ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท นิทานวัตถุ

๓. ปัตตวรรค
๗. มหาเปสการสิกขาบท
ว่าด้วยการสั่งช่างหูกทอจีวร
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๖๔๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ชายคนหนึ่งจะไปค้างคืนต่างถิ่น กล่าวกับภรรยาว่า “เธอจงกะด้ายแล้วมอบให้ช่างหูกชื่อโน้น ขอให้เขาทอจีวรเก็บไว้ ฉันกลับมาแล้วจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณทบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งได้ยินชายคนนั้นกล่าว จึงเข้าไปหา ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านมี บุญมาก ชายคนหนึ่งในที่โน้นเมื่อจะไปค้างคืนต่างถิ่น กล่าวกับภรรยาว่า ‘เธอจง กะด้ายแล้วมอบให้ช่างหูกชื่อโน้น ขอให้เขาทอจีวรเก็บไว้ ฉันกลับมาแล้วจะนิมนต์ พระคุณเจ้าอุปนันทะให้ครองจีวร” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “ใช่ ขอรับ เขาเป็นอุปัฏฐากของกระผม” แม้ช่างหูกนั้นก็เป็นอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ต่อมา ท่านพระ อุปนันทศากยบุตรได้เข้าไปหาช่างหูกนั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับช่างหูกว่า “จีวรผืนนี้เขาให้ท่านทอเจาะจงอาตมา ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้เนื้อแน่น ขึงให้ดี ทอให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดี” ช่างหูกกล่าวว่า “พระคุณเจ้า เขากะด้ายส่งมาให้เท่านี้ ทั้งสั่งกำชับว่า จงเอา ด้ายนี้ทอจีวร’ กระผมไม่สามารถจะทำให้ยาว ให้กว้าง หรือให้เนื้อแน่นได้ แต่จะขึง ให้ดี ทอให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดีได้ ขอรับ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า “เอาเถอะ ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง และ ให้เนื้อแน่นเถิด ไม่ต้องกังวลเรื่องด้าย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท นิทานวัตถุ

ครั้นช่างหูกนำด้ายตามที่เขาส่งมาเข้าเครื่องทอ จึงเข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับหญิงนั้นว่า “กระผมต้องการด้าย ขอรับ” หญิงนั้นกล่าวว่า “ดิฉันสั่งคุณแล้วมิใช่หรือว่า ‘จงเอาด้ายนี้ทอจีวร” ช่างหูกตอบว่า “จริง ขอรับแม่เจ้า ท่านสั่งกระผมว่า ‘จงเอาด้ายนี้ทอจีวร’ แต่ พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เอาเถอะ ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง และให้เนื้อแน่น ไม่ต้องกังวลเรื่องด้าย” หญิงนั้นจึงให้ด้ายเพิ่มเท่ากับที่ให้คราวแรก ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทราบว่า “ชายคนนั้นกลับมาจากการค้างคืน ต่างถิ่น” จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ชายนั้นเข้าไป หาท่านพระอุปนันทศากยบุตรถึงที่นั่ง ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ถาม ภรรยาว่า “จีวรทอเสร็จแล้วหรือ” ภรรยาตอบว่า “เสร็จแล้ว” เขาสั่งว่า “เธอจงนำ มา ฉันจะนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรให้ครองจีวร” ภรรยานำจีวรผืนนั้น ออกมาให้สามีแล้วเล่าเรื่องให้ทราบ ชายนั้นถวายจีวรนั้นแก่ท่านพระอุปนันทศากย บุตรแล้วตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มักมาก ไม่สันโดษ จะนิมนต์ให้ครองจีวร มิใช่จะทำได้ง่าย ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร ที่เราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนดจีวรเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรที่เขาไม่ได้ ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนดจีวรเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ ท่านอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ ภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน แต่เธอเข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์แล้วกำหนดจีวร จริงหรือ” ท่านพระ อุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุปนันทะ เขาเป็นญาติของเธอหรือไม่ใช่ญาติ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลตอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ว่า “ไม่ใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ คฤหัสถ์ผู้ ไม่ใช่ญาติย่อมไม่รู้ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ของที่มีอยู่หรือไม่มีของผู้ไม่ใช่ ญาติ เธอนั้น๑- ซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ ญาติแล้ว กำหนดจีวรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๔๒] ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ทอจีวร เจาะจงภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้วกำหนด ชนิดจีวรในสำนักของเขาว่า “ท่าน จีวรผืนนี้เขาให้ทอเจาะจงอาตมา ท่านจง ทำให้ยาว ท่านจงทำให้กว้าง ให้เนื้อแน่น ขึงให้ดี ทอให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดี เอาเถอะ อาตมาจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน” ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ถ้าภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้แต่อาหารบิณฑบาต ต้อง อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๔๓] คำว่า ก็...เจาะจงภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ คือ มุ่ง เฉพาะภิกษุ ปรารถนาจะให้ภิกษุครองจีวร ที่ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวเนื่องกันทางมารดาหรือทางบิดา ตลอดเจ็ดชั่วคน ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์ชาย ได้แก่ บุรุษผู้ครองเรือน @เชิงอรรถ : @ ตตฺถ เธอนั้นนี้เป็น ปจฺจตฺตกตฺวตฺถ คือมีอรรถเป็นกัตตา ผู้กระทำ ปฐมาวิภัตติ (ตตฺถ นาม ตฺวนฺติ @โส นาม ตฺวํ - วิมติ. ฏีกา ๑/๕๐๓-๕/๔๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ที่ชื่อว่า คฤหัสถ์หญิง ได้แก่ สตรีผู้ครองเรือน ที่ชื่อว่า ช่างหูก ได้แก่ คนทอผ้า ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะทำวิกัป ได้เป็นอย่างต่ำ คำว่า สั่ง...ให้ทอ คือ ใช้ให้ทอ คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในสำนักของเขา ได้แก่ ภิกษุที่เขาสั่งให้ช่างหูกทอจีวร เจาะจง คำว่า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ ทายกไม่ได้กล่าวไว้ก่อนว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านต้องการจีวรชนิดไหน กระผมจะให้ทอจีวรชนิดไหนถวายท่าน” คำว่า เข้าไปหาช่างหูก คือ ไปถึงเรือนแล้วเข้าไปหาที่ใดที่หนึ่ง คำว่า กำหนดชนิดจีวร คือ กำหนดว่า “จีวรผืนนี้ทอเจาะจงอาตมา ท่าน จงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้เนื้อแน่น ขึงให้ดี ทอให้ดี สางให้ดี และกรีดให้ดี เอาเถอะ อาตมาจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน” คำว่า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ถ้าภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลโดยที่สุด แม้แต่อาหารบิณฑบาต มีความว่า ที่ชื่อว่าบิณฑบาต ได้แก่ ข้าวต้ม ข้าวสวย ของเคี้ยว ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน หรือด้ายชายผ้า โดยที่สุดกระทั่งกล่าวธรรม ช่างหูกทำให้ยาว ให้กว้าง ให้เนื้อแน่นตามคำภิกษุ ต้องอาบัติทุกกฏเพราะ พยายาม จีวรเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือเป็นของจำต้องสละจีวรแก่สงฆ์ แก่คณะ หรือแก่บุคคล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้
วิธีสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์
สละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุ ผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้เขา ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิด จีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท บทภาชนีย์

ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอ สละแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบ เท้าภิกษุผู้แก่พรรษา นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ จีวรผืนนี้ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนด ชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย” ครั้นสละแล้วพึง แสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “ท่าน ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ เธอสละแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายพร้อมกันแล้วพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้”
สละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ จีวรผืนนี้เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน กระผมเข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ กำหนดชนิดจีวร เป็นนิสสัคคีย์ กระผมสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้นพึงรับอาบัติแล้วคืนจีวรที่เธอสละให้ด้วยกล่าวว่า “กระผม คืนจีวรผืนนี้ให้แก่ท่าน”
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๖๔๔] คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ ก่อน เข้าไปหาช่างหูกของคฤหัสถ์กำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูก ของคฤหัสถ์กำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๔. นิสสัคคิยกัณฑ์]

๓. ปัตตวรรค ๗. มหาเปสการสิกขาบท อนาปัตติวาร

คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไป หาช่างหูกของคฤหัสถ์กำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัติ ทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ต้องอาบัติทุกกฏ คฤหัสถ์ที่เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ เข้าไปกำหนดชนิดจีวร ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๖๔๕] ๑. ภิกษุกำหนดชนิดจีวรกับช่างหูกของญาติ ๒. ภิกษุกำหนดชนิดจีวรกับช่างหูกของคนปวารณา ๓. ภิกษุกำหนดชนิดจีวรเพื่อภิกษุอื่น ๔. ภิกษุกำหนดชนิดจีวรด้วยทรัพย์ของตน ๕. คฤหัสถ์จะให้ทอจีวรราคาแพงแต่ภิกษุให้ทอจีวรราคาถูก ๖. ภิกษุวิกลจริต ๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
มหาเปสการสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๖๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๖๑-๑๖๖. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=4005&Z=4158                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=157              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=157&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5771              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=157&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5771                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np27/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :