ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. ภูตคามวรรค ๙. มหัลลกวิหารสิกขาบท นิทานวัตถุ

๒. ภูตคามวรรค
๙. มหัลลกวิหารสิกขาบท
ว่าด้วยการสร้างวิหารใหญ่
เรื่องพระฉันนะ
[๑๓๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านพระฉันนะ สร้างวิหารถวาย ท่านพระฉันนะ ทีนั้น ท่านพระฉันนะสั่งให้มุงให้ฉาบทาวิหารที่สร้างเสร็จแล้วหลายๆ ครั้ง วิหารมีน้ำหนักมากจึงพังลงมา ต่อมา ท่านพระฉันนะจึงหาเก็บหญ้าและไม้ ทำ ให้นาข้าวเหนียวของพราหมณ์คนหนึ่งเสียหาย พราหมณ์นั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงทำนาข้าวเหนียวของเราให้เสียหายเล่า” ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพราหมณ์ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้ มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระฉันนะจึงให้มุง ให้ฉาบทาวิหารที่สร้างเสร็จแล้วหลายๆ ครั้งเล่า วิหารมีน้ำหนักมาก จึงพังลงมา” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธอให้มุงให้ฉาบทาวิหารที่สร้างเสร็จ แล้วหลายๆ ครั้ง วิหารมีน้ำหนักมาก จึงพังลงมา จริงหรือ” ท่านพระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงให้มุงให้ฉาบทาวิหารที่สร้างเสร็จแล้วหลายๆ ครั้ง จนวิหารรับน้ำหนักมาก พังลงมาเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๐๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. ภูตคามวรรค ๙. มหัลลกวิหารสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ
[๑๓๕] ก็ ภิกษุจะสร้างวิหารหลังใหญ่ จะติดตั้งบานประตูใกล้วงกบประตู และตบแต่งบานหน้าต่าง๑- ควรยืนในที่ที่ปราศจากของเขียว ดำเนินการมุง หลังคาได้ ๒-๓ ชั้น๒- ถ้าเธอดำเนินการเกินกว่านั้น แม้จะยืนในที่ที่ปราศจาก ของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉันนะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๓๖] วิหารที่ชื่อว่า หลังใหญ่ ท่านกล่าวถึงวิหารที่มีเจ้าของ ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบภายในหรือภายนอก หรือโบกฉาบ ทั้งภายในภายนอก คำว่า สร้าง คือ สร้างเอง หรือใช้คนอื่นสร้าง คำว่า ใกล้วงกบประตู คือ ชั่วระยะหัตถบาสรอบวงกบ คำว่า จะติดตั้งบานประตู คือ วางบานประตู คำว่า ตบแต่งบานหน้าต่าง คือ ฉาบทาบานหน้าต่างให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร หรือ เขียนลวดลายดอกจอก @เชิงอรรถ : @ บานประตูและบานหน้าต่างวิหาร ต้องเปิด-ปิด เมื่อเปิดจะกระทบฝาผนังวิหาร เมื่อปิดจะกระทบวงกบ ทำ @ให้ฝาผนังสั่นสะเทือนจนดินเหนียวที่พอกฝาผนังกะเทาะตกลงมา พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ฉาบทา @พอกฝาผนังบริเวณใกล้ๆ บานประตู บานหน้าต่างวิหารได้ เพื่อทำให้คงทนถาวร (วิ.อ. ๒/๑๓/๓๑๑-๓๑๒, @กงฺขา.อ. ๒๔๔) เมื่อภิกษุพอกฝาผนังนอกจากบริเวณใกล้ๆ บานประตูและบานหน้าต่างซ้ำเกิน ๓ ครั้ง @ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๓๕/๔๐, วิมติ.ฏีกา ๒/๑๓๕/๒๓, กงฺขา.ฏีกา ๓๙๒) @ ในการมุงหลังคาก็เช่นกัน ภิกษุเข้าใจว่า เมื่อมุงหลายครั้ง จะป้องกันฝนรั่วรดได้นาน จึงใช้อิฐ ศิลา @ปูนขาว หญ้า หรือใบไม้มุงหลังคา แต่จะมุงได้ไม่เกิน ๓ ชั้น (วิ.อ. ๒/๑๓๕-๑๓๖/๓๑๒-๓๑๓, @สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๓๕-๑๓๖/๔๐-๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. ภูตคามวรรค ๙. มหัลลกวิหารสิกขาบท บทภาชนีย์

คำว่า ยืนในที่ที่ปราศจากของเขียวดำเนินการมุงหลังคาได้ ๒-๓ ชั้น ความว่า ที่ชื่อว่าของเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติและอปรัณชาติ๑- ถ้าภิกษุยืนดำเนินการในที่ที่มีของเขียว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุเมื่อจะมุงตามแนว พึงดำเนินการ ๒ แนว สั่งแนวที่ ๓ แล้วจากไป ภิกษุเมื่อจะมุงเป็นชั้น พึงดำเนินการ ๒ รอบ สั่งรอบที่ ๓ แล้วจากไป [๑๓๗] คำว่า ถ้าเธอดำเนินการเกินว่านั้น แม้จะยืนในที่ที่ปราศจากของ เขียว ความว่า ภิกษุเมื่อมุงด้วยอิฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ก้อน เมื่อมุง ด้วยแผ่นศิลา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ก้อน เมื่อมุงด้วยปูนขาว ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ทุกๆ ก้อน เมื่อมุงด้วยหญ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ กำหญ้า เมื่อ มุงด้วยใบไม้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ใบ
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ดำเนินการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ไม่ต้องอาบัติ @เชิงอรรถ : @ บุพพัณชาติ ได้แก่ ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว @และข้าวฟ่าง อปรัณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหาร (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘, @สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. ภูตคามวรรค ๙. มหัลลกวิหารสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๑๓๘] ๑. ภิกษุมุงเพียง ๒-๓ ชั้น ๒. ภิกษุมุงหย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ๓. ภิกษุมุงเงื้อมผามีประตู ๔. ภิกษุตบแต่งถ้ำ ๕. ภิกษุมุงกุฎีหญ้า ๖. ภิกษุมุงกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๗. ภิกษุมุงด้วยทรัพย์ตนเอง ๘. ภิกษุมุงอาคารนอกจากนั้น๑- ยกเว้นอาคารที่พักของตน ๙. ภิกษุวิกลจริต ๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
มหัลลกวิหารสิกขาบทที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ อาคารนอกจากนั้น คือ โรงอุโบสถ เรือนไฟ โรงฉัน โรงไฟ (วิ.อ. ๒/๓๖๔/๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๑๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๐๙-๓๑๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=55              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=9146&Z=9209                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=397              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=397&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7312              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=397&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7312                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc19/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :