ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท นิทานวัตถุ

๑. มุสาวาทวรรค
๒. โอมสวาทสิกขาบท
ว่าด้วยการกล่าวเสียดสี
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะ กับพวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม กล่าวเสียดสีภิกษุผู้มีศีลดีงาม ด่า สบประมาทด้วยชาติ กำเนิดบ้าง ด้วยชื่อบ้าง ด้วยตระกูลบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยศิลปวิทยาบ้าง ด้วยความเจ็บไข้บ้าง ด้วยรูปลักษณ์บ้าง ด้วยกิเลสบ้าง ด้วยอาบัติบ้าง ด้วยคำด่าที่ หยาบบ้าง บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม กล่าวเสียดสีภิกษุผู้มีศีลดีงาม ด่า สบประมาทด้วยชาติกำเนิดบ้าง ด้วยชื่อบ้าง ด้วยตระกูลบ้าง ด้วยหน้าที่การงาน บ้าง ด้วยศิลปวิทยาบ้าง ด้วยความเจ็บไข้บ้าง ด้วยรูปลักษณ์บ้าง ด้วยกิเลสบ้าง ด้วยอาบัติบ้าง ด้วยคำด่าที่หยาบบ้างเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง ทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทะเลาะกับพวก ภิกษุผู้มีศีลดีงาม กล่าวเสียดสีภิกษุผู้มีศีลดีงาม ด่า สบประมาทด้วยชาติกำเนิดบ้าง ด้วยชื่อบ้าง ด้วยตระกูลบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยศิลปวิทยาบ้าง ด้วยความ เจ็บไข้บ้าง ด้วยรูปลักษณ์บ้าง ด้วยกิเลสบ้าง ด้วยอาบัติบ้าง ด้วยคำด่าที่หยาบบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๑๙๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท นิทานวัตถุ

ตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลดีงาม กล่าวเสียดสีภิกษุผู้มีศีลดีงาม ด่า สบประมาทด้วยชาติกำเนิดบ้าง ด้วยชื่อบ้าง ด้วย ตระกูลบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยศิลปวิทยาบ้าง ด้วยความเจ็บไข้บ้าง ด้วย รูปลักษณ์บ้าง ด้วยกิเลสบ้าง ด้วยอาบัติบ้าง ด้วยคำด่าที่หยาบบ้างเล่า โมฆบุรุษ ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อม ใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับ สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
โคนันทิวิสาล
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองตักกสิลา มีโคถึกชื่อนันทิวิสาล ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โคถึกชื่อนันทิวิสาลได้กล่าวกับ พราหมณ์นั้นดังนี้ว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปทำการพนันเอาทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีว่า โคถึกของเราจะลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกติดกันไปได้” ภิกษุทั้งหลาย ทีนั้น พราหมณ์ได้ไปทำการพนันเอาทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ กับเศรษฐีด้วยกล่าวว่า “โคถึกของเราจะลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกติดกันไปได้” ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพราหมณ์นั้นก็ผูกเกวียน ๑๐๐ เล่มเทียมโคถึกนันทิวิสาล แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “เจ้าโคโกง แกจงฉุด เจ้าโคโกง แกจงลากไป” ครั้งนั้นแล โคถึกนันทิวิสาลได้ยืนนิ่งเฉยอยู่ ณ ที่นั้นเอง พราหมณ์นั้นแพ้พนัน เสียทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ เศร้าซึมไป ต่อมา โคถึกนันทิวิสาลได้กล่าวกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า “ท่านพราหมณ์ เหตุไร ท่านจึงเศร้าซึม” พราหมณ์ตอบว่า “ก็เพราะเจ้าทำให้เราต้องแพ้เสียทรัพย์ไปถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท พระบัญญัติ

โคถึกนันทิวิสาลกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านเรียกข้าพเจ้าผู้ไม่โกงด้วยคำว่า โกงทำไมเล่า ท่านจงไปทำการพนันเอาทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีด้วย กล่าวว่า ‘โคถึกของเราจะลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกติดกันไปได้’ แต่ท่านอย่าเรียก ข้าพเจ้าผู้ไม่โกงด้วยคำว่าโกง” พราหมณ์จึงไปพนันเอาทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีด้วยกล่าวว่า “โคถึกของเราจะลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกติดกันไปได้” ภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้ว พราหมณ์นั้นก็ผูกเกวียน ๑๐๐ เล่ม เทียมโคนันทิวิสาลแล้ว จึงได้กล่าวดังนี้ว่า “พ่อมหาจำเริญ เชิญฉุดไป พ่อมหาจำเริญ เชิญลากไปเถิด” ครั้งนั้นแล โคถึก นันทิวิสาลได้ลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกติดกันไปแล้ว บุคคลพึงกล่าวคำไพเราะ ไม่พึงกล่าวคำไม่ไพเราะ ไม่ว่าในกาลไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคถึกโคนันทิวิสาลก็ลากเกวียนหนักไปได้ ทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์ ตนเองก็ดีใจที่พราหมณ์ได้ทรัพย์ เพราะการกระทำของตนนั้น๑- ภิกษุทั้งหลาย คำด่า คำสบประมาทไม่เป็นที่พอใจของเราแม้ในกาลนั้น ไฉนบัดนี้ คำด่า คำสบประมาทจะเป็นที่พอใจเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๔] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวเสียดสี
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
@เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. ๒๗/๒๘/๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท บทภาชนีย์

สิกขาบทวิภังค์
[๑๕] ที่ชื่อว่า กล่าวเสียดสี ได้แก่ ภิกษุกล่าวเสียดสีด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ชาติกำเนิดบ้าง (๒) ชื่อบ้าง (๓) ตระกูลบ้าง (๔) หน้าที่การงานบ้าง (๕) ศิลปวิทยาบ้าง (๖) ความเจ็บไข้บ้าง (๗) รูปลักษณ์บ้าง (๘) กิเลสบ้าง (๙) อาบัติบ้าง (๑๐) คำด่าบ้าง
บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ชาติกำเนิด ได้แก่ ชาติกำเนิด ๒ อย่าง คือ (๑) ชาติกำเนิดต่ำ (๒) ชาติกำเนิดสูง ที่ชื่อว่า ชาติกำเนิดต่ำ ได้แก่ ชาติกำเนิดคนจัณฑาล ชาติกำเนิดคนจักสาน ชาติกำเนิดนายพราน ชาติกำเนิดช่างรถ ชาติกำเนิดคนเทขยะ๑- นี้จัดเป็นชาติกำเนิด ต่ำ ที่ชื่อว่า ชาติกำเนิดสูง ได้แก่ ชาติกำเนิดกษัตริย์ ชาติกำเนิดพราหมณ์ นี้ จัดเป็นชาติกำเนิดสูง ที่ชื่อว่า ชื่อ ได้แก่ ชื่อ ๒ อย่าง คือ (๑) ชื่อที่เลว (๒) ชื่อที่ดี ที่ชื่อว่า ชื่อที่เลว ได้แก่ ชื่ออวกัณณกะ ชื่อชวกัณณกะ ชื่อธนิฏฐกะ ชื่อสวิฏฐกะ ชื่อกุลวัฑฒกะ๒- อีกอย่างหนึ่ง ชื่อที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นชื่อที่เลว @เชิงอรรถ : @ ปุกฺกุส คนเทขยะ ในโยชนาว่า “คนเทอุจจาระ” (ปุ วุจฺจติ กรีสํ, ตํ กุสติ อปเนตีติ ปุกฺกุโส, ปุปฺผํ @วุจฺจติ กรีสํ, กุสุมํ วา, ตํ ฉฑฺเฑตีติ ปุปฺผฉฑฺฑโก อุจจาระท่านเรียกว่า “ปุ” ผู้ที่นำปุ คืออุจจาระนั้นไปทิ้ง @ชื่อว่า ปุกกุสะ อุจจาระท่านเรียกว่า ปุปผะ(ดอกไม้) ผู้ที่ขนดอกไม้คืออุจจาระนั้นทิ้ง ชื่อว่า ปุปผฉัฑฑกะ @(ปาจิตฺยาทิโยนา ๔ ม.) @ในที่นี้ ปุกกุสศัพท์เป็นไวพจน์ของปุปผฉัฑฑกศัพท์ (ปุกฺกุสชาตีติ ปุปฺผฉฑฺฑกชาติ - วิ.อ. ๒/๑๕/๒๕๗) @จะแปลว่า “คนเทอุจจาระ” ก็ได้ @ ชื่อทั้ง ๕ นี้ คือ (๑) อวกัณณกะ (๒) ชวกัณณกะ (๓) ธนิฏฐกะ (๔) สวิฏฐกะ (๕) กุลวัฑฒกะ เป็นชื่อ @ของพวกทาสถือเป็นชื่อชั้นต่ำ เป็นชื่อที่เลว (วิ.อ. ๒/๑๕/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า ชื่อที่ดี ได้แก่ ชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธ ที่เกี่ยวกับพระธรรม ที่เกี่ยวกับ พระสงฆ์ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นชื่อที่ดี ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๒ อย่าง คือ (๑) ตระกูลชั้นต่ำ (๒) ตระกูลชั้นสูง ที่ชื่อว่า ตระกูลชั้นต่ำ ได้แก่ ตระกูลโกสิยะ ตระกูลภารทวาชะ อีกอย่างหนึ่ง ตระกูลที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นตระกูลชั้นต่ำ ที่ชื่อว่า ตระกูลชั้นสูง ได้แก่ ตระกูลโคตมะ ตระกูลโมคคัลลานะ ตระกูล กัจจายนะ ตระกูลวาเสฏฐะ อีกอย่างหนึ่ง ตระกูลที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นตระกูลชั้นสูง ที่ชื่อว่า หน้าที่การงาน ได้แก่ หน้าที่การงาน ๒ อย่าง คือ (๑) หน้าที่การงาน ชั้นต่ำ (๒) หน้าที่การงานชั้นสูง ที่ชื่อว่า หน้าที่การงานชั้นต่ำ ได้แก่ งานช่างถากไม้ งานเทขยะ๑- อีกอย่างหนึ่ง การงานที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในท้องถิ่น นั้นๆ นี้จัดเป็นการงานชั้นต่ำ ที่ชื่อว่า หน้าที่การงานชั้นสูง ได้แก่ ทำนา ค้าขาย เลี้ยงโค อีกอย่างหนึ่ง การงานที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันใน ท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นการงานชั้นสูง ที่ชื่อว่า ศิลปวิทยา ได้แก่ ศิลปวิทยา ๒ อย่าง คือ (๑) ศิลปวิทยาชั้นต่ำ (๒) ศิลปวิทยาชั้นสูง ที่ชื่อว่า ศิลปวิทยาชั้นต่ำ ได้แก่ วิชาช่างจักสาน วิชาช่างหม้อ วิชาช่างหูก วิชาช่างหนัง วิชาช่างกัลบก อีกอย่างหนึ่ง ศิลปวิทยาที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นศิลปวิทยาชั้นต่ำ @เชิงอรรถ : @ ปุปฺผฉฑฺฑกกมฺมํ งานเทขยะ หรือเทอุจจาระ (ดูเชิงอรรถ ข้อ ๑๕ หน้า ๒๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๑. มุสาวาทวรรค ๒. โอมสวาทสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า ศิลปวิทยาชั้นสูง ได้แก่ วิชานับ วิชาคำนวณ วิชาเขียน อีกอย่างหนึ่ง ศิลปวิทยาที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกัน ในท้องถิ่นนั้นๆ นี้จัดเป็นศิลปวิทยาชั้นสูง ความเจ็บไข้ ทุกชนิดจัดเป็นสิ่งที่เลว ส่วนโรคเบาหวาน๑- จัดเป็นโรคที่ดี ที่ชื่อว่า รูปลักษณ์ ได้แก่ รูปลักษณ์ ๒ อย่าง คือ (๑) รูปลักษณ์ที่เลว (๒) รูปลักษณ์ที่ดี ที่ชื่อว่า รูปลักษณ์ที่เลว คือ สูงเกินไป เตี้ยเกินไป ดำเกินไป ขาวเกินไป นี้ จัดเป็นรูปลักษณ์ที่เลว ที่ชื่อว่า รูปลักษณ์ที่ดี คือ ไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก นี้จัด เป็นรูปลักษณ์ที่ดี กิเลส ทั้งปวง ชื่อว่าเลว อาบัติ (โทษทางพระวินัย) ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เลว แต่โสดาบัติ (การเข้าถึง กระแสธรรม) สมาบัติ (การเข้าฌาน) เป็นเรื่องที่ดี ที่ชื่อว่า คำด่า ได้แก่ คำด่า ๒ อย่าง คือ (๑) คำด่าหยาบ (๒) คำด่าสุภาพ ที่ชื่อว่า คำด่าหยาบ ได้แก่ คำด่าว่า ท่านเป็นอูฐ ท่านเป็นแพะ ท่านเป็นโค ท่านเป็นลา ท่านเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ท่านเป็นสัตว์นรก ท่านไม่มีสุคติ หวังได้แต่ทุคติ เท่านั้น คำด่าที่เกี่ยวกับการร่วมประเวณี๒- หรือคำด่าที่เกี่ยวกับอวัยวะของชายหญิง นี้จัดเป็นคำด่าหยาบ ที่ชื่อว่า คำด่าสุภาพ ได้แก่ คำด่าว่า ท่านเป็นบัณฑิต ท่านเป็นคนฉลาด ท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านเป็นพหูสูต ท่านเป็นธรรมกถึก ท่านไม่มีทุคติ หวังได้ แต่สุคติเท่านั้น นี้จัดเป็นคำด่าสุภาพ @เชิงอรรถ : @ มธุเมโห อาพาโธ โรคเบาหวาน บางอาจารย์ว่าโรคอ้วน (ถูลกายสฺส มํสูปจโยติ เอเก-วชิร.ฏีกา ๓๗๐) @ คำว่า “การร่วมประเวณี” แปลมาจากคำว่า ยกาเรน ภกาเรน (ยภ เมถุเน. มิถุนสฺส ชนทฺวยสฺส อิทํ @กมฺมํ เมถุนํ, ตสฺมึ เมถุเน ยภธาตุ วตฺตติ ยภ-ธาตุใช้ในความหมายว่าเมถุนธรรม คือด่าด้วยคำว่า @ยภ หมายถึงด่าถึงเรื่องของคน ๒ คน คือชายกับหญิงมีเพศสัมพันธ์กัน (นีติธาตุ ๑๖๙, วชิร. ฏีกา ๓๗๐, @สารตฺถ. ฏีกา ๓/๑๕/๔, วิมติ.ฏีกา ๒/๑๕/๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=4906&Z=5021                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=182              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=182&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6032              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=182&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6032                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc2/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :