ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๑. สังโยชนสูตร

๔. ปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคล
๑. สังโยชนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ละสังโยชน์ได้
[๑๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์๑- (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่ เป็นปัจจัยให้ได้ภพ๒- ไม่ได้ ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์ ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ ภพไม่ได้ ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ และละสังโยชน์ที่ เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็น ปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้ บุคคลจำพวกไหนยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัย แห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ คือ พระสกทาคามี บุคคลนี้แลยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ ละสังโยชน์ที่ เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงกิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบเบื้องต่ำมี ๕ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ @(๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะ หรือกามราคะ (๕) พยาบาท หรือปฏิฆะ @(องฺ.นวก. ๒๓/๖๗/๓๗๙) @ หมายถึงอุปปัตติภพ ภพคือการเกิด (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๑/๓๗๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๒. ปฏิภาณสูตร

บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็น ปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ คือ พระอนาคามีผู้มุ่งหน้าไปสู่อกนิฏฐภพ บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดไม่ได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง การเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ คือ พระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ แต่ยังละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพไม่ได้ บุคคลจำพวกไหนละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยแห่ง การเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้ คือ พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส บุคคลนี้แลละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ละสังโยชน์ ที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดได้ และละสังโยชน์ที่เป็นปัจจัยให้ได้ภพได้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
สังโยชนสูตรที่ ๑ จบ
๒. ปฏิภาณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง
[๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่รวดเร็ว๒- ๒. บุคคลผู้ตอบได้รวดเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง๓- @เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๒-๑๕๕/๑๘๗ @ ผู้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่รวดเร็ว หมายถึงผู้ถูกถามปัญหาก็ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่รวดเร็ว @(อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๒/๑๘๗, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๒/๓๘๐) @ ผู้ตอบได้รวดเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง หมายถึงผู้ถูกถามปัญหาก็ตอบได้รวดเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง @(อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๓/๑๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร

๓. บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว ๔. บุคคลผู้ตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฏิภาณสูตรที่ ๒ จบ
๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เข้าใจได้ฉับพลัน
[๑๓๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. อุคฆฏิตัญญู๒- (ผู้เข้าใจได้ฉับพลัน) ๒. วิปจิตัญญู๓- (ผู้เข้าใจต่อเมื่อขยายความ) ๓. เนยยะ๔- (ผู้ที่พอจะแนะนำได้) ๔. ปทปรมะ๕- (ผู้ที่สอนให้รู้ได้เพียงตัวบทคือพยัญชนะ) ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อุคฆฏิตัญญูสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗ @ หมายถึงบุคคลที่บรรลุธรรมคืออริยสัจ ๔ ได้เร็ว คือ พอยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้น @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๓/๓๘๐) @ หมายถึงบุคคลที่บรรลุธรรมเมื่อเขาอธิบายเนื้อความโดยพิสดาร คือ เมื่อเขายกหัวข้อขึ้นกล่าวโดยย่อแล้ว @กล่าวอธิบายโดยพิสดาร จึงสามารถบรรลุพระอรหัตตผลได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๓/๓๘๐) @ หมายถึงบุคคลที่มนสิการโดยแยบคาย โดยการแสดง การถาม การเสพ การคบหา การเข้าไปนั่งใกล้ @กัลยาณมิตร จึงบรรลุธรรมโดยลำดับ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๓/๓๘๐) @ หมายถึงบุคคลที่ฟังไว้มาก แสดงไว้มาก ทรงจำไว้มาก และพูดไว้มาก แต่ไม่บรรลุธรรมในชาตินี้ คือ @ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญฌาน วิปัสสนา มรรค หรือผลให้บังเกิดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๓/๓๘๐, @องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๓๓-๑๓๔/๔๑๗-๔๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๕. สาวัชชสูตร

๔. อุฏฐานผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร
[๑๓๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียร แต่ไม่ดำรงชีพ ด้วยผลแห่งกรรม ๒. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งกรรม แต่ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่ง ความขยันหมั่นเพียร ๓. บุคคลผู้ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและดำรงชีพด้วย ผลแห่งกรรม ๔. บุคคลผู้ไม่ดำรงชีพด้วยผลแห่งความขยันหมั่นเพียรและไม่ดำรงชีพ ด้วยผลแห่งกรรม๒- ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
อุฏฐานผลสูตรที่ ๔ จบ
๕. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีแต่โทษ
[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก๓- ไหนบ้าง คือ @เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๖๗/๒๐๐ @ บุคคลจำพวกที่ ๑ หมายถึงบุคคลผู้ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรตลอดวันเลี้ยงชีพ ได้ผลแห่งความขยัน @หมั่นเพียรนั้น แต่ไม่ได้อาศัยผลบุญใดๆ เลย บุคคลจำพวกที่ ๒ หมายถึงเทวดาทุกจำพวกบุคคลจำพวก @ที่ ๓ หมายถึงชนชั้นปกครอง เช่น พระราชา และขุนนาง บุคคลจำพวกที่ ๔ หมายถึงสัตว์นรก @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๔/๓๘๑) @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๔๔-๑๔๗/๑๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๕. สาวัชชสูตร

๑. บุคคลผู้มีแต่โทษ๑- ๒. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก๒- ๓. บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย๓- ๔. บุคคลผู้ไม่มีโทษ๔- บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรม (การกระทำทางกาย) ที่มีโทษ ประกอบด้วยวจีกรรม (การกระทำทางวาจา) ที่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรม (การ กระทำทางใจ) ที่มีโทษ บุคคลผู้มีแต่โทษ เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มี โทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ เป็นส่วนมาก เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลผู้มีโทษ เป็นส่วนน้อย เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วย วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษ บุคคลผู้ไม่มีโทษ เป็นอย่าง นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
สาวัชชสูตรที่ ๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายถึงอันธพาลปุถุชน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงโลกิยปุถุชนที่ทำความดีในระหว่าง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) @ หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๕/๓๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๗. ทุติยสีลสูตร

๖. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๑
[๑๓๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ไม่บำเพ็ญสมาธิ ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๑- ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญสมาธิ ให้บริบูรณ์ และไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๒- ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ และบำเพ็ญสมาธิ ให้บริบูรณ์ แต่ไม่บำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๓- ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ บำเพ็ญสมาธิให้ บริบูรณ์และบำเพ็ญปัญญาให้บริบูรณ์๔- ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฐมสีลสูตรที่ ๖ จบ
๗. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีล สูตรที่ ๒
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เคารพในศีล ไม่ถือศีลเป็นใหญ่ ไม่เคารพในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือปัญญาเป็นใหญ่ @เชิงอรรถ : @ หมายถึงโลกิยมหาชน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๖-๑๓๗/๓๘๑) @ หมายถึงพระโสดาบันและพระสกทาคามีผู้เป็นสุกขวิปัสสกะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๖-๑๓๗/๓๘๑) @ หมายถึงพระอนาคามี (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๖-๑๓๗/๓๘๑) @ หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๖/๓๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๘. นิกกัฏฐสูตร

๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพ ในสมาธิ ไม่ถือสมาธิเป็นใหญ่ และไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ ปัญญาเป็นใหญ่ ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ และเคารพ ในสมาธิ ถือสมาธิเป็นใหญ่ แต่ไม่เคารพในปัญญา ไม่ถือ ปัญญาเป็นใหญ่ ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้เคารพในศีล ถือศีลเป็นใหญ่ เคารพในสมาธิ ถือสมาธิเป็นใหญ่ และเคารพในปัญญา ถือปัญญาเป็นใหญ่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ทุติยสีลสูตรที่ ๗ จบ
๘. นิกกัฏฐสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีกายและจิตออก
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก๑- ๒. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก ๓. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก ๔. บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง๒- และป่าทึบ๓- เธอตรึกถึงกามวิตก(ความตรึกในทางกาม)บ้าง พยาบาทวิตก (ความตรึกในทาง พยาบาท)บ้าง วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)บ้าง บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ หมายถึงบุคคลมีกายออกจากบ้าน แม้อยู่ในป่าก็ยังคิดถึงบ้าน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๘/๓๘๑) @ ป่าโปร่ง (อรญฺญ) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ธนู (๒/๓๑/๓๐) @ ป่าทึบ (วนปตฺถ) หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค ๙. ธัมมกถิกสูตร

บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ เลย แต่เธอตรึกถึงเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)บ้าง อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท)บ้าง อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน) บ้าง บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ และเธอตรึกถึงกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มีกายยัง ไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ และเธอตรึกถึงเนกขัมมวิตกบ้าง อพยาบาทวิตกบ้าง อวิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มี กายออกและมีจิตออก เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
นิกกัฏฐสูตรที่ ๘ จบ
๙. ธัมมกถิกสูตร
ว่าด้วยธรรมกถึก
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้ ธรรมกถึก ๔ จำพวก๑- ไหนบ้าง คือ ๑. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อยและไม่มีประโยชน์ ทั้งหมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรม- กถึกจำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้ ๒. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อย แต่มีประโยชน์ และ หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้ @เชิงอรรถ : @ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๖/๑๘๗-๑๘๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ปุคคลวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๓. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมาก แต่ไม่มีประโยชน์ และ หมู่ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้ ๔. ธรรมกถึกบางรูปในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมากและมีประโยชน์ และ หมู่ผู้ฟังก็ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึก จำพวกนี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังประเภทนี้ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมกถึก ๔ จำพวกนี้แล
ธัมมกถิกสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. วาทีสูตร
ว่าด้วยนักพูด
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย นักพูด ๔ จำพวกนี้ นักพูด ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ ๑. นักพูดที่จนด้านอรรถ แต่ไม่จนด้านพยัญชนะ ๒. นักพูดที่จนด้านพยัญชนะ แต่ไม่จนด้านอรรถ ๓. นักพูดที่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ ๔. นักพูดที่ไม่จนทั้งด้านอรรถและด้านพยัญชนะ นักพูด ๔ จำพวกนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุ(นักพูด)ผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ประการ จะพึงจนทั้งด้านอรรถหรือด้านพยัญชนะ
วาทีสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุคคลวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สังโยชนสูตร ๒. ปฏิภาณสูตร ๓. อุคฆฏิตัญญูสูตร ๔. อุฏฐานผลสูตร ๕. สาวัชชสูตร ๖. ปฐมสีลสูตร ๗. ทุติยสีลสูตร ๘. นิกกัฏฐสูตร ๙. ธัมมกถิกสูตร ๑๐. วาทีสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๒๐๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๒๐๐-๒๐๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=21&siri=130              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=3712&Z=3834                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=131              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=131&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8741              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=131&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8741                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i131-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i131-e2.php# https://suttacentral.net/an4.131/en/sujato https://suttacentral.net/an4.132/en/sujato https://suttacentral.net/an4.133/en/sujato https://suttacentral.net/an4.134/en/sujato https://suttacentral.net/an4.135/en/sujato https://suttacentral.net/an4.136/en/sujato https://suttacentral.net/an4.137/en/sujato https://suttacentral.net/an4.138/en/sujato https://suttacentral.net/an4.139/en/sujato https://suttacentral.net/an4.140/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :