ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ว่าด้วยสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
[๖๐] สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยบริษัท ปริพาชกหมู่ใหญ่จำนวน ๒๕๐ ท่าน ครั้งนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติ พรหมจรรย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ได้ตั้งกติกากันไว้ว่า “ผู้ใดบรรลุอมตธรรม ก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” ขณะนั้นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ มีกิริยาที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ สารีบุตรปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า “ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระ อรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” แล้วคิดว่า “บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่สมควรที่จะถาม ภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตาม ภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้เป็นหนทางที่ผู้มีความต้องการรู้แล้ว” ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

ลำดับนั้น สารีบุตรปริพาชกจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น” “ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร” “ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดง ธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจความโดยย่อแก่ท่าน” ทีนั้น สารีบุตรปริพาชกกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า “เอาเถอะ ผู้มีอายุ จะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”
พระอัสสชิแสดงธรรม
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชกว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”๑- @เชิงอรรถ : @ ธรรมที่เกิดแต่เหตุ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ตัวทุกข์ @เหตุแห่งธรรม คือ สมุทัย @ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น คือ นิโรธและมรรคมีองค์ ๘ (วิ.อ. ๓/๖๐/๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

สารีบุตรปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า “ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้ ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว อันเป็นทางที่พวกข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็น ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”
สารีบุตรปริพาชกเปลื้องคำสัญญา
[๖๑] ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกได้กลับไปหาโมคคัลลานปริพาชกถึงที่พัก โมคคัลลานปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงได้ กล่าวกับสารีบุตรปริพาชก ดังนี้ว่า “ท่าน อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วหรือ” สารีบุตรปริพาชกตอบว่า “ใช่แล้วท่าน เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว” “ท่าน ท่านได้บรรลุอมตธรรมได้อย่างไร” “ท่าน เราได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า ‘ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร’ แล้วคิดว่า ‘บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่ สมควรที่จะถามภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตามภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้ เป็นหนทางที่ผู้มี ความต้องการรู้แล้ว’ ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

ลำดับนั้น เราจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่ บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันและกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า ‘ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’ พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น” เราจึงถามว่า ‘ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร’ ท่านพระอัสสชิกล่าวว่า ‘ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่ พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจ ความโดยย่อแก่ท่าน’ ทีนั้น เราจึงกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า “เอาเถอะ ผู้มีอายุจะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม” ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”
โมคคัลลานปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่โมคคัลลานปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” โมคคัลลานปริพาชกกล่าวว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

“ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้ ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว อันเป็นทางที่พวกเรายังไม่ได้เห็น ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”
สองสหายไปอำลาอาจารย์
[๖๒] ครั้งนั้น โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวกับสารีบุตรปริพาชกว่า “ท่าน เราไปสำนักพระผู้มีพระภาคกันเถิด เพราะพระองค์เป็นศาสดาของเรา” สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า “ท่าน ปริพาชก ๒๕๐ คนเหล่านี้ อาศัยเรา เห็นแก่เรา จึงอยู่ในสำนักนี้ เราบอกลาปริพาชกเหล่านั้นก่อน พวกเขาจักทำ ตามที่เขาเข้าใจ” ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ เป็นศาสดาของพวกเรา” พวกปริพาชกกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายอาศัยพวกท่าน เห็นแก่พวกท่าน จึงอยู่ในสำนักนี้ ถ้าท่านทั้งสองจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ ข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะด้วย” ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาสัญชัยปริพาชกกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา ของพวกกระผม” สัญชัยปริพาชกกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เราทั้งหมด ๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้” แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ สารีบุตรและโมคคัลลานะ ก็กราบเรียนสัญชัยปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา ของพวกกระผม” สัญชัยปริพาชกก็ยังกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เรา ทั้งหมด ๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

หลังจากนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น มุ่งหน้าไป ทางพระเวฬุวัน โลหิตร้อนก็พุ่งออกจากปากของสัญชัยปริพาชก ณ ที่นั้นเอง
ทรงพยากรณ์พระอัครสาวก
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรและโมคคัลลานะเดินมาแต่ไกล แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะกำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา” ท่านสารีบุตรและท่านโมคคัลลานะ ผู้น้อมจิตไปในธรรม อันยอดเยี่ยม ลึกซึ้ง เป็นวิสัยแห่งญาณ เป็นที่สิ้นอุปธิ ยังมาไม่ถึงพระเวฬุวัน พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์แล้วว่า “สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะและอุปติสสะ กำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา”
ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วซบ ศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น๑- @เชิงอรรถ : @ ท่านโกลิตะหรือพระโมคคัลลานะหลังจากบวชได้ ๗ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ บ้านกัลลวาฬคาม @(กัลล วาฬมุตตคาม) บำเพ็ญสมณธรรม ฟังธรรมว่าด้วยธาตุกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้า บรรลุพระอรหัตตผล @ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ @ส่วนท่านอุปติสสะ หรือพระสารีบุตร หลังจากบวชได้ ๑๕ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา @เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่หลานชายของ @ท่านชื่อทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรส่งญาณไปตามแนวพระสูตร บรรลุพระอรหัตตผล ถึงที่สุดแห่งสาวก @บารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ (สารตฺถ.ฏีกา. ๓/๖๒/๒๗๗-๒๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา

เรื่องกุลบุตรชาวมคธมีชื่อเสียงบรรพชา
[๖๓] สมัยนั้น พวกกุลบุตรชาวมคธที่มีชื่อเสียง พากันประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักพระผู้มีพระภาค คนทั้งหลายจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นม่าย และเพื่อความ ขาดสูญแห่งตระกูล บัดนี้ พระสมณโคดมบวชชฎิล ๑,๐๐๐ คนแล้ว และบวช ปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คนแล้ว และพวกกุลบุตรชาวมคธเหล่านี้ที่ มีชื่อเสียง ก็พากันประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม” อนึ่ง คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า “พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนคร๑- ของชาวมคธ ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว บัดนี้ยังจักทรงนำใครไปอีกเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียงนั้นคงอยู่ไม่นาน จักมีเพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วัน จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่าใดโจท พวกเธอด้วยคาถานี้ว่า “พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนครของชาวมคธ ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า” พวกเธอจงโจทตอบพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า “พระตถาคตทั้งหลาย ทรงมีความเพียรมาก ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้) จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า” @เชิงอรรถ : @ หมายถึงกรุงราชคฤห์ บางทีเรียกว่า เบญจคิรีนคร ที่ชื่อว่าคิริพชนคร เพราะเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วย @ภูเขา ๕ ลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อสิคิลิ เวปุลละ (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๖๓/๒๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๗๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา

สมัยนั้น คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า “พระมหาสมณะเสด็จมาสู่คิริพชนครของชาวมคธ ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า” ภิกษุทั้งหลายก็โจทตอบคนพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า “พระตถาคตทั้งหลายทรงมีความเพียรมาก ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้) จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า” คนทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า “ได้ยินว่า พระสมณะผู้เป็นเชื้อสายศากยบุตร ทั้งหลาย ย่อมแนะนำโดยธรรม ย่อมไม่แนะนำโดยอธรรม” เสียงนั้นมีอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็หายไป
สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา จบ
ภาณวารที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๗๒-๗๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=18              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=1358&Z=1513                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=64              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=64&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=625              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=64&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=625                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic23 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:23.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#BD.4.52



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :