ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 128อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 138อ่านอรรถกถา 2 / 145อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓

               นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓               
               พรรณนาเภสัชชสิกขาบท               
               เภสัชชสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในเภสัชชสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระปิลินทวัจฉะ]               
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นภิกษุทั้งหลายขวนขวายชำระเงื้อมเขา เพื่อประโยชน์เป็นที่เร้นของพระเถระ มีพระราชประสงค์จะถวายคนทำการวัด จึงได้ตรัสถามว่า อตฺโถ ภนฺเต เป็นต้น.
               บทว่า ปาฏิเยกฺโก แปลว่า เป็นหมู่บ้านหนึ่งต่างหาก.
               บทว่า มาลากิเต ได้แก่ ผู้ทำระเบียบดอกไม้ คือ ทรงไว้ซึ่งระเบียบดอกไม้. อธิบายว่า ประดับด้วยระเบียบดอกไม้.
               บทว่า ติณณฺฑูปกํ แปลว่า เทริดหญ้า (หมวกฟาง).
               บทว่า ปฏิมุญฺจิ แปลว่า สวมไว้ (บนศีรษะ).
               ข้อว่า สา อโหสิ สุวณฺณมาลา มีความว่า หมวกฟางนั้น พอสวมบนศีรษะของเด็กหญิงเท่านั้น ได้กลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำ ด้วยอำนาจแห่งการอธิษฐานของพระเถระ. จริงอยู่ พระเถระอธิษฐานหมวกฟางนั้น ซึ่งพอวางลงบนศีรษะนั่นแลว่า จงกลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำ.
               คำว่า ทุติยมฺปิ โข ฯเปฯ อุปสงฺกมิ ได้แก่ พระเถระได้ไปหาในวันรุ่งขึ้นนั่นแหละ.
               สองบทว่า สุวณฺณนฺติ อธิมุจฺจิ ได้แก่ พระเถระได้อธิษฐานว่า จงสำเร็จเป็นทองคำ.
               สองบทว่า ปญฺจนฺนํ เภสชฺชานํ ได้แก่ เภสัช ๕ มีเนยใสเป็นต้น.
               บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้มักมากด้วยปัจจัย.
               ในคำว่า โกลุมฺเพปิ ฆเฏปิ นี้ กระถางปากกว้างเรียกชื่อว่า โกลุมพะ.
               บทว่า โอลีนวิลีนานิ ได้แก่ เยิ้มหยดลงภายใต้ และที่ข้างทั้งสอง.
               บทว่า โอกิณฺณวิกิณฺณา มีความว่า พวกหนูขุดพื้นดินเกลื่อนและกัดฝาผนัง วิ่งพลุกพล่านไปมาข้างบนเกลื่อนกล่น เพราะกลิ่นแห่งเภสัช ๕ มีเนยใสเป็นต้น.
               บทว่า อนฺโตโกฏฺฐาคาริกา ได้แก่ มีเรือนคลังจัดแจงไว้ ณ ภายใน.
               บทว่า ปฏิสายนียานิ ได้แก่ อันควรลิ้ม. อธิบายว่า ควรบริโภค.
               บทว่า เภสชฺชานิ มีความว่า เภสัชทั้งหลายจะทำกิจแห่งเภสัชหรือไม่ก็ตาม ก็ได้โวหาร (ว่าเภสัช) อย่างนี้.
               ด้วยบทว่า โคสปฺปิ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเนยใสที่ปรากฏในโลก แล้วทรงแสดงสงเคราะห์เอาเนยใสแม้แห่งสัตว์เหล่าอื่นมีมฤค ละมั่งและกระต่ายเป็นต้น เข้าด้วยคำว่า เยสํ มํสํ กปฺปติ นี้. แท้จริง สัตว์เหล่าใดมีน้ำนม สัตว์เหล่านั้นก็มีเนยใสด้วย. แต่เนยใสของสัตว์เหล่านั้น จะหาได้ง่ายหรือหาได้ยากก็ตามที ก็ตรัสไว้ เพื่อความไม่งมงาย. ถึงเนยข้น ก็อย่างนั้น.

               [อธิบายวิธีปฏิบัติในการรับประเคนเภสัชต่างๆ]               
               สองบทว่า สนฺนิธิการกํ ปริภุญฺชิตพฺพานิ มีความว่า พึงกระทำการสั่งสม คือ เก็บไว้บริโภค.
               อย่างไร? คือ บรรดาเภสัชมีเนยใสเป็นต้น ที่มาในพระบาลี จะกล่าวถึงเนยใสก่อน ที่ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน ควรจะฉันเจืออามิสก็ได้ ปราศจากอามิสก็ได้ ในเวลาก่อนฉันในวันนั้น. ตั้งแต่ภายหลังฉันไป พึงฉันปราศจากอามิสได้ตลอด ๗ วัน. แม้เพราะล่วง ๗ วันไป ถ้าภิกษุเก็บไว้ในภาชนะเดียว เป็นนิสสัคคีย์ตัวเดียว. ถ้าเก็บไว้ในภาชนะมากหลาย เป็นนิสสัคคีย์หลายตัว ตามจำนวนวัตถุ.
               เนยใสที่ภิกษุรับประเคนภายหลังฉัน ควรฉันได้ไม่เจืออามิสเลยตลอด ๗ วัน. ภิกษุจะกลืนกินเนยใสที่ตนทำให้เป็นอุคคหิตก์ เก็บไว้ในเวลาก่อนฉัน หรือหลังฉัน ย่อมไม่ควร. พึงน้อมไปใช้ในกิจอื่นมีการใช้ทาเป็นต้น. แม้เพราะล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ เพราะถึงความเป็นของไม่ควรกลืนกิน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า เป็นของควรลิ้ม.
               ถ้าอนุปสัมบันทำเนยใสด้วยเนยข้นที่รับประเคนไว้ ในเวลาก่อนฉันถวาย จะฉันกับอามิสในเวลาก่อนฉัน ควรอยู่. ถ้าภิกษุทำเอง ฉันไม่เจืออามิสเลย ย่อมควรแม้ตลอด ๗ วัน. แต่เนยใสที่บุคคลใดคนหนึ่งทำด้วยเนยข้นที่รับประเคนในเวลาหลังฉัน ควรฉันได้ไม่เจืออามิสตลอด ๗ วันเหมือนกัน.

               [อธิบายวิธีปฏิบัติในเนยใสและเนยข้น]               
               ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในเนยใสที่ทำด้วยเนยข้น (ซึ่งภิกษุทำให้) เป็นอุคคหิตก์ โดยนัยแห่งเนยใสล้วนๆ ดังที่กล่าวแล้วในก่อนนั้นแล. เนยใสทำด้วยนมสดที่ภิกษุรับประเคนไว้ก่อนฉันก็ดี ด้วยนมส้มก็ดี ที่อนุปสัมบันทำ ควรฉันได้ แม้เจืออามิส ในเวลาก่อนฉันวันนั้น. ที่ภิกษุทำเอง ควรฉันปราศจากอามิสอย่างเดียว, ในภายหลังฉันไม่ควร.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุอุ่นเนยข้น ไม่จัดเป็นสามปักกะ. แต่จะฉันอามิสกับด้วยเนยข้นนั้นที่เป็นสามปักกะ ย่อมไม่ควร. ตั้งแต่หลังฉันไปก็ไม่ควรเหมือนกัน. ไม่เป็นอาบัติ แม้ในเพราะล่วง ๗ วันไป เพราะรับประเคนทั้งวัตถุ. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า รับประเคนเภสัชเหล่านั้นแล้วเป็นต้น, แต่เนยใสที่ทำด้วยนมสดและนมส้มที่ภิกษุรับประเคนในเวลาฉัน ควรน้อมไปใช้ในกิจมีการทาตัวเป็นต้น. เนยใสที่ทำด้วยนมสดนมส้มซึ่งเป็นอุคคหิตก์ แม้ในเวลาก่อนฉัน (ก็ควรน้อมเข้าไปใช้ในกิจมีการทาตัวเป็นต้น). ไม่เป็นอาบัติ แม้เพราะเนยใสทั้งสองอย่าง ๗ วันไป.
               ในเนยใสของพวกสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. แต่มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               เป็นนิสสัคคีย์ ด้วยเนยข้นและเนยใสที่มาแล้วในพระบาลีใด, ในพระบาลีนั้น เป็นทุกกฏด้วยเนยใสของพวกสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะนี้. ในอรรถกถาอันธกะ ท่านคัดค้านเนยใสและเนยข้นของมนุษย์ไว้ทำให้สมควรแก่เหตุ. เนยใสและเนยข้นของมนุษย์นั้น ท่านคัดค้านไว้ไม่ชอบ เพราะพระอาจารย์ทั้งหลายอนุญาตไว้ในอรรถกถาทั้งปวง. และแม้การวินิจฉัยเนยใสและเนยข้นของมนุษย์นั้น จักมาข้างหน้า.
               แม้เนยข้นที่มาแล้วในพระบาลี ภิกษุรับประเคนในเวลาก่อนฉัน จะฉันแม้เจือกับอามิสในเวลาก่อนฉันในวันนั้น ควรอยู่, ตั้งแต่ภายหลังฉันไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควร. เพราะล่วง ๗ วันไป ในเนยข้นที่เก็บไว้ในภาชนะต่างๆ กัน เป็นนิสสัคคีย์ ตามจำนวนภาชนะ, ในเนยข้นที่เก็บไว้อย่างเป็นก้อนๆ ไม่คละกัน แม้ในภาชนะเดียว ก็เป็นนิสสัคคีย์ ตามจำนวนก้อน. เนยข้นที่ภิกษุรับประเคนไว้ในเวลาหลังฉัน ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยแห่งเนยใสเหมือนกัน.
               ส่วนความแปลกกันในเนยข้นนี้ มีดังนี้ :-
               ก้อนนมส้มบ้าง หยาดเปรียงบ้าง มีอยู่ เพราะฉะนั้น พวกพระเถระจำนวนครึ่ง จึงได้กล่าวว่า ที่ฟอกแล้วจักควร. ส่วนพระมหาสีวเถระกล่าวว่า ตั้งแต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว เนยข้นพอยกขึ้นจากเปรียงเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายขบฉันได้. เพราะเหตุนั้น ภิกษุจะฉันเนยข้นพึงชำระ คือตักเอานมส้ม เปรียง แมลงวันและมดแดงเป็นต้นออกแล้วฉันเถิด. ภิกษุใคร่จะเจียวให้เป็นเนยใสฉัน จะเจียวแม้เนยข้นที่ยังไม่ฟอกก็ควร. ในเนยข้นนั้นสิ่งใดที่เป็นนมส้มก็ดี ที่เป็นเปรียงก็ดี สิ่งนั้นจักถึงความหมดสิ้นไป. ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังไม่ชื่อว่ารับประเคนพร้อมทั้งวัตถุ อธิบายดังกล่าวมานี้ เป็นอธิบายในคำของพระมหาสีวเถระนี้. แต่ภิกษุทั้งหลายผู้มักรังเกียจ ย่อมรังเกียจแม้ในเนยข้นที่เจียวนั้น เพราะเจียวพร้อมทั้งอามิส.
               บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงถือเอานัยแห่งอาบัติ อนาบัติ การบริโภค และไม่บริโภคในเนยข้นที่จับต้องแล้วเก็บไว้ ในเนยข้นที่ภิกษุรับประเคนนมสดและนมส้มก่อนฉันแล้วทำ ในเนยข้นที่ภิกษุรับประเคนนมสดนมส้มนั้น ในภายหลังฉันแล้วทำ ในเนยข้นที่ทำด้วยนมสดและนมส้ม ที่เป็นอุคคหิตก์ และในเนยข้นของพวกสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะ ทั้งหมดโดยลำดับดังกล่าวแล้วในเนยใสนั่นแล. พวกชาวบ้านย่อมเทซึ่งเนยใสบ้าง เนยข้นบ้าง น้ำมันที่เคี่ยวแล้วบ้าง น้ำมันที่ยังไม่ได้เคี่ยวบ้าง ลงในเนยใสนั้นนั่นเอง ของภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไป เพื่อภิกษาน้ำมัน. หยาดเปรียงและนมส้มบ้าง เมล็ดข้าวสุกบ้าง รำข้าวสารบ้าง จำพวกแมลงวันเป็นต้นบ้างมีอยู่ในเนยใสนั้น. เนยใสนั้น ภิกษุทำให้สุกด้วยแสงแดดแล้วกรองเอาไว้ จัดเป็นสัตตาหกาลิก.
               ก็การที่ภิกษุจะเคี่ยวกับเภสัชที่รับประเคนไว้ แล้วทำการนัตถุ์เข้าทางจมูก ควรอยู่. ถ้าในสมัยฝนพรำ สามเณรผู้ลัชชี เมื่อจะเปลื้องการหุงต้มอามิสให้พ้นไป อย่างที่พวกภิกษุไม่หุงต้มข้าวสารและรำเป็นต้น ที่ตกลงไปในเนยใสนั้น ทำให้ละลายในไฟแล้วกรองไว้ เจียวถวายใหม่ ย่อมควรตลอด ๗ วัน โดยนัยก่อนเหมือนกัน.

               [อธิบายวิธีปฏิบัติในเภสัช คือน้ำมัน]               
               บรรดาจำพวกน้ำมัน จะว่าถึงน้ำมันงาก่อน ที่รับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิส ย่อมควร ในเวลาก่อนฉัน. ตั้งแต่หลังฉันไปปราศจากอามิสเท่านั้นจึงควร. ผู้ศึกษาพึงทราบความที่น้ำมันงานั้นเป็นนิสสัคคีย์ ด้วยจำนวนภาชนะ เพราะล่วง ๗ วันไป. น้ำมันงาที่รับประเคนภายหลังฉันปราศจากอามิสเท่านั้น จึงควร ตลอด ๗ วัน. จะดื่มกินน้ำมันงาที่ทำให้เป็นอุคคหิตก์เก็บไว้ไม่ควร. ควรน้อมเข้าไปในกิจมีการทาศีรษะเป็นต้น. แม้ในเพราะล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ. น้ำมันที่ภิกษุรับประเคน เมล็ดงาในปุเรภัตทำ เจืออามิสย่อมควร ในปุเรภัต. ตั้งแต่ปัจฉาภัตไปเป็นของไม่ควรกลืนกิน. พึงน้อมไปในกิจมีการทาศีรษะเป็นต้น. แม้ในเมื่อล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ. น้ำมันที่ภิกษุรับประเคนเมล็ดงาในปัจฉาภัตแล้วทำ เป็นของไม่ควรกลืนกินเหมือนกัน เพราะรับประเคนทั้งวัตถุ. แม้ในเมื่อล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               พึงน้อมเข้าไปในกิจมีการทาศีรษะเป็นต้น. แม้ในน้ำมันที่ทำด้วยเมล็ดงาที่ภิกษุจับต้องในปุเรภัต หรือในปัจฉาภัตก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               น้ำมันที่คั่วเมล็ดงาซึ่งภิกษุรับประเคนในปุเรภัต แล้วนึ่งแป้งงาหรือให้ชุ่มด้วยน้ำอุ่นทำ, ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิส ย่อมควรในปุเรภัต. ที่ตนทำเอง เพราะปล้อนวัตถุออกแล้ว ไม่มีอามิสเลย จึงควรในปุเรภัต. เพราะเป็นน้ำมันที่เจียวเอง เจืออามิสจึงไม่ควร. ก็เพราะเป็นของที่รับประเคนพร้อมวัตถุ แม้ทั้งสองอย่าง จึงไม่ควรกลืนกิน จำเดิมแต่ปัจฉาภัตไป พึงน้อมเข้าไปในการทาศีรษะเป็นต้น. แม้ในเมื่อล่วง ๗ วันไปก็ไม่เป็นอาบัติ. แต่ถ้าว่า น้ำอุ่นมีน้อย, น้ำนั้นเพียงแต่ว่าพรมลงเท่านั้น เป็นอัพโพหาริก ย่อมไม่ถึงการนับว่าเป็นสามปักกะ. แม้ในน้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้นที่ภิกษุรับประเคนพร้อมทั้งวัตถุ ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว ในน้ำมันงาที่ไม่มีวัตถุนั่นแล.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุอาจเพื่อทำน้ำมันจากผงแห่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น ที่รับประเคนไว้ในปุเรภัต โดยเจียวด้วยแสงแดด, น้ำมันนั้นแม้เจือด้วยอามิส ย่อมควรในปุเรภัต. ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควร. ในเมื่อล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์.
               อนึ่ง เพราะภิกษุทั้งหลายนึ่งผงเมล็ดพันธุ์ผักกาดและมะซางเป็นต้นและคั่วเมล็ดละหุ่งแล้วกระทำน้ำมันอย่างนี้ ฉะนั้น น้ำมันของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นที่พวกอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิสก็ควรในเวลาก่อนฉัน. ก็เพราะวัตถุเป็นยาวชีวิก จึงไม่มีโทษ. ในการรับประเคนพร้อมทั้งวัตถุ ฉะนี้แล. น้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้นที่ตนทำเอง พึงบริโภค โดยการบริโภคปราศจากอามิสอย่างเดียวตลอด ๗ วัน. น้ำมันที่ทำด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น ที่เป็นอุคคหิตก์ไม่ควรกลืนกิน ควรแต่ในการใช้สอยภายนอก. แม้เมื่อล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               น้ำมันที่ภิกษุรับประเคนเมล็ดพันธุ์ผักกาด มะซางและเมล็ดละหุ่ง เพื่อต้องการจะทำน้ำมัน แล้วทำในวันนั้นนั่นเอง เป็นสัตตาหกาลิก, ทำในวันรุ่งขึ้น ควรบริโภคได้ ๖ วัน. ทำในวันที่ ๓ ควรบริโภคได้ ๕ วัน. แต่ที่ทำในวันที่ ๔ ควร ๓ วัน... ในวันที่ ๕ ควร ๒ วัน... ในวันที่ ๖ ควร ๑ วัน... ในวันที่ ๗ ควรในวันนั้นเท่านั้น. ถ้ายังคงอยู่จนถึงอรุณขึ้น เป็นนิสสัคคีย์. ที่ทำในวันที่ ๘ ไม่ควรกลืนกินเลย แต่ควรในการใช้สอยภายนอก เพราะเป็นของยังไม่เสียสละ. แม้ถ้าว่าไม่ทำ ในเมื่อเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ตนรับไว้ เพื่อประโยชน์แก่น้ำมันเป็นต้น ล่วงกาล ๗ วันไป ก็เป็นทุกกฏอย่างเดียว.
               อนึ่ง น้ำมันผลไม้มะพร้าวเมล็ดสะเดา สะคร้อ เล็บเหยี่ยวและสำโรง๑- เป็นต้น แม้เหล่าอื่นที่ไม่ได้มาในพระบาลี ก็ยังมี. เมื่อภิกษุรับประเคนน้ำมันเหล่านั้นแล้วให้ล่วง ๗ วันไปเป็นทุกกฏ.
               ในมะพร้าวเป็นต้นเหล่านี้ มีความแปลกกันดังนี้ :-
               พึงกำหนดวัตถุแห่งยาวกาลิกที่เหลือแล้ว ทราบวิธีการแห่งสามปักกะ (ให้สุกเอง) สวัตถุก (ของที่รับทั้งวัตถุ) ของที่รับประเคนในปุเรภัตรับประเคนในปัจฉาภัต และอุคคหิตวัตถุ (ของที่ยังไม่ได้รับประเคนภิกษุจับต้อง) ทั้งหมด ตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
____________________________
๑- บางแห่งว่า เมล็ดฝ้าย.

               [อธิบายน้ำมันทำจากเปลวสัตว์ต่างๆ]               
               บทว่า วสาเตลํ ได้แก่ น้ำมันแห่งเปลวสัตว์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตเปลวมัน ๕ ชนิด คือ เปลวหมี, เปลวปลา, เปลวปลาฉลาม, เปลวสุกร, เปลวลา.๑-
               ก็บรรดาเปลวมัน ๕ ชนิดนี้ ด้วยคำว่า เปลวหมี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตเปลวมันแห่งสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะทั้งหมด เว้นเปลวมันแห่งมนุษย์เสีย.
               อนึ่ง แม้ปลาฉลามก็เป็นอันพระองค์ทรงถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าปลา. แต่เพราะปลาฉลามเป็นปลาร้าย พระองค์จึงตรัสแยกไว้ต่างหาก. ในบาลีนี้ พระองค์ทรงอนุญาตเปลวมันแห่งพวกสัตว์มีมังสะเป็นกัปปิยะแม้ทุกชนิด ด้วยศัพท์ว่าปลาเป็นต้น.
               จริงอยู่ ในจำพวกมังสะ มังสะแห่งมนุษย์, ช้าง, ม้า, สุนัข, งู, สีหะ, เสือโคร่ง, เสือเหลือง, หมี, เสือดาว. ๑๐ ชนิด เป็นอกัปปิยะ.
               บรรดาเปลวมัน เปลวมันแห่งมนุษย์อย่างเดียว เป็นอกัปปิยะ. บรรดาอวัยวะอย่างอื่นมีน้ำนมเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอกัปปิยะ ไม่มี. น้ำมันเปลวที่พวกอนุปสัมบันทำและกรองแล้ว ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิส ก็ควรก่อนฉัน. ตั้งแต่หลังฉันไปไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน. วัตถุใดที่คล้ายกับธุลีอันละเอียด เป็นมังสะก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี เลือดก็ดี ปนอยู่ในเปลวมันนั้น, วัตถุนั้นจัดเป็นอัพโพหาริก.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุรับประเคนเปลวมันกระทำน้ำมันเอง, รับประเคนแล้วเจียว กรองเสร็จในปุเรภัต พึงบริโภค โดยบริโภคปราศจากอามิสตลอด ๗ วัน. แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงการบริโภคปราศจากอามิส จึงตรัสคำนี้ว่า รับประเคนในกาล เจียวเสร็จในกาล กรองในกาล ควรเพื่อบริโภคอย่างบริโภคน้ำมัน. มังสะที่ละเอียดเป็นต้น แม้ในน้ำมันที่รับประเคนเปลวมันแล้วเจียวกรองนั้น ก็เป็นอัพโพหาริกเหมือนกัน. แต่จะรับประเคน หรือเจียวในปัจฉาภัต ไม่ควรเลย.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าภิกษุรับประเคนเปลวมันในเวลาวิกาล เจียวในเวลาวิกาล กรองในเวลาวิกาล, ถ้าภิกษุบริโภคซึ่งน้ำมันนั้น ต้องทุกกฏ ๓ ตัว, ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าภิกษุรับประเคนมันเปลวในกาล เจียวในวิกาล กรองในวิกาล. ถ้าบริโภคน้ำมันนั้น ต้องทุกกฏ ๒ ตัว, ภิกษุทั้งหลาย! ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล, ถ้าบริโภคน้ำมันนั้น ต้องทุกกฏ (ตัวเดียว). ภิกษุทั้งหลาย! ถ้ามันเปลวภิกษุรับประเคนในกาลเจียว ในกาลกรองในกาล, ถ้าภิกษุบริโภคน้ำมันนั้น ไม่เป็นอาบัติ๑- ดังนี้.
               แต่พวกอันเตวาสิกถามพระอุปติสสเถระว่า ท่านขอรับ! เนยใส เนยข้นและเปลวมัน ที่ภิกษุเจียวรวมกันแล้วเกรอะออกควรหรือไม่ควร.
               พระเถระตอบว่า ไม่ควร อาวุโส! ได้ยินว่า พระเถระรังเกียจในเนยใส เนยข้น เปลวมันที่ภิกษุเจียวรวมกันแล้ว เกรอะออกนี้ ดุจในกากน้ำมันงาที่เจียวแล้ว.
               ภายหลัง พวกอันเตวาสิกถามท่านหนักขึ้นว่า ท่านขอรับ! ก้อนนมส้มก็ดี หยดเปรียงก็ดี มีอยู่ในเนยข้น, เนยข้นนั่น ควรไหม?
               พระเถระตอบว่า ผู้มีอายุ แม้เนยข้นนั่น ก็ไม่ควร. ลำดับนั้น พวกอันเตวาสิกจึงถามท่านว่า ท่านขอรับ! น้ำมันที่เจียวรวมกันกรองแล้ว มีความร้อนสูง ย่อมบำบัดโรคได้. พระเถระยอมรับว่า ดีละ อาวุโส! ดังนี้.
               แต่พระมหาสุมเถระกล่าวไว้ว่า เปลวมันของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ ย่อมควรในการบริโภคเจืออามิส, เปลวมันของพวกสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะนอกนี้ ควรในการบริโภคปราศจากอามิส.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระปฏิเสธว่า นี้อะไรกัน? แล้วกล่าวว่า พวกภิกษุอาพาธด้วยโรคลม เติมน้ำมันเปลวหมีและสุกรเป็นต้นลงในข้าวยาคูที่ต้มด้วยน้ำฝาดรากไม้ ๕ ชนิด แล้วดื่มข้าวยาคู, ข้าวยาคูนั้นบำบัดโรคได้ เพราะมีความร้อนสูง ดังนี้ จึงกล่าวว่าสมควรอยู่.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๗/หน้า ๕๑.

               [อธิบายเภสัชว่าด้วยน้ำผึ้ง]               
               สองบทว่า มธุ นาม มกฺขิกามธุ ได้แก่ น้ำหวานที่พวกผึ้งใหญ่แมลงผึ้งตัวเล็ก และจำพวกแมลงภู่ ซึ่งมีชื่อว่าแมลงทำน้ำหวาน (น้ำผึ้ง) ทำแล้ว. น้ำผึ้งนั้น ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้จะบริโภคเจืออามิสในปุเรภัตก็ควร. ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป ควรบริโภคปราศจากอามิส อย่างเดียวตลอด ๗ วัน ในเมื่อล่วง ๗ วันไป ถ้าน้ำผึ้งชนิดหนามากเป็นเช่นกับยาง (เคี่ยวให้แข้น) ทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่เก็บไว้ หรือน้ำผึ้งชนิดบางนอกนี้เก็บไว้ในภาชนะต่างๆ กัน เป็นนิสสัคคีย์มากตามจำนวนวัตถุ, ถ้ามีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นหรือน้ำผึ้งบางนอกนี้ ก็เก็บรวมไว้ในภาชนะเดียว เป็นนิสสัคคีย์เพียงตัวเดียว. น้ำผึ้งที่เป็นอุคคหิตก์พึงทราบตามนัยที่กล่าวนั่นแล. พึงน้อมเข้าไปในกิจอื่นมีทาแผลเป็นต้น. รังผึ้งหรือขี้ผึ้ง ถ้าน้ำผึ้งไม่ติด บริสุทธิ์ เป็นยาวชีวิก. แต่ที่มีน้ำผึ้งติดอยู่มีคติอย่างน้ำผึ้งเหมือนกัน. แมลงผึ้งตัวยาวมีปีก ชื่อว่าจิริกะ, แมลงภู่ใหญ่ตัวดำมีปีกแข็ง มีชื่อว่าตุมพละ. ในรังของแมลงผึ้งเหล่านั้นมีน้ำผึ้งคล้ายกับยาง. น้ำผึ้งนั้นเป็นยาวชีวิก.

               [อธิบายเภสัชว่าด้วยน้ำอ้อย]               
               ข้อว่า ผาณิตนฺนาม อจฺฉุมฺหา นิพฺพตฺตํ มีความว่า น้ำอ้อยชนิดที่ยังไม่ได้เคี่ยว หรือที่เคี่ยวแล้วไม่มีกาก หรือที่ไม่มีกากแม้ทั้งหมดจนกระทั่งน้ำอ้อยสดพึงทราบว่า น้ำอ้อย. น้ำอ้อยนั้นที่ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิส ก็ควรในปุเรภัต. ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน. ในเมื่อล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์ตามจำนวนวัตถุ. ก้อนน้ำอ้อยแม้มากภิกษุย่อยให้แหลกแล้ว ใส่ไว้ในภาชนะเดียวกัน ย่อมจับรวมกันแน่น, เป็นนิสสัคคีย์เพียงตัวเดียว. น้ำอ้อยที่เป็นอุคคหิตก์ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแหละ. พึงน้อมเข้าไปในกิจอื่นมีการอบเรือนเป็นต้น.
               ผาณิตที่เขาทำด้วยน้ำอ้อยสดที่ยังไม่ได้กรอง ซึ่งภิกษุรับประเคนไว้ในเวลาก่อนฉัน ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิส ก็ควร. ถ้าภิกษุทำเอง ไม่เจืออามิสเลย จึงควร. ก็จำเดิมแต่ปัจฉาภัตไป ไม่ควรกลืนกิน เพราะเป็นของรับประเคนทั้งวัตถุ. แม้ในเมื่อล่วง ๗ วันไปก็ไม่เป็นอาบัติ. แม้ที่เขาทำด้วยน้ำอ้อยสด ที่ภิกษุรับประเคนทั้งที่ยังไม่ได้กรองในปัจฉาภัต ก็ไม่ควรกลืนกินเหมือนกัน. แม้ในเมื่อล่วง ๗ วันไปก็ไม่เป็นอาบัติ แม้ในผาณิตที่ภิกษุรับประเคนอ้อยลำทำ ก็มีนัยอย่างนี้.
               ก็ผาณิตที่ทำด้วยน้ำอ้อยสดที่กรองและรับประเคนไว้ในกาลก่อนฉัน ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิส ก็ควรในปุเรภัต. ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน. ที่ทำเองไม่เจืออามิสเลย ย่อมควรแม้ในปุเรภัต, จำเดิมแต่ปัจฉาภัตไปไม่เจืออามิสเหมือนกัน ควรตลอด ๗ วัน. แต่ผาณิตทำด้วยน้ำอ้อยสดที่กรองและรับประเคนแล้วในปัจฉาภัต ปราศจากอามิสเท่านั้น จึงควรตลอด ๗ วัน. ผาณิตที่เป็นอุคคหิตก์ มีดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวว่า ผาณิตที่ทำด้วยน้ำอ้อยเผาก็ดี ผาณิตที่ทำด้วยน้ำอ้อยหีบก็ดี ควรแต่ในปุเรภัตเท่านั้น. ส่วนในมหาปัจจรี ท่านตั้งคำถามว่า ผาณิตที่เคี่ยวทั้งวัตถุ (กาก) นี้ ควรหรือไม่ควร? ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ผาณิตที่ทำด้วยน้ำอ้อยสด ชื่อว่าไม่ควรในปัจฉาภัต ย่อมไม่มี. คำนั้นถูกแล้ว.
               ผาณิตดอกมะซางที่เขาทำด้วยน้ำเย็น แม้เจืออามิส ก็ควรในปุเรภัต. จำเดิมแต่ในปัจฉาภัตไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน. ในเมื่อล่วง ๗ วันไป เป็นทุกกฏตามจำนวนวัตถุ, ส่วนผาณิตมะซางที่เขาเติมนมสดทำ เป็นยาวกาลิก. แต่ชนทั้งหลายตักเอาฝ้า (ฟอง) นมสดออกแล้วๆ ชำระขัณฑสกรให้สะอาด เพราะฉะนั้น ขัณฑสกรนั้นก็ควร. ส่วนดอกมะซางสดย่อมควรแม้ในปุเรภัต คั่วแล้วก็ควร, คั่วแล้วตำผสมด้วยของอื่นมีเมล็ดงาเป็นต้น หรือไม่ผสม ก็ควร.
               แต่ถ้าว่า ชนทั้งหลายถือเอามะซางนั้นประกอบเข้ากัน (ปรุง) เพื่อต้องการเมรัย, ดอกมะซางที่ปรุงแล้วนั้น ย่อมไม่ควรตั้งแต่พืช. ผาณิตแห่งผลไม้ที่เป็นยาวกาลิกทั้งหมดมีกล้วย ผลอินทผลัม (เป้งก็ว่า) มะม่วง สาเก ขนุนและมะขามเป็นต้น เป็นยาวกาลิกเหมือนกัน ชนทั้งหลายทำผาณิตด้วยพริกสุก, ผาณิตนั้นเป็นยาวกาลิก.
               สองบทว่า ตานิ ปฏิคฺคเหตฺวา มีความว่า ถ้าภิกษุรับประเคนเภสัช ๕ อย่างมีเนยเป็นต้นแม้ทั้งหมด เก็บไว้ไม่แยกกันในหม้อเดียว ในเมื่อล่วง ๗ วันไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์เพียงตัวเดียว. เมื่อแยกกันเก็บเป็นนิสสัคคีย์ ๕ ตัว. เอาเภสัช ๕ นี้ ยังไม่ล่วง ๗ วัน ภิกษุผู้อาพาธก็ดี ไม่อาพาธก็ดี ควรบริโภคตามสบาย โดยนัยดังกล่าวแล้ว.

               [อธิบายข้อที่ทรงอนุญาตไว้เฉพาะ ๗ อย่าง]               
               ก็ข้อที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะมี ๗ อย่าง คือ อนุญาตเฉพาะอาพาธ ๑ เฉพาะบุคคล ๑ เฉพาะกาล ๑ เฉพาะสมัย ๑ เฉพาะประเทศ ๑ เฉพาะมันเปลว ๑ เฉพาะเภสัช ๑.
               บรรดาอนุญาตเฉพาะ ๗ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะอาพาธ ได้แก่ ข้อที่ทรงอนุญาตเฉพาะอาพาธอย่างนี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อสด เลือดสด ในเพราะอาพาธอันเกิดจากอมนุษย์.
               อนุชานามิ ภิกฺขเว อมนุสฺสิกาพาเธ อามกมํสํ อามกโลหิตนฺติ
               เนื้อสดและเลือดสดนั้น ควรแก่ภิกษุผู้อาพาธด้วยอาพาธนั้นอย่างเดียว ไม่ควรแก่ภิกษุอื่น. ก็แล เนื้อสดและเลือดสดนั้นเป็นกัปปิยะก็ดี เป็นอกัปปิยะก็ดี ย่อมควรทั้งนั้น ทั้งในกาลทั้งในวิกาล.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๓๖.

               ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะบุคคล ได้แก่ ข้อที่ทรงอนุญาตเฉพาะบุคคลอย่างนี้ว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเรออวกแก่ภิกษุผู้มักเรออวก, ภิกษุทั้งหลาย! แต่ที่เรออวกมานอกทวารปากแล้ว ไม่ควรกลืนกิน. การเรออวกนั้น ควรแก่ภิกษุผู้มักเรออวกนั้นเท่านั้น ไม่ควรแก่ภิกษุอื่น.
               ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะกาล ได้แก่ ข้อที่ทรงอนุญาตเฉพาะกาลที่ภิกษุถูกงูกัดอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยามหาวิกัฏ ๔ คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน.๓- ยามหาวิกัฏนั้น เฉพาะในกาลนั้น แม้ไม่รับประเคน ก็ควร, ในกาลอื่นหาควรไม่.
               ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะสมัย ได้แก่ อนาบัติทั้งหลายที่ทรงอนุญาตไว้เฉพาะสมัยนั้นๆ โดยนัยมีว่า (เป็นปาจิตตีย์) ในเพราะคณโภชนะ เว้นแต่สมัย ดังนี้เป็นต้น. อาบัติเหล่านั้นเป็นอาบัติเฉพาะในสมัยนั้นๆ เท่านั้น, ในสมัยอื่นหาเป็นไม่.
               ที่ชื่อว่าอนุญาตเฉพาะประเทศ ได้แก่ สังฆกรรมมีอุปสมบทเป็นต้น ที่ทรงอนุญาตเฉพาะในปัจจันตประเทศอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ ในปัจจันตชนบทเห็นปานนี้.๔-
               สังฆกรรมมีอุปสมบทเป็นต้นนั้น ย่อมควรเฉพาะในปัจจันตชนบทนั้นเท่านั้น, ในมัชฌิมประเทศหาควรไม่.
               ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะมันเปลว ได้แก่ ข้อที่ทรงอนุญาตเภสัชโดยชื่อแห่งมันเปลวอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเปลวมันเป็นเภสัช.๕-
               เปลวมันเภสัชนั้นของจำพวกสัตว์มีเปลวมันเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะทั้งหมด เว้นเปลวมันของมนุษย์เสียย่อมควร เพื่อบริโภคอย่างบริโภคน้ำมัน แก่พวกภิกษุผู้มีความต้องการด้วยน้ำมันนั้น.
               ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะเภสัช ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย ที่สามารถแผ่ไปเพื่อสำเร็จอาหารกิจ ซึ่งทรงอนุญาตไว้ โดยชื่อแห่งเภสัชอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัช ๕.
               เภสัช ๕ เหล่านั้น ภิกษุรับประเคนแล้ว พึงบริโภคได้ตามสบายในปุเรภัตในวันนั้น, ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป เมื่อมีเหตุ พึงบริโภค ได้ตลอด ๗ วัน โดยนัยดังกล่าวแล้ว.
____________________________
๒- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๑๔๔.
๓- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๔๓.
๔- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๓.
๕- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๗/หน้า ๕๑.

               [อธิบายบทภาชนีย์และอนาปัตติวาร]               
               ข้อว่า สตฺตาหาติกฺกนฺเต อติกฺกนฺตสฺญี นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ มีความว่า แม้ถ้าว่า เภสัชนั้นมีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด พอจะเอานิ้วแตะแล้วลิ้มด้วยลิ้นคราวเดียว อันภิกษุจำต้องเสียสละแท้ และพึงแสดงอาบัติปาจิตตีย์เสีย.
               ข้อว่า น กายิเกน ปริโภเคน ปริภุญฺชิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุอย่าพึงเอาทาร่างกาย หรือทาแผลที่ร่างกาย. แม้บริขารมีผ้ากาสาวะ ไม้เท้า รองเท้า เขียงเช็ดเท้า เตียงและตั่งเป็นต้น ถูกเภสัชที่เป็นนิสสัคคิยวัตถุเหล่านั้นเปื้อนแล้ว เป็นของไม่ควรบริโภค.
               ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ที่สำหรับมือจับแม้ในบานประตูและหน้าต่างก็ไม่ควรทา. ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวว่า แต่ผสมลงในน้ำฝาดแล้วควรทาบานประตูและหน้าต่างได้.
               ข้อว่า อนาปตฺติ อนฺโตสตฺตาหํ อธิฏฺเฐติ มีความว่า ในภายใน ๗ วัน ภิกษุอธิษฐานเนยใส น้ำมัน และเปลวมันไว้เป็นน้ำมันทาศีรษะ หรือเป็นน้ำมันสำหรับหยอด, อธิษฐานน้ำผึ้งไว้เป็นยาทาแผล น้ำอ้อยเป็นเครื่องอบเรือน ไม่เป็นอาบัติ.
               ถ้าภิกษุประสงค์จะรินน้ำมันที่อธิษฐานเอาไว้แล้ว ลงในภาชนะใส่น้ำมันที่ยังไม่ได้อธิษฐาน, ถ้าในภาชนะมีช่องแคบ น้ำมันที่ค่อยๆ ไหลเข้าไป ถูกน้ำมันเก่าล้นขึ้นมาท่วม, พึงอธิษฐานใหม่. ถ้าภาชนะปากกว้าง น้ำมันมาก ไหลเข้าไปอย่างรวดเร็วจนท่วมน้ำมันเก่า ไม่มีกิจที่จะต้องอธิษฐานใหม่. แท้จริง น้ำมันนั้นมีคติอย่างน้ำมันที่อธิษฐานแล้ว. ผู้ศึกษาพึงทราบแม้การรินน้ำมันที่ไม่ได้อธิษฐานลงในภาชนะใส่น้ำมันที่อธิษฐานแล้วโดยนัยนี้.
               ในบทว่า วิสฺสชฺเชติ นี้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ถ้าเภสัชนั้นเป็นของสองเจ้าของ ภิกษุรูปหนึ่งรับประเคนไว้ ยังไม่ได้แบ่งกัน, ในเมื่อล่วง ๗ วันไปไม่เป็นอาบัติแม้ทั้ง ๒ รูป แต่ไม่ควรบริโภค. ถ้ารูปใดรับประเคนไว้ รูปนั้นกล่าวกะอีกรูปหนึ่งว่า ท่านผู้มีอายุ! น้ำมันนี้ถึง ๗ วันแล้ว, ท่านจงบริโภคน้ำมันนั้นเสีย ดังนี้ และเธอก็ไม่ทำการบริโภค จะเป็นอาบัติแก่ใคร? ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ใครๆ ทั้งนั้น. เพราะเหตุไร? เพราะรูปที่รับประเคนก็สละแล้ว และเพราะอีกรูปหนึ่งก็ไม่ได้รับประเคน.
               บทว่า วินสฺเสติ ได้แก่ เป็นของบริโภคไม่ได้.
               ในคำว่า จตฺเตน เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เภสัชอันภิกษุสละแล้ว ปล่อยแล้ว ด้วยจิตใด, จิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สละแล้ว ทิ้งแล้ว ปล่อยแล้ว. ตรัสเรียกบุคคลผู้ไม่มีความห่วงใยด้วยจิตนั้น.
               อธิบายว่า ผู้ไม่มีความห่วงใยอย่างนั้นให้แล้วแก่สามเณร.
               คำนี้ตรัสไว้เพราะเหตุไร? ท่านพระมหาสุมเถระกล่าวว่า ตรัสไว้เพื่อแสดงว่าไม่เป็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ให้แล้วในภายใน ๗ วันอย่างนั้น ภายหลังได้คืนมาแล้วฉัน.
               ส่วนท่านพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า น้ำมันนี้ ภิกษุไม่ควรขอ, ด้วยว่าในเพราะการบริโภคใหม่ ซึ่งน้ำมันที่ให้ไปแล้วในภายใน ๗ วัน ไม่มีอาบัติเลย, แต่ตรัสคำนี้ไว้ ก็เพื่อแสดงว่าไม่เป็นอาบัติในเพราะบริโภคน้ำมันที่ล่วง ๗ วันไป. เพราะเหตุนั้น เภสัชที่เขาถวายแล้วอย่างนี้ ถ้าสามเณรปรุงแล้ว หรือไม่ได้ปรุง ถวายแก่ภิกษุนั้นเพื่อกระทำการนัตถุ์. ถ้าสามเณรเป็นผู้เขลา ไม่รู้เพื่อจะถวาย, ภิกษุอื่นพึงบอกเธอว่า แน่ะสามเณร! เธอมีน้ำมันหรือ? เธอรับว่า ขอรับ มีอยู่ ท่านผู้เจริญ! ภิกษุนั้นพึงบอกเธอว่า นำมาเถิด, เราจักทำยาถวายพระเถระ. น้ำมันย่อมควรแม้ด้วย (การถือเอา) อย่างนี้.
               คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เป็นอกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               เภสัชชสิกขาบท จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 128อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 138อ่านอรรถกถา 2 / 145อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=3452&Z=3644
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5277
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5277
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :