ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)
ว่าด้วยโสมนัสกุมาร
(พระราชาตรัสว่า) [๒๑๑] ใครมาเบียดเบียนข่มเหงท่าน ทำไมท่านจึงเสียใจ เศร้าโศก ไม่ชื่นบานเลย วันนี้ มารดาบิดาของท่านมาร้องไห้หรือ หรือว่า ใครมารังแก ทำให้ท่านต้องนอนที่พื้นดิน (ชฎิลโกงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๒๑๒] ขอถวายพระพร อาตมามีความยินดีที่ได้พบเห็นพระองค์ ขอถวายพระพรพระภูมิบาล ต่อกาลนานจึงได้พบพระองค์ ขอถวายพระพรพระเจ้าเรณู อาตมามิได้เบียดเบียนผู้ใด แต่ถูกพระโอรสของพระองค์เข้ามาเบียดเบียน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

(พระราชาตรัสว่า) [๒๑๓] ไปเหวย พนักงานเฝ้าประตูที่ติดตาม และเหล่าเพชฌฆาต จงไปยังภายในพระราชฐาน จงฆ่าเจ้าโสมนัสกุมารนั้นแล้วตัดศีรษะนำมา (พึงทราบคาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้) [๒๑๔] ราชทูตทั้งหลายที่ทรงส่งไปได้กราบทูล พระราชกุมารนั้นว่า ขอเดชะพระขัตติยกุมาร พระองค์ถูกพระราชบิดาผู้เป็นอิสสราธิบดีตัดขาดแล้ว ต้องโทษประหารชีวิต [๒๑๕] พระราชบุตรนั้นทรงกันแสงคร่ำครวญ ยกนิ้วทั้ง ๑๐ ประคองอัญชลี อ้อนวอนว่า ข้าพเจ้าปรารถนาจะเฝ้าพระจอมชน ขอพวกท่านจงนำข้าพเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่แสดงต่อพระองค์เถิด [๒๑๖] ราชทูตเหล่านั้นฟังพระดำรัสของพระราชกุมารนั้นแล้ว ได้แสดงพระราชบุตรต่อพระราชา ส่วนพระราชบุตรทรงเห็นพระบิดาแล้ว กราบทูลแต่ไกลว่า [๒๑๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พนักงานเฝ้าประตูที่ติดดาบ และเหล่าเพชฌฆาตมาเพื่อจะฆ่าหม่อมฉัน หม่อมฉันขอกราบทูลถาม ขอพระองค์โปรดบอกเนื้อความนั้น วันนี้หม่อมฉันมีความผิดอะไรหนอในเรื่องนี้ (พระราชาตรัสบอกความผิดว่า) [๒๑๘] ดาบสผู้ไม่ประมาท ทำการรดน้ำ และบำเรอไฟทั้งเย็นและเช้าในกาลทุกเมื่อ ทำไมเจ้าจึงร้องเรียกท่านผู้สำรวม ซึ่งประพฤติพรหมจรรย์เช่นนั้นว่าเป็นคหบดีเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

(พระราชกุมารกราบทูลว่า) [๒๑๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด เช่น สมอพิเภก รากไม้ และผลไม้นานาชนิด เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงร้องเรียกเธอว่าเป็นคหบดี (พระราชาทรงทราบว่าพระโพธิสัตว์ไม่มีความผิดจึงตรัสว่า) [๒๒๐] พ่อกุมาร คำที่เจ้าพูดเป็นความจริง ดาบสผู้นี้มีของเก็บรวบรวมไว้หลายชนิด เธอไม่ประมาท เฝ้ารักษาคุ้มครองสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะเหตุนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี (พระโพธิสัตว์นอบน้อมบริษัทแล้วตรัสว่า) [๒๒๑] ขอบริษัททั้งหลายพร้อมทั้งชาวนิคมและชาวชนบททั้งปวง ที่มาประชุมพร้อมกันจงฟังข้าพเจ้า พระราชาผู้จอมชนพระองค์นี้เป็นพาล ทรงฟังคำของดาบสผู้เป็นพาลแล้ว รับสั่งให้ประหารข้าพเจ้าโดยมิใช่เหตุ (ต่อมาพระโพธิสัตว์ทูลขอบรมราชานุญาตบวชว่า) [๒๒๒] เมื่อรากยังมั่นคงเจริญงอกงามแผ่ไพศาลอยู่ กอไผ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาก็ยากที่จะถอนให้หมดสิ้นได้ ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมฉันบวช (พระราชาตรัสว่า) [๒๒๓] เจ้าจงเสวยโภคะอันไพบูลย์เถิด พ่อกุมาร พ่อจะมอบความเป็นใหญ่ให้เจ้าทุกอย่าง เจ้าจงเป็นพระราชาของชนชาวกุรุในวันนี้เถิด อย่าบวชเลย เพราะการบวชเป็นทุกข์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นพระโอรสกราบทูลว่า) [๒๒๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ โภคะทั้งหลายของพระองค์ในพระนครนี้ ที่หม่อมฉันควรจะบริโภคใช้สอยมีอยู่หรือหนอ ในชาติก่อน หม่อมฉันได้รื่นรมย์ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ อันน่ารื่นรมย์ใจอยู่ในเทวโลก [๒๒๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ โภคะทั้งหลาย ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ หม่อมฉันก็บริโภคใช้สอยมาแล้ว และหม่อมฉันก็มีหมู่เทพอัปสรแวดล้อมบำเรอแล้ว อนึ่ง หม่อมฉันทราบว่า พระองค์เป็นพาล ถูกผู้อื่นแนะนำ จึงไม่ควรอยู่ในราชสกุลเช่นนั้น (พระราชาตรัสว่า) [๒๒๖] หากพ่อเป็นคนพาล ถูกผู้อื่นแนะนำไซร้ ลูกรัก เจ้าจงอดโทษให้พ่อสักครั้งเถิด ถ้าพ่อเป็นเช่นนี้อีก จงทำตามความคิดของเจ้าเถิด พ่อโสมนัส (พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชบิดาว่า) [๒๒๗] การงานที่บุคคลไม่ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ไม่ไตร่ตรองก่อนคิด ผลย่อมเลวทรามเหมือนยาเสื่อมคุณภาพ [๒๒๘] การงานที่บุคคลใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ไตร่ตรองโดยชอบก่อนแล้วคิด ผลย่อมเจริญเหมือนยาไม่เสื่อมคุณภาพ [๒๒๙] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

[๒๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ [๒๓๑] ขอเดชะพระภูมิบาล คนผู้เป็นใหญ่ควรใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงอาชญา การงานที่ทำเพราะความรีบร้อนย่อมเดือดร้อน ส่วนประโยชน์ทั้งหลายของนรชนที่ทำด้วยจิตที่ตั้งมั่นโดยชอบ ย่อมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง [๒๓๒] อนึ่ง ชนเหล่าใดจัดแจงบ่อเกิดแห่งการงานในโลก แล้วทำการงานที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนในภายหลัง การงานของพวกเขาวิญญูชนสรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไรที่ผู้รู้ทั้งหลายมีความเห็นคล้อยตาม [๒๓๓] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน พนักงานเฝ้าประตูที่ติดดาบ และเพชฌฆาตมาเพื่อจะฆ่าหม่อมฉัน อนึ่ง หม่อมฉันนั่งอยู่บนพระเพลาของพระราชมารดา ถูกพวกเขาฉุดคร่ามาโดยทารุณ [๒๓๔] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันประสบภัยคือความตาย อันเผ็ดร้อนคับแคบและลำบาก วันนี้ชีวิตอันเป็นที่รักปานดังมธุรสหม่อมฉันได้แล้ว พ้นแล้วจากการถูกประหารได้โดยยาก จึงมีใจมุ่งต่อการบวชอย่างเดียว (พระราชาทรงรับสั่งเรียกพระราชเทวีมาตรัสว่า) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๙. โสมนัสสชาดก (๕๐๕)

[๒๓๕] แม่สุธัมมา โสมนัสกุมารบุตรของเธอนี้ยังหนุ่มอยู่ น่าเอ็นดู วันนี้ฉันขอร้องเขาไม่สำเร็จ แม้เธอก็ควรจะขอร้องเขาดูบ้าง (พระราชเทวีนั้นเมื่อจะส่งเสริมให้บวชจึงตรัสว่า) [๒๓๖] ลูกรัก เจ้าจงยินดีในภิกขาจาร จงใคร่ครวญแล้วบวชในธรรมทั้งหลาย จงวางอาชญาในเหล่าสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถานเถิด (ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า) [๒๓๗] แม่สุธัมมา คำที่เจ้ากล่าวน่าอัศจรรย์จริงหนอ ทำเราผู้มีทุกข์อยู่แล้วให้มีทุกข์ยิ่งขึ้น เรากล่าวแก่เธอว่า เจ้าจงขอร้องลูก กลับทำให้พ่อกุมารมีอุตสาหะยิ่งขึ้น (พระราชเทวีตรัสต่อไปว่า) [๒๓๘] พระอริยะเหล่าใดผู้หลุดพ้นแล้ว บริโภคปัจจัยอันหาโทษมิได้ ผู้ดับกิเลสแล้ว ท่องเที่ยวไปอยู่ในโลกนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะห้ามพ่อกุมาร ผู้ดำเนินไปสู่ทางแห่งพระอริยะเหล่านั้นได้ (พระราชาทรงสดับพระราชเสาวนีย์นั้นแล้วจึงตรัสว่า) [๒๓๙] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก พระนางสุธัมมานี้สดับคำอันเป็นสุภาษิตของชนเหล่าใด แล้วเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ปราศจากความเศร้าโศก ชนเหล่านั้นเราควรคบโดยแท้
โสมนัสสชาดกที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๑๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๐๖-๕๑๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=505              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=8613&Z=8705                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2164              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2164&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=1986              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2164&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=1986                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja505/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :