ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ าก ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กฐิน ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร;
       ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ)
       ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔);
       ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ);
       สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป;
       ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
       ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา ดู จำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
       คำถวายผ้ากฐิน
       แบบสั้นว่า : อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม. (ว่า ๓ จบ)
       แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์
       แบบยาวว่า : อิมํ, ภนฺเต, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ, กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน, กฐินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.
       แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

กฐินทาน การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ
           กตัญญู รู้คุณท่าน
           กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน;
       ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ
           กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง
           กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง
       (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก )

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กรรโชก ขู่เอาด้วยกิริยาหรือวาจา ให้กลัว (แผลงมาจาก กระโชก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กีสาโคตมี พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง
       เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง
       อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี
       วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กุลมัจฉริยะ “ตระหนี่ตระกูล” ได้แก่หวงแหนตระกูล ไม่ยอมให้ตระกูลอื่นมาเกี่ยวดองด้วย ถ้าเป็นบรรพชิตก็หวงแหนอุปัฏฐาก ไม่พอใจให้ไปบำรุงภิกษุอื่น;
       ดู มัจฉริยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
ขันติ ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม
       (ข้อ ๓ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๑ ในธรรมที่ทำให้งาม ๒, ข้อ ๖ ในบารมี ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
ขึ้นปาก เจนปาก, คล่องปาก, ว่าปากเปล่าได้อย่างว่องไว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่ง ประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ
       ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
ความปรารถนา ของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง ดู ทุลลภธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
คิลานุปฐาก ผู้ปฏิบัติภิกษุไข้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
จักรพรรดิ พระราชาธิราช หมายถึงพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครองมีความร่มเย็นเป็นสุข ปราบข้าศึกศัตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา มีรัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
จีวรมรดก จีวรของภิกษุหรือสามเณรผู้ถึงมรณภาพ (มตกจีวร)
       สงฆ์พึงมอบให้แก่คิลานุปฐาก (ผู้พยาบาลคนไข้) ด้วยญัตติทุติยกรรม
       อย่างไรก็ตาม อรรถกถาแสดงมติไว้ว่า กรณีเช่นนี้เป็นกรรมไม่สำคัญนัก จะทำด้วยอปโลกนกรรม ก็ควร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
จุลวรรค ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ;
       คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ
           ๑. กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม
           ๒. ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน
           ๓. สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี
           ๔. สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์
           ๕. ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น
           ๖. เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ
           ๖. สังฆเภทขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี
           ๘. วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นต้น
           ๙. ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่
           ๑๐. ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก
           ๑๑. ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑
           ๑๒. สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗);
       ต่อจาก มหาวรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
ชาตปฐพี ดินเกิดเอง, ปฐพีแท้ คือมีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน หรือมีของอื่น เช่นหินกรวด กระเบื้อง แร่ และทรายน้อย มีดินร่วน ดินเหนียวมาก
       ดินนี้ประสงค์เอาที่ยังไม่ได้เผาไฟ กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี มีฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้วนับเข้าในปฐพีแท้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
       หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ
       แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
       ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
       เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
       ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
       หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
       หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
       ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
       นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
ตักสิลา ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป
       ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล เคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
       ตักสิลาเป็นราชธานีที่มั่นคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีเรื่องราวเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
       ตักสิลาเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป
       แต่ในยุคก่อนพุทธกาล ชนวรรณะสูงเท่านั้นจึงมีสิทธิเข้าเรียนได้ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักสิลา เช่น
       พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจ และองคุลิมาล เป็นต้น
       ต่อมาภายหลังพุทธกาล ตักสิลาได้ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกยึดครอง มีหนังสือที่คนชาติกรีกกล่าวถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองตักสิลา เช่นว่า
       ประชาชนชาวตักสิลา ถ้าเป็นคนยากจนไม่สามารถจะปลูกฝังธิดาให้มีเหย้าเรือนตามประเพณีได้ ก็นำธิดาไปขายที่ตลาด โดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ ประชาชนก็พากันมาล้อมดู ถ้าผู้ใดชอบใจก็ตกลงราคากันนำไปเป็นภรรยา หญิงที่สามีตายจะต้องเผาตัวตายไปกับสามี
       นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นมา ตักสิลาได้เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญขึ้นมาเคียงข้างศาสนาฮินดู เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังมีซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และประติมากรรมแบบศิลปะคันธาระจำนวนมากปรากฏเป็นหลักฐาน
       ต่อมาราว พ.ศ. ๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนได้มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังได้มานมัสการพระสถูปเจดีย์ที่เมืองตักสิลา แสดงว่าเมืองตักสิลายังคงบริบูรณ์ดีอยู่ แต่ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีอินเดีย และได้ทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักสิลาพินาศสาบสูญไป
       ครั้นถึง พ.ศ. ๑๑๘๖ หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย กล่าวว่า เมืองตักสิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในแคว้นกัษมีระ โบสถ์วิหารสถานศึกษา และปูชนียสถานถูกทำลายหมด จากนั้นมา ก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักสิลาอีก;
       เขียนเต็มตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
ตัชชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่,
       สังฆกรรมประเภทนิคคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
ติณวัตถารกวินัย ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า
       ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ ที่ใช้ในเมื่อจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควรและซัดทอดกันเป็นเรื่องนุงนังซับซ้อน ชวนให้ทะเลาะวิวาท กล่าวซัดลำเลิกกันไปไม่มีที่สุด จะระงับวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวนปรับให้กันและกันแสดงอาบัติ ก็มีแต่จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จึงระงับเสียด้วยติณวัตถารกวิธี คือแบบกลบไว้ด้วยหญ้า ตัดตอนยกเลิกเสีย ไม่สะสางความหลังกันอีก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
ไตรวัฏฏ์ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
       (เรียกเต็มว่า
           ๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
           ๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
           ๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
       คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
       เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
       หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด;
       ไตรวัฏ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
ทมะ การฝึก, การฝึกฝนปรับปรุงตน,
       การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ดีงาม สมควร เป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจ และแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญาไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
       (ข้อ ๒ ในฆราวาสธรรม ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัว จัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้
       ๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา :
       บุตรธิดา พึงบำรุงมารดาบิดา ดังนี้
           ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
           ๒. ช่วยทำกิจของท่าน
           ๓. ดำรงวงศ์สกุล
           ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
           ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน;
       มารดาบิดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
           ๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
           ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
           ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
           ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
           ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
       ๒. ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ :
       ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ดังนี้
           ๑. ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ
           ๒. เข้าไปหา
           ๓. ใฝ่ใจเรียน
           ๔. ปรนนิบัติ
           ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ;
       ครูอาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ดังนี้
           ๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
           ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
           ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
           ๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน
           ๕. สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศ คือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้
       ๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา :
       สามีพึงบำรุงภรรยาดังนี้
           ๑. ยกย่องสมฐานะภรรยา
           ๒. ไม่ดูหมิ่น
           ๓. ไม่นอกใจ
           ๔. มอบความเป็นใหญ่ ในงานบ้านให้
           ๕. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส;
       ภรรยาอนุเคราะห์สามี ดังนี้
           ๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
           ๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้ง ๒ ฝ่ายด้วยดี
           ๓. ไม่นอกใจ
           ๔. รักษาสมบัติที่หามาได้
           ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
       ๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย :
       พึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้
           ๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
           ๒. พูดจามีน้ำใจ
           ๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
           ๔. มีตนเสมอ
           ๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน;
       มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบดังนี้
           ๑. เมื่อเพื่อประมาทช่วยรักษาป้องกัน
           ๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
           ๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
           ๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
           ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
       ๕. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน :
       นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ดังนี้
           ๑. จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ
           ๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
           ๓. จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
           ๔. ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
           ๕. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันสมควร;
       คนรับใช้และคนงาน อนุเคราะห์นายดังนี้
           ๑. เริ่มทำงานก่อน
           ๒. เลิกงานทีหลัง
           ๓. เอาแต่ของที่นายให้
           ๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
           ๕. นำความดีของนายไปเผยแพร่
       ๖. อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์:
       คฤหัสถ์พึงบำรุงพระสงฆ์ ดังนี้
           ๑. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา
           ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
           ๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
           ๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
           ๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔;
       พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ดังนี้
           ๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
           ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
           ๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
           ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
           ๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
           ๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
ทุลลภธรรม สิ่งที่ได้ยาก,
       ความปรารถนาของคนในโลกที่ได้สมหมายโดยยาก มี ๔ คือ
           ๑. ขอโภคสมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางชอบธรรม
           ๒. ขอยศจงเกิดมีแก่เรากับญาติพวกพ้อง
           ๓. ขอเราจงรักษาอายุอยู่ได้ยืนนาน
           ๔. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์;
       ดู ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
เทวรูปนาคปรก เทวรูปลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนาคปรก แต่ภายในนาคปรกนั้นเป็นเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป ที่เทวสถานเมืองลพบุรีมีมาก เป็นของลัทธิพราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
เทโวโรหณะ “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก
       ตำนานเล่าว่า ในพรรษาที่ ๗ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น
       เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อม ลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก
       ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว
       บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
ธรรมมีอุปการะมาก คือ
       ๑. สติ ความระลึกได้
       ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
นาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง,
       คุณธรรมที่ทำให้พึ่งตนได้ มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. ศีล มีความประพฤติดี
           ๒. พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก
           ๓. กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม
           ๔. โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล
           ๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ
           ๖. ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม
           ๗. วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร
           ๘. สันตุฏฐี มีความสันโดษ
           ๙. สติ มีสติ
           ๑๐. ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
นาลันทา ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะ หรือ นาลันทคาม
       ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. ๙๔๔-๙๕๓ บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา
       แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริยราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือ กุมารคุปตะที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๘-๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ต่อๆมาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง ๖ วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง ๖ รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทา มหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกว่าทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”
       พระเจ้าหรรษวรรธนะ มหาราชาพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๙-๑๑๙๑ ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภก์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๗ ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และมีอาจารย์ประมาณ ๑,๕๐๐ คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน ๒๐๐ หมู่โดยรอบถวายโดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ
       แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเชียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมาก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน
       หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๓ ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๓๐๓-๑๖๘๕) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
       อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ และทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดู มากขึ้นเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา
       ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย
       มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้นและมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ได้ถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา ซากของนาลันทาที่ถูกขุดค้นพบในภายหลังยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีต
       ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อินเดียได้เริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ได้มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” (นาลันทามหาวิหารแห่งใหม่) ขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตสมัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
นิครนถนาฏบุตร คณาจารย์เจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนครูทั้ง ๖ มีคนนับถือมาก
       มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น วรรธมานบ้าง พระมหาวีระบ้าง
       เป็นต้นศาสนาเชน ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศอินเดีย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
นิยสกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ,
       เป็นชื่อนิคคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก;
       ดู นิคคหกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
บุคคลหาได้ยาก คือ
       ๑. บุพการี
       ๒. กตัญญูกตเวที

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน คือผู้มีพระคุณ ได้แก่ มารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในบุคคลหาได้ยาก )

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
ปฏิปทา ๔ การปฏิบัติของท่านผู้ได้บรรลุธรรมพิเศษ มี ๔ ประเภท คือ
       ๑. ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
       ๒. ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติยาก แต่รู้โดยเร็ว
       ๓. สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
       ๔. สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน;
       เป็นคำเรียกกันมาติดปาก
           ความจริงคือ ปรมัตถะ แปลว่า “ประโยชน์อย่างยิ่ง”
           เหมือนทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า “ประโยชน์ปัจจุบัน”
           และสัมปรายิกัตถะ แปลว่า “ประโยชน์เบื้องหน้า”
           ก็มักเรียกกันว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ และสัมปรายิกัตถประโยชน์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
ประสก เป็นคำเลือนมาจาก อุบาสก พระสงฆ์ครั้งก่อนมักใช้เรียกคฤหัสถ์ผู้ชาย คู่กับ สีกา แต่บัดนี้ได้ยินใช้น้อย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
ปลิโพธ เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง;
       ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่
           ๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก
           ๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ
           ๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ
           ๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง
           ๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ
           ๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น
           ๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง
           ๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน
           ๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม
               (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
       ในทางพระวินัยเกี่ยวกับการกรานกฐิน ปลิโพธ หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ (คือยังรักษาอานิสงส์กฐินและเขตแห่งจีวรกาลตามกำหนดไว้ได้)
       มี ๒ อย่าง คือ
           ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลในอาวาส
               (ยังอยู่ในวัดนั้นหรือหลีกไปแต่ยังผูกใจว่าจะกลับมา)
           ๒. จีวรปลิโพธ ความกังวลในจีวร
               (ยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียในเวลาทำแต่ยังไม่สิ้นหวังว่าจะได้จีวรอีก)
           ถ้าสิ้นปลิโพธครบทั้งสองอย่าง จึงเป็นอันเดาะกฐิน
               (หมดอานิสงส์และสิ้นเขตจีวรกาลก่อนกำหนด)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
ปักขคณนา, ปักษคณนา “การนับปักษ์”,
       วิธีคำนวณดิถีตามปักษ์ คือ คำนวณหาวันขึ้นแรมกี่ค่ำๆ ให้แม่นยำ ตรงตามการโคจรของดวงจันทร์อย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งมุ่งให้ได้
           วันพระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ)
           วันพระจันทร์ดับ หรือวันดับ (แรม ๑๔-๑๕ ค่ำ) และ
           วันพระจันทร์กึ่งดวง (ขึ้น ๘ ค่ำ และ แรม ๘ ค่ำ)
       ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เป็นอย่างนั้นจริงๆ
       ซึ่งบางเดือนข้างขึ้นอาจมีเพียง ๑๔ วัน (วันเพ็ญ เมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ) ก็มีข้างแรมอาจมีเต็ม ๑๕ วันติดต่อกัน หลายเดือนก็มี ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป จึงใช้คำว่า ปักษ์ถ้วน ปักษ์ขาด ไม่ใช่เพียงเดือนเต็ม เดือนขาด
           เป็นวิธีคำนวณที่สลับซับซ้อน ต่างจากปฏิทินหลวง หรือปฏิทินของราชการ ที่ใช้วิธีคำนวณเฉลี่ยให้ข้างขึ้นเต็ม ๑๕ วันเสมอไป ส่วนข้างแรม เดือนคู่มี ๑๕ วัน เดือนคี่เรียกว่าเดือนขาดมี ๑๔ วัน สลับกันไป (แม้จะคำนวณด้วยวิธีที่พิเศษออกไป แต่วันเดือนเพ็ญเดือนดับที่ตรงกันก็มาก ที่คลาดกันก็เพียงวันเดียว);
       ปักขคณนา นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงค้นคิดวิธีคำนวณขึ้นใช้ในพระสงฆ์คณะธรรมยุต เพื่อเป็นเครื่องกำหนดวันสำหรับพระสงฆ์ทำอุโบสถ และสำหรับอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลฟังธรรมเป็นข้อปฏิบัติของคณะธรรมยุตสืบมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
ปุณณสุนาปรันตะ, -ตกะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ในจำนวนอสีติมหาสาวก ชื่อเดิมว่า ปุณณะ เกิดที่เมืองท่าชื่อ สุปปารกะ ในแคว้นสุนาปรันตะ เมื่อเติบโตขึ้น ได้ประกอบการค้าขายร่วมกับน้องชาย ผลัดกันนำกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวค้าขายตามหัวเมืองต่างๆ
       คราวหนึ่ง น้องชายอยู่เฝ้าบ้าน ปุณณะนำกองเกวียนออกค้าขายผ่านเมืองต่างๆ มาจนถึงกรุงสาวัตถี พักกองเกวียนอยู่ใกล้พระเชตวัน รับประทานอาหารเช้าแล้วก็นั่งพักผ่อนกันตามสบาย
       ขณะนั้นเอง ปุณณะมองเห็นชาวพระนครสาวัตถีแต่งตัวสะอาด เรียบร้อย พากันเกิดไปยังพระเชตวันเพื่อฟังธรรม ไต่ถามทราบความก็ดีใจ จึงพาบริวารเดินตามเขาเข้าไปสู่พระวิหาร ยืนอยู่ท้ายสุดที่ประชุม ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใสอยากจะบวช
       วันรุ่งขึ้นถวายมหาทานแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว มอบหมายธุระแก่เจ้าหน้าที่คุมของให้นำสมบัติไปมอบให้แก่น้องชาย แล้วออกบวชในสำนักพระศาสดา ตั้งใจทำกรรมฐาน แต่ก็ไม่สำเร็จ คิดจะไปบำเพ็ญภาวนาที่ถิ่นเดิมของท่านเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอพระโอวาท ดังปรากฏเนื้อความใน ปุณโณวาทสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานพระโอวาทแสดงวิธีปฏิบัติต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ โดยอาการที่จะมิให้ทุกข์เกิดขึ้น แล้วตรัสถามท่านว่า จะไปอยู่ในถิ่นใด
       ท่านทูลตอบว่า จะไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ
       ตรัสถามว่า ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย ถ้าเขาด่าว่า ท่านจะวางใจต่อคนเหล่านั้นอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ตบตี
       ตรัสถามว่า ถ้าเขาตบตีจะวางใจอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ขว้างปาด้วยก้อนดิน
       ตรัสถามว่า ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน จะวางใจอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ทุบตีด้วยท่อนไม้
       ตรัสถามว่า ถ้าเขาทุบตีด้วยท่อนไม้ จะวางใจอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ฟันแทงด้วยศัสตรา
       ตรัสถามว่า ถ้าเขาฟันแทงด้วยศัสตรา จะวางใจอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่เอาศัสตราอันคมฆ่าเสีย
       ตรัสถามว่า ถ้าเขาเอาศัสตราอันคมปลิดชีพเสีย จะวางใจอย่างไร
       ทูลตอบว่า จะคิดว่า มีสาวกบางท่านเบื่อหน่ายร่างกายและชีวิตต้องเที่ยวหาศัสตรามาสังหารตนเอง แต่เราไม่ต้องเที่ยวหาเลย ก็ได้ศัสตราแล้ว
       พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และตรัสว่า ท่านมีทมะและอุปสมะอย่างนี้ สามารถไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะได้
       พระโอวาทและแนวคิดของพระปุณณะนี้ เป็นคติอันมีค่ายิ่งสำหรับพระภิกษุผู้จะจาริกไปประกาศพระศาสนาในถิ่นไกล
       พระปุณณะกลับสู่แคว้นสุนาปรันตะแล้ว ได้ย้ายหาที่เหมาะสำหรับการทำกรรมฐานหลายแห่ง จนในที่สุดแห่งที่ ๔ ได้เข้าจำพรรษาแรกที่วัดมกุฬการาม ในพรรษานั้น น้องชายของท่านกับพ่อค้ารวม ๕๐๐ คน เอาสินค้าลงเรือจะไปยังทะเลอื่น ในวันลงเรือ น้องชายมาลาและขอความคุ้มครองจากท่าน ระหว่างทางเรือไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง พากันแวะบนเกาะพบป่าจันทร์แดงอันมีค่าสูง จึงล้มเลิกความคิดที่จะเดินทางต่อ ช่วยกันตัดไม้จันทร์บรรทุกเรือจนเต็มแล้วออกเดินทางกลับถิ่นเดิม แต่พอออกเรือมาได้ไม่นาน พวกอมนุษย์ที่สิงในป่าจันทร์ซึ่งโกรธแค้น ได้ทำให้เกิดลมพายุอย่างแรงและหลอกหลอนต่างๆ น้องชายของพระปุณณะระลึกถึงพระพี่ชาย พระปุณณะทราบ จึงเหาะมายืนอยู่ที่หน้าเรือ พวกอมนุษย์ก็พากันหนีไป ลมพายุก็สงบ
       พวกพ่อค้าทั้ง ๕๐๐ คน กลับถึงถิ่นเดิมโดยสวัสดีแล้ว ได้พร้อมทั้งภรรยาพากันประกาศนับถือพระปุณณะและถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วแบ่งไม้จันทร์แดงส่วนหนึ่งมาถวายท่าน พระปุณณะตอบว่า ท่านไม่มีกิจที่จะต้องใช้ไม้เหล่านั้น และแนะให้สร้างศาลาถวายพระพุทธเจ้า ศาลานั้นเรียกว่า จันทนศาลา เมื่อศาลาเสร็จแล้ว พระปุณณะได้ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จมายังแคว้นสุนาปรันตะ พร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมาก ระหว่างทางพระผู้มีพระภาคทรงแวะหยุดประทับโปรดสัจจพันธดาบส ที่ภูเขาสัจจพันธ์ก่อนแล้ว นำพระสัจจพันธ์ ซึ่งบรรลุอรหัตตผลแล้วมายังสุนาปรันตะ และประทับที่จันทนศาลา ในมกุฬการาม ๒-๓ วัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน แล้วทรงเดินทางกลับ ระหว่างทางเสด็จถึงฝั่งแม่น้ำนัมมทา ได้แสดงธรรมโปรดนัมมทานาคราช นาคราชขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานั้น จากนั้นเสด็จต่อไปถึงภูเขาสัจจพันธ์ ตรัสสั่งพระสัจจพันธ์ให้อยู่สั่งสอนประชาชน ณ ที่นั้น พระสัจจพันธ์ทูลขอสิ่งที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ภูเขานั้นด้วย อันนับว่าเป็นประวัติการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาท
       เหตุการณ์ที่เล่านี้เกิดขึ้นในพรรษาแรกที่พระปุณณะกลับมาอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ และท่านเองก็ได้บรรลุอรหัตตผลในพรรษาแรกนั้น เช่นกัน ท่านพระปุณณเถระบำเพ็ญจริยาเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบมาจนถึงปรินิพพาน ณ แคว้นสุนาปรันตะนั้น ก่อนพุทธปรินิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
ปุถุชน คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส, คนที่ยังมีกิเลสมาก หมายถึงคนธรรมดาทั่วๆ ไป ซึ่งยังไม่เป็นอริยบุคคล หรือพระอริยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
ปุริสสัพพนาม คำทางไวยากรณ์ หมายถึงคำแทนชื่อเพื่อกันความซ้ำซาก
       ในภาษาบาลีหมายถึง ต, ตุมฺห, อมฺห,
       ศัพท์ในภาษาไทย เช่น ฉัน, ผม, ท่าน, เธอ, เขา, มัน เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
พหุลกรรม กรรมทำมาก หรือกรรมชิน
       ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่ทำบ่อยๆ จนเคยชิน ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เว้นครุกรรม
       เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาจิณณกรรม (ข้อ ๑๐ ในกรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
พหุสูต, พหูสูต ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก,
       ผู้เล่าเรียนมาก, ผู้ศึกษามาก, ผู้คงแก่เรียน;
       ดู พาหุสัจจะ ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน มีองค์ ๕ คือ
       ๑. พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก
       ๒. ธตา ทรงจำไว้ได้
       ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก
       ๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ
       ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี;
       ดู พหูสูต
       (ข้อ ๒ ในนาถกรณธรรม ๑๐, ข้อ ๓ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๔ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๕ ในอริยทรัพย์ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
พุทธอุปฐาก ผู้คอยรับใช้พระพุทธเจ้า
       ในครั้งพุทธกาล มีพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นผู้เลิศในเรื่องนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
ภวังค์ ดู ภวังคจิต

ภวังคจิต จิตที่เป็นองค์แห่งภพ,
       ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น
       แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับหมดไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม
       ภวังคจิต นี้ คือมโน ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือมโนทวาร อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ (เป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ)
       พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้;
       จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ภวังคจิต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
ภิกษุณีสงฆ์ หมู่แห่งภิกษุณี, ประดาภิกษุณีทั้งหมดกล่าวโดยส่วนรวมหรือโดยฐานเป็นชุมนุมหนึ่ง, ภิกษุณีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมกันเนื่องในกิจพิธี ;
       ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ โดยมีพระมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระภิกษุณีรูปแรก ดังเรื่องปรากฏในภิกษุณีขันธกะและในอรรถกถา สรุปได้ความว่า
       หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะปรินิพพานแล้ว วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามในเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าและทูลขออนุญาตให้เสด็จสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
       ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีไม่ละความพยายาม ถึงกับปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะเอง ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะจำนวนมาก (อรรถกถาว่า ๕๐๐ นาง) ไปยังเมืองเวสาลี และได้มายืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฏาคารศาลา พระบาทบวม พระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี พระอานนท์มาพบเข้า สอบถามทราบความแล้วรีบช่วยไปกราบทูลขออนุญาตให้ แต่เมื่อพระอานนท์กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าก็ถูกพระองค์ตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
       ในที่สุดพระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยกราบทูลถามว่าสตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้ว จะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตผลได้หรือไม่
       พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าได้
       พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้น พร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีเป็นพระมาตุจฉาและเป็นพระมารดาเลี้ยง มีอุปการะมากต่อพระองค์ แล้วขอให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกบวช
       พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่า พระนางจะต้องรับปฏิบัติตามครุธรรม ๘ ประการ พระนางยอมรับตามพุทธานุญาตที่ให้ถือว่า การรับครุธรรมนั้นเป็นการอุปสมบทของพระนาง ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้
       ในคราวนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า การให้สตรีบวชจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ คือพระศาสนาหรือสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้ยั่งยืน จะมีอายุสั้นเข้า เปรียบเหมือนตระกูลที่มีบุรุษน้อยมีสตรีมาก ถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่าย หรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง หรือเหมือนไร่อ้อยที่มีเพลี้ยลง ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนาน พระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการกำกับไว้ก็เพื่อเป็นหลักคุ้มกันพระศาสนา เหมือนสร้างคันกั้นสระใหญ่ไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลท้นออกไป (พระศาสนาจักอยู่ได้ยั่งยืนเช่นเดิม) และได้ทรงแสดงเหตุผลที่ไม่ให้ภิกษุไหว้ภิกษุณี ให้ภิกษุณีไหว้ภิกษุได้ฝ่ายเดียว เพราะนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นทั้งหลาย ไม่มีใครไหว้สตรีกันเลย
       กล่าวโดยสรุปว่า หากถือเหตุผลทางด้านสภาพสังคม-ศาสนาแล้ว จะไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ด้วยเหตุผลในด้านความสามารถโดยธรรมชาติจึงทรงยอมให้สตรีบวชได้ เมื่อภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว สตรีที่จะบวชต่อมาต้องเป็น สิกขมานา รักษาสิกขาบท ๖ (คือ ๖ ข้อแรกในศีล ๑๐) ไม่ให้ขาดเลยตลอด ๒ ปีก่อน จึงขออุปสมบทได้ และต้องรับการอุปสมบทโดยสงฆ์สองฝ่าย คือ บวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องบวชโดยภิกษุสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว ต้องรักษาสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ (ศีล ๓๑๑) ภิกษุณีสงฆ์เจริญแพร่หลายในชมพูทวีปอยู่ช้านาน เป็นแหล่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย
       ภิกษุณีสงฆ์ประดิษฐานในลังกาทวีปในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยพระสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางจากชมพูทวีปมาประกอบอุปสมบทกรรมแก่พระนางอนุฬาเทวี ชายาของเจ้ามหานาค อนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พร้อมด้วยสตรีอื่นอีก ๑ พันคน
       ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปยาวนานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปี แต่ในที่สุดได้สูญสิ้นไป ด้วยเหตุใดและกาลใดไม่ปรากฏชัด
       ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เคยมีการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
มงคล สิ่งที่ทำให้มีโชคดี,
       ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ,
       มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการ มีดังนี้
       คาถาที่ ๑ =
           ๑. อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล
           ๒. ปณฺฑิตานญฺจเสวนา คบบัณฑิต
           ๓. ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา
       คาถาที่ ๒ =
           ๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทส, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
           ๕. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
           ๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ ตั้งตนไว้ชอบ
       คาถาที่ ๓ =
           ๗. พาหุสจฺจญฺจ เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
           ๘. สิปฺปญฺจ มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน
           ๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี
           ๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี
       คาถาที่ ๔ =
           ๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ บำรุงมารดาบิดา
           ๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห =
               ปุตฺตสงฺคห สงเคราะห์บุตรและ ทารสงฺคห สงเคราะห์ภรรยา
           ๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากูล
       คาถาที่ ๕ =
           ๑๕. ทานญฺจ รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์
           ๑๖. ธมฺมจริยา จ ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม
           ๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห สงเคราะห์ญาติ
           ๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย
       คาถาที่ ๖ =
           ๑๙. อารตี วิรตี ปาปา เว้นจากความชั่ว
           ๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม เว้นจากการดื่มน้ำเมา
           ๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
       คาถาที่ ๗ =
           ๒๒. คารโว จ ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักถึงคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม
           ๒๓. นิวาโต จ ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน
           ๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
           ๒๕. กตญฺญุตา มีความกตัญญู
           ๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้ ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง
       คาถาที่ ๘ =
           ๒๗. ขนฺตี จ มีความอดทน
           ๒๘. โสวจสฺสตา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
           ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส
           ๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม
       คาถาที่ ๙ =
           ๓๑. ตโป จ มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
           ๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร
           ๓๓. อริยสจฺจานทสฺสนํ เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต
           ๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน
       คาถาที่ ๑๐ =
           ๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว
           ๓๖. อโสกํ จิตไร้เศร้า
           ๓๗. วิรชํ จิตปราศจากธุลี
           ๓๘. เขมํ จิตเกษม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
มหัคฆภัณฑ์ ของมีค่ามาก เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
มหาโมคคัลลานะ ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า
       เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่
       ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก
       ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชก จนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ สหายทั้งสองจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย
       เมื่อบวชแล้ว ถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า มหาโมคคัลลานะ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
       ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก
       ในตอนปลายพุทธกาล ท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์,
       ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
มักมาก โลภ, อยากได้มากๆ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
มังคลัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร
       พระสิริมังคลาจารย์แห่งลานนาไทย รจนาขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำบรรยายของท่านเอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
มิตตปฏิรูป, มิตตปฏิรูปก์ คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่
       ๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
           ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก
           ๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
           ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
       ๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
           ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
           ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
           ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
       ๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. จะทำชั่วก็เออออ
           ๒. จะทำดีก็เออออ
           ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
           ๔. ลับหลังนินทา
       ๔. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
           ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
           ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
           ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
มิตรแท้ มิตรด้วยใจจริง มี ๔ พวก ได้แก่
       ๑. มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
           ๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน
           ๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
           ๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
       ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. บอกความลับแก่เพื่อน
           ๒. ปิดความลับของเพื่อน
           ๓. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง
           ๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้
       ๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. จะทำชั่วเสียหายคอยห้ามปรามไว้
           ๒. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
           ๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
           ๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้
       ๔. มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะ ๔ คือ
           ๑. เพื่อนมีทุกข์ พลอยทุกข์ด้วย
           ๒. เพื่อนมีสุข พลอยดีใจ
           ๓. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
           ๔. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
ยาคู ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉันรองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนัก เป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉันให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้
       ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมาอย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมาก มีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า โภชชยาคู

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
เยภุยยสิกา กิริยาเป็นไปตามข้างมาก
       ได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก
       เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง,
       ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์;
       ดู อธิกรณสมถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
โยมอุปัฏฐาก คฤหัสถ์ที่แสดงตนเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์โดยเจาะจง อุปการะรูปใด ก็เป็นโยมอุปัฏฐากของรูปนั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
รัฐบาล พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าในถุลลโกฏฐิตนิคม ในแคว้นกุรุ ฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ลาบิดามารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต เสียใจ และอดอาหารจะได้ตายเสีย บิดามารดาจึงต้องอนุญาต ออกบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
รัตตัญญู ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่ รู้กาลนานมีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์มาแต่ต้น
       เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
ราธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์
       เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง
       พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
       พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก
       ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
ลกุณฏกภัททิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวัน มีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา
       ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล
       ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง
       แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่า ถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก
       ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่า “ไม้ตะพด” ก็ได้ บางท่านจึงแปลว่า “ป่าไม้รวก”)
       อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก,
       ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลัง ตลอดกาลนาน;
       ดู พุทธจริยา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
วังคีสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี
       ได้ศึกษาไตรเพทจนมีความชำนาญ เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงได้เรียนมนตร์พิเศษชื่อฉวสีสมนตร์ สำหรับพิสูจน์ศีรษะซากศพ เอานิ้วเคาะหัวศพก็ทราบว่า ผู้นั้นตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน ท่านมีความชำนาญในมนตร์นี้มาก
       ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้แสดงความสามารถของตน แต่เมื่อเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วไม่สามารถบอกคติได้ ด้วยความอยากเรียนมนตร์เพิ่มอีก จึงขอบวชในพระพุทธศาสนา ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
วัชชี ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่ชมพูทวีป ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อ เวสาลี
       แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี
       (นอกจากพวกลิจฉวีแล้วยังมีพวกวิเทหะซึ่งปกครองอยู่ที่เมืองมิถิลา แต่ในสมัยพุทธกาลมีอำนาจน้อย)
       แคว้นวัชชีรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมาก ตอนปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธ
       แต่หลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่มคธ เพราะอุบายทำลายสามัคคี ของวัสสการพราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
วัฏฏะ การวนเวียน, การเวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิด,
       ความเวียนเกิด หรือวนเวียน ด้วยอำนาจกิเลสกรรม และวิบาก
       เช่น กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรม เมื่อได้รับผลของกรรมแล้ว กิเลสก็เกิดอีกแล้วทำกรรม แล้วเสวยผลกรรม หมุนเวียนต่อไป;
       ดู ไตรวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
วัฏฏคามณีอภัย ชื่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกาพระองค์หนึ่ง ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๕๑๕-๕๒๗ ถูกพวกทมิฬแย่งชิงราชสมบัติ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในป่า และได้รับความช่วยเหลือจากพระเถระรูปหนึ่ง
       ต่อมาพระองค์กู้ราชสมบัติคืนมา ได้ทรงสร้างอภัยคีรีวิหาร และอาราธนาพระเถระรูปนั้นมาอยู่ครอง กับทั้งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก
       การสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่จารึกพุทธพจน์ลงในใบลาน ก็จัดทำในรัชกาลนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
วางไว้ทำร้าย ได้แก่ วางขวาก ฝังหลาวไว้ในหลุมพราง วางของหนักไว้ให้ตกทับ วางยาพิษ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
วาสนา อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น
       ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี
       ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ
       แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบายกับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้
       จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา;
       ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
วิบาก ผล, ผลแห่งกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
วิสาขา ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ
       ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์ บุตรชายมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี)
       นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี
       นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม
       ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
วิสุทธิมรรค ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา;
       พระพุทธโฆษาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก
       ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้
       พระพุทธโฆษาจารย์จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงาน แปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป
       พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
วิเหสกกรรม กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก,
       สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์
       (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒);
       คู่กับ อัญญวาทกกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
เวสารัชชกรณธรรม ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ,
       คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า มี ๕ อย่าง คือ
           ๑. ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
           ๒. ศีล มีความประพฤติดีงาม
           ๓. พาหุสัจจะ ได้สดับหรือศึกษามาก
           ๔. วิริยารัมภะ เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง
           ๕. ปัญญา รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
ศราทธ์ การทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
       (ต่างจาก สารท)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
สงฆ์ หมู่, ชุมนุม
       1. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจาก ภิกขุสงฆ์ คือ หมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย ๒),
           ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์
       2. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็นสงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
สติ ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้
       (ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก , ข้อ ๓ ในพละ ๕, ข้อ ๙ ในนาถกรณธรรม ๑๐, ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
       ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยาก เช่น อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
       (ข้อ ๒ ในอริยสัจ ๔);
       ดู ตัณหา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
สลาก เครื่องหมายหรือวัตถุที่ใช้ในการเสี่ยงโชค
       เช่น สลากภัต ก็ได้แก่อาหารที่เขาถวายสงฆ์ โดยเขียนชื่อเจ้าภาพลงในกระดาษใบละชื่อ ม้วนรวมคละกันเข้าแล้วให้ภิกษุทั้งหลายจับตามลำดับพรรษากันมา หรือเขียนเลขหมายไว้ที่ของจำนวนหนึ่ง ภิกษุจับได้สลากของผู้ใดก็ได้รับอาหารของทายกนั้น;
       ฉลาก ก็เรียก

สลากภัต อาหารถวายตามสลาก หมายเอาสังฆภัตอันทายกเข้ากันถวาย ต่างคนต่างจัดมา เป็นของต่างกัน เขามักทำในเทศกาลที่ผลไม้เผล็ดแล้วถวายพระด้วยวิธีจับสลาก;
       ดู สลาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
สังคายนา “การสวดพร้อมกัน”, การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว;
       สังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้:
       ครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารภที่จะทำให้ธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
           โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ
       ครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูปพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ ๑๐๐
           โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ
       ครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์)
           โดยพระเจ้าอโศก หรือ ศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ
       ครั้งที่ ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
           โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ
       ครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี)
           โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยเป็นศาสนูปถัมก์;
           บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น
       (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
สัญชัย ชื่อปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ใหญ่คนหนึ่ง ในพุทธกาล
       ตั้งสำนักสอนลัทธิอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีศิษย์มาก
       พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเคยบวชอยู่ในสำนักนี้
       ภายหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพร้อมด้วยศิษย์ ๒๕๐ คนพากันไปสู่สำนักพระพุทธเจ้า สัญชัยเสียใจเป็นลมและอาเจียนเป็นโลหิต;
       นิยมเรียกว่า สญชัยปริพาชก เป็นคนเดียวกับ สัญชัยเวลัฏฐบุตร
       คนหนึ่งใน ติตถกร หรือครูทั้ง ๖

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้;
       มักมาคู่กับ สติ (ข้อ ๒ ในธรรมมีอุปการะมาก )


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=าก_&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D2%A1_&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]