ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
             [๒๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
เรื่องทีฆาวุกุมาร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่า พรหมทัต ทรงเป็นกษัตริย์มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มี พระราชพาหนะมาก มีพระราชอาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร บริบูรณ์ ส่วนพระเจ้าโกศลพระนามทีฆีติ ทรงเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มี พระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราชอาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธ- *ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จกรีธาจาตุรงคเสนาไปโจมตีพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช พระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเสด็จกรีธา- *จาตุรงคเสนามาโจมตีพระองค์ จึงทราบพระราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชทรงเป็นกษัตริย์ มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มีพระราชพาหนะมาก มีพระราช อาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารบริบูรณ์ ส่วนเราเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อย มีพระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราช อาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์ เราไม่สามารถจะต่อ ยุทธกับพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช แม้แต่เพียงศึกเดียว ถ้ากระไร เราพึงรีบหนีออกจากพระนคร ไปเสียก่อนดีกว่า ครั้นแล้วทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนครไปเสียก่อน ฝ่ายพระเจ้า พรหมทัตกาสิกราชทรงยึดรี้พลพาหนะ ชนบท คลังศัตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหาร ของ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชไว้ได้แล้วเสด็จเข้าครอบครองแทน. ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมกับพระมเหสีได้เสด็จหนีไปทางพระนครพาราณสี เสด็จบทจรโดยลำดับมรรคถึงพระนครพาราณสีแล้ว ข่าวว่าท้าวเธอพร้อมกับมเหสี ทรงปลอม แปลงพระองค์มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่ง ตั้งอยู่ชายแดนแห่งหนึ่งเขตพระนครพาราณสีนั้น ครั้นต่อมาไม่นานเท่าไรนัก พระมเหสีของ พระเจ้าทีฆีติโกศลทรงตั้งพระครรภ์ พระนางเธอนั้นทรงแพ้พระครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ ทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะทรง เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ จึงกราบทูลคำนี้แด่พระสวามีในทันทีว่า ขอเดชะ หม่อมฉันมีครรภ์ ได้แพ้ครรภ์เห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ หม่อมฉันปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พระพุทธเจ้าข้า พระราชารับสั่งว่า แม่เทวี เราทั้งสองกำลังตกยาก จะได้จตุรงคเสนาผู้ผูกสอดสรวม เกราะยืนอยู่ในสนามรบ และน้ำล้างพระแสงขรรค์มาแต่ไหน พระราชเทวีกราบทูลว่า ถ้าหม่อมฉันไม่ได้ คงตายแน่ พระพุทธเจ้าข้า. ก็สมัยนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเป็นสหายของพระเจ้าทีฆีติ- *โกศลราช จึงพระเจ้าทีฆีติโกศลราช เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ครั้นถึงแล้วได้ตรัสคำนี้แก่ท่านพราหมณ์ว่า เกลอเอ๋ย เพื่อนหญิงของเพื่อนมีครรภ์ นางแพ้ท้อง มีอาการเห็นปานนี้คือ เมื่อยามรุ่งอรุณ นางปรารถนาจะดูจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืน อยู่ในสนามรบ และจะดื่มน้ำล้างพระแสงขรรค์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ถ้ากระนั้น หม่อมฉันจะขอเฝ้าพระเทวีก่อน ลำดับนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้เสด็จเข้าไปหาพราหมณ์ปุโรหิตของ เจ้าพรหมทัตกาสิกราช พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ได้แลเห็นพระมเหสี ของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช กำลังเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช แล้วเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า ท่านผู้เจริญ พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว พระเจ้า โกศลประทับอยู่ในพระอุทรแน่แล้ว เพราะฉะนั้น พระเทวีอย่าได้เสียพระทัย เมื่อยามรุ่งอรุณ จักได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และจักได้ทรงเสวย น้ำล้างพระแสงขรรค์เป็นแน่ จึงพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เข้าไปในพระราชสำนัก ครั้งถึงแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ นิมิตทั้งหลายปรากฏตามกำหนดวิธีการ คือ ในเวลารุ่งอรุณพรุ่งนี้ จตุรงคเสนาจะผูกสอดสรวมเกราะยืนอยู่ในสนามรบ และเจ้าพนักงานจะ เอาน้ำล้างพระแสงขรรค์ด้วย พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชจึงมีพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย พราหมณ์ปุโรหิตสั่งการอย่างใด พวกเจ้าจงทำอย่างนั้น พระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ทอดพระเนตรจตุรงคเสนา ผู้ผูกสอดสรวมเกราะ ยืนอยู่ในสนามรบ และได้เสวยน้ำล้างพระแสงขรรค์ในเวลารุ่งอรุณ สมความปรารถนา ครั้นต่อมา ทรงอาศัยความแก่แห่งพระครรภ์นั้น ได้ประสูติพระราชโอรส พระชนกชนนีได้ขนานพระนาม พระราชโอรสนั้นว่า ทีฆาวุ และต่อมาไม่ช้านานเท่าไร ทีฆาวุราชกุมารก็ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ครั้งนั้น พระเจ้าทีฆีติโกศลราชดำริว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้ ก่อความพินาศให้แก่พวกเรา มากมาย ได้ช่วงชิงเอารี้พล พาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร ของพวกเราไป ถ้าท้าวเธอจักสืบทราบถึงพวกเรา คงสั่งให้ประหารชีวิตหมดทั้งสามคน ถ้ากระไร เราพึงให้พ่อทีฆาวุกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นแล้วได้ให้ทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ครั้นทีฆาวุราชกุมารหลบอยู่นอกพระนคร ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ศึกษาศิลปะสำเร็จทุกสาขา.
พระเจ้าโกศลและพระมเหสีถูกจับ
[๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยนั้น นายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชได้ สวามิภักดิ์อยู่ในพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เขาได้เห็นพระเจ้าทีฆีติโกศลราช พร้อมกับมเหสี ทรงปลอมแปลงพระกายมิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชายแดนแห่งหนึ่ง เขตพระนครพาราณสี ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต- *กาสิกราชได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับมเหสีทรงปลอมแปลงพระกาย มิให้ใครรู้จัก ทรงนุ่งห่มเยี่ยงปริพาชก เสด็จอาศัยอยู่ในบ้านของช่างหม้อ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชายแดน แห่งหนึ่ง เขตพระนครพาราณสี พระพุทธเจ้าข้า ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จึงมีพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี พวกเขาทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้น แล้วไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมพระมเหสีมาถวาย พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช จึงพระบรมราชโองการสั่งเจ้าพนักงานทั้งหลายว่า ดูกรพนาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงเอาเชือกที่เหนียวๆ มัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสี มัด ให้แน่น ให้มีพระพาหาไพล่หลัง กล้อนพระเศียร แล้วนำตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทุกแห่ง ด้วยวัชฌเภรีมีสำเนียงอันคมคาย แล้วให้ออกไปทางประตูด้านทักษิณ บั่นตัวออกเป็น ๔ ท่อน วางเรียงไว้ในหลุม ๔ ทิศ ทางด้านทักษิณแห่งพระนคร พวกเขาทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้นแล้ว ได้เอาเชือกอย่างเหนียวมัดพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับมเหสี มัดให้แน่นให้มี พระพาหาไพล่หลัง กล้อนพระเศียรแล้วนำตระเวนไปตามถนน ตามตรอกทั่วทุกแห่งด้วยวัชฌเภรี มีสำเนียงคมคาย ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมารได้ทรงดำริดังนี้ว่า นานมาแล้วที่เราได้เยี่ยมพระชนกชนนี ถ้ากระไร เราพึงไปเฝ้าเยี่ยมพระชนกชนนี ครั้นแล้วเข้าไปสู่พระนครพาราณสี ได้ทอดพระเนตร เห็นเจ้าพนักงานทั้งหลาย เอาเชือกอย่างเหนียวๆ มัดพระชนกชนนีจนแน่น ให้มีพระพาหา ไพล่หลัง กล้อนพระเศียรแล้ว นำตระเวนไปตามตรอก ด้วยวัชฌเภรีมีสำเนียงอันคมคาย ครั้นแล้วเสด็จพระดำเนินเข้าไปใกล้พระชนกชนนี.
พระราโชวาทของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช
พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารเสด็จพระดำเนินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ตรัสพระบรมราชโอวาทนี้แก่ทีฆาวุกุมารว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่า เห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร เมื่อท้าวเธอตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าพนักงานเหล่านั้นได้ทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า พระเจ้า ทีฆีติโกศลราชนี้เป็นผู้วิกลจริตจึงบ่นเพ้ออยู่ ทีฆาวุของพระองค์คือใคร พระองค์ตรัสอย่างนี้ กะใครว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะ เวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร พระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสว่า พนาย เราไม่ได้เสียจริตบ่นเพ้ออยู่ แต่ผู้ใดรู้เรื่อง ผู้นั้น จักเข้าใจ พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ตรัสพระบรมราโชวาทนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารเป็นคำรบสองว่า .... พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ได้ตรัสพระบรมราโชวาทนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารเป็นคำรบที่สามว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร เจ้าพนักงานเหล่านั้น ได้ทูลคำนี้แด่พระเจ้าทีฆีติโกศลราชเป็นคำรบสามว่า เจ้าทีฆีติ โกศลราชนี้เป็นผู้วิกลจริต จึงบ่นเพ้ออยู่ ทีฆาวุของพระองค์คือใคร พระองค์ตรัสกะใครอย่าง นี้ว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม ระงับได้เพราะไม่จองเวร พระเจ้าทีฆีติโกศลราชตรัสว่า พนาย เราไม่ได้เสียจริตบ่นเพ้ออยู่ แต่ผู้ใดรู้เรื่อง ผู้นั้นจักเข้าใจ จึงพนักงานเหล่านั้น ได้นำพระเจ้าทีฆีติโกศลราชพร้อมกับพระมเหสีไปตามถนน ตามตรอกทั่วทุกแห่ง แล้วให้ออกไปทางประตูด้านทักษิณ บั่นพระกายเป็น ๔ ท่อน วางเรียง ไว้ในหลุม ๔ ทิศ ด้านทักษิณแห่งพระนคร วางยามคอยระวังเหตุการณ์ไว้แล้วกลับไป ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมาร เข้าไปสู่พระนครพาราณสี นำสุรามาเลี้ยงพวกเจ้าหน้าที่อยู่ยาม เมื่อเวลาที่คน เหล่านั้นเมาฟุบลง ทีฆาวุราชกุมารจึงจัดหาฟืนมาวางเรียงกันไว้ ยกพระบรมศพของพระชนกชนนี ขึ้นสู่พระจิตกาธาร ถวายพระเพลิง แล้วประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณพระจิตกาธาร ๓ รอบ ขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ประทับอยู่ชั้นบนแห่งปราสาทอันประเสริฐได้ทอดพระเนตร เห็นทีฆาวุราชกุมาร กำลังทรงประนมพระหัตถ์ทำประทักษิณพระจิตกาธาร ๓ รอบ ครั้นแล้ว ได้ทรงพระดำริแน่ในพระทัยว่า เจ้าคนนั้นคงเป็นญาติหรือสายโลหิต ของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช แน่นอน น่ากลัวจะก่อความฉิบหายแก่เรา ช่างไม่มีใครบอกเราเลย. ครั้งนั้น ทีฆาวุราชกุมารเสด็จหลบเข้าป่าไป ทรงกันแสงร่ำไห้ จนพอแก่เหตุ ทรงซับ น้ำพระเนตร แล้วเสด็จเข้าพระนครพาราณสี ไปถึงโรงช้างใกล้พระบรมมหาราชวัง แล้วได้ตรัส คำนี้แก่นายหัตถาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะศึกษาศิลปะ นายหัตถาจารย์ตอบว่า ถ้ากระนั้น เชิญมาศึกษาเถิดพ่อหนุ่มน้อย อยู่มาวันหนึ่ง ทีฆาวุราชกุมาร ทรงตื่นบรรทมตอนปัจจุสสมัยแห่งราตรีแล้วทรงขับร้องและดีดพิณคลอเสียง เจื้อยแจ้วอยู่ที่โรงช้าง. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงตื่นบรรทมเวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ได้ทรงสดับ เสียงเพลงและเสียงพิณที่ดีดคลอเสียงอันเจื้อยแจ้วดังแว่วมาทางโรงมงคลหัตถี จึงมีพระดำรัสถาม พวกมหาดเล็กว่า แน่พนาย ใครตื่นในเวลาเช้ามืดแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและดีดพิณแว่วมาทาง โรงช้าง? พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ชายหนุ่ม ศิษย์ของนายหัตถาจารย์ชื่อโน้น ตื่นในเวลาเช้ามืดแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและดีดพิณคลอเสียง อันเจื้อยแจ้วดังที่โรงช้าง พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พนาย ถ้ากระนั้น จงพาชายหนุ่มมาเฝ้า พวกเขา ทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว พาทีฆาวุราชกุมารมาเฝ้า จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ได้ตรัสถามทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม เจ้าตื่นในเวลาเช้าแห่งราตรีแล้ว ขับร้องและ ดีดพิณคลอเสียงอันเจื้อยแจ้วดังทางโรงช้างหรือ? ทีฆาวุราชกุมารทูลรับว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงขับร้องและดีดพิณไป ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วประสงค์จะให้ทรงโปรดปราน จึงขับร้องและดีดพิณด้วยเสียงอันไพเราะ ทีนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายชายหนุ่ม เจ้าจงอยู่รับใช้เราเถิด ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วจึงประพฤติทำนองตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยเฝ้าฟังพระราชดำรัสใช้ ประพฤติ ให้ถูกพระอัธยาศัย เจรจาถ้อยคำไพเราะ ต่อพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ครั้นต่อมาไม่นานนัก ท้าวเธอทรงแต่งตั้งทีฆาวุราชกุมาร ไว้ในตำแหน่งผู้ไว้วางพระราชหฤทัย ใกล้ชิดสนิทภายใน อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวเธอได้ตรัสคำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้ากระนั้น เจ้าจงเทียมรถ พวกเราจักไปล่าเนื้อ ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระราชกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า แล้วจัดเทียมรถไว้เสร็จ ได้กราบทูลคำนี้แด่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ขอจงทรงพระกรุณาโปรดทราบกาลอันควรเถิด พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จขึ้นราชรถ ทีฆาวุราชกุมารขับราชรถไป แต่ขับราชรถไปโดยวิธีที่หมู่เสนาได้แยกไปทางหนึ่ง ราชรถได้แยกไปทางหนึ่ง ครั้งนั้น พระเจ้า- *พรหมทัตกาสิกราชเสด็จไปไกล แล้วได้ตรัสคำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อนายชายหนุ่ม ถ้ากระนั้น เจ้าจงจอดรถ เราเหนื่อยอ่อนจักนอนพัก. ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระราชกระแสรับสั่ง พระพุทธเจ้าข้า ดังนั้นแล้วจอดราชรถนั่งขัดสมาธิอยู่ที่พื้นดิน จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงพาดพระเศียรบรรทมอยู่บนตักของทีฆาวุราชกุมาร เมื่อท้าวเธอทรงเหน็ดเหนื่อยมา เพียง ครู่เดียวก็บรรทมหลับ. ขณะนั้น ทีฆาวุราชกุมารคิดถึงความหลังว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้แล ทรงก่อ ความฉิบหายแก่พวกเรามากมาย ท้าวเธอทรงช่วงชิงรี้พล ราชพาหนะชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารของพวกเราไป และยังได้ปลงพระชนมชีพพระชนกชนนีของเรา เสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร ดังนี้จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก แต่เจ้าชายได้ทรง ยั้งพระทัยไว้ได้ในทันทีว่า พระชนกได้ทรงสั่งเราไว้เมื่อใกล้สวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็น แก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่ จองเวร การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้ แล้วสอด พระขรรค์เข้าไว้ในฝัก ทีฆาวุราชกุมาร ได้ทรงคิดถึงความหลังเป็นคำรบสองว่า .... ทีฆาวุราชกุมาร ได้ทรงคิดถึงความหลังเป็นคำรบสามว่า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชนี้แล ทรงก่อความฉิบหายแก่พวกเรามากมาย ท้าวเธอทรงช่วงชิงรี้พลราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารของพวกเราไป และยังได้ปลงพระชนมชีพพระชนกชนนีของเรา เสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่เราพบคู่เวร ดังนี้ จึงชักพระแสงขรรค์ออกจากฝัก แต่ก็ทรงยั้ง พระทัยไว้ได้ทันที เป็นคำรบสามว่า พระชนกได้ตรัสสั่งไว้เมื่อใกล้สวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่า เห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะ ไม่จองเวร การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระชนกนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้ แล้ว ทรงสอดพระแสงขรรค์เข้าไว้ในฝักตามเดิม. ขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ทรงกลัว หวั่นหวาด สะดุ้งพระทัยรีบเสด็จลุกขึ้น ทีฆาวุราชกุมารได้กราบทูลคำนี้แด่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชในทันทีว่า ขอเดชะ เพราะอะไรหรือ พระองค์จึงทรงกลัว หวั่นหวาด สะดุ้งพระทัยรีบเสด็จลุกขึ้นพระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสตอบว่า พ่อนายชายหนุ่ม ฉันฝันว่าทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชฟาดฟันฉันด้วยพระแสงขรรค์ ณ ที่นี้ เพราะเหตุนั้น ฉันจึงกลัว หวั่นหวาด ตกใจรีบลุกขึ้น ทันใดนั้น ทีฆาวุราชกุมารจับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชด้วยพระหัตถ์ซ้าย ชักพระแสงขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วได้กล่าวคำขู่แก่พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า คือ ทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น พระองค์ทรงก่อความ ฉิบหายแก่พวกข้าพระพุทธเจ้ามากมาย คือ ทรงช่วงชิงรี้พล ราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหาร ของข้าพระพุทธเจ้าไป มิหนำซ้ำยังปลงพระชนมชีพพระชนกชนนี ของข้าพระพุทธเจ้าเสียด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าพบคู่เวรละ จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช ซบพระเศียรลงแทบยุคลบาทของทีฆาวุราชกุมาร แล้วได้ ตรัสคำวิงวอนแก่เจ้าชายว่า พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน พ่อทีฆาวุ พ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน ด้วยเถิด เจ้าชายกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าหรือจะเอื้อมอาจทูลเกล้าถวายชีวิตแก่พระองค์ พระองค์ ต่างหากควรพระราชทานชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อทีฆาวุ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงให้ชีวิตแก่ฉัน และฉัน ก็ให้ชีวิตแก่พ่อ. ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช และทีฆาวุราชกุมาร ต่างได้ให้ชีวิตแก่กันและกัน ได้จับพระหัตถ์กัน และได้ทำการสบถ เพื่อไม่ทำร้ายกัน จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชได้ตรัส คำนี้แก่ทีฆาวุราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ ถ้ากระนั้นพ่อจงเทียมรถไปกันเถอะ. ทีฆาวุราชกุมารทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นดังพระกระแสรับสั่ง พระพุทธ- *เจ้าข้า ดังนั้น แล้วเทียมรถ ได้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชว่า รถพระที่นั่งเทียมเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระองค์โปรดทรงทราบกาลอันควรเถิด พระพุทธเจ้าข้า. จึงพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชเสด็จขึ้นรถทรงแล้ว ทีฆาวุราชกุมารขับรถไป ได้ขับรถไป โดยวิธีไม่นานนักก็มาพบกองทหาร ครั้นพระเจ้าพรหมทัตกาสิกราช เสด็จเข้าสู่พระนครพาราณสี แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกประชุมหมู่อำมาตย์ราชบริษัท ได้ตรัสถามความเห็นข้อนี้ว่า พ่อนายทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพบทีฆาวุราชกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราช จะพึงทำอะไร แก่เขา. อำมาตย์บางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้า จะพึงตัดมือ จะพึง ตัดเท้า จะพึงตัดทั้งมือและเท้า จะพึงตัดหู จะพึงตัดจมูก จะพึงตัดทั้งหูและจมูก จะพึงตัดศีรษะ พระพุทธเจ้าข้า. พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า พ่อนายทั้งหลาย ชายหนุ่มผู้นี้แล คือ ทีฆาวุราชกุมาร โอรสของพระเจ้าทีฆีติโกศลราชคนนั้น ชายหนุ่มผู้นี้ใครๆ จะทำอะไรไม่ได้ เพราะชายหนุ่มผู้นี้ ได้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ได้ให้ชีวิตแก่ชายหนุ่มผู้นี้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามความข้อนี้แก่ทีฆาวุ- *ราชกุมารว่า พ่อทีฆาวุ พระชนกของเธอได้ตรัสคำใดไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่า เห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะ ไม่จองเวร ดังนี้ พระชนกของเธอได้ตรัสคำนั้น หมายความว่าอย่างไร? ทีฆาวุราชกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะ พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว ดังนี้หมายความว่า เจ้าอย่าได้จองเวรให้ ยืดเยื้อ เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทวันนี้แลไว้เมื่อ ใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า ได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น ดังนี้ หมายความว่า เจ้าอย่าแตกร้าวจาก มิตรเร็วนัก เพราะฉะนั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้แลไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น พระชนกของข้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสพระบรมราโชวาท อันใดแลไว้ เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อม ระงับได้เพราะไม่จองเวร ดังนี้ หมายความว่า พระชนกชนนีของข้าพระพุทธเจ้า ถูกพระองค์ ปลงพระชนมชีพเสีย ถ้าข้าพระพุทธเจ้า จะพึงปลงพระชนมชีพของพระองค์เสียบ้าง คนเหล่าใด ใคร่ความเจริญแก่พระองค์ คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่าใดใคร่ความเจริญ แก่ข้าพระพุทธเจ้า คนเหล่านั้นจะพึงปลงชีวิตคนเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เวรนั้นไม่พึงระงับ เพราะเวร แต่มาบัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระพุทธเจ้า และ ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถวายพระชนมชีพแก่พระองค์ เป็นอันว่าเวรนั้นระงับแล้วเพราะไม่จองเวร พระชนกของข้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพระบรมราโชวาทอันนี้แลไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า พ่อ ทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับได้เพราะไม่จองเวร พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตกาสิกราชตรัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ไม่ เคยมีเลย ทีฆาวุราชกุมารนี้เป็นบัณฑิต จึงได้เข้าใจความแห่งภาษิต อันพระชนกตรัสแล้วโดยย่อ ได้โดยพิสดาร แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานคืนรี้พล ราชพาหนะ ชนบท คลังศัสตราวุธ- *ยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารอันเป็นพระราชสมบัติของพระชนก และได้พระราชทานพระราชธิดา อภิเษกสมรสด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันติ โสรัจจะ เห็นปานนี้ ได้มีแล้วแก่พระราชาเหล่านั้น ผู้ถือ อาชญา ผู้ถือศัสตราวุธ ก็การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัย อันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ จะพึงอดทน และสงบเสงี่ยมนั้น ก็จะพึงงามในธรรมวินัยนี้แน่. [๒๔๕] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระโอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบสามว่า อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย อย่าบาดหมางกัน อย่าทะเลาะกัน อย่าแก่งแย่งกัน อย่าวิวาทกันเลย อธรรมวาที ภิกษุรูปนั้น ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสาม พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมได้โปรดทรงยับยั้งเถิด ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรงมีความขวนขวาย น้อย ประกอบสุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระพุทธเจ้าจักปรากฏด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทนั้น จึงพระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้หัวดื้อ นักแล เราจะให้โมฆบุรุษเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ดังนี้ แล้วเสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ กลับไป.
ทีฆาวุภาณวาร ที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------
[๒๔๖] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าพระนครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพีแล้ว ครั้น เวลาบ่าย เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวร ประทับยืนท่ามกลางพระสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:-
เวรุปสมคาถา
[๒๔๗] ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน จะได้สำคัญตัวว่า เป็นพาล ไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้ สำคัญเหตุอื่น ภิกษุทั้งหลายลืมสติ สำคัญตัวว่าเป็นบัณฑิต ช่างพูด เจ้าคารม พูดไปตามที่ตนปรารถนา จะยื่นปากพูด ไม่รู้สึกว่าความทะเลาะเป็นเหตุชักพาไป ก็คนเหล่าใดจองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ เพราะไม่จองเวร ธรรมนี้ เป็นของเก่า ก็คนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเรากำลังยับเยิน ณ ท่าม กลางสงฆ์นี้ ส่วนคนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น รู้สึก เพราะความรู้สึกของคนเหล่านั้น ความหมายมั่นย่อมระงับ คนเหล่าใดบั่นกระดูก ผลาญชีวิต ลักทรัพย์ คือ โค และม้า คนเหล่านั้นถึงช่วงชิงแว่นแคว้นกัน ก็ยังคบหา สมาคมกันได้ เหตุไฉนพวกเธอจึงคบหาสมาคมกันไม่ได้เล่า ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็น- *นักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน เขาครอบงำอันตรายทั้งปวง เสียได้ พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น ถ้าไม่ได้ สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์คอยช่วย เหลือกัน พึงเที่ยวไปคนเดียว ดุจพระราชาทรงสละแว่น- *แคว้น คือราชอาณาจักร และดุจช้างมาตังคะ ละฝูงเที่ยวไป ในป่า ฉะนั้น การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคุณเครื่อง เป็นสหายไม่มีในคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึง ทำบาป ดุจช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไป ในป่าแต่ลำพัง ฉะนั้น.
เสด็จพาลกโลณการกคาม
[๒๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์ตรัสพระคาถาเหล่านี้ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางบ้านพาลกโลณการกคาม ก็สมัยนั้นท่านพระภคุพักอยู่ที่บ้าน พาลกโลณการกคาม ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จพระพุทธดำเนินมาแต่ไกลเทียว ครั้น แล้วได้จัดที่ประทับ ตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท ไปรับเสด็จ รับบาตรจีวร พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ ครั้นแล้วให้ล้างพระบาทยุคล ฝ่ายท่านพระภคุถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสคำนี้แก่ท่านพระภคุผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรภิกษุ เธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ เธอไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตหรือ? ท่านพระภคุกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า ยังพอทนได้ ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้ และ ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า. จึงพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ท่านพระภคุเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วย ธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับ เสด็จพุทธดำเนินไปทางปราจีนวังสทายวัน ก็สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พักอยู่ที่ปราจีน วังสทายวัน คนเฝ้าสวนได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์อย่าเสด็จเข้ามาสู่สวนนี้ เพราะในสวนนี้มีกุลบุตรอยู่ ๓ ท่าน ต่างกำลังมุ่งประโยชน์ของตนอยู่ พระองค์อย่าได้ทำความไม่สำราญแก่พวกนั้นเลย ท่านพระอนุรุทธะได้ยินเสียงคนเฝ้าสวน กำลังโต้ตอบอยู่กับพระผู้มีพระภาค จึงได้บอก คนเฝ้าสวนว่า นายทายบาล ท่านอย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระองค์เป็นศาสดาของพวกเรา เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ ครั้นแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ ได้แจ้งความ ข้อนี้แก่ท่านทั้งสองว่า จงรีบออกไปเถิด พวกท่าน จงรีบออกไปเถิด พวกท่าน พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว โดยลำดับ จึงท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และ ท่านพระกิมพิละ พากันลุกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท กระเบื้องเช็ดพระบาท พระผู้มี พระภาคประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่จัดไว้ ครั้นแล้วให้ล้างพระบาทยุคล ท่านเหล่านั้นก็ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะนั่งเรียบร้อย แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อนุรุทธะพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้อัตภาพเป็นไป ได้หรือ ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตหรือ? พวกท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้า ยังพอทนได้ ยังพอให้อัตภาพ เป็นไปได้ และพวกข้าพระพุทธเจ้า ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตพระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรพวกอนุรุทธะ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่รักอยู่หรือ? อ. ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านั้นยังพร้อมเพรียงกัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจ น้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่รักอยู่ โดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรพวกอนุรุทธะ พวกเธอพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจ น้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่รักอยู่ ด้วยวิธีอย่างไรเล่า?
สามัคคีธรรม
อ. พระพุทธเจ้าข้า ในข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้ว ที่เราได้อยู่ร่วมกับเพื่อนสพรหมจารีเห็นปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้านั้น ได้เข้าไปตั้ง เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมไว้ในท่านเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ข้าพระพุทธเจ้านั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิต ของท่านเหล่านี้เท่านั้น ดังนี้ แล้ววางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้แหละ กายของพวกข้าพระพุทธเจ้าต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือนดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า ฝ่ายท่านพระนันทิยะและท่านกิมพิละ ต่างได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความคิดอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เราได้อยู่ร่วมกับเพื่อนสพรหมจารีเห็นปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ไว้ในท่านเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ข้าพระพุทธเจ้านั้นมี ความคิดอย่างนี้ว่าไฉนหนอ เราพึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้เท่านั้น ดังนี้ แล้ววางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านเหล่านี้แหละ กายของพวกข้าพระพุทธเจ้า ต่างกันก็จริงแล แต่จิตเป็นเหมือนดวงเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อม เพรียงกัน ยังปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำนมสดกับน้ำ มองดูกันด้วยดวงตาอันเป็นที่ รักอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไป อยู่หรือ? อ. พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่โดย ส่วนเดียว พระพุทธเจ้าข้า พ. ดูกรพวกอนุรุทธะ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างไรเล่า? อ. พระพุทธเจ้า ในข้อนี้ บรรดาพวกข้าพระพุทธเจ้า รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านก่อน รูปนั้นก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่ฉันแล้วเหลืออยู่ ถ้าต้องการ ก็ฉัน ถ้าไม่ต้องการ ก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้น รื้ออาสนะเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้ เก็บน้ำฉัน น้ำใช้ กวาดโรงฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้น ก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้ารูปนั้นไม่สามารถ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็กวักมือเรียกเพื่อนมา แล้วช่วยกันตักยก เข้าไปตั้งไว้ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้ามิได้บ่นว่า เพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย และพวกข้าพระพุทธเจ้า นั่งประชุมกันด้วยธรรมีกถาตลอดคืนยันรุ่งทุกๆ ๕ วัน พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจง ให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และ ท่านพระกิมพิละ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางตำบลบ้านปาริไลยกะ เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงตำบลบ้านปาริไลยกะ ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่โคนไม้รังใหญ่ ในไพรสณฑ์รักขิตวัน เขตตำบลบ้านปาริไลยกะนั้น.
เรื่องช้างใหญ่ปาริไลยกะ
[๒๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตก แห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราวุ่นด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น อยู่ไม่สำราญเลย เดี๋ยวนี้ เราว่างเว้นจากภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น อยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน เป็นสุขสำราญดี แม้ช้างใหญ่เชือกหนึ่งก็ยุ่งอยู่ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กิน แต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่พระยาช้างนั้นหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่ น้ำขุ่นๆ เมื่อพระยาช้างนั้นลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ต่อมาพระยาช้างนั้น ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เรายุ่งอยู่ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กินแต่ หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเรา ลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ไฉนหนอ เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่แต่ผู้เดียว ครั้นแล้วได้หลีกออกจากโขลงเดินไปทางบ้านปาริไลยกะไพรสณฑ์รักขิตวันควงไม้รังใหญ่ เข้าไป หาพระผู้มีพระภาค แล้วใช้งวงตักน้ำฉันน้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค และปราบสถานที่ ให้ปราศจากของเขียวสด ครั้นกาลต่อมา พระยาช้างนั้นได้คำนึงว่า เมื่อก่อนเรายุ่งด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก อยู่ไม่ผาสุกเลย ได้กินแต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหัก ลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ เมื่อเราลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดิน เสียดสีกายไป เดี๋ยวนี้ เราว่างเว้นจากช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก อยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน เป็นสุขสำราญดี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความเงียบสงัดของพระองค์ และทรงทราบความ ปริวิตกแห่งจิตของพระยาช้างนั้นด้วยพระทัย จึงทรงเปล่งอุทานนี้ขึ้นในเวลานั้น ว่าดังนี้:- จิตของพระยาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้นเสมอด้วยจิตของ ท่านผู้ประเสริฐ เพราะเป็นผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน. [๒๕๐] ครั้นพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ตำบลบ้านปาริไลยกะ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น.
อุบาสกอุบาสิกรชาวพระนครโกสัมพีไม่อภิวาท
[๒๕๑] ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้า เหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้ รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้าเหล่าภิกษุ ชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่ สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจัก สึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพี ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวรพากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี.
พระสารีบุตรเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
[๒๕๒] ท่านพระสารีบุตรได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ผู้ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนคร สาวัตถี จึงเข้าไปในพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความ อื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น พากันมาพระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในภิกษุ เหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม สา. ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรือธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?
วัตถุสำหรับอธรรมวาที ๑๘ ประการ
พ. สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือภิกษุในธรรม วินัยนี้:- ๑. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม ๒. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม ๓. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย ๔. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย ๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ ๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ ๗. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา ๘. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าอันพระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ๑๑. แสดงสิ่งที่มิใช่อาบัติ ว่าเป็นอาบัติ ๑๒. แสดงอาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ ๑๓. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติหนัก ๑๔. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติเบา ๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ๑๖. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
วัตถุสำหรับธรรมวาที ๑๘ ประการ
สารีบุตร และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม ๒. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม ๓. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย ๔. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย ๕. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ๖. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ ๗. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ๘. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา ๙. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ๑๐. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ๑๑. แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ ๑๒. แสดงอาบัติ ว่าเป็นอาบัติ ๑๓. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติเบา ๑๔. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติหนัก ๑๕. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ ๑๖. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ สารีบุตร เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
พระเถรานุเถระเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
[๒๕๓] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้สดับข่าว .... ท่านพระมหากัสสปะได้สดับข่าว .... ท่านพระมหากัจจนะได้สดับข่าว .... ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้สดับข่าว .... ท่านพระมหากัปปินะได้สดับข่าว .... ท่านพระมหาจุนทะได้สดับข่าว .... ท่านพระอนุรุทธะได้สดับข่าว .... ท่านพระเรวตะได้สดับข่าว .... ท่านพระอุบาลีได้สดับข่าว .... ท่านพระอานนท์ได้สดับข่าว .... ท่านพระราหุลได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไป ในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระราหุล นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัติแด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุ ชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ราหุล ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม รา. ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรืออธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พ. ราหุล เธอพึงทราบ อธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ .... ราหุล เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล. ราหุล และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการ .... ราหุล เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ ๑๘ ประการนี้แล.
พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
[๒๕๔] พระเถรีมหาปชาบดีโคตมี ได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความ บาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากัน มาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถรีมหาปชาบดีโคตมียืนเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มี พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมางก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี หม่อมฉัน จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โคตมี ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟังธรรมในภิกษุสองฝ่าย ครั้นฟังธรรม ในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้นเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น อนึ่ง วัตรอย่างหนึ่งอย่างใดอัน ภิกษุณีสงฆ์พึงหวังแต่ภิกษุสงฆ์ วัตรนั้นทั้งหมด อันเธอพึงหวังแต่ธรรมวาทีภิกษุฝ่ายเดียว.
อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
[๒๕๕] อนาถบิณฑิกคหบดีได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนคร สาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง อนาถบิณฑิกคหบดีนั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการ วิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คหบดี ถ้ากระนั้น ท่านจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย ครั้น ถวายทานในภิกษุสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ในสองฝ่ายนั้น เป็นธรรมวาที ท่านจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และ ความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น.
นางวิสาขามิคารมาตาเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ
[๒๕๖] นางวิสาขามิคารมาตาได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนคร สาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง นางวิสาขามิคารมาตานั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการ วิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี หม่อมฉันจะ ปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิสาขา ถ้ากระนั้น เธอจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย ครั้น ถวายทานในสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใดใน สองฝ่ายนั้นเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบและความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น. [๒๕๗] ครั้งนั้น พวกชาวเมืองโกสัมพี ได้ไปถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ จึงท่าน พระสารีบุตรเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุ ชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ ในสงฆ์ เหล่านั้นพากันมาถึงพระนครสาวัตถีแล้วโดยลำดับ ข้าพระพุทธเจ้า จะพึงจัดเสนาสนะ สำหรับภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร ถ้ากระนั้น เธอพึงให้เสนาสนะที่ว่าง สา. ก็ถ้าเสนาสนะว่างไม่มี จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พ. สารีบุตร ถ้ากระนั้น พึงทำเสนาสนะให้ว่างแล้วให้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า พึงห้าม เสนาสนะแก่ภิกษุผู้แก่พรรษา โดยปริยายอะไรๆ หามิได้เลย รูปใดห้าม ต้องอาบัติทุกกฏ. สา. ในอามิสเล่า จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พ. สารีบุตร พึงแบ่งอามิสให้ภิกษุทั้งหมดเท่าๆ กัน.
รับภิกษุผู้ถูกยกเข้าหมู่
[๒๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น พิจารณาถึงธรรมและวินัยอยู่ ได้สำนึกข้อนี้ว่า นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ครั้นแล้วเข้าไปหาภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยก แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุ พวกนั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิดท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ. ลำดับนั้น ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น พาภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น เข้าไปใน พุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ถูกยกรูปนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติ หามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิด ท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุนั่นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้ว ภิกษุนั่นไม่ถูกยก หามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติ ถูกยกแล้ว และเห็นอาบัติ ฉะนั้น พวกเธอจงรับภิกษุนั้นเข้าหมู่ จึงภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น รับภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้นเข้าหมู่แล้ว เข้าไป หาภิกษุพวกยกถึงที่อยู่ ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความ ทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้น ต้องอาบัติ แล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติ และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับ เรื่องนั้น. จึงภิกษุพวกยกเหล่านั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้ว เพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติ แล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า?
พระพุทธานุญาตให้ทำสังฆสามัคคี
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้วถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เข้ารับหมู่แล้ว ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น.
วิธีทำสังฆสามัคคี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสังฆสามัคคีพึงทำอย่างนี้ คือภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่อาพาธ ทั้งที่ ไม่อาพาธ พึงประชุมพร้อมกันทุกๆ รูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้ ครั้นประชุมกันแล้ว ภิกษุ ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาทำสังฆสามัคคี
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำ สังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น นี่เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น การทำ สังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด สงฆ์ทำสังฆสามัคคีเพื่อระงับเรื่องนั้นแล้ว ความแตกแห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ความ ร้าวรานแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การถือต่างกันแห่งสงฆ์ถูกกำจัดแล้ว การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ถูกกำจัดแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ ไว้ด้วยอย่างนี้. สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์ ในขณะนั้นเทียว.
สังฆสามัคคี ๒ อย่าง
[๒๕๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลี เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มี- *พระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไป ถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคีนั้น ไม่เป็นธรรม. อุ. พระพุทธเจ้าข้า ก็ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท แห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกัน แห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้นสาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำ สังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้น เป็นธรรมหรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า? พ. อุบาลี ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นเป็นธรรม. อ. สังฆสามัคคีมีเท่าไร พระพุทธเจ้า? พ. อุบาลี สังฆสามัคคีมี ๒ อย่าง คือ สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ ๑ สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ ๑ ๑. อุบาลี สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องนั้น ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุจากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่าสังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ. ๒. อุบาลี สังฆสามัคคี ได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะเป็นไฉนเล่า? ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ย่อมมีเพราะเรื่องใด สงฆ์วินิจฉัยเรื่องนั้น สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ จากมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี นี้เรียกว่า สังฆสามัคคีที่ได้ทั้งอรรถ ได้ทั้งพยัญชนะ อุบาลี สังฆสามัคคี ๒ อย่างนี้แล. ลำดับนั้น ท่านพระอุบาลีลุกจากอาสน์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ว่าดังนี้:-
อุบาลีคาถา
[๒๖๐] อุ. เมื่อกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความ วินัย และการวินิจฉัยความแห่งวินัยเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นคนชนิดไร จึงมีอุปการะมาก เป็นคน ชนิดไร จึงควรยกย่อง ในพระธรรมวินัยนี้ พ. เบื้องต้น ภิกษุไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรา มารยาท และสำรวมอินทรีย์เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้ โดยธรรม เพราะเธอไม่มีความผิดที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าวถึง เธอผู้เช่นนั้น ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ เป็นผู้แกล้วกล้า พูด จาฉาดฉาน เข้าที่ประชุมไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าว ถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ เธอเป็นผู้ เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์ ย่อมยังหมู่วิญญูชนให้พอใจ มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย ที่แก่พรรษากว่า เป็นผู้แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาด จับข้อพิรุธของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูก ปราบ และมหาชนก็ยินยอม อนึ่ง ภิกษุนี้ย่อมไม่ลบล้าง ลัทธิเป็นที่เชื่อถือ คืออาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้ ไม่ติดขัด สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่เขานำมาบูชาฉะนั้น ถูกคณะภิกษุส่ง ไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะ การทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณ เท่าใด และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ในวิธีการออกจากอาบัติ อนึ่ง ภิกษุทำกรรมมีก่อความ บาดหมางเป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับ ออก ด้วยเรื่องเช่นใด เธอฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจ วิธีการรับเข้าหมู่ แม้นั้น ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตร นั้นเสร็จแล้ว มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็น ผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติ ประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้ ภิกษุผู้เช่นนั้นนั่น จึงควร ยกย่องในธรรมวินัยนี้แล.
โกสัมพิขันธกะ ที่ ๑๐ จบ.
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำขันธกะ
[๒๖๑] เรื่องสมเด็จพระชินวรประทับในพระนครโกสัมพี ภิกษุวิวาทกันเพราะไม่เห็น อาบัติ และยกกันเพราะเหตุเล็กน้อย เรื่องทรงแนะนำให้ภิกษุแสดงอาบัติ เรื่องภิกษุผู้สนับสนุน ฝ่ายถูกยกทำอุโบสถภายในสีมานั้นเอง เรื่องบ้านพาลกโลณการกคาม เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่ ปราจีนวังสทายวัน เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่ป่าปาริไลยกะ เรื่องเสด็จพระพุทธดำเนินสู่พระนคร สาวัตถี เรื่องพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระโกลิตะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจานะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระเรวตะ พระอุบาลี พระอานนท์ พระราหุล พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี อนาถบิณฑิกคหบดี และนางวิสาขามิคารมาตา เข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ เรื่องเสนาสนะว่าง เรื่องจัดเสนาสนะให้ว่าง เรื่องแบ่งอามิสให้เท่าๆ กัน เรื่องทำสังฆสามัคคีภิกษุรูปไรจะให้ฉันทะไม่ได้ เรื่องพระอุบาลีเข้าเฝ้าทูลถามสังฆสามัคคีในศาสนา ของพระชินเจ้า เรื่องไม่ถูกตำหนิโดยศีล.
มหาวรรค ภาค ๒ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๖๑๑๔-๖๗๖๘ หน้าที่ ๒๕๒-๒๗๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=6114&Z=6768&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=5&item=243&items=19              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=5&item=243&items=19&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=5&item=243&items=19              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=5&item=243&items=19              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=243              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 https://84000.org/tipitaka/english/?index_5

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]