![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() บทว่า อฏฺฐานิสํเส ได้แก่ อานิสงส์ ๘ ที่ตรัสไว้ในโกสัมพิกขันธกะอย่างนี้ คือ เราทั้งหลายจักไม่ทำอุโบสถกับภิกษุนี้ จักเว้นภิกษุนี้เสีย ทำอุโบสถ ไม่พึงปวารณากับภิกษุนี้, จักไม่ทำสังฆกรรมกับภิกษุนี้, จักไม่นั่งบนอาสนะกับภิกษุนี้, จักไม่นั่งในที่ดื่มยาคูกับภิกษุนี้, จักไม่นั่งในหอฉันกับภิกษุนี้, จักไม่อยู่ในที่มุงอันเดียวกันกับภิกษุนี้, จักไม่ทำการกราบ, ลุกขึ้นรับ, อัญชลีกรรม สามีจิกรรม, ตามลำดับผู้แก่กับภิกษุนี้, เว้นภิกษุนี้เสีย จึงจักทำ แม้ในหมวด ๘ ที่ ๒ ก็นัยนี้แล. จริงอยู่ แม้หมวด ๘ ที่ ๒ นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในโกสัมพิกขันธกะอย่างนี้เหมือนกัน. สองบทว่า อฏฺฐ ยาวตติยกา ได้แก่ สังฆาทิเสสที่เป็นยาวตติยกะ ๔ ในสังฆาทิเสส ๑๓ ของภิกษุทั้งหลาย สังฆาทิเสสที่เป็นยาวตติยกะ ๔ ที่ไม่ทั่วไปด้วยพวกภิกษุ ในสังฆาทิเสส ๑๗ ของภิกษุณีทั้งหลาย จึงรวมเป็นยาวตติยกะ ๘. หลายบทว่า อฏฺฐหากาเรหิ กุลานิ ทูเสติ มีความว่า ย่อมประทุษร้ายตระกูล ด้วยอาการ ๘ เหล่านี้ คือ ด้วยดอกไม้บ้าง, ผลไม้บ้าง, จุณณ์บ้าง, ดินเหนียวบ้าง, ไม้สีฟันบ้าง, ไม้ไผ่บ้าง, เยียวยาทางแพทย์บ้าง, รับใช้ส่งข่าวบ้าง. มาติกา ๘ (เพื่อเกิดขึ้นแห่งจีวร) กล่าวแล้วในจีวรขันธกะมาติกา ๘ ข้อหลัง (เพื่อรื้อกฐิน) ได้กล่าวแล้วในกฐินขันธกะ. สองบทว่า อฏฺฐหิ อสทฺธมฺเมหิ มีความว่า ด้วยลาภ มิใช่ลาภ ด้วยยศ มิใช่ยศ ด้วยสักการะ มิใช่สักการะ ด้วยความเป็นผู้มีปรารถนาลามก ด้วยความเป็นผู้มีปาปมิตร. ชื่อว่าโลกธรรม ๘ คือ ยินดีในลาภ ยินร้ายในมิใช่ลาภ ยินดีในยศ สรรเสริญ สุข ยินร้ายในมิใช่ยศ นินทา ทุกข์. สองบทว่า อฏฺฐงฺคิโก มุสาวาโท ได้แก่ มุสาวาทที่ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ๗ องค์ที่มาในบาลีกับองค์นี้ คือ ตั้งความหมายจึงเป็นมุสาวาทประกอบด้วยองค์ ๘. สองบทว่า อฏฺฐ อุโปสถงฺคานิ ได้แก่ องค์ ๘ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า :- ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เขาไม่ให้ ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงเว้นจากเมถุนธรรมความประพฤติไม่ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคอาหาร ในเวลาวิกาลตลอดราตรี ไม่พึงทัดทรงระเบียบ ดอกไม้ ไม่พึงไล้ทาเครื่องหอม พึงนอนบนเตียงบนพื้น หรือบน เครื่องลาดที่สมควร บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถมีองค์ ๘ นี้แล อันพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศแล้ว๑- สองบทว่า อฏฺฐ ทูเตยฺยงฺคานิ ได้แก่ องค์ ๘ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสังฆเภทขันธกะ โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฟังด้วย เป็นผู้ให้ผู้อื่นฟังด้วย. ติตถิยวัตร ได้ทรงแสดงแล้วในมหาขันธกะ.๒- ของเคี้ยวของฉัน ไม่เป็นเดนและเป็นเดน ได้ทรงแสดงแล้วในปวารณาสิกขาบท.๓- สองบทว่า อฏฺฐนฺนํ ปจฺจุฏฺฐาตพฺพํ มีความว่า ในโรงฉันพึงลุกขึ้นรับแก่ภิกษุณีผู้แก่ทั้งหลาย แม้อาสนะก็พึงให้แก่ภิกษุณีเหล่านั้นแท้. บทว่า อุปาสิกา ได้แก่ นางวิสาขา. สองบทว่า อฏฺฐานิสํสา วินยธเร มีความว่า พึงทราบอานิสงส์ ๘ เพราะเติมอานิสงส์ ๓ นี้ คือ อุโบสถ ปวารณา สังฆกรรม เป็นหน้าที่ของวินัยธรนั้น เข้าในอานิสงส์ ๕ ที่กล่าวแล้วในหมวด ๕. สองบทว่า อฏฺฐ ปรมานิ ได้แก่ พึงทราบอย่างยิ่งทั้งหลาย ที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นเอง แต่จัดด้วยอำนาจหมวด ๘. หลายบทว่า อฏฺฐสุ ธมฺเมสุ สมฺมาวตฺติตพฺพํ ได้แก่ ในธรรม ๘ ที่ทรงแสดงในสมถขันธกะ โดยนัยมีข้อว่า ไม่พึงงดอุโบสถแก่ภิกษุผู้ปกตัตต์ ไม่พึงงดปวารณาแก่ภิกษุผู้ปกตัตต์ เป็นอาทิ. คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล. ____________________________ ๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๐. ๒- มหาวคฺค. เล่ม ๔/ข้อ ๑๐๐/ หน้า ๑๔๓. ๓- มหาวิภงฺค. เล่ม ๒/ข้อ ๕๐๔/หน้า ๓๓๒. พรรณนาหมวด ๘ จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๘ จบ. |