บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗) ว่าด้วยเสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๕๗] สุนันทะ นี้เป็นนิเวศน์ของใครหนอ ล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง ใครหนอปรากฏอยู่ในที่ไกลประดุจเปลวไฟในอากาศ และประดุจเปลวไฟบนยอดภูเขา [๕๘] สุนันทะ หญิงนี้เป็นธิดาของใครหนอ เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร เป็นหญิงโสดหรือว่ามีภัสดาในนิเวศน์นี้ เราถามแล้ว ท่านจงบอกมาโดยเร็วเถิด (สุนันทสารถีกราบทูลว่า) [๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หญิงคนนั้น ข้าพระองค์รู้จักทั้งมารดาและบิดาของนาง แม้สามีของนางข้าพระองค์ก็รู้จัก ข้าแต่พระภูมิบาล บุรุษนั้นเป็นข้าราชบริพารของพระองค์เอง เป็นผู้ไม่ประมาทในราชกิจอันเป็นประโยชน์ของพระองค์ ทั้งกลางวันและกลางคืน [๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ก็อำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์ ผู้ประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเจริญรุ่งเรือง นางเป็นภรรยาของอภิปารกอำมาตย์นั้นเอง ชื่อว่าอุมมาทันตี พระเจ้าข้า (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๖๑] พ่อมหาจำเริญ พ่อมหาจำเริญ ชื่อของนางนี้ มารดาและบิดาตั้งให้เหมาะสมดีจริง เป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อนางอุมมาทันตีมองดูเรา ได้ทำให้เราคล้ายจะเป็นบ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๒] ในคืนเดือนเพ็ญ นางมีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายตานางเนื้อทราย ร่างกายมีผิวพรรณดุจกลีบดอกบุณฑริก นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งผ้าสีแดงดุจสีเท้านกพิราบแล้ว สำคัญว่าดวงจันทร์ขึ้น ๒ ดวง [๖๓] คราวใดนางชมดชม้อยชำเลืองมองดูเราด้วยอาการ อันอ่อนหวาน ด้วยใบหน้าอันเบิกบานงดงามบริสุทธิ์ ประดุจจะลักเอาดวงใจของเราไป ประหนึ่งนางกินนรี เกิดที่ภูเขาในป่าลักเอาดวงใจของกินนรไป [๖๔] คราวนั้นนางผู้เลอโฉม มีผิวกายสีทอง ใส่ตุ้มหูแก้วมณี มีผ้านุ่งท่อนเดียว ชำเลืองดูเรา ประดุจนางเนื้อทรายตื่นตกใจกลัวเมื่อเห็นนายพราน [๖๕] เมื่อไรเล่า แม่นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม แขนอ่อนนุ่ม ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ มีนิ้วกลมกลึง งามตั้งแต่ศีรษะ จักบำเรอเราด้วยกิริยาอันชดช้อยชาญฉลาด [๖๖] เมื่อไรเล่า ธิดาของท่านติรีฏิ ผู้มีทับทรวงสังวาลทองคำ เอวเล็กเอวบาง จักกอดเราด้วยแขนทั้ง ๒ อันอ่อนนุ่ม ประดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่ [๖๗] เมื่อไรเล่า นางผู้มีผิวพรรณงามแดงดังน้ำครั่ง มีเต้าถันกลมกลึงประดุจฟองน้ำ ร่างกายมีผิวพรรณดังกลีบดอกบุณฑริก จักโน้มปากเข้าจุมพิตปากเรา เหมือนดังนักเลงสุรายื่นจอกสุราให้นักเลงสุราด้วยกัน [๖๘] เมื่อใด เราได้เห็นนางผู้มีสรรพางค์กาย อันเจริญ น่ารื่นรมย์ใจ ยืนอยู่ เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกตัวเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๙] เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ใส่ตุ้มหูแก้วมณีแล้ว นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน เหมือนปราชัยต่อข้าศึกมาแล้วตั้งพันครั้ง [๗๐] หากท้าวสักกะจะพึงประทานพรแก่เราไซร้ ขอเราพึงได้พรนั้นเถิด อภิปารกเสนาบดีพึงอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี ตลอดคืนหนึ่งหรือสองคืน จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีพึงได้อภิรมย์กับนางบ้าง (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๗๑] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งภูต เมื่อข้าพระองค์นมัสการอยู่ซึ่งภูตทั้งหลาย เทวดาตนหนึ่งได้มากล่าวเนื้อความนี้กับข้าพระองค์ว่า พระทัยของพระราชาจดจ่ออยู่เฉพาะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงให้นางบำเรอเถิด (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๗๒] เราจะพึงคลาดไปจากบุญ และมิใช่เราจะไม่ตาย ทั้งประชาชนจะพึงรู้ความชั่วของเรานี้ อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นอกจากพระองค์และข้าพระองค์แล้ว ประชาชนแม้ทั้งหมดไม่พึงรู้กรรมที่ทำแล้วได้ ข้าพระองค์ทูลถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า๑- หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๗๔] คนผู้ทำกรรมชั่วย่อมคิดว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้การกระทำนี้เลย แต่ว่า คนบนพื้นปฐพีที่ประกอบด้วยฤทธิ์๒- ยังมีอยู่ ย่อมจะเห็นเขาผู้กระทำกรรมชั่วนั้น (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๗๕] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้ จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้ เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่ ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ขอพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีทันที ดุจราชสีห์เข้าไปยังถ้ำศิลา @เชิงอรรถ : @๑ ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หมายถึงการร่วมอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี (ภรรยาผู้อื่น) เป็นการทำกรรมหยาบช้า @คือ ตัณหาดุจต้นไม้ที่เจริญงอกงามอยู่ในป่า (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๒/๔๖) @๒ นรชนผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรผู้มีฤทธิ์ @(ขุ.ชา.อ. ๘/๗๔/๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๗๗] ปราชญ์ทั้งหลายถึงจะถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว ก็จะไม่สละกรรมที่มีผลเป็นสุข หรือแม้ลุ่มหลงมัวเมาด้วยความสุข ก็จะไม่ประพฤติกรรมชั่ว (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๗๘] ก็พระองค์ทรงเป็นทั้งมารดาและบิดา เป็นภัสดา เป็นนาย เป็นผู้ชุบเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์ ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกาม ตามความสำราญเถิด (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๗๙] ผู้ใดกระทำความชั่วด้วยสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ครั้นกระทำแล้ว ผู้นั้นก็ไม่หวั่นเกรงต่อชนเหล่าอื่น เพราะกรรมนั้น เขาย่อมมีอายุอยู่ได้ไม่ยืนยาว แม้เทพทั้งหลายก็มองเขาด้วยสายตาอันเหยียดหยาม [๘๐] ชนเหล่าใดผู้ดำรงอยู่ในธรรม รับทานที่เป็นของชนเหล่าอื่น อันเจ้าของมอบให้แล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทั้งผู้รับ เป็นทั้งผู้ให้ในทานนั้นแม้ทั้งหมด ย่อมทำกรรมอันมีผลเป็นสุขทีเดียว [๘๑] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้ จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้ เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่ ข้าพระองค์ขอถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๘๓] ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น๑- (ผู้นั้นชื่อว่า ไม่รู้ธรรม) ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า ความทุกข์ ความสุขนี้ของเราเป็นอย่างไร ของคนเหล่าอื่นก็เป็นอย่างนั้น ผู้นั้นชื่อว่า รู้ธรรม [๘๔] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้ จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก @เชิงอรรถ : @๑ ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หมายถึงผู้ที่ถูกทุกข์บีบคั้นแล้วใส่ทุกข์ให้แก่คนอื่นคือ @นำทุกข์ออกจากสรีระของตัวแล้วใส่ในสรีระของผู้อื่น หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น @หมายถึงผู้ที่ถือเอาความสุขของคนอื่นมาใส่ไว้ในตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า เราจัก @นำความทุกข์ออกจากตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า เราจักทำตนให้มีความสุข @สบาย ชื่อว่าทำความสุขของคนอื่นให้พินาศเพราะเข้าใจว่า เราจักทำตนให้มีความสุข คนนั้นชื่อว่า @ไม่รู้ธรรม @ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า ความสุขและความทุกข์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น @ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม คือ รู้จักธรรม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓/๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน พระองค์ทรงทราบว่า นางอุมมาทันตีนี้เป็นที่รักของข้าพระองค์ ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ด้วยความจงรักภักดีต่อพระองค์ ข้าพระองค์ขอถวายนางผู้เป็นที่รักแด่พระองค์ ขอเดชะสมมติเทพ บุคคลให้สิ่งของอันเป็นที่รัก ย่อมได้สิ่งของอันเป็นที่รัก (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๘๖] เราจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุแน่ เพราะเราไม่สามารถจะฆ่าธรรมด้วยอธรรมได้ (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ผู้ประเสริฐแกล้วกล้ากว่านรชน ถ้าพระองค์ไม่ทรงประสงค์นางอุมมาทันตี ผู้เป็นสมบัติของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะสละนางในท่ามกลางประชาชนทั้งปวง พระองค์พึงนำนางผู้พ้นขาดจากข้าพระองค์แล้วมาจากที่นั้นเถิด (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๘๘] นี่แน่ะท่านอภิปารกะ ผู้บำเพ็ญประโยชน์ หากท่านสละนางอุมมาทันตีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อท่าน ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ท่าน อนึ่ง การกล่าวโทษอย่างใหญ่หลวงก็จะพึงมีแก่ท่าน แม้คนผู้เป็นฝักฝ่ายของท่านในเมืองก็จะไม่พึงมีอีกด้วย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๘๙] ข้าแต่พระภูมิบาล ข้าพระองค์จักอดกลั้นคำกล่าวโทษ คำนินทา คำสรรเสริญ และคำติเตียนนั้นทุกอย่าง ขอคำนั้นทั้งหมดจงมาตกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความสำราญเถิด (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๙๐] ผู้ใดไม่ยึดถือคำนินทา ไม่ยึดถือคำสรรเสริญ ไม่ยึดถือคำติเตียน ทั้งไม่ยึดถือการบูชา สิริและปัญญาย่อมปราศจากผู้นั้น เหมือนน้ำฝนที่ตกจนโชกย่อมไหลไปจากที่ดอน (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๙๑] ความทุกข์ ความสุข อกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม และความคับแค้นใจจากการเสียสละนี้ทั้งหมด ข้าพระองค์จักรับไว้ด้วยอกประดุจพื้นปฐพีรับไว้ได้ทุกอย่าง ทั้งของบุคคลผู้มั่นคงและผู้หวาดสะดุ้ง (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๙๒] เราไม่ปรารถนาอกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม ความคับแค้นใจ และความทุกข์ของบุคคลเหล่าอื่น เราผู้ดำรงอยู่ในธรรมจะไม่ทำประโยชน์อะไรๆ ให้เสื่อมเสียไป เราจักนำภาระนี้ไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน บุญกรรมอันนำให้ถึง โลกสวรรค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงทำอันตรายเลย ข้าพระองค์มีใจเลื่อมใส จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์ เหมือนกับพระราชาพระราชทานทรัพย์ แก่พวกพราหมณ์ในการบูชายัญ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๙๔] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้ ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา เทวดา บิดา๑- และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้ อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๙๕] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์ เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๙๖] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้ นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๙๗] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล๒- ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์ ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด @เชิงอรรถ : @๑ บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๔๙) @๒ อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๗/๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๙๘] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้ คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้ (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๙๙] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า) [๑๐๐] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน [๑๐๑] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้ [๑๐๒] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น [๑๐๓] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๐๔] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว [๑๐๕] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์ [๑๐๖] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง [๑๐๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑- [๑๐๘] อภิปารกะ เราไม่ปรารถนาความเป็นเทวดา หรือเพื่อจะชนะแผ่นดินทั้งปวงนี้โดยอธรรมเลย [๑๐๙] แท้จริง รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เหลือง ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้ @เชิงอรรถ : @๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๘๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๐] อนึ่ง แม้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ก็รักษา ม้า หญิง และแก้วมณีไว้เพื่อเรา เราไม่พึงประพฤติธรรมไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งรัตนะนั้นเลย เพราะเราเกิดเป็นพระราชาผู้เจริญที่สุดท่ามกลางชาวกรุงสีพี [๑๑๑] เราเป็นผู้นำ เป็นผู้เกื้อกูล มีชื่อเสียง ปกครองแคว้น ประพฤตินอบน้อมธรรมเพื่อชาวกรุงสีพีอยู่ เรานั้นคิดถึงธรรมนั้นอยู่เนืองๆ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจจิตของตน (อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า) [๑๑๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์จักทรงปกครองราชสมบัติมิให้พินาศ ให้ปลอดภัยอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนานแน่แท้ เพราะพระปรีชาของพระองค์เป็นเช่นนั้น [๑๑๓] พระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ทรงประมาทธรรมแล้ว ย่อมเคลื่อนจากแคว้น [๑๑๔] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนกและพระชนนีเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๑๕] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๑๗] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในพาหนะและพลนิกายเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในแคว้นและชนบทเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในสมณะและพราหมณ์เถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๒๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและหมู่นกเถิด พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต]
๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด ธรรมที่พระองค์ประพฤติแล้วนำสุขมาให้ พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า [๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม บรรลุถึงโลกทิพย์ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทธรรมเลย พระเจ้าข้าอุมมาทันตีชาดกที่ ๒ จบ เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๑๑-๒๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=2 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=141&Z=320 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=20 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=20&items=32 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=494 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=20&items=32 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=494 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja527/en/francis
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]