บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๕. จังกีสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อจังกี [๔๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะของชาวโกศล ประทับอยู่ ณ ป่าไม้ สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ สมัยนั้นแล พราหมณ์ ชื่อจังกีปกครองบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย๑- พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านโอปาสาทะ ได้ฟังข่าวว่า @เชิงอรรถ : @๑ พรหมไทย หมายถึงสิ่งที่ให้แก่บุคคลผู้ประเสริฐ, รางวัลที่ประกอบด้วยอำนาจเต็มเหนือบ้านนั้น @(ม.ม.อ. ๒/๔๒๒/๒๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๐}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ได้ยินว่า ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อ โอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้าน พราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วย พระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดี อย่างแท้จริง [๔๒๓] ครั้งนั้นแล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ออกจากบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะรวมกันเป็นหมู่ ไปยังป่าไม้สาละชื่อเทพวันทาง ทิศเหนือ สมัยนั้น จังกีพราหมณ์พักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน มองเห็น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งล้วนออกจากบ้านพราหมณ์ ชื่อโอปาสาทะเดินรวมกันเป็นหมู่ ไปทางทิศเหนือ เข้าไปยังป่าไม้สาละชื่อเทพวัน จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า พ่ออำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะออกจาก บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะเดินรวมกันเป็นหมู่ ไปทางทิศเหนือ เข้าไปยังป่าไม้สาละ ชื่อเทพวัน ทำไมกัน อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า ข้าแต่ท่านจังกี พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออก ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ เสด็จถึง บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๑}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
แห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจร ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น พากันไปเข้า เฝ้าท่านพระโคดมนั้น จังกีพราหมณ์กล่าวว่า พ่ออำมาตย์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปหาพวกพราหมณ์ และคหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะแล้วบอกอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ จังกี- พราหมณ์พูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน แม้จังกีพราหมณ์ก็จะไปเข้าเฝ้า พระสมณโคดมด้วย อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของจังกีพราหมณ์แล้ว เข้าไปหาพวกพราหมณ์และ คหบดีชาวบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะแล้วก็บอกว่า ท่านขอรับ จังกีพราหมณ์ พูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน แม้จังกีพราหมณ์ก็จะไปเข้าเฝ้าพระสมณ- โคดมด้วยความเป็นผู้ดีของจังกีพราหมณ์ [๔๒๔] เวลานั้น พราหมณ์ต่างถิ่น ๕๐๐ คน มีธุระเดินทางมาพักอยู่ ในบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะพอได้ฟังว่า จังกีพราหมณ์จักไปเข้าเฝ้าพระสมณ- โคดมด้วย จึงพากันเข้าไปหาจังกีพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วถามว่า ท่านจังกีจักไป เข้าเฝ้าพระสมณโคดมจริงหรือ จังกีพราหมณ์ตอบว่า จริง เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พวกพราหมณ์ห้ามว่า ท่านจังกีอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเลย ท่านจังกี ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี เพราะว่า ท่านจังกีเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๒}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านจังกีจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควร เสด็จมาหาท่านจังกี อนึ่ง ท่านจังกีเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจ ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มี รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจพรหม มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน ฯลฯ ท่านจังกีเป็นผู้ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เป็นผู้ที่พราหมณ์ชื่อโปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ นอบน้อม ฯลฯ ท่านจังกีปกครองบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิ- โกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านจังกีจึงไม่ควรไป เข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านจังกีสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า [๔๒๕] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้า ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า ท่านพระสมณโคดม ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนนีและฝ่ายพระชนก ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่าน พระโคดม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๓}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ท่านทั้งหลาย ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงสละเงินทองมากมายทั้งที่ฝัง อยู่ในพื้นดินและในอากาศ ผนวชแล้ว ฯลฯ พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่น มีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัย เสด็จออกจากพระราชวัง ผนวชเป็น บรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนนีและพระชนกไม่ทรงปรารถนา (จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระสมณโคดมทรงปลงพระเกศาและ พระมัสสุ แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดม ทรงมีอริยศีล๑- มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็นกุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะ สุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย๒- ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะ ไม่ประดับ ตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูง คือ ขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูล มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่างเมืองพากันมาทูลถาม ปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิตขอถึงพระสมณโคดม เป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็น พระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระมเหสี ทรงถวาย ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมทั้งพระราชโอรส และพระมเหสี ทรงถวายชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ โปกขรสาติพราหมณ์ พร้อมทั้งบุตรภรรยา ก็ได้ถวายชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ @เชิงอรรถ : @๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ [(คือ (๑) ปาติโมกขสังวรศีล(ความสำรวมในพระปาติโมกข์) @(๒) อินทรียสังวรศีล(ความสำรวมอินทรีย์ ๖) (๓) อาชีวปาริสุทธิศีล(ความบริสุทธิแห่งอาชีวะ) (๔) ปัจจัย- @สันนิสิตศีล (ศีลที่อาศัยการพิจารณาใช้สอยปัจจัย ๔)] (ม.ม.อ. ๒/๔๒๕/๓๐๓) @๒ หมายความว่า ด้วยพระธรรมเทศนาครั้งเดียวของพระผู้มีพระภาค หมู่สัตว์จำนวน ๘๔,๐๐๐ เทวดาและ @มนุษย์นับประมาณไม่ได้ย่อมดื่มอมตธรรมคือมรรคและผล เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นอาจารย์ของหมู่สัตว์ @และทรงเป็นปาจารย์ของพระสาวกผู้ที่ทรงแนะนำได้ (ม.ม.อ. ๒/๔๒๕/๓๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๔}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ สมณพราหมณ์ ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่าเป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระสมณโคดมเสด็จมาถึงบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละชื่อเทพวัน ทางทิศเหนือแห่งบ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ พระสมณ- โคดมจึงจัดว่าเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณ เพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้ ถึงแม้ท่านพระโคดม ทรงประกอบด้วยองค์คุณบางอย่าง ก็ไม่ควรเสด็จมาหาเรา โดยที่แท้ เราต่างหาก ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม (หลังจากนั้น) จังกีพราหมณ์ได้กล่าวเชิญว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเรา ทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน๑-มาณพชื่อกาปทิกะทูลถามบทมนตร์ [๔๒๖] ครั้งนั้น จังกีพราหมณ์พร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก ถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วทรงปฏิสันถาร เรื่องบางเรื่องพอเป็นที่ระลึกถึงกันกับพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่า สมัยนั้น มาณพ ชื่อกาปทิกะยังเป็นหนุ่มโกนศีรษะ มีอายุ ๑๖ ปี นับแต่เกิดมา เป็นผู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ เป็นผู้เข้าใจ ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญคัมภีร์โลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษนั่งอยู่ในบริษัท นั้นด้วย เขาได้พูดสอดขึ้นในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังสนทนากันอยู่ กับพระผู้มีพระภาค @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ที.สี.(แปล) ๙/๓๐๐-๓๐๕/๑๑๑-๑๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๕}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงห้ามกาปทิกมาณพว่า ภารทวาชะผู้มีอายุ เจ้าอย่าพูดแทรกขึ้นในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่ากำลังสนทนากันอยู่ จงรอให้เขาพูดจบเสียก่อน เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จังกีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ท่านพระโคดม อย่าทรงห้ามกาปทิกมาณพเลย กาปทิกมาณพเป็นบุตรของผู้มี สกุล เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต เจราจาถ้อยคำไพเราะ และสามารถจะเจรจาโต้ตอบ ในคำนั้นกับท่านพระโคดมได้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า กาปทิกมาณพจักสำเร็จการศึกษา ในปาพจน์คือไตรเพทเป็นแน่แท้ พราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันยกย่องเขาถึงเพียงนั้น ครั้งนั้น กาปทิกมาณพได้คิดว่า เมื่อใด พระสมณโคดมจักทอดพระเนตรสบ ตาเรา เมื่อนั้น เราจักทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของกาปทิกมาณพด้วยจิต (ของพระองค์) จึงทรงทอดพระเนตรไปทางที่กาปทิกมาณพนั่งอยู่ [๔๒๗] ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้คิดว่า พระสมณโคดมทรงสนพระทัย เราอยู่ ทางที่ดี เราควรทูลถามปัญหากับพระสมณโคดม ลำดับนั้น กาปทิกมาณพ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ในบทมนตร์อันเป็นของเก่าของพราหมณ์ทั้งหลาย โดยสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมถึงความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมจะตรัสอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ภารทวาชะ บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์ สักคนหนึ่งผู้กล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง มีอยู่หรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๖}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
กาปทิกมาณพทูลตอบว่า ไม่มีเลย ท่านพระโคดม ภารทวาชะ แม้อาจารย์ท่านหนึ่ง แม้ปาจารย์ของอาจารย์ท่านหนึ่ง ตลอดขึ้น ไปจน ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง มีอยู่หรือ ไม่มีเลย ท่านพระโคดม ภารทวาชะ ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนตร์ เป็นผู้ บอกมนตร์ที่พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม บทมนตร์เก่าที่ท่านบุรพาจารย์ พราหมณ์ขับไว้แล้ว บอกไว้แล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านได้บอกไว้แล้ว แม้ท่านเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย รู้สิ่งนี้ เราทั้งหลายเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง มีอยู่หรือ ไม่มีเลย ท่านพระโคดม พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์ ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้สักคนหนึ่ง ผู้กล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ไม่มีใครสักคนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์ของ อาจารย์ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของ พวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษี ยมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็น ผู้แต่งมนตร์ เป็นผู้บอกมนตร์ที่พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม บทมนตร์เก่า ที่ท่านขับไว้แล้ว บอกไว้แล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้บอกไว้แล้ว แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้สิ่งนี้ เราเห็นสิ่งนี้ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๗}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ธรรม ๕ ประการมีผลเป็น ๒ อย่าง [๔๒๘] ภารทวาชะ คนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่ กลางแถว และคนอยู่ปลายแถว ต่างก็มองไม่เห็นกัน แม้ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด คือ แม้คนอยู่ หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถว ต่างก็มองไม่เห็นกัน ท่านเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมหา มูลมิได้ มิใช่หรือ กาปทิกมาณพกราบทูลว่า ท่านพระโคดม ในข้อนี้พราหมณ์ทั้งหลายมิใช่ เล่าเรียนกันมาด้วยความเชื่ออย่างเดียว แต่เล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา ภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้อ้างถึงความเชื่อ บัดนี้ท่านอ้างถึงการฟังตาม กันมา ธรรม ๕ ประการนี้มีผลเป็น ๒ อย่างในปัจจุบัน ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ศรัทธา (ความเชื่อ) ๒. รุจิ (ความชอบใจ) ๓. อนุสสวะ (การฟังตามกันมา) ๔. อาการปริวิตก (ความตรึกตามอาการ) ๕. ทิฏฐินิชฌานขันติ (ความเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้) ธรรม ๕ ประการนี้แล มีผลเป็น ๒ อย่างในปัจจุบัน คือ สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีแต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี สิ่งที่ไม่เชื่อกันด้วยดี แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี สิ่งที่ชอบใจจริงๆ ฯลฯ สิ่งที่ฟังตามกันมาอย่างดี ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๘}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
สิ่งที่ตรึกไว้อย่างดี ฯลฯ สิ่งที่พินิจไว้อย่างดี แต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี สิ่งที่ไม่ได้พินิจ ไว้อย่างดี แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี ภารทวาชะ คนผู้ฉลาดเมื่อจะตามรักษาสัจจะ ไม่ควรจะตกลงใจในข้อนั้นอย่าง เด็ดขาดว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริงตรัสตอบถึงการรักษาสัจจะ [๔๒๙] กาปทิกมาณพทูลถามว่า ท่านพระโคดม ด้วยข้อปฏิบัติประมาณ เท่าไร การรักษาสัจจะจึงมีได้ บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติประมาณเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการรักษาสัจจะ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภารทวาชะ ถ้าบุรุษมีศรัทธา กล่าวว่า เรามี ศรัทธาอย่างนี้ ชื่อว่ารักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่ามีความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรักษาสัจจะย่อมมีได้ บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการรักษาสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการรู้สัจจะก่อน ถ้าบุรุษมีความชอบใจ ฯลฯ ถ้าบุรุษมีการฟังตามกันมา ฯลฯ ถ้าบุรุษมีความตรึกตามอาการ ฯลฯ ถ้าบุรุษมีความพินิจที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตน เขากล่าวอย่างนี้ว่า เรามี ความพินิจที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตนอย่างนี้ ชื่อว่ารักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึง ความตกลงใจโดยเด็ดขาดว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ภารทวาชะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้การรักษาสัจจะย่อมมีได้ บุคคลชื่อว่า รักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการรักษาสัจจะด้วยข้อ ปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการรู้สัจจะก่อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๓๙}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ตรัสตอบถึงการรู้สัจจะ [๔๓๐] กาปทิกมาณพทูลถามว่า ท่านพระโคดม การรักษาสัจจะย่อมมี ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่ารักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเรา ทั้งหลายย่อมหวังการรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรู้สัจจะย่อมมีด้วยข้อ ปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถาม ท่านพระโคดมถึงการรู้สัจจะ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภารทวาชะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้าน หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คหบดีก็ดี บุตรของคหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ใคร่ครวญในธรรม ๓ ประการ คือ (๑) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะ(ความโลภ) (๒) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ(การประทุษร้าย) (๓) ในธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด โมหะ(ความหลง) ว่า ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะ หรือไม่หนอ (เพราะว่า) ผู้มีจิตถูกธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความโลภครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ก็จะพึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้นได้หรือหนอ เมื่อเขาพิจารณาถึงภิกษุนั้นอยู่ จึงรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิด โลภะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูกธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็กล่าว ว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์ แก่สิ่งนั้น อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่โลภ ท่านผู้นี้แสดงธรรม อันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนโลภจะแสดงได้ง่าย [๔๓๑] เมื่อใดเขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมเห็นชัดว่า เธอบริสุทธิ์จาก ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาพิจารณาภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๐}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
เป็นเหตุให้เกิดโทสะว่า ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ มีจิตถูกธรรมที่เป็น เหตุให้เกิดโทสะครอบงำ เมื่อไม่รู้ก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่ผู้อื่น ก็จะพึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น เขาเมื่อพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูก ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อ ไม่เห็นก็จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่ประทุษร้าย ท่านผู้นี้แสดง ธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนประทุษร้ายจะแสดงได้ง่าย [๔๓๒] เมื่อใด เขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ย่อมเห็นชัดว่า เธอบริสุทธิ์จาก ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมที่ เป็นเหตุให้เกิดโมหะว่า ท่านผู้นี้มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโมหะ มีจิตถูกธรรมที่เป็น เหตุให้เกิดโมหะครอบงำ เมื่อไม่รู้ก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น เขาเมื่อพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมรู้ ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดโมหะ (เพราะว่า)ผู้มีจิตถูกธรรมที่ เป็นเหตุให้เกิดโมหะครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็น ก็จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น หรือสิ่งใดจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนผู้ไม่หลง ท่านผู้นี้แสดงธรรม อันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเองไม่ได้ เป็นธรรม ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ไม่ใช่ธรรมที่คนหลงจะแสดงได้ง่าย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๑}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
เมื่อใด เขาพิจารณาภิกษุนั้นอยู่ ย่อมเห็นชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเหตุ ให้เกิดโมหะ เมื่อนั้น เขาสร้างศรัทธาในภิกษุนั้นอย่างมั่นคง จึงเกิดศรัทธาแล้ว เข้าไปหา เมื่อเข้าไปหา ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลง เขาเงี่ยโสตลงแล้ว ฟังธรรม๑- อยู่ ย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่งพินิจ เมื่อธรรมควร แก่การเพ่งพินิจมีอยู่ ฉันทะ๒- ย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะ แล้วย่อมพิจารณา ครั้นพิจารณาแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เธอตั้งความเพียรแล้ว ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งด้วยกาย และเห็นชัดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ภารทวาชะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การรู้สัจจะจึงมีได้ ด้วยข้อปฏิบัติเพียง เท่านี้แล บุคคลย่อมรู้สัจจะได้ และเราย่อมบัญญัติการรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง เท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียวตรัสตอบถึงการบรรลุสัจจะ [๔๓๓] กาปทิกมาณพทูลถามว่า ท่านพระโคดม การรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วย ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่ารู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลาย ย่อมหวังการรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้หรือ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อ ปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูล ถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภารทวาชะ การปฏิบัติ เจริญ ทำให้มากซึ่ง ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการ บรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ @เชิงอรรถ : @๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงเทศนาธรรม (ม.ม.อ. ๒/๔๓๒/๓๐๖) @๒ ฉันทะ ในที่นี้หมายถึงความพอใจด้วยความปรารถนาจะทำให้ยิ่งขึ้นอีก (ม.ม.อ. ๒/๔๓๒/๓๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๒}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ตรัสตอบถึงธรรมมีอุปการะมาก [๔๓๔] กาปทิกมาณพทูลถามว่า ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเรา ทั้งหลายย่อมหวังการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้หรือ ธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะ มากแก่การบรรลุสัจจะ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมากแก่ การบรรลุสัจจะ ถ้าบุคคลไม่ตั้งความเพียรนั้นไว้ ก็จะไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะ เขาตั้งความเพียรไว้จึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียรจึงมีอุปการะมากแก่การ บรรลุสัจจะ ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร พระพุทธเจ้าข้า ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าบุคคลไม่พิจารณาปัญญา เครื่องพิจารณานั้นก็จะพึงตั้งความเพียรนี้ไว้ไม่ได้ แต่เพราะเขาพิจารณาจึงตั้งความเพียร ไว้ได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาจึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูล ถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา พระพุทธเจ้าข้า ความอุตสาหะมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าบุคคลไม่อุตสาหะ ก็จะพึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะเขาอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึง มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ พระพุทธเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๓}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด บุคคลก็จะไม่พึง อุตสาหะ แต่เพราะฉันทะเกิด เขาจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่ ความอุตสาหะ ธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ พระพุทธเจ้าข้า ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรม ทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่งพินิจ ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การ เพ่งพินิจ ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้น ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมจึงมีอุปการะมาก แก่ฉันทะ ธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ แห่งธรรม พระพุทธเจ้าข้า ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การ เพ่งพินิจแห่งธรรม ถ้าบุคคลไม่ไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายก็จะไม่พึงควรแก่ การเพ่งพินิจ แต่เพราะเขาไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่งพินิจ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความจึงมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ แห่งธรรม ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ พระพุทธเจ้าข้า การทรงจำธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ ถ้าบุคคล ไม่ทรงจำธรรมนั้น ก็จะพึงไตร่ตรองเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาทรงจำธรรมไว้ได้ จึงไตร่ตรองเนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมจึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่อง ไตร่ตรองเนื้อความ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๔}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ธรรมมีอุปการะแก่การทรงจำธรรมเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระ โคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม พระพุทธเจ้าข้า การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าบุคคลไม่ฟังธรรมนั้น ก็จะ พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรม จึงมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรมเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม พระพุทธเจ้าข้า การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าบุคคลไม่เงี่ยโสตลง ก็จะพึง ฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสตลงจึงมี อุปการะมากแก่การฟังธรรม ธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลงเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง พระพุทธเจ้าข้า การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าบุคคลไม่เข้าไปนั่งใกล้ ก็จะพึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเขาเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลงได้ ฉะนั้น การเข้าไป นั่งใกล้จึงมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถาม ท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ พระพุทธเจ้าข้า การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าบุคคลไม่เข้าไปหา ก็จะ พึงนั่งใกล้ไม่ได้ เพราะเขาเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ได้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะ มากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๕}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๕. จังกีสูตร
ท่านพระโคดม ธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหาเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ภารทวาชะ ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด บุคคล ก็จะไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะศรัทธาเกิด เขาจึงเข้าไปหา ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีอุปการะ มากแก่การเข้าไปหา [๔๓๕] กาปทิกมาณพกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดม ถึงการรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมได้ตรัสตอบการรักษาสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบ นั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการรู้สัจจะ ท่านพระโคดมได้ตรัสตอบ การรู้สัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมก็ได้ ตรัสตอบการบรรลุสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้น ข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ก็ชื่มชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมก็ได้ตรัสตอบธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะแล้ว และข้อที่ตรัส ตอบนั้น ข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัส ตอบนั้น ข้าพระองค์ได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงปัญหาข้อใดๆ ท่านพระโคดมก็ได้ตรัสตอบ ปัญหาข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ตรัสตอบนั้นข้าพระองค์ชอบใจและถูกใจนัก และ ข้าพระองค์ก็ชื่นชมด้วยข้อที่ตรัสตอบนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๖}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]
๖. เอสุการีสูตร
ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า พวกสมณะโล้นเหล่านี้ เป็นสามัญชน เกิดจากพระบาทของพระพรหมเป็นกัณหชาติ๑- (วรรณะศูทร) เป็นใครกัน และจะรู้ทั่วถึงธรรมได้อย่างไร ท่านพระโคดมได้ทรงทำให้ข้าพระองค์เกิดความรัก สมณะในหมู่สมณะ ให้เกิดความเลื่อมใสสมณะในหมู่สมณะ และให้เกิดความเคารพ สมณะในหมู่สมณะแล้วหนอ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ดังนี้แลจังกีสูตรที่ ๕ จบ ๖. เอสุการีสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อเอสุการี [๔๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อเอสุการีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้นั่ง ณ ที่สมควรการบำเรอ ๔ ประเภท เอสุการีพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม พราหมณ์ ทั้งหลายบัญญัติการบำเรอไว้ ๔ ประเภท คือ ๑. บัญญัติการบำเรอพราหมณ์ ๒. บัญญัติการบำเรอกษัตริย์ ๓. บัญญัติการบำเรอแพศย์ ๔. บัญญัติการบำเรอศูทร @เชิงอรรถ : @๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๐ (อปัณณกสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๔๗}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๓๐-๕๔๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=45 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=10194&Z=10534 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=646 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=646&items=15 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7504 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=646&items=15 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7504 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i646-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i646-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.095x.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.095x.nymo.html https://suttacentral.net/mn95/en/sujato https://suttacentral.net/mn95/en/bodhi
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]