญา อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสังขาร อย่างนี้” ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีวิญญาณ อย่างนี้” ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เรา ได้มีรูปอย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีเวทนา อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสัญญา อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มีสังขาร อย่างนี้” ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า “ในอดีต เราได้มี วิญญาณอย่างนี้” ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร คือ บุคคลดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เรา พึงมีรูปอย่างนี้” ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมี วิญญาณอย่างนี้” ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร คือ บุคคลไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมีรูปอย่างนี้” ในอนาคต เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

ในอนาคต เราพึงมีสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ในอนาคต เราพึงมีสังขารอย่างนี้ ฯลฯ ไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า “ในอนาคต เราพึงมี วิญญาณอย่างนี้” ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตามีวิญญาณ บ้าง พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดใน ธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา บ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตามี วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน วิญญาณบ้าง ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่มาถึง ส่วนบุคคลใดเห็นแจ้งธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นควรเจริญธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง บุคคลควรทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนามากนั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีปกติอยู่อย่างนี้นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้ อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอย่างนี้ และได้กล่าวอุทเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ” [๒๗๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ เธอชี้แจงให้ภิกษุ ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา และได้กล่าวอุทเทสและวิภังค์ของ บุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๒. อานันทภัทเทกรัตตสูตร

‘บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคล ฯลฯ นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นอย่างนี้แล บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลไม่หวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง เป็นอย่างนี้แล บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างไร ฯลฯ อานนท์ บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมที่เป็นปัจจุบัน เป็นอย่างนี้แล” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๔. วิภังควรรค]

๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์อื่นอีกต่อไปว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบเรียกบุคคล ฯลฯ นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อานันทภัทเทกรัตตสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๒๔-๓๓๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=14&siri=32              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7115&Z=7222                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=535              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=535&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4477              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=535&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4477                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i535-e.php# https://suttacentral.net/mn132/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :