ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๙. รตนวรรค
๒. รตนสิกขาบท
ว่าด้วยการเก็บรัตนะที่เจ้าของลืมไว้
เรื่องพระรูปหนึ่ง
[๕๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งสรงน้ำในแม่น้ำ อจิรวดี พราหมณ์คนหนึ่งวางถุงทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะไว้บนบกแล้วลงอาบน้ำใน แม่น้ำอจิรวดี แล้วลืมถุงทรัพย์ได้ไปแล้ว ทีนั้น ภิกษุนั้นได้เก็บไว้ด้วยคิดว่า “ถุงทรัพย์ ของพราหมณ์นี้อย่าสูญหายไป” ฝ่ายพราหมณ์พอนึกขึ้นได้ก็รีบวิ่งมาถึงแล้ว ได้ กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเห็นถุงทรัพย์ของกระผมบ้างไหม” ภิกษุนั้นได้คืนให้พร้อมกล่าวว่า “เชิญท่านรับไปเถิด พราหมณ์” ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นได้เกิดความคิดดังนี้ว่า “ด้วยอุบายอย่างไร เราจึงไม่ ต้องให้ค่าไถ่แก่ภิกษุนี้” จึงยึดตัวแล้วกล่าวว่า “ท่าน ทรัพย์ของกระผมไม่ใช่ ๕๐๐ กหาปณะ แต่มี ๑,๐๐๐ กหาปณะต่างหาก” แล้วปล่อยตัวไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงอารามแล้วจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ จึงเก็บรัตนะไว้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำ เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอเก็บรัตนะไว้จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท พระบัญญัติ

เธอจึงเก็บรัตนะไว้เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้ง หลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ภิกษุใด เก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระรูปหนึ่ง จบ
เรื่องนางวิสาขา
[๕๐๓] ครั้งนั้น ในกรุงสาวัตถี มีมหรสพ ประชาชนแต่งตัวไปเที่ยวอุทยาน แม้นางวิสาขามิคารมาตาก็แต่งตัวออกจากบ้านจะไปเที่ยวชมอุทยาน แต่คิดว่า “เราจะไปเที่ยวอุทยานทำไม ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคดีกว่า” แล้วเปลื้องเครื่องประดับ ออก เอาผ้าห่มห่อไว้มอบให้สาวใช้ด้วยกล่าวว่า “แม่สาวใช้ เธอถือห่อเครื่องประดับ นี้ไว้” ครั้นแล้วนางวิสาขามิคารมาตาก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้น ถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงนางวิสาขามิคารมาตาผู้นั่ง ณ ที่สมควรให้ เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรง ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ฝ่ายสาวใช้นั้นลืมห่อเครื่องประดับนั้นได้กลับไปแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายพบเข้า จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงยกไปเก็บรักษาไว้เถิด”
ทรงอนุญาตให้เก็บรัตนะได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บ หรือใช้ให้เก็บรัตนะ หรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในวัดที่อยู่แล้วรักษาไว้ด้วยตั้งใจว่า ‘เจ้าของจะรับคืนไป” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดเก็บ หรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในอาราม สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องนางวิสาขา จบ
เรื่องคนรับใช้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
[๕๐๔] สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีมีบ้านพักคนงานอยู่ในแคว้นกาสี คหบดีนั้นสั่งบุรุษคนรับใช้ไว้ว่า “ถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลายมาถึง เธอพึงจัดเตรียม ภัตตาหาร” ครั้นต่อมา ภิกษุหลายรูปเที่ยวจาริกไปในแคว้นกาสี ผ่านไปถึงบ้านพัก คนงานของท่านอนาถบิณฑิกคหบดีนั้น บุรุษนั้นแลเห็นภิกษุทั้งหลายเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กราบอาราธนาดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหาร ของคหบดีในวันพรุ่งนี้” ภิกษุเหล่านั้นรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ครั้นล่วง ราตรีนั้นทั้งราตรี บุรุษนั้นสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต แล้วส่งคนไปบอกเวลา ถอดแหวนวางไว้ เอาภัตตาหารประเคนภิกษุเหล่านั้น พลาง กล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายฉันแล้วค่อยกลับ กระผมจะไปทำงาน” ลืม แหวนไว้ไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพบเข้าจึงกล่าวว่า “ถ้าพวกเราไป แหวนนี้จะหาย” จึงอยู่ในที่ นั้นเอง ครั้นบุรุษนั้นกลับมาจากทำงานเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงได้กล่าวดังนี้ว่า “พระ คุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย เหตุไรพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงยังอยู่ในที่นี้เล่า” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเล่าเรื่องนั้นให้บุรุษนั้นทราบ ครั้นไปถึงกรุงสาวัตถี แล้วจึงได้บอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระพุทธานุญาตพิเศษ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือ ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ด้วยตั้งใจว่า ‘เจ้าของจะรับ คืนไป” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๕๐๕] อนึ่ง ภิกษุใดเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในอารามหรือในที่พัก อนึ่ง ภิกษุพึงเก็บหรือใช้ให้ เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ด้วย ตั้งใจว่า ‘เจ้าของจะรับคืนไป’ นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องคนรับใช้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๖] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้ชื่อว่ารัตนะ ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์ นี้ ชื่อว่าของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ คำว่า เว้นไว้แต่ในอารามหรือในที่พัก คือ ยกเว้นแต่ในอารามหรือในที่พัก ที่ชื่อว่า ในอาราม คือ สำหรับอารามที่มีรั้วล้อม กำหนดเอาภายในอาราม สำหรับอารามที่ไม่มีรั้วล้อม กำหนดเอาอุปจาร ที่ชื่อว่า ในที่พัก คือ สำหรับที่พักมีรั้วล้อม กำหนดเอาภายในที่พัก สำหรับ ที่พักที่ไม่มีรั้วล้อม กำหนดเอาอุปจาร คำว่า เก็บ คือ ภิกษุถือเอาเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า ใช้ให้เก็บ คือ ภิกษุใช้ให้ผู้อื่นถือเอา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า อนึ่ง ภิกษุพึงเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ ความว่า ภิกษุพึงกำหนดหมายรูปพรรณ หรือตำหนิแล้วเก็บรักษาไว้ แล้วประกาศว่า “ผู้ใดของหาย ผู้นั้นจงมารับเอาไป” ถ้าเขามาในที่นั้นพึงถามเขาว่า “สิ่งของของท่านเป็นเช่นไร” ถ้าเขาบอกรูปพรรณ หรือตำหนิ ถูกต้อง พึงให้คืน ถ้าบอกไม่ถูกต้อง พึงบอกเขาว่า “ท่านจงค้นดูเถิด” เมื่อจะจากไปจากอาวาสนั้น พึงมอบไว้แก่ภิกษุผู้เหมาะสมในอาวาสนั้นแล้ว ค่อยจากไป ถ้าไม่มีภิกษุที่น่าเชื่อถือ พึงมอบไว้แก่คหบดีผู้เหมาะสมในที่นั้นแล้ว ค่อยจากไป คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๙. รตนวรรค ๒. รตนสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๕๐๗] ๑. ภิกษุเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะ หรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะใน อารามหรือในที่พักแล้วเก็บรักษาไว้ด้วยตั้งใจว่า “เจ้าของจะรับคืนไป” ๒. ภิกษุถือวิสาสะเก็บของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ๓. ภิกษุถือเอาไปเป็นของยืม ๔. ภิกษุเข้าใจว่าเป็นของบังสุกุล ๕. ภิกษุวิกลจริต ๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
รตนสิกขาบทที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๙๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๙๓-๕๙๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=120              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=14202&Z=14316                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=738              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=738&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10156              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=738&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10156                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc84/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc84/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :